ชุดข้อมูลจารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre

ชุดข้อมูลจารึกที่แบ่งตามช่วงพุทธศตวรรษต่างๆ

ชุดข้อมูลจารึกที่แบ่งตามช่วงพุทธศตวรรษต่างๆ

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2564 13:18:11 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2565 09:40:44 )

          ตัวอักษรโบราณที่พบในประเทศไทย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 ถึงพุทธศตวรรษที่ 24 อันเป็นเวลาที่ระบบการพิมพ์หนังสือจะเข้ามามีบทบาทในการยุติการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบอักษรนั้น ได้รับการพัฒนามาอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต่อเนื่องกันมาโดยตลอด ซึ่งอาจสรุปเป็น 4 ช่วง ดังนี้

ช่วงการใช้อักษรแบบอินเดียใต้ (อักษรปัลลวะ)
          ช่วงนี้เป็นช่วงแรกใช้เวลาประมาณ 200 ปี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11 - 12 หรืออาจถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 13  ที่มีการใช้อักษรแบบอินเดียใต้หรือที่เรียกชื่อกันทั่วไปว่า "อักษรปัลลวะ" ในอาณาจักรทวารวดี ศรีวิชัย และ เจินละ

ช่วงคลี่คลายจากอักษรปัลลวะ (อักษรหลังปัลลวะ)
          ช่วงที่ 2 นี้เกิดขึ้นภายหลังใช้อักษรปัลลวะ ตัวอักษรก็เริ่มคลี่คลายเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากเดิม แต่ลักษณะโดยรวมและอักขรวิธียังเหมือนอักษรปัลลวะอยู่ จึงเรียกอักษรในช่วงที่ 2 นี้ว่า "อักษรหลังปัลลวะ" อักษรแบบนี้ใช้ในระยะเวลาร่วม 300 ปี ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 15 

ช่วงอักษรของแต่ละอาณาจักร (อักษรขอมโบราณ, อักษรมอญโบราณ และอักษรกวิ)
          ช่วงที่ 3 นี้เป็นช่วงที่แต่ละอาณาจักรที่เคยตั้งอยู่หรือมีอาณาเขตบางส่วนในบริเวณที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบอักษรหลังปัลลวะให้เป็นอักษรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละอาณาจักร ได้แก่ อาณาจักรขอมสมัยพระนครซึ่งต่อเนื่องมาจากอาณาจักรเจินละได้พัฒนาอักษรหลังปัลลวะเป็น "อักษรขอมโบราณ" ซึ่งพบหลักฐานการใช้อักษรขอมโบราณในประเทศไทย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 - 19 เป็นจารึกจำนวนกว่าร้อยหลัก
         ตัวอักษรชนิดที่ 2 ที่พัฒนาไปจากอักษรหลังปัลลวะคือ "อักษรกวิ" ของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งในประเทศไทยพบจารึกอักษรกวี อายุพุทธศตวรรษที่ 18 
         ตัวอักษรชนิดที่ 3 ที่อาจพัฒนาไปจากอักษรหลังปัลลวะ คือ "อักษรมอญโบราณ" ของอาณาจักรหริภุญชัย แม้ว่าขณะนี้มีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่าอาจจะรับอักษรชนิดนี้มาจากมอญในพม่าก็ตาม แต่ไม่ว่าจะรับจากใดก็ระบุได้ว่าอักษรมอญโบราณมิได้พัฒนาจากอักษรปัลลวะโดยตรง หากแต่พัฒนาต่อจากพัฒนาจากอักษรปัลลวะอีกทอดหนึ่งก่อนแล้วจึงพัฒนามาเป็นอักษรมอญโบราณ อักษรมอญโบราณที่หริภุญชัยมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 - 18  รวมเวลาของพัฒนาการช่วงที่ 3 ประมาณ 500 ปี คือ ตั้งแต่พุทธศตวรรษ 15 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19

ช่วงอักษรของชนชาติไทย
          พัฒนาการช่วงที่ 4 เป็นช่วงที่คนไทยรับวัฒนธรรมด้านตัวอักษรจากชาติอื่น ๆ ที่เจริญมาก่อน ซึ่งการรับของคนไทยนั้นมี 2 ลักษณะ คือ
          1. รับทั้งตัวอักษรและอักขระวิธีมาทั้งระบบ ได้แก่ "อักษรขอมไทย" และ "อักษรธรรมล้านนา" อักษรขอมไทยนั้นพัฒนามาจากอักษรขอมโบราณ และใช้เรื่อยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 20 - 24  ส่วนอักษรธรรมล้านนาก็พัฒนาจากอักษรมอญโบราณใช้ในอาณาจักรล้านนามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 -  24 เช่นเดียวกัน และนอกจากนี้ตัวอักษรธรรมล้านนา ได้พัฒนาไปเป็นอักษรธรรมอีสาน (โดยผ่านอาณาจักรล้านช้าง) มีหลักฐานการใช้อักษรชนิดนี้ในประเทศไทย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 22 - 24 
          2. รับโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบอักษรและอักขรวิธี ได้แก่ อักษรไทยสุโขทัย ซึ่งสันนิษฐานว่าได้พัฒนามาจากอักษรขอมโบราณและมอญโบราณเป็นสำคัญ อักษรไทยสุโขทัยใช้ในพุทธศตวรรษที่ 19 - 20 และได้แพร่กระจายตัวอักษรของตนไปยังอาณาจักรข้างเคียง กล่าวคือได้พัฒนาไปเป็นอักษรไทยอยุธยาและต่อเนื่องมาจนถึงรัตนโกสินทร์จนเป็นอักษรไทยในปัจจุบัน และพัฒนาไปเป็น "อักษรฝักขาม" ในล้านนา ซึ่งใช้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20  -24  จึงพัฒนาเป็น "อักษรไทยนิเทศ" และนอกจากนี้แล้วอักษรแบบสุโขทัยและฝักขามยังได้พัฒนาไปเป็น "อักษรไทยน้อย" ที่ใช้ในอาณาจักรล้านช้างและภาคอีสานของไทย ซึ่งพบหลักฐานการใช้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 - 24 
------------
อ้างอิง
กรรณิการ์ วิมลเกษม. "พัฒนาการของอักษรโบราณในประเทศไทย" ใน สังคมและวัฒนธรรมในประเทศไทย (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2542), 309-310.
ฐานข้อมูลหนังสือเก่าชาวสยาม ไฟล์ PDF สังคมและวัฒนธรรมในประเทศไทย
----------
การแบ่งช่วงพุทธศตวรรษเป็นพุทธศักราช ดังนี้
พุทธศตวรรษที่    10    คือ    ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.    901    -    1000    
พุทธศตวรรษที่    11    คือ    ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.    1001    -    1100    
พุทธศตวรรษที่    12    คือ    ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.    1101    -    1200    
พุทธศตวรรษที่    13    คือ    ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.    1201    -    1300    
พุทธศตวรรษที่    14    คือ    ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.    1301    -    1400    
พุทธศตวรรษที่    15    คือ    ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.    1401    -    1500    
พุทธศตวรรษที่    16    คือ    ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.    1501    -    1600    
พุทธศตวรรษที่    17    คือ    ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.    1601    -    1700    
พุทธศตวรรษที่    18    คือ    ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.    1701    -    1800    
พุทธศตวรรษที่    19    คือ    ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.    1801    -    1900    
พุทธศตวรรษที่    20    คือ    ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.    1901    -    2000    
พุทธศตวรรษที่    21    คือ    ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.    2001    -    2100    
พุทธศตวรรษที่    22    คือ    ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.    2101    -    2200    
พุทธศตวรรษที่    23    คือ    ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.    2201    -    2300    
พุทธศตวรรษที่    24    คือ    ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.    2301    -    2400    
พุทธศตวรรษที่    25    คือ    ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.    2401    -    2500