พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดท่าช้าง ก่อตั้งโดยพระครูรื่น ถิรจิต เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งเพื่อรวบรวมภูมิปัญญา ข้าวของ และศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น เพื่อสร้างความตระหนักให้คนในชุมชนเกิดสำนึกและภาคภูมิใจในรากเหง้าของตนเอง อย่างไรก็ดีผู้ก่อตั้งได้เพียงแต่รวบรวมวัตถุต่างๆ ไว้ในอาคารก่อนเท่านั้น ยังไม่ได้มีการจัดแสดงแต่อย่างใด ข้าวของชิ้นสำคัญอาทิ เงินเหรียญ กริช เกราะไม้ กระต่ายขูดมะพร้าว หัวคันไถ ปิ่นโตเคลือบ
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พิพิธภัณฑ์วัดท่าช้าง
วัดท่าช้าง เป็นวัดเก่าแก่ของตำบลบางกล่ำ ภายในวัดมีสถานที่สำคัญที่น่าสนใจอาทิ พระอุโบสถ ที่มี บ่อน้ำเล็กๆ อยู่ด้านหน้าทางเข้า ชาวบ้านเรียก“เขื่อน” ไม่ทราบปีที่สร้าง เขื่อนนี้มีความสำคัญเมื่อมีการอุปสมบท ก่อนจะนำนาคเข้าอุโบสถ จะต้องกรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลหน้าเขื่อนนี้ก่อนจะเข้าอุโบสถ นอกจากนี้ยังมีกุฏิเจ้าอาวาส สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2397 เป็นอาคารชั้นเดียวสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่น ได้รับการบูรณะล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2540
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดท่าช้าง ก่อตั้งโดยพระครูรื่น ถิรจิต เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งเพื่อรวบรวมภูมิปัญญา ข้าวของ และศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น เพื่อสร้างความตระหนักให้คนในชุมชนเกิดสำนึกและภาคภูมิใจในรากเหง้าของตนเอง อย่างไรก็ดีผู้ก่อตั้งได้เพียงแต่รวบรวมวัตถุต่างๆ ไว้ในอาคารเท่านั้น ยังไม่ได้จัดการ หรือจัดแสดงอย่างที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด โดยคณะผู้ก่อตั้งให้เหตุผลว่ายังขาดความรู้ในเรื่องการจัดทำข้อมูล การทำทะเบียน และการจัดแสดง ปัจจุบันมีคณะกรรมการดูแล ได้แก่ พระครูปุณณธรรมคุณ เจ้าอาวาสวัดท่าช้าง นายดวน อารมณ์ฤทธิ นายพล ทองพูน และ นายโชค ตรีวัย
วัตถุชิ้นสำคัญของพิพิธภัณฑ์อาทิ เกราะ หรือที่ภาษาถิ่นเรียก เหลาะ หรือ เขละ โดยทั่วไปเกราะเป็นเครื่องให้สัญญาณที่ใช้กันในสมัยก่อน เพื่อนัดแนะ หรือบอกเหตุร้ายในหมู่บ้าน ปกติการตีจะตีจังหวะช้าและหนัก แล้วค่อยเร่งเร็วตอนปลาย แล้วเริ่มจังหวะช้าใหม่ ปกติจะตี 3 คาบ และมักตีตอนเช้าตรู่ เพื่อจะให้ได้รู้ว่าตอนสายๆ จะมีการประชุมกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน เกราะชิ้นนี้ทำด้วยไม้แก่น ขนาดและรูปทรงอย่างกลองแขก มีความยาวประมาณ 70 เซนติเมตร ผ่าด้านข้างราว 2 นิ้ว ยาว 60 เซนติเมตร ขุดข้างในกลวงหัวตันท้ายตัน
ปิ่นโตเคลือบ หรือที่ชาวบ้านเรียกชั้นเคลือบ เป็นภาชนะชนิดหนึ่งสำหรับบรรจุอาหาร ปิ่นโตชั้นล่างสุดมักจะสูงกว่าชั้นอื่นๆ เล็กน้อย นิยมใส่ข้าว ส่วนชั้นอื่นๆ อาจใส่กับข้าว ขนม หรืออื่นๆ ก็ได้ ปิ่นโตเคลือบ ที่แสดงในพิพิธภัณฑ์วัดท่าช้าง จะมีสีเหลือง และพิมพ์ลายดอกไม้
ในพิพิธภัณฑ์วัดท่าช้าง จะมีเงินเหรียญอยู่หลายชนิด อาทิ เงินเหรียญในสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เงินเหรียญในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่เงินเหรียญดีบุกตราพระบรมรูป - ตราแผ่นดิน ใน พ.ศ. 2493 เหรียญราคา 25 สตางค์ เหรียญราคา 50 สตางค์ เหรียญราคา 1 บาท เหรียญราคา 5บาท เหรียญราคา 10 บาท และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสต่าง ๆ
หัวไถ หรือหัวหมู หัวไถ เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องไถ ที่ใช้เทียมวัวเทียมควายในการไถ คราด หัวหมู มักทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เป็นส่วนที่วางกับพื้นช่วงกลางเจาะรูสำหรับเสียบคันไถ โดยใช้ลิ่มไม้ตอกอัดไว้ ส่วนหน้าสุดทำแหลมมนสำหรับใส่ผาลเพื่อไถดิน หัวหมูนี้ช่างจะใช้ขวานไตขุดแต่งอย่างดีมีความลาดเฉียง 45 องศา เมื่อผาลไถดินแล้วจะพลิกกลับบนไว้ล่าง หัวหมูยาวประมาณ 40 เซนติเมตร สูงประมาณ 20 เซนติเมตร
กระต่ายขูดมะพร้าว หรือที่ชาวบ้านเรียกเหล็กขูด เป็นเครื่องมือขูดมะพร้าว เพื่อคั้นเอาน้ำกะทิไปทำอาหารหวาน คาว เหล็กขูดมีส่วนประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ ตัวเหล็กขูด ทำด้วยไม้ ประดิษฐ์เป็นรูปต่าง ๆ ตามแต่จินตการของผู้ทำ เช่น กระต่าย สิงสาราสัตว์อื่นๆ คน และตาเหล็กขูด ทำด้วยเหล็กดัดให้งออย่างคอห่าน ส่วนปลายแบนโค้ง มีฟันเรียงถี่อย่างฟันปลา ส่วนโคนทำให้แหลมสำหรับปักลงบนส่วนตัวเหล็กขูด ฟันตาเหล็กขูดจะไม่ถี่หรือห่างเกินไป ถ้าถี่เกินไปจะขูดมะพร้าวไม่ออก ถ้าห่างเกินไปจะกินหยาบ ยากต่อการคั้นนำกะทิ ตาเหล็กขูดจะต้องมีความคมเวลาขูดมะพร้าวจะไม่ต้องออกแรงมากนัก
ข้อมูลจาก:
รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำข้อมูลพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ สนับสนุนโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) 2564.
https://www.thachang.go.th/travel/detail/1726
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
สงขลา ของใช้ในวัด
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านควนเนียง โรงเรียนควนเนียงวิทยา
จ. สงขลา
หอศิลป์สยาม
จ. สงขลา
ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม
จ. สงขลา