ชวนเที่ยว 5 พิพิธภัณฑ์ ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนพระทัยในศาสตร์และศิลป์หลากหลายสาขา นำไปสู่พระราชดำริในการริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน การจัดทำ “พิพิธภัณฑ์” เป็นโครงการตามพระราชดำริที่สำคัญ  เนื่องจากทรงตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของพิพิธภัณฑ์ ในฐานะเป็นแหล่งเรียนรู้แก่สังคมไทย

ในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 5 รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 2 เมษายน 2558  นี้ ผู้เขียนขออนุญาตแนะนำพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจ 5 แห่ง ที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริในการก่อตั้ง



1. พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิยาเจ้า

พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งอยู่ภายในวังสระปทุม จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและแสดงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า รวมถึงเป็นการอนุรักษ์พระตำหนักที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เคยประทับ  และให้บริการศึกษาค้นคว้าสารสนเทศพระราชประวัติสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าอีกด้วย 
        
วังสระปทุม เป็นวังที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประทับร่วมกับพระราชโอรสคือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงประทับตั้งแต่ พ.ศ. 2459 ตราบจนสวรรคตใน พ.ศ. 2498 และทรงเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในเวลาต่อมา เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี



ภาพจากพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าขึ้น เพื่อสนองพระราชดำริ เป็นแหล่งศึกษาพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พิพิธภัณฑ์มีอาคารจัดแสดง 2 หลัง คือ “พระตำหนักใหญ่” ใช้เป็นอาคารจัดแสดงองค์สำคัญ  และอาคารหอนิทรรศการ สำหรับจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับการบูรณะซ่อมแซมพระตำหนักใหญ่ และนิทรรศการชั่วคราว ปัจจุบันเป็น นิทรรศการศรีสวรินทิรากรณียานุกิจ สิรินธรพินิจราชกรณียานุการ” จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 5 รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 2 เมษายน 2558

ในพระตำหนักใหญ่ มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นำชมพร้อมหูฟัง ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ภายในแบ่งการจัดแสดงแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลาตามห้องต่างๆ ได้แก่ 1.ห้องพิธีและห้องรับแขก  2.ห้องเทาและห้องทรงพระอักษร  3.ห้องทรงพระสำราญ  ห้องทรงนมัสการ และห้องพระบรรทม  ส่วนสุดท้ายคือ ห้องนิทรรศการบริเวณชั้นล่างของพระตำหนักใหญ่  จัดแสดงเอกสารและของใช้ส่วนพระองค์



 ภาพจากพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า


ดาวเด่นคือ เอกสารลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเขียนถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกา เล่าชีวิตความเป็นอยู่ในต่างประเทศ  และกราบบังคมทูลพบสตรีที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม ซึ่งก็คือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือนางสาวสังวาลย์ ในเวลานั้น   และจัดแสดง “เจ๊กตู้” ซึ่งเป็นตู้ขายของที่เจ๊กตู้หาบมาขายในวัง โดยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดให้เข้าไปขายในวังสระปทุมเป็นปกติ เพราะมีข้าวของต่างๆ ให้พระราชนัดดาทั้ง 3 พระองค์ได้ทรงเลือกซื้อ


2. พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย

ปี พ.ศ. 2546 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย มีพระราชดำริให้สภากาชาดไทยดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย โดยมีพระราชประสงค์ให้นำเสนอในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต(living museum) เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์สภากาชาดสากล ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่สามารถทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า “กำลังยืนอยู่ท่ามกลางความทุกข์ของคนเป็นล้านๆ คน”

อาคารพิพิธภัณฑ์คือ ตึกกาชาดเดิม ภายในมีทั้งนิทรรศการถาวรและนิทรรศการหมุนเวียน แบ่งส่วนแสดงเป็น 7 ส่วนด้วยกันโดยแต่ละส่วนใช้สีรุ้ง 7 สี เป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายของเรื่องที่จัดแสดงส่วนแรกได้แก่ “สถาปนาสันติธรรม” จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาที่กำเนิดกาชาดสากลและสภากาชาดไทย ส่วนจัดแสดงต่อมาคือ“บูรณาการสถานศึกษา”นำเสนอภารกิจของสภากาชาดไทยด้านการแพทย์ การพยาบาล ส่วนที่สามคือ“โอสถบริรักษ์”  จัดแสดงภารกิจของสภากาชาดในการผลิตเซรุ่มและวัคซีน เพื่อใช้ป้องกันและรักษาโรคต่างๆ
 

ภาพจาก https://www.facebook.com/ThaiRedCrossMuseum/

ส่วนที่สี่ “อภิบาลดรุณ”  จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับมูลนิธิสงเคราะห์เด็กสภากาชาดไทย และเรื่องราวเกี่ยวกับหน่วยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  ส่วนที่ห้า “บุญเกษม”แสดงภารกิจของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ที่มุ่งจัดหาโลหิตจากผู้บริจาคที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยทั่วประเทศส่วนที่หก“บำเพ็ญคุณากร” จัดแสดงภารกิจในการบรรเทาทุกข์โดยสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน ส่วนสุดท้าย “อมรสาธุการ” นำเสนอยกย่องผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่สภากาชาดไทย รวมทั้งของที่ระลึกต่างๆ ที่มอบให้ผู้มีอุปการคุณต่อสภากาชาดไทย

ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ หนึ่งในคณะกรรมการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย เคยกล่าวถึงเป้าหมายหลักสำคัญที่ท้าทายของพิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทยว่า “เมื่อชมแล้ว ผู้ชมทุกคนต้องบังเกิดความปรารถนาที่จะช่วยสภากาชาด ในทางใดทางหนึ่ง” 

      
3. พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย

" ตามเกาะต่าง ๆ มีพืชพรรณอยู่มาก แต่ยังไม่มีผู้สนใจเท่าไร จึงน่าจะมีการสำรวจพืชพรรณตามเกาะด้วย"

ส่วนหนึ่งของพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536  จุดประกายการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามเกาะต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยกองทัพเรือร่วมสนองพระราชดำริอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อปี 2541  


ภาพโดยสาวิตรี  ตลับแป้น

ทั้งการจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์และเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนเกาะแสมสารเพื่อเป็นสื่อในการสร้างความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกแก่เยาวชนตามแนวทางพระราชดำริ และจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย"  ขึ้นบนฝั่งสัตหีบตรงข้ามเกาะแสมสาร โดยมีคณะนักวิชาการหลายสาขาและหลากหลายสถาบันร่วมทำงาน

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างมีลักษณะเป็นอาคารไต่ระดับเขาถึงยอดเขารวม 5 อาคาร โดยจัดแสดงวัตถุธรรมชาติ ทั้งในด้านธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์ สัตวศาสตร์ ทางทะเลเป็นแห่งแรกในประเทศไทย การนำเสนอภายในถูกออกแบบไว้อย่างน่าสนใจ มีการสร้างบรรยากาศเสมือนจริง เช่น การจำลองบรรยากาศโลกเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว มีสื่อและเทคโนโลยีทันสมัย ที่ผู้ชมจะสนุกพร้อมไปกับได้ความรู้ นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังจัดโปรแกรมการเข้าค่ายเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติให้กับคณะนักเรียนที่สนใจด้วย

นอกเหนือจากการชมตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทยแล้ว สามารถนั่งเรือข้ามไปยังเกาะแสมสารซึ่งได้จัดไว้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติสวนพฤกษศาสตร์ บ่อศึกษาป่าชายเลย โดยมีเจ้าหน้าที่บรรยายให้ความรู้



4. พิพิธภัณฑ์บัว

พิพิธภัณฑ์บัว ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จ.ปทุมธานี เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่จัดแสดงบัวสายพันธุ์ต่างๆ นานาชนิด  “บัว” เป็นพืชน้ำที่แต่ละสายพันธุ์มีลักษณะเฉพาะตัว นอกจากเป็นพืชที่ให้สวยงามแล้ว แต่ละส่วนของบัวยังทำประโยชน์ได้มากมาย ทั้งการประกอบอาหาร และทำยาสมุนไพร เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์บัวเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในปี พ.ศ. 2546 เพื่อสำรวจเก็บรวบรวมพันธุ์บัว ปลูกรักษา ศึกษาการใช้ประโยชน์ และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุ์บัว ปัจจุบันมีพันธุ์บัวมากกว่า 100 สายพันธุ์  มีทั้งบัวหลวง บัวผัน บัวสาย บัวฝรั่ง บัววิกตอเรีย และบัวพันธุ์ไทยหายากโดยเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่


ภาพจาก http://www.lotus.rmutt.ac.th/

ไฮไลท์หนึ่งของพิพิธภัณฑ์บัวที่ผู้ชมไม่ควรพลาดเช่น "บัวจงกลนี" บัวสายพันธุ์ไทยแท้ ถือเป็นบัวที่มีในประเทศไทยแห่งเดียวของโลก   “บัวมังคลอุบล” ดอกมีสีชมพูแซมเหลืองบัวที่ได้รับรางวัล Best new hardy waterlily 2004 ในการประกวดบัวโลกครั้งที่ 19 ที่สหรัฐอเมริกานอกจากนี้ยังมีบัวที่หาชมยากอีกหลายสายพันธุ์ เช่น บัวฉลองขวัญพันธุ์สีม่วง บัวกระด้งที่มีดอกตูมใหญ่แรกบานจะเป็นดอกสีขาว พอแดดจัดจะกลายเป็นสีม่วง สีชมพูพอบานเต็มที่จะกลายเป็นสีแดง



5. พิพิธภัณฑ์พระตำหนักบ้านสวนปทุม


"บ้านสวนปทุม" เป็นพระตำหนักส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานีเริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.2534  มีพระตำหนักและอาคารพิพิธภัณฑ์ 6 อาคาร 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ขึ้นที่พระตำหนักสวนปทุม เพื่อรวบรวมสิ่งของต่างๆ ที่ทรงสะสมมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุปัน มีทั้งที่เป็นของใช้ส่วนพระองค์ สิ่งของที่ทรงสะสมไว้ งานศิลปกรรมฝีพระหัตถ์ ของที่ระลึกจากต่างประเทศ สิ่งของต่างๆ ที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย โดยสิ่งของต่างๆ มีการจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระบบ จัดทำคำบรรยายสั้นๆ เป็นการให้ความรู้เบื้องต้นแก่ผู้สนใจศึกษา

ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า สิ่งของแต่ละชิ้นที่ทรงมีอยู่ มีคุณค่าความสำคัญแตกต่างกันไป เป็นสื่อที่ให้ความรู้แก่พระองค์เองและผู้อื่นในด้านความหลากหลายของวัฒนธรรมมนุษย์ ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี


ภาพจาก http://operation5.crma.ac.th/

นอกจากนี้ยังมีอาคารจัดแสดงเครื่องดนตรีโดยเฉพาะ ทั้งที่เป็นเครื่องดนตรีไทย และเครื่องดนตรีชาติต่างๆ วิธีการจัดแสดงส่วนหนึ่งทรงได้แนวคิดจากการไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ


ทั้งนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้ทำสวนเกษตร ไม้ป่าสมุนไพร เนื่องจากสนพระราชหฤทัยที่จะอนุรักษ์พืชพรรณป่าไม้ธรรมชาติ  โดยมีพรรณไม้หายากจากทั่วทุกภาคและจากต่างประเทศที่ทรงปลูกไว้ มีเรือนกระจกปลูกต้นมะเดื่อ(fig) ที่ทรงรวบรวมมาจากทั่วโลกถึง 45 สายพันธุ์   เป็นเรือนกระจกขนาดใหญ่ สูงกว่า 10 เมตร  ยาวประมาณ 50 เมตร อีกด้วย

ยังมีพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การเรียนรู้ด้านต่างๆ อีกหลายแห่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ ซึ่งล้วนเป็นแบบอย่าง สร้างแรงบันดาลใจ ยังประโยชน์แก่พสกนิกรหลากวัยหลายอาชีพ  ในโอกาสอันเป็นมิ่งมงคลนี้ ผู้เขียนขอถวายพระพรแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน.
 
อ้างอิง

มูลนิธิศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น  มาลากุล ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. ดั่งดวงแก้วส่องสว่างทางสายงาม. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์, 2557.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. “สานฝันพิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย.” ใน จุลสารก้าวไปด้วยกัน. ปีที่ 1 : 4 (กรกฎาคม-กันยายน 2548), 16-17.
ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. www.sac.or.th/museumdatabase. [เข้าถึง 22มกราคม 2558]
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย http://www.tis-museum.org. [เข้าถึง 23มกราคม 2558]
พิพิธภัณฑ์บัว. http://www.highlightthailand.com. [เข้าถึง 26มกราคม 2558]
พิพิธภัณฑ์บัว. http://lotus.rmutt.ac.th/. [เข้าถึง 26มกราคม 2558]
มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า.  http://www.queensavang.org. [เข้าถึง 23มกราคม 2558]
วิจารณ์ พานิช. ชีวิตที่พอเพียง: 899. ตามเสด็จทัศนศึกษา สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ 2542 (1) เกาะเกร็ด และบ้านสวนปทุม.https://www.gotoknow.org. [เข้าถึง 26 มกราคม 2558]

อ้างอิง :

-

ชื่อผู้แต่ง : ปณิตา สระวาสี