บล็อก

ภัณฑารักษ์ควรได้รับการอ้างอิงในผลงานวิจัย?

โพสต์เมื่อ 08 มกราคม 2562

เราคงเคยได้ยินชาวบ้านหรือคนให้ข้อมูลบ่นว่า นักวิจัยมักมาถามๆ มาเก็บข้อมูล มาเอาข้อมูลจากคนในชุมขน แล้วก็หายไปเลย ชาวบ้านไม่ได้อะไร กระทั่งผลงานวิจัยชุมชนก็ไม่เคยเห็นหรือได้อ่าน พูดง่ายๆว่า นักวิจัยมักมาตักตวงข้อมูลแต่ไม่ส่งคืนความรู้กลับสู่ต้นทางหรือชุมชน ในแวดวงพิพิธภัณฑ์ก็เกิดข้อชวนคิดทำนองเดียวกันนี้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์ Museums+Heritage Advisor ของอังกฤษ ได้โพสต์ประเด็นที่น่าสนใจว่า จริงๆ แล้ว ภัณฑารักษ์ควรได้รับการอ้างอิงในผลงานวิจัยหรือไม่  ผู้เขียนคือ Jan Freedman ภัณฑารักษ์ด้านธรรมชาติวิทยาของพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์แห่งเมืองพลีมัธ (Natural History atPlymouth City Museum and Art Gallery) เหตุที่ภัณฑารักษ์ด้านประวัติศาสตร์ธรรมชาติที่อังกฤษลุกขึ้นมารณรงค์ในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในสหราชอาณาจักรถูกตัดงบสนับสนุนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา การพยายามให้ทั้งระดับนโยบาย องค์กร และสังคมได้เห็นคุณค่าและสำคัญของคอลเล็กชั่นและภาระงานของภัณฑารักษ์จึงเป็นสิ่งจำเป็น Freedman อ้างบทความวิชาการในวารสารTaxonวารสารของสมาคมระหว่างประเทศว่าด้วยอนุกรมวิธานพืช  (the International Association for Plant Taxonomy) ชื่อเรื่อง “The time has come for Natural History Collections to claim co-authorship of research articles”  หรือแปลได้ประมาณว่า “ถึงเวลาแล้วที่คอลเล็กชั่นทางประวัติศาสตร์ธรรมชาติจะได้รับการอ้างถึงการมีส่วนร่วมในงานวิจัย” ภาพจาก http://advisor.museumsandheritage.com/ Freedmanเรียกร้องว่าภัณฑารักษ์ควรได้รับการอ้างชื่อว่าเป็นผู้แต่งร่วม ในสิ่งพิมพ์ที่ได้ข้อมูลมาจากการศึกษาในคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์ เขาย้ำว่าประเด็นนี้สำคัญเพราะคอลเล็กชั่นด้านประวัติศาสตร์ธรรมชาติที่มีอยู่ แสดงถึงความแตกต่างหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเป็นล้านสายพันธุ์ ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างน่าทึ่งแล้ว ยังให้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์อีกด้วย เรียกได้ว่าคอลเล็กชั่นทางธรรมชาติวิทยาในพิพิธภัณฑ์ คือห้องสมุดแห่งชีวิตเพียงหนึ่งเดียวบนโลกใบนี้ ข้อมูลต่างๆ ของตัวอย่าง (specimen) ตั้งแต่สถานที่และวันที่ ไปจนถึงข้อมูลพันธุศาสตร์ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จึงถือเป็นแหล่งข้อมูลชั้นเลิศของนักวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกมีนักวิจัยหลายพันคนที่เข้ามาศึกษาคอลเล็กชั่นในพิพิธภัณฑ์ตลอดเวลา ผลงานวิจัยเหล่านี้บ่อยครั้งที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการด้านวิทยาศาสตร์  หรือพูดได้ว่าเป็นความจริงที่ว่าคอลเล็กชั่นในพิพิธภัณฑ์ถูกใช้เพื่อทำวิจัยอย่างมหาศาล แต่พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักในเกี่ยวกับการเข้ามาหาข้อมูลทำวิจัย กระทั่งภัณฑารักษ์เองก็ไม่ได้ตระหนักเกี่ยวกับสิ่งตีพิมพ์ดังกล่าว ว่าพิพิธภัณฑ์ควรได้รับสำเนาของบทความหรืองานวิจัยที่มาใช้ตัวอย่าง(specimen) ของพิพิธภัณฑ์ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับ  พิพิธภัณฑ์ควรได้รับอ้างอิงในสิ่งตีพิมพ์ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้ทำ หมายเลขรหัสของตัวอย่าง(specimen) ที่งานวิจัยนำไปใช้ควรได้รับการอ้างอิงซึ่งมีน้อยมากที่ทำ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ สาธารณชนทั่วไปหรือในระดับนโยบายอาจไม่เข้าใจหรือเห็นคุณค่าของคอลเล็กชั่นอย่างที่ควรจะเป็น พิพิธภัณฑ์จึงเสนอวิธีการหากนักวิจัยใช้ข้อมูลจากคอลเล็กชั่นในการเขียนงานวิจัย โดยสิ่งที่ต้องทำมีอย่างน้อย 3 ประการ คือ -           การใช้ตัวอย่าง(specimen) ใดในงานวิจัยต้องอ้างอิงเต็มรูปแบบถึงหมายเลขรหัสของตัวอย่างนั้น -           พิพิธภัณฑ์ได้ถูกเป็นที่รับรู้ในกิตติกรรมประกาศ -           พิพิธภัณฑ์ได้รับสำเนาสิ่งตีพิมพ์นั้น บทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Taxonเสนอว่าภัณฑารักษ์ควรได้รับการลงชื่อว่าเป็นผู้เขียนร่วมในสิ่งพิมพ์ที่ใช้คอลเล็กชั่นของพวกเขาในงานวิจัยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะว่าถ้าพวกเขามีส่วนร่วมอย่างสำคัญในงานวิจัยนั้น  ซึ่งควรพิจารณาเป็นกรณีๆไป ขึ้นกับว่าภัณฑารักษ์มีส่วนสำคัญในงานวิจัยแค่ไหน เช่น การเก็บรวบรวมข้อมูลที่สัมพันธ์โดยตรงกับงานวิจัยนั้น หรือให้ข้อมูลจากแฟ้มข้อมูลที่มี ถือได้ว่าภัณฑารักษ์มีส่วนร่วมกับงานวิจัย โดยพวกเขามักต้องสละเวลาอย่างมากเพื่อให้ข้อมูลกับนักวิจัย ตั้งแต่การบอกสถานที่เก็บตัวอย่าง การเตรียมพื้นที่สำหรับนักวิจัย การกำกับดูแลและอบรมให้นักวิจัยทำงานกับตัวอย่างอย่างถูกวิธีและปลอดภัย รวมไปถึงการศึกษาวิจัยการบันทึกข้อมูลและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวอย่าง หรือพูดอีกอย่างว่าหากปราศจากความช่วยเหลือของภัณฑารักษ์ การวิจัยก็คงไม่สามารถทำได้ ประโยชน์ต่อภัณฑารักษ์โดยตรงนอกจากเพิ่มพูนความรู้ของพวกเขาเกี่ยวกับการวิจัยในคอลเล็กชั่นของพวกเขา แล้ว โบนัสชิ้นโตคืองานวิจัยถูกเป็นที่รับรู้มากขึ้น  การเป็นผู้เขียนร่วมหมายความว่าภัณฑารักษ์ได้รับสำเนาวิจัยโดยอัตโนมัติ  ภัณฑารักษ์สามารถมั่นใจว่ารายละเอียดสำคัญถูกระบุไว้อย่างถูกต้องในงานวิจัย (เช่น หมายเลขรหัสตัวอย่าง) และการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับงานวิจัยจะอ้างถึงผู้เขียนทุกคน(และที่ทำงาน) โบนัสที่ได้ต่อมาคือการเพิ่มความตระหนักรู้ในความสำคัญของคอลเล็กชั่นต่อเพื่อนร่วมงาน ผู้จัดการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร บทความนี้ย้ำว่า งานนี้ไม่ได้หมายความว่าภัณฑารักษ์ควรได้รับการใส่ชื่อเป็นผู้เขียนร่วมในทุกผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ แต่หากงานวิจัยใช้ข้อมูลหรือองค์ความรู้จากภัณฑารักษ์ในงานวิจัย มันควรเป็นทางเลือก สิ่งสำคัญ(โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ในสหราชอาณาจักร) งานที่ภัณฑารักษ์เป็นผู้เขียนร่วมยังไม่เคยถูกพิจารณา นักวิจัยควรถูกกระตุ้นเรื่องนี้และช่วยสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือสำหรับพิพิธภัณฑ์ที่พวกเขาใช้ข้อมูลหรือใช้ประโยชน์  สิ่งที่ควรทำคือการอ้างอิงตัวอย่างและพิพิธภัณฑ์ที่พวกเขาใช้ข้อมูล และควรใส่ชื่อภัณฑารักษ์เป็นผู้เขียนร่วมกรณีที่ควรจะเป็น อ้างอิง http://advisor.museumsandheritage.com/blogs/museum-curators-expert-analysis-acknowledged-research-papers/  

พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ในสปป.ลาว

โพสต์เมื่อ 05 เมษายน 2560

เมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว ผู้เขียนมีโอกาสทำความรู้จักและเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในลาวหลายแห่ง ในหลายวาระ  ด้วยความสนับสนุนของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ช่วงที่ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ   ผศ.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์  อดีตผู้อำนวยการ ที่สละเวลาร่วมเดินทาง  ให้ข้อแนะนำ อาจารย์ศิริพร ศรีสินธุ์อุไร ที่ช่วยอ่านงานและให้ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์มาก  จนทำให้ข้อเขียนเชิงวิชาการเรื่อง “อ่านภาพแทนกลุ่มชาติพันธุ์ในพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ สปป.ลาว”   เสร็จลุล่วงลงจนได้  และขอขอบคุณรศ.ดร.ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์  ที่กรุณาให้ข้อคิดเห็นและตีพิมพ์ลงใน “วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง” ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2557 สมัยที่ผู้เขียนยังเป็นนักเรียนด้านภูมิภาคศึกษา ผู้เขียนสนใจประเทศลาวเป็นพิเศษ  ตอนนั้นรู้สึกว่าวัฒนธรรมลาวกับไทยคล้ายๆ กัน โดยเฉพาะภาษา ศาสนา ความเชื่อ  คงจะทำความเข้าใจอะไรๆ ได้ไม่ยากนัก  แต่เอาเข้าจริงเมื่อได้เดินทาง  สัมผัสชีวิตวัฒนธรรมแง่มุมต่างๆ ของคนลาวมากขึ้น  ทั้งตอนเรียนหนังสือและช่วงที่ทำงาน  จึงได้เห็นโลกและมุมมองใหม่ที่ต่างไปจากความคิดเดิม  บทความชิ้นดังกล่าว ผู้เขียนตั้งใจพูดถึงพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ในลาวประเทศลาว 3 แห่ง  คือ หอพิพิธภัณฑ์บรรดาเผ่า แขวงพงสาลี  หอพิพิธภัณฑ์ชนเผ่าเมืองสิง แขวงหลวงน้ำทา และศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา หลวงพระบาง   ข้อสงสัยและคำถามที่ตั้งไว้และคำตอบ(เท่า)ที่ได้ ทั้งหมดอยู่ในข้อเขียนชิ้นนั้นแล้ว (คลิกอ่านบทความฉบับเต็มได้ตามลิงค์นี้ค่ะ)      สำคัญกว่านั้นสำหรับผู้เขียน มันเป็นประสบการณ์ ความทรงจำ และความรู้สึกหลากหลายที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน การลงสำรวจภาคสนามและการเขียนงาน  ทั้งความสนุก  ความน่าเบื่อ  ความแปลกใหม่  ความเหลือทน  ความเอื้อเฟื้อ  ความยึดมั่นถือมั่น  ความไม่แน่นอนที่แน่นอน  ที่ล้วนผ่านพ้นไปแล้วด้วยความระลึกถึง

3 เหตุการณ์สำคัญในแวดวงพิพิธภัณฑ์ไทยประจำปี 2559

โพสต์เมื่อ 30 ธันวาคม 2559

ในปี 2559 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป เป็นปีหนึ่งที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นและสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างในแวดวงพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรมในไทย การย้อนกลับไปมองเรื่องราวดังกล่าวอาจทำให้เราเรียนรู้อะไรใหม่ๆ และคาดการณ์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในวงการพิพิธภัณฑ์ก็เป็นได้ ผู้เขียนคัดมา 3 เหตุการณ์ที่จัดว่าเด็ด ลองมาดูกันว่ามีอะไรดี อะไรดัง อะไรแย่ ตามมา ตามมา 1. แรงหนุนมหาชนระดมทุนช่วยพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในแวดวงพิพิธภัณฑ์ไทย ที่มหาชนคนธรรมดาช่วยบริจาคเงินเพื่อระดมทุนกว่า 10 ล้านบาทสำเร็จ ในการซื้อที่ดินข้างพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก แถบบางรัก เพื่อมิให้บดบังภูมิทัศน์ผลกระทบต่ออาคารเก่าของพิพิธภัณฑ์อันเนื่องมาจากการก่อสร้างตึกสูง  พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกก่อตั้งด้วยความมุ่งมั่นของอ.วราพร สุรวดี เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้สาธารณชนเข้าชมฟรีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 และโอนกรรมสิทธิทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กรุงเทพมหานครทั้งหมดเมื่อปี พ.ศ. 2547  ตอนเกิดเรื่องอ.วราพรเคยทำจดหมายถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อร้องขอให้ช่วยซื้อที่ดิน แต่ไม่เป็นผล อาจเป็นด้วยเหตุผลทางกฎระเบียบทางราชการ อ.วราพรจึงใช้เงินส่วนตัวมัดจำไปแล้ว 30 บ้านบาท ยังขาดอีก 10 ล้านบาท  เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และนำมาซึ่งกระแสการบอกต่อในโซเชียลเน็ตเวิร์กในช่วงเดือนกรกฎาคม กระทั่งมียอดบริจาคกว่า 700,000 บาทภายในเวลาเพียง 2 วัน และภายในเดือนเดียวได้ยอดครบ 10 ล้านบาท! เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงหนุนจากมหาชนคนไทยในการช่วยเหลือพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ประสบผลสำเร็จ เป็นเรื่องน่าคิด เมื่อเปรียบเทียบกับหลายพิพิธภัณฑ์ที่ประสบปัญหาด้านทุนทรัพย์เช่นกัน ที่เคยเป็นข่าวเช่น พิพิธภัณฑ์จ่าทวี จ.พิษณุโลก ที่ถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังหลายแสน 2. ไอคอนสยามผนึกกระทรวงวัฒนธรรมเปิดตัวไอคอนสยามเฮอริเทจมิวเซียม MOUระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับโครงการไอคอนสยาม ที่จะให้เอกชนดังกล่าวยืมโบราณวัตถุที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร เพื่อนำไปจัดแสดงในไอคอนสยามเฮอริเทจมิวเซียม(ICONSIAM Heritage Museum)กลายเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ในหลายวงการ ฝ่ายสนับสนุนมองว่าเป็นการช่วยเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาติในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ประชาชนได้ความรู้ เป็นการช่วยแบ่งเบาภารกิจของกรมศิลปากรซึ่งมีข้อจำกัดหลายอย่าง ส่วนฝ่ายคัดค้านเป็นห่วงเรื่องความเสียหาย รวมถึงการนำโบราณวัตถุของชาติไปให้เอกชนหาผลประโยชน์ อาจกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนเพราะอีกส่วนหนึ่งไอคอนสยามเปิดศูนย์การประมูลโบราณวัตถุควบคู่กันด้วย และยังเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามในจริยธรรมวิชาชีพ จนถึงขั้นมีผู้รณรงค์ล่ารายชื่อผู้คัดค้านในเวปไซต์ change.org ทำนายได้เลยว่านี่อาจไม่ได้เป็นกรณีแรกและกรณีสุดท้ายเพราะต่อไปการจัดการมรดกวัฒนธรรมในรูปแบบใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคมกำลังจะเกิดขึ้นตามมา หวังว่าการดีเบตที่เกิดขึ้นทำให้สังคมเราได้บทเรียนจากกรณีนี้ไม่มากก็น้อย  ภาพจาก http://www.finearts.go.th/ 3. พิพิธภัณฑ์ไทยเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 วันที่ประชาชนชาวไทยโศกเศร้าที่สุดวันหนึ่งในประวัติศาสตร์คือ วันที่ 13 ตุลาคม 2559 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต แต่พระจริยวัตรอันงดงามและพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านยังคงสถิตอยู่ในใจของปวงชนคนไทย หลายคนหลายหน่วยงานแสดงออกอย่างหลากหลายถึงความจงรักภักดีและความอาลัย ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจ พิพิธภัณฑ์ไทยหลายแห่งแปรเปลี่ยนความเศร้าเสียใจเป็นพลังสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชอย่างมากมาย เช่น การเปิดพิพิธภัณฑ์ให้ชมในยามค่ำคืนหรือไนท์แอทเดอะมิวเซียมของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์และพิพิธภัณฑ์ที่เป็นพันธมิตร การพร้อมใจกันจัดทำนิทรรศการพิเศษเกี่ยวกับในหลวงของหลายพิพิธภัณฑ์ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด  ที่ง่ายที่สุดคือเปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรีอาทิ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ พิพิธบางลำพู ฯลฯ และอีกข่าวดีคือ ในอนาคตห้องประทับขณะรักษาพระอาการ โรงพยาบาลศิริราชมีโครงการเก็บรักษาห้องประทับไว้เพื่อจัดทำพิพิธภัณฑ์ซึ่งจะเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เราสามารถเข้าไปสัมผัสบรรยากาศและสถานที่จริงที่พระองค์ท่านเคยประทับอย่างใกล้ชิด เชื่อว่าหลายคนคงอยากเห็นสักครั้งในชีวิต รอติดตาม สวัสดีปีใหม่ค่ะ :)   ภาพจาก http://www.okmd.or.th/activities/634/

คลังสำคัญไฉน

โพสต์เมื่อ 29 กันยายน 2559

พิพิธภัณฑ์หลายแห่งไม่มี “คลัง” หรือ “ห้องคลังเก็บวัตถุ” และยังไม่เข้าใจว่า คลังเก็บวัตถุคืออะไร มีประโยชน์ต่อพิพิธภัณฑ์ขนาดไหน แล้วถ้าอยากจะมีจะต้องจัดการอย่างไร ทุกประเด็นคำถามที่ชาวพิพิธภัณฑ์สงสัยสามารถหาคำตอบได้จากบทความนี้   “คลัง” คือ อะไร “คลัง” เป็นคำเรียกอย่างสั้นและง่ายของ “ห้องคลังเก็บวัตถุ” ที่พิพิธภัณฑ์ทุกพิพิธภัณฑ์ควรมี เพราะห้องคลังเก็บวัตถุคือ สถานที่เก็บวัตถุสิ่งของของพิพิธภัณฑ์ ที่ไม่ได้นำออกแสดงในห้องจัดแสดง เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ขอเปรียบพิพิธภัณฑ์เป็นเสมือนร้านขายของ ห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ก็คือ หน้าร้าน ส่วน “คลัง” หรือ “ห้องคลังเก็บวัตถุ” ก็คือ “โกดังเก็บสินค้า” ของร้าน เป็นที่เก็บสินค้าสำรอง รวมถึงสินค้าตัวใหม่ที่ร้านยังไม่ได้นำออกจำหน่าย ห้องคลังเก็บวัตถุทำหน้าที่เช่นเดียวกัน คือ เก็บวัตถุสิ่งของสำรอง และวัตถุสิ่งของทุกชิ้นของทางพิพิธภัณฑ์   “คลัง” มีประโยชน์อย่างไร นอกจากคลังเก็บวัตถุจะทำหน้าที่เก็บวัตถุสิ่งของที่ยังไม่ได้นำออกแสดง และเป็นที่เก็บวัตถุสำรองของทางพิพิธภัณฑ์แล้ว คลังยังมีประโยชน์อย่างมากต่อห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ เพราะคลังจะเป็นตัวช่วยแรกที่ทำให้ห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์สวยงาม และไม่หนาแน่นแออัดเกินไปด้วยวัตถุสิ่งของที่ซ้ำกัน อย่างเช่น ถ้าพิพิธภัณฑ์มีตะเกียงเจ้าพายุทั้งหมด 20 ดวงที่รูปร่างลักษณะเหมือนกัน พิพิธภัณฑ์อาจจะจัดแสดงเพียง 3- 5 ดวงเพื่อเป็นตัวอย่าง ส่วนตะเกียงที่เหลือก็เก็บเข้าคลังเก็บวัตถุ เพื่อเป็นวัตถุสำรองหรือเป็นวัตถุหมุนเวียนในการจัดแสดง เป็นต้น ภาพ: พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด ก่อนมีห้องคลังเก็บวัตถุ      ภาพ: ตู้จัดแสดงโกศเก็บอัฐิ (บางส่วน) ของพิพิธภัณฑ์ หลังมีห้องคลังเก็บวัตถุ   ขณะเดียวกันเมื่อมีวัตถุสิ่งของในห้องจัดแสดงน้อยลง ก็ทำให้รู้ว่า วัตถุสิ่งของที่จัดแสดงอยู่แต่ละชิ้นมีสภาพเป็นอย่างไร ทำให้ดูแลรักษาได้ง่ายและทั่วถึง เช่นเดียวกับวัตถุสิ่งของที่อยู่ในห้องคลังเก็บวัตถุก็จะได้รับการดูแลและรักษาสภาพของวัตถุให้มีอายุยืนยาวได้ เมื่อมีการจัดเก็บที่ถูกวิธี นอกจากนั้นเมื่อวัตถุสิ่งของทั้งในห้องจัดแสดงและห้องคลังเก็บวัตถุเกิดสูญหาย ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ก็สามารถรู้ได้ทันที เนื่องจากมีการตรวจนับและคัดแยกประเภทของวัตถุสิ่งของก่อนนำเข้าห้องคลังเก็บวัตถุ อีกประการหนึ่ง เมื่อห้องจัดแสดงมีความเป็นระเบียบก็ทำให้ดูแลได้ง่ายและทั่วถึงเช่นเดียวกัน ถ้าพิพิธภัณฑ์สามารถทำห้องคลังเก็บวัตถุอย่างเป็นระบบได้ คือ สามารถคัดแยกประเภทของวัตถุสิ่งของ ทำความสะอาดวัตถุอย่างถูกวิธี ทำการลงทะเบียนวัตถุทุกชิ้น นำวัตถุสิ่งของออกแสดงเป็นบางส่วนและเก็บวัตถุสำรองอย่างถูกวิธีไว้ในห้องคลังเก็บวัตถุ ก็จะทำให้ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์สามารถรู้ได้ว่า พิพิธภัณฑ์มีวัตถุสิ่งของที่อยู่ในความครอบครองกี่ประเภท อะไรบ้าง และมีจำนวนเท่าไร ซึ่งก็จะง่ายในการค้นหาวัตถุสิ่งของและนำออกไปจัดแสดงนิทรรศการทั้งชั่วคราวและถาวร บางครั้งห้องคลังเก็บวัตถุที่จัดทำอย่างเป็นระบบก็สามารถทำหน้าที่เสมือนเป็นห้องจัดแสดงอีกห้องหนึ่งของทางพิพิธภัณฑ์ด้วย   “คลัง” ควรอยู่ที่ไหน ตอนนี้คิดว่า ชาวพิพิธภัณฑ์หลายคนเริ่มสนใจอยากจะมี“คลัง” เป็นของส่วนตัว คำถามต่อมาก็คือ ห้องคลังเก็บวัตถุควรอยู่ตรงไหนในพิพิธภัณฑ์ ในเรื่องนี้คงไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่า ห้องคลังเก็บวัตถุควรอยู่ตรงไหน แต่สิ่งที่ชาวพิพิธภัณฑ์ต้องคำนึกถึงก่อนก็คือ 1. วัตถุสิ่งของสะสมที่ทางพิพิธภัณฑ์มีอยู่นั้น เป็นวัตถุประเภทไหน จำนวนเท่าไร 2. วัตถุสิ่งของสะสมทั้งหมดของทางพิพิธภัณฑ์มีมาก- น้อย ประมาณไหน 3. ในพิพิธภัณฑ์มีพื้นที่ว่างหรือไม่ กว้าง- ยาว เท่าไร ถ้าพิพิธภัณฑ์แห่งใดมีวัตถุสิ่งของสะสมมากและมีพื้นที่ว่างในพิพิธภัณฑ์มาก ขอแนะนำให้กันพื้นที่ว่างนั้นไว้ และจัดทำเป็นห้องคลังเก็บวัตถุ ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด จ.นครปฐม ได้กันพื้นที่ชั้นบนอาคารจัดแสดงหลังที่ 2 ของพิพิธภัณฑ์เป็นห้องคลังเก็บวัตถุ เนื่องจากมีวัตถุสิ่งของสะสมจำนวนมากและหลากหลายประเภท ประกอบกับพื้นที่ชั้นบนของอาคารจัดแสดงหลังนี้ เดิมเป็นพื้นที่ว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทางพิพิธภัณฑ์จึงเห็นควรให้ดัดแปลงใช้เป็นห้องคลังเก็บวัตถุของพิพิธภัณฑ์ ด้วยการต่อชั้นวางวัตถุสิ่งของขึ้น จากนั้นก็นำวัตถุสิ่งของที่เป็นส่วนเกินในการจัดแสดงมาจัดเก็บรักษาไว้ที่คลัง มีการแบ่งแยกตามชนิดและประเภทของวัตถุ   ภาพ: สภาพห้องเดิมก่อนดัดแปลงทำเป็น “ห้องคลังเก็บวัตถุ”   ภาพ:  ชั้นเหล็กสำหรับวางวัตถุ ในห้องคลังเก็บวัตถุ                    ภาพ: สภาพปัจจุบันของห้องคลังเก็บวัตถุ ของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด   ในกรณีที่พิพิธภัณฑ์ไม่มีพื้นที่ว่างหรือพื้นที่ใหม่สำหรับทำห้องคลังเก็บวัตถุ ก็สามารถใช้พื้นที่ในการจัดแสดงเป็นพื้นที่คลังเก็บวัตถุได้ อย่างเช่น พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวง จ.ลำปาง พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จ.พิษณุโลก ที่ใช้ห้องจัดแสดงวัตถุเป็นห้องคลังเก็บวัตถุไปพร้อมกัน วิธีการนี้จะเหมาะกับพิพิธภัณฑ์ที่มีวัตถุสิ่งของสะสมน้อยและชนิดของวัตถุซ้ำกัน ในบางครั้งห้องคลังเก็บวัตถุก็เป็นส่วนหนึ่งของห้องจัดแสดงที่มีสภาพเป็นบ้านจำลอง ห้องเก็บของในบ้าน หรือยุ้งฉางจำลองที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จ.พิษณุโลก พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร จ.สมุทรสงคราม เป็นต้น   ภาพ: ห้องจัดแสดงที่เป็นห้องคลังเก็บวัตถุ ของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จ.พิษณุโลก     ภาพ: บ้านจำลองที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร จ.สมุทรสงคราม     ภาพ: ห้องคลังเก็บวัตถุที่มีสภาพเป็นห้องเก็บของภายในบ้านจำลอง   พิพิธภัณฑ์บางแห่งอาจจะหาพื้นที่ใหม่ให้กับการทำห้องคลังเก็บวัตถุ ขณะที่บางแห่งไม่มีพื้นที่มากขนาดนั้น ก็อาจจะใช้ห้องจัดแสดงเป็นห้องคลังเก็บวัตถุ หรือบางที่ก็ให้ห้องคลังเก็บวัตถุเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดง ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ห้องคลังเก็บวัตถุจะอยู่ที่ไหนในพิพิธภัณฑ์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม จำนวนวัตถุสิ่งของสะสม ประเภทของวัตถุสิ่งของ และพื้นที่ว่างในพิพิธภัณฑ์    “คลัง” มีกี่แบบ นอกจากพิพิธภัณฑ์จะต้องพิจารณาความเหมาะสม จำนวนวัตถุสิ่งของและที่ว่างในพิพิธภัณฑ์แล้ว รูปแบบของคลังก็มีผลต่อการทำห้องคลังเก็บวัตถุด้วย เพราะห้องคลังเก็บวัตถุแต่ละแบบจะมีทั้งข้อดี ข้อเสีย ที่แตกต่างกัน ดังนั้น จะเลือกทำห้องคลังเก็บวัตถุแบบไหน ก็ควรต้องพิจารณาเงื่อนไขและปัจจัยที่เหมาะกับพิพิธภัณฑ์ให้มากที่สุด ห้องคลังเก็บวัตถุแบ่งได้ 2 แบบคือ 1. ห้องคลังเก็บวัตถุแบบเปิดเป็นห้องคลังเก็บวัตถุที่อนุญาตให้คนดูได้เห็นวัตถุสิ่งของสะสมของทางพิพิธภัณฑ์ได้ทั้งหมด ห้องคลังแบบนี้มักจะอยู่ที่เดียวกับห้องจัดแสดงวัตถุ หรือเป็นส่วนหนึ่งของห้องจัดแสดง เช่น พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หิน จ. ลำปาง ข้อดีของห้องคลังเก็บวัตถุแบบเปิด คนดูสามารถชมวัตถุสิ่งของสะสมของพิพิธภัณฑ์ได้ทั้งหมด คนดูสามารถเข้าถึงวัตถุสิ่งของได้ง่าย ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์สามารถควบคุมและดูแลรักษาวัตถุสิ่งของได้ง่าย เมื่อเกิดการสูญหายหรือเกิดความเสียหายกับวัตถุ ข้อเสียของห้องคลังเก็บวัตถุแบบเปิด วัตถุสิ่งของในพิพิธภัณฑ์เกิดการสูญหาย และอาจได้รับความเสียหายได้ง่าย ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ต้องทำความสะอาดวัตถุสิ่งของอย่างสม่ำเสมอ   2. ห้องคลังเก็บวัตถุแบบปิดเป็นห้องคลังเก็บวัตถุที่ไม่อนุญาตให้คนดูได้เห็นวัตถุสิ่งของสะสมครบทุกชิ้น ทางพิพิธภัณฑ์จะเป็นผู้เลือกวัตถุ และนำมาจัดแสดงให้เห็นเป็นบางส่วนเท่านั้น ห้องคลังแบบนี้อาจจะเป็นห้องคลังที่สร้างพื้นที่ขึ้นมาใหม่ หรืออาจจะเป็นส่วนหนึ่งของฉากการจัดแสดงก็ได้ เช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด จ.นครปฐม หรือห้องคลังเก็บวัตถุที่อยู่ในบ้านจำลอง ที่พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร จ.สมุทรสงคราม ข้อดีของห้องคลังเก็บวัตถุแบบปิด สามารถเก็บวัตถุสิ่งของที่ชำรุดหรือเสียหาย หรือสิ่งของที่ไม่ต้องการให้คนดูชม ออกจากห้องจัดแสดงได้ สามารถรักษาสภาพของวัตถุสิ่งของได้ดีกว่าห้องคลังแบบเปิด ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์สามารถดูแลรักษาวัตถุสิ่งของได้ง่าย เมื่อเกิดการสูญหาย หรือเกิดความเสียหายกับวัตถุ ข้อเสียของห้องคลังเก็บวัตถุแบบปิด วัตถุสิ่งของในห้องคลังเก็บวัตถุถูกลืม หรือถูกละเลย  คนดูไม่สามารถเห็นวัตถุสิ่งของสะสมของพิพิธภัณฑ์ทั้งหมด   วิธีการจัด “คลัง”           เมื่อถึงขั้นนี้ ชาวพิพิธภัณฑ์คงตัดสินใจได้แล้วว่า จะทำห้องคลังเก็บวัตถุแบบไหนดี จึงจะเหมาะสมกับพิพิธภัณฑ์ของตน ขั้นตอนในการทำห้องคลังเก็บวัตถุเริ่มจาก           1. หาพื้นที่ที่จะใช้เป็นห้องคลังเก็บวัตถุ ถ้าเป็นพื้นที่ใหม่ก็ควรจะต้องหาที่มีรั้วรอบขอบชิด เพื่อป้องกันการสูญหายของวัตถุ หรือถ้าใช้พื้นที่บางส่วนของนิทรรศการ เช่น ยุ้ง ฉาง หรือบ้านจำลอง ก็ควรเลือกบริเวณที่สามารถปิดล็อกกุญแจได้ เช่นเดียวกับการทำเป็นห้องคลังเก็บวัตถุแบบเปิด วัตถุสิ่งของชิ้นเล็กควรเก็บและจัดแสดงในตู้จัดแสดงที่มีกุญแจล็อกเรียบร้อย           2. ควรทำชั้น หรือนำตู้จัดแสดงที่เหลือใช้ มาทำเป็นที่วางวัตถุสิ่งของเพื่อความสะดวกในการจัดเก็บ ดูแลรักษาวัตถุ และสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยในห้องคลัง แต่ถ้าไม่มี ก็สามารถวางวัตถุไว้กับพื้นห้องได้           3. เมื่อได้พื้นที่ของห้องคลังเก็บวัตถุแล้ว ควรคัดแยกประเภทของวัตถุสิ่งของ           4. สำรวจสภาพของวัตถุสิ่งของ ทำความสะอาดวัตถุเบื้องต้น และทำทะเบียนวัตถุ           5. คัดเลือกวัตถุสิ่งของที่จะนำออกจัดแสดง (ในกรณีที่ทำห้องคลังแบบปิด) ส่วนวัตถุสิ่งของสำรอง และวัตถุสิ่งของชิ้นอื่นที่จะนำเก็บในห้องคลัง ก็ให้จัดเก็บให้ถูกต้องตามหลักวิธีการ เพื่อรักษาสภาพของวัตถุ           6. หมั่นเปิดเข้าไปทำความสะอาดห้องคลังเก็บวัตถุอย่างสม่ำเสมอ และควรสำรวจตรวจสอบสภาพวัตถุสิ่งของที่อยู่ในห้องคลัง           แต่ในความเป็นจริงนั้น พิพิธภัณฑ์อาจไม่สามารถทำตามขั้นตอนที่กล่าวมาได้ เนื่องจากขาดบุคลากรทำงาน ประกอบกับมีวัตถุสิ่งของสะสมมากและไม่มีเวลา ในบางครั้ง มีคนขอเข้าชมพิพิธภัณฑ์มาก จะให้ปิดเพื่อทำห้องคลังเก็บวัตถุก็ไม่ได้ วิธีแก้ไขในเรื่องนี้คือ หาพื้นที่สำหรับเป็นห้องคลังเก็บวัตถุ คัดเลือกวัตถุให้เหลือเฉพาะสำหรับการจัดแสดง ส่วนวัตถุที่เหลือเก็บเข้าห้องคลัง แล้วจึงคัดแยกประเภท ทำความสะอาด ทำทะเบียนวัตถุ และจัดเก็บตามขั้นตอนในภายหลัง เมื่อห้องคลังเก็บวัตถุเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ก็มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินการจัดทำ และการดูแลรักษา           ห้องคลังเก็บวัตถุเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพิพิธภัณฑ์ทุกแห่งทุกประเภทที่ควรมี เพราะนอกจากจะทำให้ห้องจัดแสดงมีความสวยงามและเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว ห้องคลังเก็บวัตถุยังสามารถช่วยยืดอายุของวัตถุสิ่งของได้ด้วย หากจัดเก็บอย่างถูกวิธี  ห้องคลังเก็บวัตถุอาจมีรูปร่าง/ลักษณะ และวิธีการจัดเก็บแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม   Tips สร้างความเข้าใจ พิพิธภัณฑ์        =  ร้านค้าขายของ ห้องจัดแสดง     =  หน้าร้าน ห้องคลังเก็บวัตถุ =  โกดังเก็บสินค้า วัตถุสิ่งของ       =  สินค้า

ธุรกิจพิพิธภัณฑ์ในกัมพูชาของเกาหลีเหนือ

โพสต์เมื่อ 28 มีนาคม 2559

ไม่นานนี้มีข่าวเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาที่น่าสนใจ และน่าแปลกใจ คือเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2558 ที่เมืองเสียมเรียบ มีการเปิดตัวพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ที่ชื่อว่า “the Angkor Panorama Museum”  นำเสนอประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเขมรระหว่างศตวรรษที่ 9 -15 ผ่านรูปจำลองและภาพวาดขนาดใหญ่  แต่ที่กลายเป็นประเด็นเพราะเงินลงทุน แนวคิด การออกแบบ และศิลปินสร้างสรรค์ทั้งหมดไม่ได้มาจากคนกัมพูชาแต่มาจากเกาหลีเหนือ  จากสตูดิโอที่ชื่อว่า “มันซูแด” (Mansudae) เอาเข้าจริงคนส่วนใหญ่เวลาพูดถึงเกาหลีเหนือมักนึกถึง #สังคมนิยม #คิมอิลซุง #คิมจองอิล #อาวุธนิวเคลียร์ แต่เรามักไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับศิลปะ งานออกแบบ พิพิธภัณฑ์มากนัก เว็บไซต์นิวยอร์กไทม์เล่ารายละเอียดที่มาที่ไปของเรื่องนี้ และผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจดี นำมาเล่าสู่กันฟัง  หากใครสนใจอ่านต้นฉบับคลิกตามนี้เลยค่ะ “An Art Powerhouse From North Korea” อย่าลืมว่าที่สื่อต่างประเทศหลายสำนักให้ความสนใจเพราะว่ามันเป็นเรื่อง “เกาหลีเหนือ” สตูดิโอมันซูแดไม่ได้ทำงานเฉพาะแต่ในเกาหลีเหนือ แต่รับงานทั่วโลกค่ะ เมื่อไม่กี่ปีนี้ศิลปินของมันซูแดรับงานสร้างอนุสาวรีย์และประติมากรรมในหลายประเทศทั้งในแอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเยอรมนี การจัดแสดงภายใน พิพิธภัณฑ์ Angkor Panorama Museum (ภาพจาก http://www.angkorpanoramamuseum.com) โปรเจ็คพิพิธภัณฑ์ Angkor Panorama Museum ถือเป็นงานชิ้นโบว์แดงในต่างประเทศของสตูดิโอเลยทีเดียว ใช้ผู้รังสรรค์งานศิลปะกว่า 63 ชีวิต ที่บินตรงจากเกาหลีเหนือมานั่งวาดภาพบนฉาก cyclorama กว่า 4 เดือน โดยมีสถาบันอัปสรา (Apsara) ภายใต้รัฐบาลกัมพูชาเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ สตูดิโอมันซูแดก่อตั้งในปี ค.ศ. 1959 ตั้งอยู่ในกรุงเปียงยาง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในสตูดิโอที่ผลิตงานศิลปะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีพนักงานราว 4,000 คน มีตัวแทนติดต่อการค้าทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป  ผลิตงานศิลปะหลากหลายที่เป็นโฆษณาชวนเชื่อให้กับรัฐบาลเกาหลีเหนือ ในทศวรรษที่ 1990 มันซูแดเริ่มรับงานนอกประเทศ เช่น อนุสาวรีย์แอฟริกันเรเนอซองส์(African Renaissance) ที่เมืองดาร์การ์ ประเทศเซเนกัล   น้ำพุเทพนิยาย(Fairy Tale Fountain) ที่เมืองแฟรงเฟิร์ต เยอรมนี รวมถึงหอศิลป์ที่มหานครปักกิ่ง เป็นต้น ความมโหฬารของอนุสาวรีย์แอฟริกันเรเนอซองส์ ประเทศเซเนกัล (ภาพจาก Sbreitinger, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=30798938) น้ำพุเทพนิยาย(Fairy Tale Fountain) เมืองแฟรงเฟิร์ต เยอรมนี ฝีมือสตูดิโอมันซูแด (ภาพจาก Epizentrum, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=24994483) ส่วนที่มาของดีลที่กัมพูชาเกิดจากการติดต่อผ่านสภาการพัฒนาของกัมพูชาซึ่งเป็นคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ด้วยข้อเสนอในการสร้างพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดเสียมเรียบ แต่อย่างไรก็ดีกัมพูชาและเกาหลีเหนือมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นตั้งแต่สมัยเจ้านโรดมสีหนุ เมื่อทศวรรษที่ 1970 พระองค์ท่านลี้ภัยการเมืองและคิมอิลซุงได้เสนอที่ลี้ภัย เสด็จประทับที่เกาหลีเหนือในครั้งนั้นนานหลายปี และกลับไปเยือนทุกปี จนถึงกับเขียนบทและกำกับภาพยนตร์ที่มีดารานำเป็นนักแสดงเกาหลีเหนือ  แถมยังมีวลีจากพระองค์ที่ตรัสถึงคิมอิลซุงว่า “เป็นยิ่งกว่าเพื่อน มากกว่าพี่ชาย” ทุกวันนี้ผู้ประกอบการเกาหลีเหนือต่างมาลงทุนทำธุรกิจร้านอาหารหลายแห่งในกัมพูชา นักวิเคราะห์บางคนบอกว่านี่คือแหล่งที่มาของรายได้ที่ส่งกลับไปจุนเจือสถานะทางการเงินของรัฐบาลเผด็จการที่เปียงยาง  อย่างไรก็ดีสำหรับมันซูแด พิพิธภัณฑ์ Angkor Panorama Museum แตกต่างจากโปรเจ็คอื่นๆ ที่ผ่านมาตรงที่เป็นธุรกิจแรกของมันซูแดที่ใช้เงินลงทุนมหาศาล  นักวิชาการต่างประเทศบางคนตั้งข้อสังเกตว่า ดีลนี้จะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังทางการเมืองอะไรหรือเปล่า เพราะดูเหมือนพิพิธภัณฑ์ก็ไม่ใช่เป็นธุรกิจที่จะทำกำไรได้มากมาย โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองส่วนใหญ่เป็นผลงานจากสตูดิโอมันซูแด (ภาพจาก http://www.koreanposters.com) การบริหารจัดการของพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรกรายได้ทั้งหมดเป็นของมันซูแด หลังจากนั้น 10 ปี (หรือน้อยกว่านั้น หากบริษัทคืนทุนก่อน) ทั้งสองฝ่ายจะแบ่งรายได้กัน และระยะที่สามพิพิธภัณฑ์จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสถาบันอัปสรา ฝ่ายอัปสรารายงานว่า พิพิธภัณฑ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนระยะยาวที่จะสร้างแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมนครวัด ในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาเยี่ยมชมนครวัดถึง 2.5 ล้านคน เพิ่มจากจากปี ค.ศ. 2000 ที่มีเพียง 4 แสนคน คาดว่านักท่องเที่ยวจำนวนมากจะแวะเที่ยวพิพิธภัณฑ์นี้ด้วย โดยเก็บค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์คนละ 15 เหรียญสหรัฐฯ แต่ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์เผยว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าชม พิพิธภัณฑ์ ณ ขณะนี้มีราว 20 คนต่อวัน! หากไม่นับนครวัด ปราสาท และโบราณสถานจำนวนมากที่เป็นไซต์มิวเซียมขนาดใหญ่แล้ว กัมพูชายังมีพิพิธภัณฑ์ไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นพิพิธภัณฑ์ของรัฐภายใต้การดูแลของสถาบันอัปสราและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง  ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่อย่างพนมเปญและเสียมเรียบ ที่โดดเด่นคงจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงประวัติศาสตร์ เรื่องราวที่หดหู่น่าเศร้า และด้านมืดของมนุษย์ในสงครามกลางเมืองของกัมพูชา โดยเฉพาะในยุคที่เขมรแดงปกครอง อาทิ พิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งโตลสเลง พิพิธภัณฑ์กับระเบิด พิพิธภัณฑ์สงครามกัมพูชา  นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอมรดกวัฒนธรรมของกัมพูชา อาทิ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกัมพูชา พิพิธภัณฑ์แห่งชาตินครวัด พิพิธภัณฑ์ผ้าพื้นเมืองอาเซียน

พิพิธภัณฑ์ต้องเสียภาษีหรือเปล่า?

โพสต์เมื่อ 29 มกราคม 2559

คนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายคน โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินงานโดยเอกชนมักประสบปัญหาเรื่องการถูกเรียกเก็บภาษีนานาประเภททั้งจากกรมสรรพากรและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ยกตัวอย่าง พิพิธภัณฑ์อูบคำ จังหวัดเชียงรายของอาจารย์จุลศักดิ์ สุริยะไชย ที่เปิดพื้นที่บ้านพักของตนเองทำเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุของอาณาจักรล้านนาโบราณ กลุ่มชาติพันธุ์ และผ้าพื้นเมืองที่หาดูได้ยาก ถูกเรียกเก็บภาษีป้าย  หรือที่โด่งดังเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์คือพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ถูกเรียกเก็บภาษีโรงเรือนเป็นเงินกว่าสองแสนบาท เมื่อปี พ.ศ.2545 จนกระทั่งตอนนั้นถึงกับติดป้ายประกาศขายพิพิธภัณฑ์ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ในความเข้าใจของผู้เขียน พิพิธภัณฑ์ควรจะเป็นองค์กรที่รัฐควรส่งเสริมและให้ความสำคัญ รวมถึงให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ผ่านมาตรการทางกฎหมาย มิพักต้องพูดถึงเรื่องการเรียกเก็บภาษี ในฐานะองค์กรหรือสถานที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น  มีกฎหมายเฉพาะรองรับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในฐานะเป็นแหล่งเรียนรู้  หรือมาตรการทางภาษีที่สร้างแรงจูงใจและการบริจาคจากภาคประชาสังคม และที่สำคัญคือการยกเว้นภาษีเพื่อลดค่าใช้จ่ายของพิพิธภัณฑ์ แต่เราพบว่าในความเป็นจริง มาตรการทางภาษีกลับไม่เอื้อต่อการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และกลายเป็นอุปสรรคด้วยซ้ำไป ใครที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับภาษีกับงานพิพิธภัณฑ์ แนะนำให้อ่านวิทยานิพนธ์ของนางสาวชนน์ชนก พลสิงห์ เรื่อง “มาตรการภาษีในการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น” มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมาตรการทางภาษีมีรายละเอียดปลีกย่อยมาก ผู้เขียนขอสรุปและยกตัวอย่างมาบางส่วน วิทยานิพนธ์ของชนน์ชนกชี้ให้เห็นว่า เนื่องจากปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นยังไม่มีสถานะทางกฎหมาย เว้นแต่ถูกจัดตั้งภายใต้การบริหารงานของนิติบุคคล  ในเชิงมาตรการทางภาษีจึงพิจารณาจากลักษณะการจัดตั้งภายใต้การบริหารงานของบุคคลหรือองค์กรใน 3 รูปแบบ ตามหน่วยภาษี ได้แก่ 1) บุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคล  2) สมาคมหรือมูลนิธิ และ3) สมาคมหรือมูลนิธิที่ได้รับการประกาศเป็นองค์การสถานสาธารณกุศลตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร  ดังนั้นการจัดเก็บหรือยกเว้นภาษีจึงยึดตามหน่วยภาษีหรือประเภทองค์กรที่บริหารจัดการ พิพิธภัณฑ์ที่มีสถานภาพองค์กรต่างกันมีภาระในการเสียภาษีแต่ละประเภทแตกต่างกัน พิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินงานโดยบุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคลมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้แบบอัตราก้าวหน้า  ภาษีมูลค่าเพิ่มหากมูลค่าฐานภาษีถึง  ภาษีโรงเรือนและที่ดินไม่ได้รับการยกเว้น รวมถึงภาษีบำรุงท้องที่และภาษีป้าย  ส่วนพิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินงานโดยสมาคมหรือมูลนิธิเสียภาษีเงินได้แบบอัตราคงที่  ภาษีมูลค่าเพิ่มหากมูลค่าฐานภาษีถึง  ภาษีโรงเรือนและที่ดินภาษีบำรุงท้องที่ไม่ได้รับการยกเว้น  ส่วนภาษีป้ายได้รับการยกเว้น  และพิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินงานโดยสมาคมหรือมูลนิธิที่ได้รับการประกาศเป็นองค์การสถานสาธารณกุศลมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เสียภาษีมูลค่าเพิ่มหากมูลค่าฐานภาษีถึง  แต่สามารถขอยกเว้นได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด  เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องถิ่น  แต่ได้รับการยกเว้นภาษีป้าย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี อ.เมือง จ.พิษณุโลก อย่างไรก็ตามมาตรการทางภาษีดังกล่าว  เป็นตัวสร้างปัญหาและอุปสรรคในการบริหารงานให้กับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอยู่ไม่น้อย เช่น การถูกเรียกเก็บภาษีป้าย ทำให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นต้องระมัดระวังในการปิดป้ายประชาสัมพันธ์  ส่งผลต่อการรู้จักของผู้เยี่ยมชม ไม่นับตัวเงินภาษีที่ต้องหามาจ่ายในขณะที่รายรับมีจำกัด   หรือปัญหาการขอมีสถานะเป็นองค์การสถานสาธารณกุศล ซึ่งการที่กฎหมายพิจารณาพิพิธภัณฑ์เอกชนในสถานะเป็นองค์การสถานสาธารณกุศลได้ ต้องเปิดให้เข้าชมเป็นสาธารณะและไม่เก็บค่าเข้าชมนั้น ทำให้พิพิธภัณฑ์ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยไม่ได้รับการสนับสนุนเงินจากภาครัฐแต่อย่างใด   หรือการที่กฎหมายระบุถึงสิทธิประโยชน์ของผู้บริจาคว่านำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ในกรณีบริจาคให้พิพิธภัณฑ์เอกชนที่เป็นองค์การสถานสาธารณกุศลที่ประกาศไว้เป็นการถาวร  แต่ปัญหาคือพิพิธภัณฑ์เอกชนดังกล่าวไม่มีสถานะทางกฎหมาย เมื่อผู้บริจาคต้องนำหลักฐานการบริจาคไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ การที่พิพิธภัณฑ์ไม่มีสถานภาพทางกฎหมายทำให้ในทางปฏิบัติผู้บริจาคไม่มีหลักฐานการบริจาคที่น่าเชื่อถือทางกฎหมาย และพิพิธภัณฑ์จึงไม่อาจใช้สิทธิประโยชน์ได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่สุดแล้วมาตรการทางภาษีของรัฐนอกจากไม่ได้ส่งเสริมงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แต่ยังกลับบั่นทอนการทำงานเพื่อสาธารณะของคนทำพิพิธภัณฑ์ คำว่า “ถือไต้ฝ่าสายฝน” ของคุณพรศิริ บุรณเขตต์ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ที่ถูกเรียกเก็บภาษีโรงเรือนเป็นเงินเรือนแสน ทั้งที่ๆ ก่อนหน้านั้นเปิดให้คนเข้าชมฟรีมากกว่า 20 ปี  คงอธิบายสถานการณ์ที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี  

การ(ห้าม)ถ่ายภาพในพิพิธภัณฑ์ สำคัญไฉน?

โพสต์เมื่อ 18 ธันวาคม 2558

          เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ไรจ์(Rijks Museum)ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มีกฎห้ามผู้ชมนำกล้องและโทรศัพท์มือถือเข้าพิพิธภัณฑ์ แต่ออกแคมเปญเชิญชวนให้สเก็ตช์ภาพในพิพิธภัณฑ์  นัยว่าเป็นการส่งเสริมให้ผู้ชมได้ดื่มด่ำกับสุนทรียภาพในการชมพิพิธภัณฑ์ให้มากขึ้น  จริงๆ ประเด็นนี้น่าขบคิด              ปัจจุบันการถ่ายภาพกลายเป็นสิ่งสามัญในชีวิตประจำวันของผู้คนในโลกดิจิทัล โดยเฉพาะการถ่ายจากมือถือ การไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ และได้ถ่ายภาพเพื่อแชร์ประสบการณ์ให้กับเพื่อนๆ แต่เมื่อเห็นป้ายห้ามถ่ายภาพในพิพิธภัณฑ์ก็สร้างความหงุดหงิดใจไม่น้อย   เอาเข้าจริงการสเก็ตซ์ภาพก็ควรจะต้องถูกตั้งคำถามด้วยเหมือนกัน  เป็นไปได้สูงที่การนั่งหรือยืนสเก็ตซ์จะรบกวนผู้ชมคนอื่นๆ เพราะต้องใช้พื้นที่  ใช้เวลานาน แถมอาจจะเสี่ยงที่ดินสอจะไปทำความเสียหายต่อวัตถุจัดแสดง   พิพิธภัณฑ์เปอกามอน(Pergamon Museum) เบอร์ลิน เยอรมนี : ภาพโดยปณิตา สระวาสี                นีน่า ไซมอน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Santa Cruz Museum of Art & Historyและผู้ก่อตั้ง Blog Musuem 2.0 ตั้งข้อสังเกตเรื่องนโยบายการถ่ายภาพในพิพิธภัณฑ์ไว้ได้น่าสนใจในบล็อก  ‘Museum Photo Policies Should Be as Open as Possible’  ขออนุญาตนำมา “แชร์” ในที่นี้ ไซมอนเล่าว่าปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เด็กและพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มักอนุญาตให้ถ่ายภาพ หรือแม้กระทั่งสามารถหยิบจับวัตถุ ทดลองเล่นกับวัตถุต่างๆ ได้ ในขณะนี้พิพิธภัณฑ์ด้านศิลปะและประวัติศาสตร์ที่มีคอลเล็กชั่นจัดแสดง ยังมีนโยบายห้ามถ่ายภาพอยู่  ซึ่งเธอรวบรวมการอ้างเหตุผลของการห้ามได้ 5 ข้อ ดังนี้ 1.    ทรัพย์สินทางปัญญา: พิพิธภัณฑ์บางแห่งที่ได้รับการบริจาควัตถุหรือให้ยืมวัตถุจัดแสดง  จึงต้องเคารพในข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาจากเจ้าของ  หรือบางพิพิธภัณฑ์มีคอลเล็กชั่นทั้งที่สามารถถ่ายภาพได้และไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ  ดังนั้นเพื่อง่ายต่อการจัดการก็มีนโยบายห้ามถ่ายภาพไปซะเลย สิ้นเรื่อง! 2.    อนุรักษ์วัตถุ: วัตถุบางประเภทหากโดนแสงจากแฟลช อาจทำให้เสื่อมสภาพ นักอนุรักษ์บางท่านก็ยอมรับการถ่ายภาพวัตถุได้หากไม่ใช้แฟลช  พิพิธภัณฑ์บางแห่งอำนวยประโยชน์แก่ผู้ชมด้วยการจัดแสงให้สว่างขึ้น เพื่อผู้ชมจะได้ถ่ายภาพได้สะดวกโดยไม่จำเป็นต้องเปิดแฟลช 3.    สร้างรายได้: พิพิธภัณฑ์บางแห่งต้องการหารายได้จากการขายภาพถ่ายวัตถุอย่างเป็นทางการ ดังนั้นการอนุญาตให้ผู้ชมถ่ายภาพได้อาจจะกระทบรายได้ของพิพิธภัณฑ์ 4.    สร้างประสบการณ์สุนทรียภาพ: การถ่ายภาพอาจรบกวนผู้ชมคนอื่นๆ  และเกรงว่าการชมผลงานศิลปะผ่านเลนส์กล้องเป็นการลดทอนสุนทรียประสบการณ์ไปอย่างน่าเสียดาย  และผู้ชมอาจแสดงกิริยาไม่เหมาะสมในภาพถ่ายที่ถ่ายกับวัตถุหรือเนื้อหาจัดแสดง  ซึ่งเป็นการบิดเบือนคุณค่าและความตั้งใจของพิพิธภัณฑ์ 5.    ความปลอดภัย: การถ่ายภาพอาจจะเป็นการวางแผนประสงค์ร้าย เช่น ขโมยวัตถุในพิพิธภณฑ์ หรือประสงค์ต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ชมคนอื่น พิพิธภัณฑ์เปอกามอน(Pergamon Museum) เบอร์ลิน เยอรมนี : ภาพโดยปณิตา สระวาสี            เหตุผลข้างต้นในบางข้อสำหรับไซมอนแล้ว เธอมองว่าอาจจะดูแปลกๆ ไปสักหน่อย  เพราะในฐานะที่เธอเป็นภัณฑารักษ์สกุลที่สนับสนุนการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชมกับตัวนิทรรศการหรือการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์   เธอสนับสนุนเต็มที่ต่อนโยบายการเปิดให้ผู้ชมถ่ายภาพในพิพิธภัณฑ์ได้   ลองมาดูเหตุผลการสนับสนุนของเธอบ้าง 1.    ตราบใดที่การถ่ายภาพไม่ได้ลดทอนความปลอดภัยในวัตถุจัดแสดง หรือกับผู้ชม หรือเป็นการละเมิดกฎหมายแล้วพิพิธภัณฑ์ควรเปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้ามีส่วนร่วม สร้างความเป็นกันเอง ไม่ทำสิ่งใดที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเกร็ง ที่สำคัญไม่ควรเอาความรู้สึกส่วนตัวของเจ้าหน้าที่มาตัดสินหรือกำหนดเป็นนโยบาย  หากจะกำหนดนโยบายใดควรมีงานวิจัยพฤติกรรมของผู้ชมมารองรับ  แม้หลายคนอาจยังไม่ค่อยสบายใจต่อการกระแสวัฒนธรรมการเซลฟี แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้ความชอบและไม่ชอบส่วนตัวมาเป็นสิ่งบังคับพฤติกรรมของคนอื่นโดยปราศจากเหตุผลที่ดี 2.    นโยบายห้ามถ่ายภาพทำลายความสัมพันธ์อันดีระว่างพิพิธภัณฑ์และผู้ชม  ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือมีกล้องอยู่ในตัว นั่นหมายถึงผู้ชมเดินเข้ามาพิพิธภัณฑ์พร้อมกับกล้องในมือ  เป็นไปได้สูงที่ผู้ชมจะอารมณ์เสียเมื่อถูกสั่งให้ฝากมือถือไว้หรือห้ามถ่ายภาพ  กลายเป็นว่าพิพิธภัณฑ์เองยิ่งต้องเหนื่อยแรงในการรักษากฎและอาจต้องตามไปตรวจตราเว็บไซต์ต่างๆ ว่าโพสต์รูปต้องห้ามรึเปล่า  ซึ่งการออกคำสั่งว่าห้ามถ่ายภาพในพิพิธภัณฑ์ยังสร้างความรู้สึกว่าพิพิธภัณฑ์เป็นผู้มีอำนาจหรือเจ้าเข้าเจ้าของวัตถุจัดแสดง มากกว่าการเป็นสถานที่เรียนรู้  คำถามคือแล้วผู้ชมจะมีส่วนร่วมกับพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไร หากพวกเขาไม่สามารถเป็นเจ้าของภาพถ่ายจากประสบการณ์ของพวกเขาเอง 3.    การถ่ายภาพทำให้ผู้ชมสามารถย้อนรำลึกถึงช่วงเวลานั้นและเป็นการสร้างความหมายจากการชมพิพิธภัณฑ์  มีงานศึกษาหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าการสร้างบันทึกส่วนตัวต่อประสบการณ์และการกลับมาเปิดภาพดูอีกครั้ง ยิ่งเพิ่มการเรียนรู้และการเก็บรักษาไว้ซึ่งความรู้  เมื่อผู้ชมพลิกภาพถ่ายแต่ละภาพพวกเขาย้อนระลึกถึงความสนใจของพวกเขาที่มีต่อวัตถุหรือนิทรรศการมากกว่าการไม่มีภาพถ่ายเป็นตัวช่วย 4.    วัตถุประสงค์ของการภาพถ่ายส่วนตัวแตกต่างจากการซื้อภาพอย่างเป็นทางการ  ผู้ชมส่วนใหญ่ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเหตุการณ์หรือประสบการณ์ส่วนตัว แต่หากต้องการใช้ภาพวัตถุที่ถ่ายอย่างประณีตส่วนใหญ่ก็จะยินดีจะซื้ออยู่แล้ว การที่ผู้ชมถ่ายภาพพิพิธภัณฑ์อย่างสวยงามแล้วแชร์ในเว็บไซต์ อาจจะสร้างกระแสการเพิ่มยอดจำนวนผู้ชมพิพิธภัณฑ์เสียด้วยซ้ำไป  และคงจะเปรียบเทียบไม่ได้เลยระหว่างการขาดรายได้อันเนื่องมาจากการอนุญาตให้ถ่ายภาพ กับการสร้างความประทับใจในหมู่ชนจากภาพถ่ายพิพิธภัณฑ์ที่แชร์กันในโลกออนไลน์  อย่างไรก็ดีมีพิพิธภัณฑ์ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการเปิดให้ถ่ายและแชร์ภาพออนไลน์ต่อรายได้ของพิพิธภัณฑ์จากการขายภาพ พบว่าไม่มีผลกระทบเชิงรายได้ และกลับกลายเป็นมีผลทางบวกมากกว่า อ่านรายงานศึกษาได้ที่  in-depth paper 5.    เมื่อใครก็ตามที่แชร์ภาพพิพิธภัณฑ์ของเรา นั่นหมายถึงพวกเขาได้โปรโมทพิพิธภัณฑ์เรา  ปี ค.ศ. 2008 Henry Jenkins  นักวิจัยของสถาบัน MITได้ตีพิมพ์รายงานศึกษาเรื่อง  "If it Doesn't Spread, It's Dead,"  ที่แสดงให้เห็นว่าการเผยแพร่สื่อที่เกี่ยวกับวัตถุจัดแสดงส่งผลกระทบมหาศาล เมื่อผู้เสพย์สื่อนั้นนำสื่อนั้นไปต่อยอด ทุกครั้งที่ภาพถ่ายถูกแชร์ นั่นหมายถึงการขยายวงผู้ชมในการเข้าถึงวัตถุหรือเนื้อหานิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ และยิ่งไปกว่านั้น  การต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ต่อวัตถุทางวัฒนธรรมจากภาพถ่ายหรือสื่ออื่นๆ ถือเป็นการส่งเสริม “กระบวนการสร้างความหมาย” พูดง่ายๆ ก็คือสนับสนุนผู้คนให้ใช้เครื่องมือที่เขามีในการอธิบายโลกที่อยู่รอบๆ ตัวพวกเขา            คงจะเป็นเรื่องน่าตกใจไม่น้อย  หากบางพิพิธภัณฑ์ที่ไม่รู้หรือไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าตนมีนโยบายห้ามถ่ายภาพไปทำไม  ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้พิพิธภัณฑ์ควรทบทวนนโยบายการอนุญาตให้ถ่ายภาพใหม่  ไม่ควรปล่อยให้ทำตามๆ กันต่อไปโดยไม่รู้เหตุผลที่แท้จริง

อดีต-ปัจจุบัน ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย

โพสต์เมื่อ 07 พฤษภาคม 2558

ปี 2555 นี้ ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  ก้าวเข้าสู่หนึ่งทศวรรษแล้ว ขอเริ่มต้น blog ด้วยการรำลึกถึงอดีตกันเล็กน้อย  มาดูกันว่าพัฒนาการของเราเป็นอย่างไร ภาพชุดแรก เป็นหน้าตาของเว็บฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในยุคแรกเริ่ม ประมาณปี 2545 พัฒนาโดยคุณตรงใจ  หุตางกูร นักวิชาการของศูนยฯ  หน้าตาออกแนววินเทจเล็กๆ   เว็บนี้ยังไม่มีระบบ search  แต่สามารถอ่านข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ด้วยการคลิกเลือกจังหวัด และอำเภอ ตามลำดับ  จึงจะปรากฎชื่อพิพิธภัณฑ์มาให้เลือกอ่าน ตอนนี้มีข้อมูลพิพิธภัณฑ์ประมาณ 400 รายการราวปี 2549 เราออกแบบหน้าตาฐานข้อมูลใหม่ ให้มีระบบ search เพื่อต้องการให้ "ค้นง่าย หาอะไรก็เจอ" ขณะเดียวกันข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ราว 800 รายการ พร้อมภาพถ่าย แผ่นพับ แผนที่ รายชื่อเอกสารอ้างอิง ฯลฯ ยุคนี้เว็บเราใช้ flash วูบวาบเต็มไปหมด ปี 2555 นี้เราปรับโฉมอีกครั้ง มีข้อมูลพิพิธภัณฑ์กว่า 1,200 รายการ! พร้อมนำเสนอบทความและความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการทำพิพิธภัณฑ์ นอกจากหน้าตาทันสมัยขึ้นแล้ว สิ่งที่เพิ่มเข้ามาใหม่คือ การให้ user เข้ามามีส่วนร่วมช่วยสร้างเนื้อหา ช่วยสะท้อนมุมมองที่มีพิพิธภัณฑ์สังคมไทยนอกจะอุดมไปด้วยพิพิธภัณฑ์แล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าควรจะต้องอุดมไปด้วยปัญญาไปพร้อมๆ กันทั้งคนทำ และคนดู.

ชวนเที่ยว 5 พิพิธภัณฑ์ ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

โพสต์เมื่อ 27 มกราคม 2558

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนพระทัยในศาสตร์และศิลป์หลากหลายสาขา นำไปสู่พระราชดำริในการริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน การจัดทำ “พิพิธภัณฑ์” เป็นโครงการตามพระราชดำริที่สำคัญ  เนื่องจากทรงตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของพิพิธภัณฑ์ ในฐานะเป็นแหล่งเรียนรู้แก่สังคมไทย ในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 5 รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 2 เมษายน 2558  นี้ ผู้เขียนขออนุญาตแนะนำพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจ 5 แห่ง ที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริในการก่อตั้ง 1. พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิยาเจ้า พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งอยู่ภายในวังสระปทุม จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและแสดงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า รวมถึงเป็นการอนุรักษ์พระตำหนักที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เคยประทับ  และให้บริการศึกษาค้นคว้าสารสนเทศพระราชประวัติสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าอีกด้วย           วังสระปทุม เป็นวังที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประทับร่วมกับพระราชโอรสคือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงประทับตั้งแต่ พ.ศ. 2459 ตราบจนสวรรคตใน พ.ศ. 2498 และทรงเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในเวลาต่อมา เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภาพจากพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าขึ้น เพื่อสนองพระราชดำริ เป็นแหล่งศึกษาพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พิพิธภัณฑ์มีอาคารจัดแสดง 2 หลัง คือ “พระตำหนักใหญ่” ใช้เป็นอาคารจัดแสดงองค์สำคัญ  และอาคารหอนิทรรศการ สำหรับจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับการบูรณะซ่อมแซมพระตำหนักใหญ่ และนิทรรศการชั่วคราว ปัจจุบันเป็น “นิทรรศการศรีสวรินทิรากรณียานุกิจ สิรินธรพินิจราชกรณียานุการ” จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 5 รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 2 เมษายน 2558 ในพระตำหนักใหญ่ มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นำชมพร้อมหูฟัง ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ภายในแบ่งการจัดแสดงแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลาตามห้องต่างๆ ได้แก่ 1.ห้องพิธีและห้องรับแขก  2.ห้องเทาและห้องทรงพระอักษร  3.ห้องทรงพระสำราญ  ห้องทรงนมัสการ และห้องพระบรรทม  ส่วนสุดท้ายคือ ห้องนิทรรศการบริเวณชั้นล่างของพระตำหนักใหญ่  จัดแสดงเอกสารและของใช้ส่วนพระองค์  ภาพจากพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ดาวเด่นคือ เอกสารลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเขียนถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกา เล่าชีวิตความเป็นอยู่ในต่างประเทศ  และกราบบังคมทูลพบสตรีที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม ซึ่งก็คือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือนางสาวสังวาลย์ ในเวลานั้น   และจัดแสดง “เจ๊กตู้” ซึ่งเป็นตู้ขายของที่เจ๊กตู้หาบมาขายในวัง โดยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดให้เข้าไปขายในวังสระปทุมเป็นปกติ เพราะมีข้าวของต่างๆ ให้พระราชนัดดาทั้ง 3 พระองค์ได้ทรงเลือกซื้อ 2. พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย ปี พ.ศ. 2546 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย มีพระราชดำริให้สภากาชาดไทยดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย โดยมีพระราชประสงค์ให้นำเสนอในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต(living museum) เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์สภากาชาดสากล ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่สามารถทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า “กำลังยืนอยู่ท่ามกลางความทุกข์ของคนเป็นล้านๆ คน” อาคารพิพิธภัณฑ์คือ ตึกกาชาดเดิม ภายในมีทั้งนิทรรศการถาวรและนิทรรศการหมุนเวียน แบ่งส่วนแสดงเป็น 7 ส่วนด้วยกันโดยแต่ละส่วนใช้สีรุ้ง 7 สี เป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายของเรื่องที่จัดแสดงส่วนแรกได้แก่ “สถาปนาสันติธรรม” จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาที่กำเนิดกาชาดสากลและสภากาชาดไทย ส่วนจัดแสดงต่อมาคือ“บูรณาการสถานศึกษา”นำเสนอภารกิจของสภากาชาดไทยด้านการแพทย์ การพยาบาล ส่วนที่สามคือ“โอสถบริรักษ์”  จัดแสดงภารกิจของสภากาชาดในการผลิตเซรุ่มและวัคซีน เพื่อใช้ป้องกันและรักษาโรคต่างๆ   ภาพจาก https://www.facebook.com/ThaiRedCrossMuseum/ ส่วนที่สี่ “อภิบาลดรุณ”  จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับมูลนิธิสงเคราะห์เด็กสภากาชาดไทย และเรื่องราวเกี่ยวกับหน่วยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  ส่วนที่ห้า “บุญเกษม”แสดงภารกิจของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ที่มุ่งจัดหาโลหิตจากผู้บริจาคที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยทั่วประเทศส่วนที่หก“บำเพ็ญคุณากร” จัดแสดงภารกิจในการบรรเทาทุกข์โดยสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน ส่วนสุดท้าย “อมรสาธุการ” นำเสนอยกย่องผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่สภากาชาดไทย รวมทั้งของที่ระลึกต่างๆ ที่มอบให้ผู้มีอุปการคุณต่อสภากาชาดไทย ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ หนึ่งในคณะกรรมการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย เคยกล่าวถึงเป้าหมายหลักสำคัญที่ท้าทายของพิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทยว่า “เมื่อชมแล้ว ผู้ชมทุกคนต้องบังเกิดความปรารถนาที่จะช่วยสภากาชาด ในทางใดทางหนึ่ง”         3. พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย " ตามเกาะต่าง ๆ มีพืชพรรณอยู่มาก แต่ยังไม่มีผู้สนใจเท่าไร จึงน่าจะมีการสำรวจพืชพรรณตามเกาะด้วย" ส่วนหนึ่งของพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536  จุดประกายการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามเกาะต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยกองทัพเรือร่วมสนองพระราชดำริอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อปี 2541   ภาพโดยสาวิตรี  ตลับแป้น ทั้งการจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์และเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนเกาะแสมสารเพื่อเป็นสื่อในการสร้างความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกแก่เยาวชนตามแนวทางพระราชดำริ และจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย"  ขึ้นบนฝั่งสัตหีบตรงข้ามเกาะแสมสาร โดยมีคณะนักวิชาการหลายสาขาและหลากหลายสถาบันร่วมทำงาน พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างมีลักษณะเป็นอาคารไต่ระดับเขาถึงยอดเขารวม 5 อาคาร โดยจัดแสดงวัตถุธรรมชาติ ทั้งในด้านธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์ สัตวศาสตร์ ทางทะเลเป็นแห่งแรกในประเทศไทย การนำเสนอภายในถูกออกแบบไว้อย่างน่าสนใจ มีการสร้างบรรยากาศเสมือนจริง เช่น การจำลองบรรยากาศโลกเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว มีสื่อและเทคโนโลยีทันสมัย ที่ผู้ชมจะสนุกพร้อมไปกับได้ความรู้ นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังจัดโปรแกรมการเข้าค่ายเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติให้กับคณะนักเรียนที่สนใจด้วย นอกเหนือจากการชมตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทยแล้ว สามารถนั่งเรือข้ามไปยังเกาะแสมสารซึ่งได้จัดไว้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติสวนพฤกษศาสตร์ บ่อศึกษาป่าชายเลย โดยมีเจ้าหน้าที่บรรยายให้ความรู้ 4. พิพิธภัณฑ์บัว พิพิธภัณฑ์บัว ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จ.ปทุมธานี เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่จัดแสดงบัวสายพันธุ์ต่างๆ นานาชนิด  “บัว” เป็นพืชน้ำที่แต่ละสายพันธุ์มีลักษณะเฉพาะตัว นอกจากเป็นพืชที่ให้สวยงามแล้ว แต่ละส่วนของบัวยังทำประโยชน์ได้มากมาย ทั้งการประกอบอาหาร และทำยาสมุนไพร เป็นต้น พิพิธภัณฑ์บัวเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในปี พ.ศ. 2546 เพื่อสำรวจเก็บรวบรวมพันธุ์บัว ปลูกรักษา ศึกษาการใช้ประโยชน์ และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุ์บัว ปัจจุบันมีพันธุ์บัวมากกว่า 100 สายพันธุ์  มีทั้งบัวหลวง บัวผัน บัวสาย บัวฝรั่ง บัววิกตอเรีย และบัวพันธุ์ไทยหายากโดยเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ภาพจาก http://www.lotus.rmutt.ac.th/ ไฮไลท์หนึ่งของพิพิธภัณฑ์บัวที่ผู้ชมไม่ควรพลาดเช่น "บัวจงกลนี" บัวสายพันธุ์ไทยแท้ ถือเป็นบัวที่มีในประเทศไทยแห่งเดียวของโลก   “บัวมังคลอุบล” ดอกมีสีชมพูแซมเหลืองบัวที่ได้รับรางวัล Best new hardy waterlily 2004 ในการประกวดบัวโลกครั้งที่ 19 ที่สหรัฐอเมริกานอกจากนี้ยังมีบัวที่หาชมยากอีกหลายสายพันธุ์ เช่น บัวฉลองขวัญพันธุ์สีม่วง บัวกระด้งที่มีดอกตูมใหญ่แรกบานจะเป็นดอกสีขาว พอแดดจัดจะกลายเป็นสีม่วง สีชมพูพอบานเต็มที่จะกลายเป็นสีแดง 5. พิพิธภัณฑ์พระตำหนักบ้านสวนปทุม "บ้านสวนปทุม" เป็นพระตำหนักส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานีเริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.2534  มีพระตำหนักและอาคารพิพิธภัณฑ์ 6 อาคาร  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ขึ้นที่พระตำหนักสวนปทุม เพื่อรวบรวมสิ่งของต่างๆ ที่ทรงสะสมมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุปัน มีทั้งที่เป็นของใช้ส่วนพระองค์ สิ่งของที่ทรงสะสมไว้ งานศิลปกรรมฝีพระหัตถ์ ของที่ระลึกจากต่างประเทศ สิ่งของต่างๆ ที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย โดยสิ่งของต่างๆ มีการจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระบบ จัดทำคำบรรยายสั้นๆ เป็นการให้ความรู้เบื้องต้นแก่ผู้สนใจศึกษา ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า สิ่งของแต่ละชิ้นที่ทรงมีอยู่ มีคุณค่าความสำคัญแตกต่างกันไป เป็นสื่อที่ให้ความรู้แก่พระองค์เองและผู้อื่นในด้านความหลากหลายของวัฒนธรรมมนุษย์ ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ภาพจาก http://operation5.crma.ac.th/ นอกจากนี้ยังมีอาคารจัดแสดงเครื่องดนตรีโดยเฉพาะ ทั้งที่เป็นเครื่องดนตรีไทย และเครื่องดนตรีชาติต่างๆ วิธีการจัดแสดงส่วนหนึ่งทรงได้แนวคิดจากการไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ ทั้งนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้ทำสวนเกษตร ไม้ป่าสมุนไพร เนื่องจากสนพระราชหฤทัยที่จะอนุรักษ์พืชพรรณป่าไม้ธรรมชาติ  โดยมีพรรณไม้หายากจากทั่วทุกภาคและจากต่างประเทศที่ทรงปลูกไว้ มีเรือนกระจกปลูกต้นมะเดื่อ(fig) ที่ทรงรวบรวมมาจากทั่วโลกถึง 45 สายพันธุ์   เป็นเรือนกระจกขนาดใหญ่ สูงกว่า 10 เมตร  ยาวประมาณ 50 เมตร อีกด้วย ยังมีพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การเรียนรู้ด้านต่างๆ อีกหลายแห่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ ซึ่งล้วนเป็นแบบอย่าง สร้างแรงบันดาลใจ ยังประโยชน์แก่พสกนิกรหลากวัยหลายอาชีพ  ในโอกาสอันเป็นมิ่งมงคลนี้ ผู้เขียนขอถวายพระพรแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน.   อ้างอิง มูลนิธิศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น  มาลากุล ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. ดั่งดวงแก้วส่องสว่างทางสายงาม. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์, 2557. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. “สานฝันพิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย.” ใน จุลสารก้าวไปด้วยกัน. ปีที่ 1 : 4 (กรกฎาคม-กันยายน 2548), 16-17. ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. www.sac.or.th/museumdatabase. [เข้าถึง 22มกราคม 2558] พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย http://www.tis-museum.org. [เข้าถึง 23มกราคม 2558] พิพิธภัณฑ์บัว. http://www.highlightthailand.com. [เข้าถึง 26มกราคม 2558] พิพิธภัณฑ์บัว. http://lotus.rmutt.ac.th/. [เข้าถึง 26มกราคม 2558] มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า.  http://www.queensavang.org. [เข้าถึง 23มกราคม 2558] วิจารณ์ พานิช. ชีวิตที่พอเพียง: 899. ตามเสด็จทัศนศึกษา สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ 2542 (1) เกาะเกร็ด และบ้านสวนปทุม.https://www.gotoknow.org. [เข้าถึง 26 มกราคม 2558]

ขโมยขึ้นพิพิธภัณฑ์

โพสต์เมื่อ 15 พฤษภาคม 2556

ในช่วงเวลาไม่กี่ปี มานี้  ข่าวการขโมยโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์  มีให้ได้ยินมาเสมอ  ที่เป็นข่าวใหญ่เมื่อปี 2552 คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น  ถูกโจรกรรมโบราณวัตถุเกือบร้อยรายการ   และที่สดๆ ร้อนๆ คือ พิพิธภัณฑสถานชาติ ชัยนาทมุนี  ที่อดีต รปภ.ของพิพิธภัณฑ์เป็นโจรเสียเอง  กรณีนี้กว่าเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์จะทราบว่าถูกขโมย ก็ใช้เวลาเป็นเดือน เมื่อเข้าไปตรวจเช็คทะเบียนวัตถุทั้งหมด   เพราะวัตถุในพิพิธภัณฑ์มิได้มีแค่ที่จัดแสดงอย่างเดียว  ถ้าหายก็รู้ได้ทันที  และข้าวของที่เก็บอยู่ในคลัง ถ้าไม่ตรวจเช็คบ่อยๆ กว่าจะรู้ก็กินเวลา พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่ง  หนีไม่พ้นกับปัญหาของหาย ของถูกลักขโมย  ทั้งของที่มีค่ามีราคา เช่น พระพุทธรูป  หรือโบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดี  รวมไปถึงของใช้พื้นบ้านที่หายาก  ไม่มีคนทำอีกแล้ว  บางคนอาจคิดว่าไม่ใช่ของล้ำค่า  ไม่มีราคาค่างวด แต่สำหรับคนทำพิพิธภัณฑ์หรือเจ้าของแล้ว ของทุกชิ้นที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรง เป็นของรักของผูกพัน ไม่ว่าของมีหรือไม่มีมูลค่า ต่างก็มี “คุณค่า”  สำหรับพวกเขาทั้งนั้น  และสำหรับผู้ชมอย่างเรา  วัตถุเหล่านั้นมีประโยชน์ในด้านการศึกษาที่ไม่สามารถประเมินค่าได้  ผู้เขียน มีโอกาสไปเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จ.พิษณุโลก”  ที่นักวิชาการบางคนให้สมญานามว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงเทคโนโลยีพื้นบ้านที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย  ท่ามกลางข้าวของและเรื่องราวที่น่าสนใจจากคุณพรศิริ บูรณเขตต์ ลูกสาวจ่าทวี  มีมุมจัดแสดงหนึ่งที่แปลกออกไป  คือเป็นแท่นไม้วางวัตถุจัดแสดง  ที่ไม่มีวัตถุ แต่กลับเป็นป้ายที่เขียนด้วยลายมืออ่านง่ายของทายาทเจ้าของพิพิธภัณฑ์  บรรยายถึงของหายและคุณค่าของวัตถุเหล่านั้น  ที่ชวนสะเทือนใจและโกรธขึ้งไปไม่น้อยกว่าเจ้าของ “ยินดีต้อนรับ สุจริตชนทุกท่าน   ในช่วง 1 เดือนมานี้ มีของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ถูกหยิบฉวยลักขโมยไปมาก เช่น รองเท้าไม้ไผ่สาน(เกือก)  กลักใส่ดินปืน  ตลับใส่หมาก  ตลับยาเส้น  ตลับสีเสียด อย่างละ 1 ชิ้น  กระปุกปูน  ซองใส่พลู อย่างละ 2 ชิ้น ...ลุงจ่าใช้เงินจากน้ำพักน้ำแรงจากการทำงานหนัก  ซื้อของจำนวนมากนำมาจัดแสดงให้ลูกหลานไทยทุกคน ...สิ่งของที่ลุงจ่าเก็บมานานกว่า 30 ปี เป็นที่รักผูกพัน  เป็นของที่ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้คนนับพันนับหมื่นคนมาเป็นชั่วนาตาปี  จึงมิควรสูญไปในช่วงเวลานี้ ด้วยคนเห็นแก่ตัวไม่กี่คน   จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเป็นหูเป็นตา ช่วยกันดูแล แจ้งเบาะแส...” บางครั้งความอัดอั้น  ไม่รู้จะทำอย่างไรกับของที่หาย ของที่ถูกขโมย  ก็กลับกลายมาเป็นเรื่องที่จัดแสดงได้พิพิธภัณฑ์นอกจากจะได้เล่าระบายให้สาธารณชนได้รับรู้แล้ว  ยังปรามพวกมือไว  และให้ผู้ชมช่วยเป็นหูเป็นตาให้ได้ด้วย ได้ไม่มากก็น้อย   ที่จังหวัดราชบุรี  “จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว”  พิพิธภัณฑ์ชุมชนที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองโบราณคูบัว และวิถีชีวิตชาวไทยวน     บนชั้นสองของพิพิธภัณฑ์มุมจัดแสดง “สร้อยร้อยโคตรไท-ยวน”  สร้อยที่ตระกูลเก่าแก่บริจาคไว้   เป็นกรอบไม้ปิดด้วยกระจก  ด้านในบุกำมะหยี่สีน้ำเงิน  พร้อมตะขอแขวน  แต่ภายในกลับว่างเปล่า  มีเพียงแผ่นกระดาษที่เขียนข้อความอวยพรแก่พวกมิจฉาชีพ   ที่ดูจะเผ็ดร้อน และแสดงถึงความสำคัญของวัตถุที่มีคุณค่าทางจิตใจต่อผู้ทำพิพิธภัณฑ์อยู่ไม่น้อย “สร้อยโคตรเหง้าทั้งสามเส้นนี้  ถูกพวกอัปรีย์จัญไรขโมยไป เมื่อ 9 เมษายน 2550 เพื่อนำไปเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของพวกมัน  ขอให้สาธุชนทั้งหลาย จงแผ่พลังจิตไปยังพวกมัน เพื่อให้พวกมันจงมีความเป็นไป ตามที่ท่านปรารถนาจะให้เป็นด้วยเทอญ” นอกจากจะติดกล้องวงจรปิดแล้ว  พิพิธภัณฑ์สถาบันขนาดใหญ่ในต่างประเทศที่พอมีสตางค์  ส่วนใหญ่มักใช้วิธีให้คนยืนเฝ้าตามห้องจัดแสดงด้วย  บางแห่งก่อนเข้าชมต้องฝากกระเป๋าถือ  ห้ามนำของมีคมเข้าไป   เดินผ่านเครื่องตรวจโลหะ  เป็นต้น  ถือคติที่ว่ากันไว้ดีกว่าแก้   แม้ต้องให้ผู้ชมยืนเข้าคิวต่อแถวตรวจยาวเป็นหางว่าวก็ตาม   ที่สุดแล้วหากมีการออกแบบระบบความปลอดภัยที่ดีตั้งแต้ต้น จะสามารถป้องกันได้ทั้งข้าวของ  จากผู้ชม  และเจ้าหน้าที่เอง    แต่เมื่อของหาย หรือถูกขโมยไปแล้ว   ทำอย่างไรที่ของหายจะได้คืน    เครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยเป็นเบาะแส ยืนยันความเป็นเจ้าของและรูปพรรณสัณฐานของวัตถุในครอบครองของเราได้คือ “ทะเบียนวัตถุ”  ที่ระบุทั้งขนาด  น้ำหนัก  ลักษณะเด่น  อายุสมัย และข้อมูลสำคัญต่างๆ  และที่สำคัญคือภาพถ่ายวัตถุ    พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่งยังไม่ได้ทำทะเบียนวัตถุ   บางแห่งทำบ้างไม่ทำบ้างตามแต่เวลาจะอำนวย  อย่างที่รู้กันดีว่าการทำทะเบียนเป็นงานละเอียด ใช้เวลา  สมัยก่อนอาจจะบันทึกลงในสมุด บางครั้งก็ประกบภาพถ่ายไปด้วย  หรือแยกภาพออกมาต่างหากอีกชุดหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างจะใช้งานยุ่งยาก    ตอนนี้หลายแห่งก็ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยทำทะเบียน  เช่น Microsoft Access แม้กระทั่งกรมศิลปากร ก็เร่งให้พิพิธภัณฑสถาณแห่งชาติ นำระบบทำทะเบียนแบบดิจิทัลเข้ามาใช้  หลังจากโดนขโมยขึ้นพิพิธภัณฑ์มาหมาดๆ ผู้เขียนมีอีกหนึ่งโปรแกรมทำทะเบียนวัตถุมาแนะนำ ชื่อว่า Museum Management1.0  เป็นโปรแกรมที่ค่อนข้างยืดหยุ่น ใช้ง่ายไม่ยุ่งยาก  ลองทำสักชิ้นสองชิ้นก็คล่องแล้ว  ด้วยความเอื้อเฟื้อจากคุณราชบดินทร์  สุวรรณคัณฑิ  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  ต้องขอขอบคุณเอ๋  ราชบดินทร์  ที่พัฒนาโปรแกรมมาให้ได้ใช้กัน   ลองเข้าไปดาวน์โหลดมาใช้กัน  คลิกดาวน์โหลดโปรแกรมที่นี่  เมื่อทำทะเบียนวัตถุแบบดิจิทัลกันแล้ว  พี่ๆ น้องๆ ชาวพิพิธภัณฑ์ อย่าลืมสำเนาไฟล์ทะเบียนวัตถุของท่านเก็บไว้หลายๆ ที่นะคะ   เกิดไฟล์หาย หรือเปิดไม่ได้ขึ้นมา  จะปวดหัวไม่แพ้ขโมยขึ้นพิพิธภัณฑ์เลยทีเดียว