ประวัติความเป็นมาและวัตถุประสงค์

คู่มือปฏิบัติงานประจำฐานข้อมูล

   ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งในโครงการรวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยเป็นคลังความรู้ในรูปแบบดิจิทัล ที่รวบรวมและให้บริการข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ อาทิ ประวัติความเป็นมา การจัดแสดง การบริหารจัดการ ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการเข้าชม เอกสารและสื่อสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งภาพถ่าย แผ่นพับ แผนที่ และสื่อมัลติมีเดียอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเผยแพร่บทความทางวิชาการและความรู้เบื้องต้นในเชิงพิพิธภัณฑ์วิทยาและ มานุษยวิทยาพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้เนื้อหาทั้งหมดที่เผยแพร่อยู่ในฐานข้อมูลนี้ มีวัตุประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์ในการวิจัยหรือการศึกษา มิได้เพื่อหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์

ทั้งนี้เพื่อให้เว็บไซต์ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นเวทีกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเจ้าของพิพิธภัณฑ์ นักวิชาการ นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจเรื่องพิพิธภัณฑ์ ในปี 2554 เว็บไซต์ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ผู้ใช้สามารถเพิ่มเนื้อหา แสดงความคิดเห็น รีวิวพิพิธภัณฑ์ ส่งข่าว แก้ไขและเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ได้ ด้วยตนเอง เป็นลักษณะเครือข่ายทางสังคมที่แบ่งปันความรู้ ความคิด และเป็นกำลังใจต่อการทำงานของชาวพิพิธภัณฑ์ เพื่อพิพิธภัณฑ์จะได้เข้มแข็ง ยั่งยืน และสนองตอบต่อสังคมได้ต่อไป

สำหรับการทำงานวิจัย สำรวจ และเก็บข้อมูลในช่วง 4 ปีแรก ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ปัจจุบันการพัฒนาระบบและการบริหารจัดการฐานข้อมูลอยู่ภายใต้การดูแลและสนับสนุนโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ในส่วนงานวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นงานกรณีศึกษา ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรทำงานกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น 3 แห่งได้แก่ พิพิธภัณฑ์วัดท่าพูด จ.นครปฐม พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวง จ.ลำปาง และพิพิธภัณฑ์วัดบ้านดอน จ.ระยอง โดยสิ้นสุดโครงการเมื่อปี พ.ศ. 2551 การดำเนินงานในส่วนนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้าน และนักวิชาการ โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ลงไปทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ ทั้งเก็บข้อมูลและจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชน อาทิ การอนุรักษ์วัตถุ การทำทะเบียนวัตถุ การสืบค้นประวัติวัตถุและเรื่องเล่าเกี่ยวกับท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเชิงวิชาการให้กับชาวพิพิธภัณฑ์ และส่งเสริมให้พิพิธภัณฑ์เป็นสถาบันทางวัฒนธรรมของชุมชน ที่ไม่เพียงแต่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในท้องถิ่น แต่ยังสามารถเป็นเวทีถ่ายทอดแลกเปลี่ยนมรดกวัฒนธรรมของท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ในปี 2551 ศูนย์ฯ ได้ริเริ่มจัดงานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อเป็นเวทีกลางให้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์มาถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ มรดกวัฒนธรรมของตนเอง ให้บุคคลทั่วไปได้รู้จักมากขึ้น ทำให้สังคมมองเห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม

คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์

หัวหน้าโครงการ:
  • ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (2546-2553)
นักวิจัย:
  • ปณิตา สระวาสี panita.s@sac.or.th
  • นวลพรรณ บุญธรรม nuanphan.b@sac.or.th
  • จุฑามาศ ลิ้มรัตนพันธุ์ jutamas.l@sac.or.th
  • สรินยา คำเมือง (2546-2556)
  • ศิริพร ศรีสินธุ์อุไร (2546-2551)
  • ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ (2547-2551)
  • ปราโมทย์ ภักดีณรงค์ (2548-2550)
  • ชาญวิทย์ ตีระประเสริฐ (2549-2551)