รายชื่อพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดมูลเหล็ก

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมูลเหล็ก ก่อตั้งโดยพระครูสุกิตติธรรมคุณ เจ้าอาวาสวัดมูลเหล็ก ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ท่านรวบรวมสิ่งของที่ได้รับตกทอดมาจากอดีตเจ้าอาวาส และสิ่งของที่ประชาชนมีมีจิตศรัทธาบริจาค ระยะแรกใช้กุฏิเจ้าอาวาสวัดมูลเหล็กเป็นพิพิธภัณฑ์ชั่วคราว ต่อมาพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดมูลเหล็กได้เข้าร่วมโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี และปรับปรุงอาคารโรงฉันเก่าเพื่อจัดแสดงสิ่งของ จากนั้นในปี พ.ศ.2555 ได้รับงบประมาณจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปรับปรุงอาคารไม้สองชั้นเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดมูลเหล็กจัดแสดงข้าวของอันเนื่องในพุทธศาสนาของวัดและสิ่งของที่ชาวบ้านบริจาค อาทิ ตู้ไม้โบราณ พระพุทธรูป เครื่องทองเหลือง เครื่องแก้ว เครื่องถ้วยชาม ผ้าทอลายโบราณของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน

จ. สุราษฎร์ธานี

พิพิธภัณฑ์วัดบ้านด่าน

ชุมชนบ้านด่านเป็นชุมชนเก่าที่ตั้งอยู่ริมคลองหัวไทร เดิมเรียกว่า “บางด่าน” สันนิษฐานว่าวัดน่าจะสร้างในราวปี พ.ศ. 2437 วัดบ้านด่านเป็นวัดเก่าแก่ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ห่างจากชายทะเลประมาณ 4 กิโลเมตร เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันคือ พระครูสังฆรักษ์สมเกียรติ กิตฺติปัญโญ ท่านเป็นพระนักพัฒนา ภายในมีเสนาสนะเก่าแก่ที่ทางวัดอนุรักษ์ ได้แก่ หอไตรกลางน้ำ สร้างด้วยไม้หลังมุงด้วยกระเบื้องดินเผาทรงปั้นหยาและทรงจั่ว สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2470 สมัยพ่อท่านซ้วน อดีตเจ้าอาวาส กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติปี พ.ศ. 2562 ปัจจุบันอาคารหอไตรได้รับการบูรณะ และเจ้าอาวาสได้จัดทำเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์วัดบ้านด่าน โดยการจัดแสดงภายในอยู่ระหว่างการรวบรวมวัตถุสิ่งของ ยังไม่แล้วเสร็จ เรื่องราวและวัตถุสำคัญของวัดอาทิ ประวัติความเป็นมาของวัดและอดีตเจ้าอาวาสอันเป็นที่เคารพศรัทธาของคนในชุมชน ภาพถ่ายเก่าอดีตเจ้าอาวาสและภาพเก่าวัด คัมภีร์ใบลานเดิมที่อยู่ในหอไตร บาตรน้ำมนต์พระสมเด็จ เครื่องถ้วยกระเบื้องหลากหลายรูปแบบ ปิ่นโตทองเหลือง ถ้วยรางวัลการแข่งขันเรือเพรียว เป็นต้น ด้วยความที่วัดอยู่ติดริมน้ำ วัดบ้านด่านมีชื่อเสียงด้าน “เรือเพรียว” หรือเรือยาวสำหรับประเพณีแข่งเรือและใช้ในประเพณีลากพระในวัฒนธรรมภาคใต้ เรือเพรียววัดบ้านด่านมีสองคำ คือ เจ้าพายุหวน และเจ้าแม่แสงอุทัย หลังจากพ่อท่านซ้วนมรณภาพแล้วการแข่งขันเรือเพรียวได้หยุดไป ต่อมาในปีพ .ศ. 2553 เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันได้ฟื้นฟูการแข่งขันเรือเพรียวขึ้นมาอีกครั้ง และใช้ศาลาเอนกประสงค์เป็นที่เก็บเรือเพรียว ทำเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับเรือเพรียวลุ่มน้ำปากพนังอีกด้วย

จ. นครศรีธรรมราช

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง ก่อตั้งโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจด้านกิจการพลังงาน ที่มีหน้าที่ผลิต จัดหา และส่งไฟฟ้าไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวเป็นโครงการที่ กฟผ. มุ่งทำขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ ทั้งจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และพลังงานหมุนเวียน รวมถึงนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัยด้วยระบบ Wind Hydrogen Hybrid ภายในมีนิทรรศการทั้งสิ้น 7 โซน ได้แก่ โซน 1 : ลานผู้กล้า เพื่อเตรียมพร้อมผจญภัยในดินแดนพลังงาน โซน 2 : ภารกิจพิชิตดินแดนพลังงาน ชมภาพยนตร์ 7 มิติ โซน 3 : ดินแดนพลังงาน ทำความรู้จักพลังงานแบบต่างๆ โซน 4 : ดินแดนพลังงานแห่งอนาคต ค้นหาพลังงานใหม่แห่งอนาคต โซน 5 : ภารกิจผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย ผจญภัยกับภารกิจสุดท้าทายของ กฟผ. ในการผลิตไฟฟ้า โซน 6 : ฐานบัญชาการสมดุลพลังงาน ร่วมภารกิจ “สร้างสมดุลพลังงานไฟฟ้า” โซน 7 : ม่วนซื่นลำตะคอง ทำความรู้จักพื้นที่และชุมชนในลำตะคอง

จ. นครราชสีมา

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก (พลังคิด ดี)

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน ตั้งอยู่บริเวณโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 5 เมกะวัตต์ อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ อยู่ภายใต้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจด้านกิจการพลังงาน ที่มีหน้าที่ผลิต จัดหา และส่งไฟฟ้าไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย การนำเสนอแบ่งออกเป็น 7 โซน ได้แก่ โซน 1 : โซนโถงคิดดี โซน 2 : พลังงานคือชีวิต โซน 3 : โลกแห่งพลังงาน โซน 4 : สวนสนุกพลังงาน โซน 5 : หมู่บ้านทับสะแก โซน 6 : เปลี่ยนเราเปลี่ยนโลก โซน 7 : จุดชมวิว

จ. ประจวบคีรีขันธ์

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. เขื่อนศรีนครินทร์ (ราชานุรักษ์)

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจด้านกิจการพลังงาน โดยมีหน้าที่ผลิต จัดหา และส่งไฟฟ้าไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย พร้อมทั้งธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. เขื่อนศรีนครินทร์ (ราชานุรักษ์) ก่อตั้งโดยกฟผ. เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนศรีนครินทร์ ที่ตั้งอยู่ในผืนป่าตะวันตก ป่าธรรมชาติผืนใหญ่แห่งสุดท้ายของประเทศ ภายในประกอบด้วยนิทรรศการจำนวน 5 โซน ได้แก่ โซน 1 : สำรวจผืนป่าตะวันตก โซน 2 : ขุมพลังที่ไม่มีวันหมด โซน 3 : แสงนำทางแห่งการอนุรักษ์ โซน 4 : พระปณิธาน โซน 5 : อีกหนึ่งการอนุรักษ์ที่ตัวคุณ

จ. กาญจนบุรี

ศูนย์การเรียนรู้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต จะนะ

 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจด้านกิจการพลังงาน โดยมีหน้าที่ผลิต จัดหา และส่งไฟฟ้าไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จะนะ(พลังคิด) เป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานแก่ประชาชน และประชาสัมพันธ์หน่วยงานประจำพื้นที่ภาคใต้ วัตถุประสงค์สำคัญคือ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทำให้เกิดความเข้าใจด้านพลังงานและการผลิตไฟฟ้า โดยเน้นรูปแบบนิทรรศการที่น่าตื่นตาตื่นใจ ประทับใจ และน่าจดจำ มีการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่สนุกสนาน และสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ เกิดความตระหนักในการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า โดยเริ่มจากตัวเองเป็นสำคัญ นิทรรศการของ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จะนะ นำเสนอประวัติความเป็นมาและวิทยาการของเทคโนโลยีพลังงานทั้งของโลกและประเทศไทย ความรู้ด้านการผลิตไฟฟ้า พลังงานทดแทน การอนุรักษ์พลังงาน และการรักษาสิ่งแวดล้อมรวมถึงเรื่องราวทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นการสร้างแรงบันดาลใจ และจุดประกายความคิดแก่ผู้เข้าชมนิทรรศการโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน (KID) ให้เป็นกำลังสำคัญอีกส่วนหนึ่งของการใช้ “พลังคิด” ในการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า เหมาะสม ยั่งยืน

จ. สงขลา

ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชตำบลทรายขาว

ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชตำบลทรายขาว แต่เดิมตั้งอยู่ที่โรงเรียนวัดทรายขาว ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จากนั้นวัดทรายขาวได้ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่ ภายในวัดเป็นอาคารสองชั้น และเปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. 2560 ภายในมีนิทรรศการเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 สถานที่สำคัญของตำบลทรายขาว อาทิ มัสยิดนัจมุดดิน มัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 300 ปี จุดเด่นของมัสยิดโบราณแห่งนี้คือ การผสมผสานสถาปัตยกรรมไทยและมุสลิมมลายูพื้นถิ่นเข้าด้วยกัน ไม่เหมือนกับมัสยิดที่หลายคนคุ้นเคย โดยมัสยิดจะเป็นอาคารไม้คล้ายกับศาลาการเปรียญ หลังคามุงด้วยกระเบื้องอิฐแดง มีความงดงามตามแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น มัสยิดแห่งนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานของคำภีร์อัลกุรอ่านโบราณ ซึ่งตัวอักษรในคำภีร์ถูกจารึกด้วยลายมือ เป็นของสำคัญคู่มัสยิด นอกจากนี้ยังแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของวัดและของที่ชุมชนได้บริจาคมา อาทิ กริช ดาบ เครื่องใช้ภายในครัวเรือน

จ. ปัตตานี

หอนิทรรศน์สานอารยธรรมจังหวัดปัตตานี (พิพิธภัณฑ์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว)

หอนิทรรศน์สานอารยธรรมจังหวัดปัตตานี หรือพิพิธภัณฑ์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ก่อตั้งโดยศาลเจ้าเล่งจูเกียง ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิเทพปูชนียสถาน โดยได้รับทุนสนับสนุนการก่อสร้างและจัดแสดงโดยกระทรวงวัฒนธรรม ศาลเจ้าเล่งจูเกียงหรือที่เรียกกันว่าศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นสถานที่สำคัญของจังหวัดปัตตานี และมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเกี่ยวกับองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของคนไทยเชื้อสายจีนในปัตตานี และชาวจีนในประเทศเพื่อนบ้าน เล่าสืบกันมาว่าเป็นศาลเจ้าแห่งความศรัทธาและศักดิ์สิทธิ สร้างในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อ ปี พ.ศ.2407 หลวงสำเร็จกิจกรจางวาง (ตันจงซิ่น) ได้ทำการบูรณะและจัดงานสมโภชเป็นประเพณีขึ้น ต่อมา พระจีนคณานุรักษ์ (ตันจูล่าย) ได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จากบ้านกรือเซะ มาประดิษฐาน และเรียกชื่อศาลเจ้าใหม่ว่า ศาลเจ้าเล่งจูเกียง หรือ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว การจัดทำพิพิธภัณฑ์เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2556 เมื่อนายประยูรเดช คณานุรักษ์ ประธานมูลนิธิเทพปูชนียสถาน จัดทำโครงการก่อตั้งและได้รับงบประมาณสนันสนุนจาก กระทรวงวัฒนธรรม ทำให้เป็นแหล่งศึกษาทางประวัติศาสตร์ของจังหวัด เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนจีนเมืองปัตตานี ทั้งศิลปะภาพถ่าย ความรู้ทางวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และองค์พระต่าง ๆ ประเพณีวัฒนธรรมของจีน รวมทั้งความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต อัตลักษณ์ของชุมชนในจังหวัดปัตตานี เพื่อก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในรากเหง้าอัตลักษณ์ของคนในท้องถิ่น และหวังจะช่วยบรรเทาปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ด้วยมิติทางวัฒนธรรม

จ. ปัตตานี

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมโกตาบารู (บ้านดาโต๊ะมูลียอ)

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมโกตาบารู (บ้านดาโต๊ะมูลียอ) ก่อตั้งโดยนายต่วนอับดุลเลา ดาโอ๊ะมารียอ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และนางซัมซีเยาะห์ ดาโอ๊ะมารียอ เปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวนวัตวิถีทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นแห่งใหม่ในพื้นที่งโกตาบารู - รามันห์ เมืองเก่าทางประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมโกตาบารูอาศัยพื้นที่ภายในบ้านดาโอ๊ะมูลียอ จัดแสดงมุมเรียนรู้วิถีชีวิต และวัตถุโบราณต่างๆ แบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ ได้แก่ เรือนต่วนจรือนิห์ หลวงศรีราชาบดินทร์ เป็นเรือนรับรองและแนะนำพิพิธภัณฑ์ ศาลาลงซัน เป็นมุมเรียนรู้ครัวจำลองแบบวิถีดั่งเดิม ศาลาซูงาโต๊ะนิ เป็นมุมจัดแสดงวัตถุพื้นบ้านในท้องถิ่น เรือนโกตารามัย เป็นมุมเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นของเมืองโกตาบารู และสวนรัตนภักดี เป็นมุมเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ของเมืองเก่าโกตาบารู ซึ่งทั้ง 5 มุมเรียนรู้นี้จัดแสดงโบราณวัตถุ ภาพถ่ายเก่า เอกสารเก่า ภาพวาด และของจำลอง โดยพิพิธภัณฑ์มุ่งเน้นที่จะให้เยาวชนในท้องถิ่นเห็นถึงความสำคัญถึงประวัติศาสตร์ และร่วมกันอนุรักษ์สิ่งที่ดีงามในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดอง นำความสันติสุขเกิดขึ้นในพื้นที่

จ. ยะลา

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดบ้านไร่

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดบ้านไร่ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2549 อันเนื่องมาจากโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน กระทรวงวัฒนธรรม ขณะนั้นนางเอกจิตรา จันทร์จิตจริงใจ ประธานสภาวัฒนธรรมประจำอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้ร่วมกับแกนนำของชุมชนอย่างน้อยสองท่านคือ อาจารย์นวลสวาท นวลนพดล และนายแปลก ณ สงฆ์ ปราชญ์ชาวบ้านของชุมชน ได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุของวัด และชาวบ้านได้บริจาคข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ โดยก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่วัดบ้านไร่ อันเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน วัตถุชิ้นสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำพิพิธภัณฑ์คือ “เรือแม่ทรัพย์” เป็นเรือไม้ที่ประวัติยาวนานคู่กับคนในชุมชน กระบอกขนมจีนทองเหลือง ที่มีอยู่ชิ้นเดียวในชุมชนที่ชาวบ้านต้องมาต่อคิวใช้งานจากวัด นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่เป็นของวัดแต่ดั้งเดิม อาทิ หนังสือบุด ยังมีวัตถุจำพวกเครื่องถ้วยกระเบื้อง โถเบญจรงค์ เครื่องแก้ว เครื่องทองเหลือง อีกจำนวนมาก

จ. สงขลา