พิพิธภัณฑ์โนราเติม วิน วาด


พิพิธภัณฑ์โนราเติม วิน วาด เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนจัดทำโดยคุณวราภรณ์ อ๋องเซ่ง ทายาทของโนราเติม บอกเล่าเรื่องราวของสายตระกูลโนราเติม โนราหนูวิน โนราหนูวาด สองศรีภริยาของโนราเติม โนราเติมหรือที่คนใต้เรียกว่าโนราเติม เมืองตรัง เป็นผู้มีพรสวรรค์ในการขับกลอนมุตโตหรือกลอนสด ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงภาพถ่ายหายากของโนราเติม วิน วาด แลละชาวคณะมโนราห์เติม วิน วาด ในอดีต ตลอดจนวัตถุสิ่งของที่โนราเติมใช้แสดงโนรา เทริดและซุมเทริดอายุกว่า 100 ปี ชุดสากลชุดโปรดของโนราเติม ชุดโนราหนูวิน โนราหนูวาด อันเป็นเอกลักษณ์ของสายตระกูลโนราเติม วัน วาด ตลอดจนผลงานเสียงที่โนราเติมได้ขับไว้หลายวาระที่ล้วนมีคุณค่าในด้านการใช้ภาษาถิ่นใต้ได้อย่างงดงาม

ที่อยู่:
เลขที่ 38 หมู่ 4 หมู่บ้านสงขลาลากูน่า ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
โทรศัพท์:
0892990140
วันและเวลาทำการ:
จันทร์-เสาร์ (หยุดวันอาทิตย์) เวลา 9.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ของเด่น:
หัวใจอมตะของโนราเติม, ชุดสากลชุดโปรดของโนราเติม โดยโนราเติมเป็นคะณแรกที่กล้าเแปี่ยนกาาแต่งกายโนราแบบโบราณมาใช้ชุดสากลแทน,เทริดและซุมเทริดอายุกว่า 100ปี ของโนราวันเฒ่า เมืองนครศรีธรรมราช,ชุดโนราของโนราหนูวิน โนราหนูวาด
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

โนราเติม เมืองตรัง


โนราเติม ชื่อนายเติม อ๋องเซ่ง เกิดปี พ.ศ. 2457 ที่ตำบลเขาวิเศษ อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง เป็นบุตรของนายตั้ง นางอบ อ๋องเซ่ง สัญชาติไทย เชื้อชาติจีน สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง แล้วไปเรียนจบมัธยมปีที่ 8 ที่โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง จังหวัดยะลา อายุได้ 18 ปี นายเติม อ๋องเซ่ง รับราชการเป็นเสมียนที่อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ต่อมาจึงลาออกมาเป็นศิลปินเล่นโนรา เนื่องจากปู่และบิดาของนายเติม เป็นตระกูลโนราสืบทอดกันมา

นายเติมฝึกการรำโนราจากบิดามาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ฝึกท่ารำและฝึกว่ากลอนต่าง ๆ เมื่ออายุ 13 ปี จึงได้รำโนราเป็นครั้งแรกในงานแก้บนของขุนสุตรสุทธินนท์ นายอำเภอเมืองตรัง ต่อจากนั้นหากมีเวลาว่างก็จะช่วยรำโนราในคณะของครอบครัวเป็นครั้งคราว จนกระทั่งมีการประชันกับโนราที่มีชื่อเสียงคณะหนึ่ง โนราตุ้งซึ่งเป็นโนราครอบครัวของนายเติมเป็นฝ่ายแพ้ นายเติมเสียใจมาก จึงตั้งคณะโนราเติมขึ้นเพื่อกู้หน้า นายเติมจึงลาออกจากราชการมาเล่นโนรา

โนราเติมเป็นคนพูดเก่งและเจ้าชู้ ไปแสดงที่ไหนมักจะได้ภรรยาที่นั่น จนมีภรรยาถึง 54 คน ภรรยาคนที่ 53 และ 54 คือหนูวินกับหนูวาด โนราเติมสุขภาพไม่แข็งแรงเพราะดื่มสุรา ในที่สุดได้แก่กรรมด้วยโรคไตวาย ใน พ.ศ. 2514 เมื่ออายุได้ 57 ปี

โนราเติมเป็นโนราที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วภาคใต้ สมกับคำที่กล่าวกันว่า “มาแต่ตรังไม่หนังก็โนรา” โนราเติม ได้ประชันกับคณะโนราที่มีชื่อเสียงหลายคณะ เช่น โนราลอย โนราพิณ-พัน โนรายก ชูบัว มักจะชนะและได้รับรางวัลมากมาย ทั้งถ้วยรางวัล และขันน้ำพานรอง โดยเฉพาะการประชันโรงโนราทั่วภาคใต้ ซึ่งจังหวัดตรังจัดให้มีการแข่งขัน 50 โรง โนราเติมชนะเลิศ ได้รับถ้วยรางวัลเกียรติยศ มีชื่อเสียงมากยิ่งขึ้น จนไม่มีคณะโนราใดกล้าประชันโรงด้วย

ผู้พัฒนาโนราตามสมัยนิยม

คู่แข่งของโนรา คือภาพยนต์และหนังตะลุง เมื่อผู้ชมหันไปชมภาพยนต์มากขึ้น เพื่อไม่ได้คนดูเสื่อมความนิยมโนรา โนราเติมจึงริเริ่มพัฒนาโนราแบบใหม่ โดยพัฒนาโนราของตนอย่างน้อยใน 3 ลักษณะ ได้แก่

1. เน้นด้านบทกลอนที่เป็นกลอนสด มากกว่าการร่ายรำแบบโบราณ เนื่องจากโนราเติมรำไม่เด่น แต่เด่นในเรื่องว่ากลอนสด เป็นที่ยอมรับกันว่าไม่มีใครเทียบ การมีพรสวรรค์ด้านนี้ทำให้โนราเติมประสบความสำเร็จสูง

2. เปลี่ยนแปลงการแต่งกาย  จากที่เดิมที่ใช้เครื่องลูกปัด เทริด หางหงส์ มาใช้ชุดสากลแทน เป็นผลให้คณะโนราอื่น ๆ ทำตามอย่าง อย่างไรก็ดีโนราเติมถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผู้ทำลายเอกลักษณ์ดั้งเดิมของโนรา ซึ่งเรื่องนี้โนราเติมได้ชี้แจงว่า เพื่อสนองความต้องการของผู้ชม และอิทธิพลของภาพยนตร์ วิทยุโทรทัศน์ และอุปกรณ์สมัยใหม่หาได้ง่าย เป็นเหตุให้โนราเติมคิดเปลี่ยนแปลง

3. นำนวนิยายมาดัดแปลง เพื่อประกอบการแสดงโนรา นวนิยายเรื่องที่ทำให้โนราเติมมีชื่อเรื่อง ได้แก่ น้ำตาสาวจัน พรหมบงการ มหาดเล็กผู้ซื่อสัตย์ ตายครั้งเดียว

โนราเติมได้เผยแพร่ศิลปะการแสดงโนราทั้งในและต่างประเทศ  โดยได้แสดงโนราทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้ และกรุงเทพฯ หลายครั้ง มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุทั่วประเทศ และยังเคยไปแสดงที่ประเทศมาเลเซีย  นับได้ว่าโนราเติมเป็นโนราที่ทำให้การแสดงโนราเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป บุตรหลานต่างมีความภูมิใจในโนราเติมมาก จึงจัดที่บูชาไว้หน้ารูปถ่าย และบูชาเป็นประจำ เมื่อประสบความสมหวังก็จะมีปิดทองบนกรอบรูปเสมอ จนเกือบมองไม่เห็นภาพถ่าย

นานาทรรศนะที่มีต่อโนราเติม เมืองตรัง

 “โนรายก ชูบัว”

พี่เติม” เป็นโนราที่มีวิชาปราชญ์ที่โนราคนอื่นไม่มี มีจุดเด่นอยู่ในเรื่องกาพย์กลอน สามารถว่ากลอนได้โดยไม่นึกคิดไว้ก่อน ไม่ได้ผูกเรื่องไว้ก่อน เมื่อพบอะไรก็ว่าได้สบาย เรียกว่าเป็นปราชญ์คนหนึ่งสำหรับโนราเรา แต่การละเล่นพัฒนาไปอยู่ในเชิงสากลมากกว่าอนุรักษ์ เพราะฉะนั้นพี่เติมเป็นโนราที่มีความสามารถในเชิงพาณิชย์ แสดงเรื่องราวต่าง ๆ ก็แสดงเป็นแบบละคร แต่เขาก็เรียกว่า “โนราเติม” นั่นแหละ เพราะฉะนั้นเราชาวภาคใต้น่าจะนึกคิดไว้ว่าโนราเล่นได้เป็น 2 แบบ อนุรักษ์อย่างหนึ่ง พัฒนาไปสู่สากลอย่างหนึ่ง ก็มีหนทางหากินไปได้ เพราะฉะนั้น “พี่เติม” เป็นคนที่มีความสามารถในด้านกาพย์กลอน สามารถเห็นอะไรร้องได้ทันทีโดยไม่ได้นึกคิดไว้ก่อน แล้วกลอนจะลื่นไหลเหมือนกับพูด ไม่ใช่ว่าติด ๆ ตะกุกตะกักไม่มี เพราะฉะนั้นเราจึงถือว่า “พี่เติม” เป็นโนราโรงหนึ่งที่ควรจะยกย่องสรรเสริญ และมีสิ่งที่จะยึดเหนื่ยวไว้ว่า “โนราเติม” เป็นโนราพัฒนาโรงหนึ่ง และน่าจะให้ประชาชนชาวภาคใต้เราได้ระลึกถึงว่า “โนราเติม” เป็นโนราที่มีความสามารถ เพราะฉะนั้นจะมีอะไรจะทำไว้ได้ ควรจะให้มีเป็นสิ่งที่ระลึกไว้ว่า “โนราเติม” ของภาคใต้ของเราดังมาก่อน ไม่ใช่ดังแล้วดับ ดังจนชีวิตดับแต่ความดังก็ยังไม่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นควรจะมีสิ่งที่ตอบแทนความดีของพี่เติมไว้ว่า “โนราเติม” มีความแตกต่างกับโนราอื่นในเรื่องขับกลอน โนราอื่น ๆ โดยมากเขาจะผูกไว้ เขาจะเขียนกลอนไว้ก่อนล่วงหน้า แต่พี่เติมว่าได้เลยไม่ต้องแต่ง เรื่องกลอนสดพี่เติมเป็นคนทำขึ้นก่อนเพื่อน ลุงยกมารุ่นหลังพี่เติม ลุงยกจะได้ข้อมูลมาจากพี่เติมอย่างหนึ่ง แกว่าให้เรียนไว้มาก อ่านหนังสือให้มาก แล้วเรื่องที่เราอ่านจำไว้นี้มันช่วยได้ บางทีกลอนมันจะพาไปลงกลอนที่ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว มันไปนึกขึ้นได้ที่เราสัมผัสมาแล้วเอามาเสริมได้ พี่เติมจึงถือเป็นศิลปินที่ควรค่าแก่การยกย่องและจดจำ แล้วควรเชิดชูไว้เป็นตัวอย่างแก่ศิลปินและลูกหลานในวันข้างหน้า

ภิญโญ สุวรรณคีรี

 “น้าเติม” เป็นศิลปินสุดยอด ถ้าท่านยังอยู่จะเป็นศิลปินแห่งชาติไปแล้ว หมายความว่าต้องวัดที่ผลงานว่างานมาก งานน้อย แล้วงานที่ท่านทำพอจะพูดได้ว่า

1. เป็นตัวของตัวเองในการสร้างงาน นอกจากยึดถือแบบอย่างจากครูเดิมแล้ว ท่านจะเป็นตัวของตัวเอง เช่นการขับมุตโตต่าง ๆ

2. มีคคิเตือนใจ มีธรรมะสอนประชาชนในการแสดงอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าให้การบันเทิงอย่างเดียว

3. การเป็นครูที่ดี สอนโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ใครจะเรียนก็สอน เป็นครูที่ดีมากมาตลอดชีวิตของท่าน

4. นอกจากท่านจะอยู่ในจังหวัดตรังให้ความรู้แล้ว ยังเดินทางไปทั่วทุกจังหวัดในภาคใต้ แสดงไปทั่ว แม้จะเหน็ดเหนื่อยเพียงใด ความผูกพัน ความรักในอาชีพที่ทำโดยบริสุทธิ์ ไม่ได้นึกถึงอะไร นึกถึงผลงานเป็นหลัก ไม่สนใจเรื่องรายได้

ท่านจึงเป็นแบบอย่างให้อนุชนรุ่นหลัง อย่างโนราทั้งหลายซึ่งเป็นเทปที่ มศว.ให้มา โนรารุ่นหลัง ๆ ก็ได้ยึดท่านเป็นแบบอย่าง สิ่งนี้สำคัญมาก  ในการที่ช่วงชีวิตหนึ่งในชีวิตของท่านอุบัติขึ้นมาแล้วได้ยึดถืออาชีพนี้มาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเสียชีวิต ไม่ได้มีการเปลี่ยนใจในการไปประกอบอาชีพอย่างอื่นเลย ด้วยความรักในศิลปะ อันนี้คือสิ่งหายากในหมู่ศิลปินทั้งหลายใจจะเป็นแบบนี้ เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ประทับใจ

ตัวเองตั้งแต่เด็ก ๆ ได้มาดู ไม่ว่าน้าเติมจะไปแสดงที่ไหนได้ติดตามดูอยู่ตลอดเวลา ตอนนั้นที่คู่อยู่กับน้าเติมคือ “พรานแมง” ยังจำได้ตั้งแต่เด็ก ๆ ตอนนั้นถ้าน้าเติมโนราใหญ่ออกแล้วมีพรานแมงคนดูจะชอบมาก

“น้าวิน” “น้าวาด” ก็เหมือนกันเป็นผู้ที่รักในการประกอบอาชีพที่เป็นศิลปะทางด้านนี้ เป็นคนที่นอกจากจะมุ่งมั่นในการสร้างศิลปะ เป็นคนผูกพัน ประกอบอาชีพด้วยความแน่วแน่ ไม่เบื่อที่จะรักษาศิลปะ ทั้งหมดทั้ง 3 ท่าน จึงเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลัง ก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติได้สักเพียงครึ่งหนึ่งของท่านได้หรือไม่ ครึ่งหนึ่งก็ถือว่าเป็นบุญ เพราะสภาวะทางสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว อย่างน้อยคนรุ่นหลังจะได้เห็นเป็นแบบอย่าง

ชวน หลีกภัย

ผมได้ยินชื่อเสียงของ “โนราเติม” มานานแล้ว เพราะในสมัยก่อนที่บ้านเรา ความบันเทิงของชาวบ้านมีโนราและหนังตะลุงเป็นหลัก มีลิเกแขกอยู่บ้างก็เฉพาะในเขตไทยมุสลิม เมื่อเด็ก ๆ พวกเราเดินทางไปไกล ๆ เพื่อชมโนราและหนังตะลุงแสดงตามวัดต่าง ๆ โนราและหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงก็จะเป็นที่รู้จักกันทั่วไปทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในยุคสมัยของ “โนราเติม” ชื่อเสียงของท่านเลื่องลือไปไกล เป็นที่ยอมรับจนเป็นตำนานของชาวภาคใต้จนมีคำกล่าวว่า “หนังสงขลา โนราตรัง” ความหมายในขณะนั้นก็คือ หนังตะลุงที่เก่งมีชื่อเสียงมากที่สุดในสมัยนั้นต้องมาจากสงขลา คือ “หนังกั้น” โนราที่เก่งต้องมาจากตรัง คือ “โนราเติม” ผมรู้จักหนังกั้นเพราะหนังกั้นเคยไปแสดงที่บ้านในขณะที่พวกเรายังเป็นเด็กนักเรียน แต่สำหรับผมเพิ่งมารู้จัก “โนราเติม” ตัวจริงเมื่อผมออกตระเวณหาเสียงเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก และผมได้ไปขอเวทีแสดงของท่านปราศรัยหาเสียงก่อนเริ่มแสดง

ผมได้รู้จักหนูวิน-หนูวาด ภรรยาทั้ง 2 ของท่าน และได้สนิทสนมคุ้นเคยกับครอบครัวของ “โนราเติม” ตลอดมาจนปัจจุบัน ผมได้ชื่นชมความสามารถปราชญ์เปรื่องของ “โนราเติม” และ “หนูวิน-หนูวาด” และคณะ “โนราเติม” พร้อม ๆ กับชาวบ้าน ทั้งความไพเราะของบทกลอนและความสนุกสนานจากมุกตลก เป็นเสน่ห์ตรึงคนชมจนไม่อยากขยับไปไหน การได้ประจักษ์ถึงความรู้ความสามารถอันเป็นทั้งพรสวรรค์ ความรักงานแสดงและประสบการณ์อันยาวนานของศิลปินบ้านนอกเหล่านี้ ทำให้ผมเกิดความประทับใจและเห็นว่าศิลปินเหล่านี้มีความรู้ ความสามารถ เป็นอัจฉริยะของแต่ละบุคคลเฉพาะตัวที่คนอื่น ๆ ยากจะทำได้

ความจริงในข้อนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ดลใจให้ผมตระหนักว่าสมควรจะยกย่องศิลปินนักแสดงเหล่านี้ และผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะด้านอื่น ๆ จึงได้เป็นที่มาของความคิดให้เกิดศิลปินแห่งชาติขึ้นเมื่อครั้งที่ผมดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเมื่อปี พ.ศ.2526-2529 และถ้า “โนราเติม” ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน คุณสมบัติของท่านก็สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติอย่างแท้จริง

บทกลอนโนราเติม

บทกลอนนี้นำมามาจากเทปบันทึกเสียงที่โนราเติม เมืองตรัง เคยขับไว้ในยุคต้น ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์

“ขอเคารพนบบาทพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระปรมินทรมหา ประชาธิปกปกเกล้าชาวประชา สืบรัตนาสยามรัฐเป็นฉัตรชัย ถัดมารัชกาลสถานสถิตย์ ประเสริฐสิทธิ์สถาผลมงคลสมัย พระบารมีมาห่อหุ้มคุ้มกันไทย ให้เย็นใจทั่วหล้าสุธาแดน เหล่ามนุษย์สุจริตในนิสสัย ต้องทำใจให้ลุล่วงประเทศต้องหวงแหน เอาวาจามาประกอบได้ตอบแทน จำให้แท้แลให้แม่นเราเป็นชาติแดนไทย คนดีดีที่ชาติไทยใฝ่ประสงค์ คือคนตรงต่อชาติไม่หวาดไหว ไม่คำนึงถึงเรื่องขุ่นเคืองใจ กับผู้ใดที่ประกอบงานชอบธรรม ขอพี่น้องใกล้ไกลไทยหรือแขก เราอย่าแยกมาช่วยชุปอุปถัมภ์ ขอขอขอบคุณที่ส่งเสริมเติม เมืองตรัง แม่ที่นั่งพ่อที่มองอย่าข้องใจ”  

          “ขอกล่าวกลอนย้อนหลังครั้งอดีต รอยจารีตโบราณนานหนักหนา มาแต่ตังไม่หนังก็โนรา มีปัญญาแสงสว่างแห่งทางกลอน กล่าวกลอนสดมุตโตโชว์มนต์ขลัง “ผมชื่อเติม เมืองตรัง” ดังกระฉ่อน มีปัญญาว่าสดทุกบทกลอน ละเอียดอ่อนไม่น้อยคำร้อยกรอง ถ้าท่านมีชีวิตคงติดขั้น นักประพันธ์ชั้นกวีที่เกียรติก้อง ช่างค้นคิดประดิษฐ์ประดอยถ้อยทำนอง กลอนเพราะพร้อมพาทีประนีประนอม จังหวัดตรังฝังแน่นเป็นแดนปราชญ์ “เติม” ทายาทเมืองสิเกาคอยเหล่าหลอม “มโนห์ราเติมเฒ่า” เป็นเจ้าจอม ผู้เพรียบพร้อมคุณค่าด้านชาตรี ชาวไทยทั่วแดนดินทั้งถิ่นใต้ เชิญร่วมใจเชิดชูกู้ศักดิ์ศรี ปราชญ์โนราชาวใต้หลายสิบปี สดุดผู้สมญา “โนราเติม” ขอเชิญชวนมวลชนคนทุกชั้น มาร่วมกันรณรงค์เพื่อส่งเสริม คืนชีพชนม์คนดังแต่ดั้งเดิม เพื่อพูนเพิ่มคุณค่าลีลากลอน ศิลปินผู้ใช้ศิลปศาสตร์ ใช้บทบาทกลอนโนราภาษาสอน สื่อพื้นบ้านสร้างสรรค์อันถาวร อุทาหรณ์เตือนใจให้ผู้ฟัง ทั้งสอดแทรกธรรมะวาทศิลป์ ได้ยลยินจับใจคล้ายมนต์ขลัง ขอรำลึกรู้ค่าโนราดัง ให้ “เติม เมืองตรัง” สถิตอยู่คู่ฟ้าดิน”

หน่อเนื้อโนราเติม

หลายปีมาแล้วที่มีการบันทึกตำนานโนราเติม เมืองตรังไว้ว่าสุขภาพไม่แข็งแรงเพราะดื่มสุราจัดทำให้เสียชีวิต ข้อมูลดังกล่าวสร้างความทุกข์ใจให้แก่ครอบครัว ลูกหลานของโนราเติม วิน วาดเป็นอย่างยิ่ง จึงขอเรียนข้อเท็จจริงให้ทราบว่าหลังจากที่ท่านแต่งงานกับหนูวิน หนูวาดและมีบุตรธิดาด้วยกันแล้ว ท่านก็เลิกดื่มเหล้าโดยเด็ดขาด จากสาเหตุที่โนราเติมมีความรักต่อลูก ๆ ทุกคนมาก และลูก ๆ ส่วนใหญ่ของท่านเป็นผู้หญิง ซึ่งในยุคสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้นเป็นที่เล่าลือกันทั้วว่าท่านรักและหวงลูก ๆ เป็นอย่างมาก ทำให้ท่านไม่สนับสนุนและส่งเสริมให้ลูก ๆ ต้องประกอบอาชีพเพราะไม่ต้องการให้ลูก ๆ ต้องเหนื่อยยากลำบากกาย แต่กลับสนับสนุนให้ลูก ๆ เข้ารับการศึกษา แต่ด้วยเหตุที่ลูทุกคนมีแนวโน้มที่ชอบในการรำโนรา ท่านจึงตัดสินใจส่งลูกทุกคนไปเล่าเรียนที่กรุงเทพโดยซื้อบ้านให้ลูกได้อยู่อาศัยอย่างสุขสบาย มีญาติผู้ใหญ่คอยดูแล จนกล่าวได้ว่าโนราเติมเป็นศิลปินคนแรกที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ลูกของตนและลูกหลานของลูกน้องในคณะให้เข้ารับการศึกษา

ข้อเท็จจริงก็คือ สาเหตุที่แท้จริงที่ท่านต้องเสียชีวิตเพราะต้องตรากตรำทำงานด้านการแสดงโนราอย่างหนักตลอดทั้งปีไม่เว้นว่างแม้ในช่วงฤดูฝน การแสดงของคณะโนราเติม วิน วาด ส่วนใหญ่แสดงคืนละ 2 ช่วงจนถึงรุ่งสางของวันใหม่ เป็นศิลปินนายโรงที่ต้องทำงานอย่างหนัก ขับกลอนสด แต่งกลอนให้ลูกน้อง ประพันธ์นวนิยาย ตลอดจนคิดริเริ่มจัดรายการแสดงเพื่อไม่ให้โนราว่างงาน และบริหารจัดการและพัฒนาการแสดงด้วยตนเองตลอดอาชีพการเป็นศิลปิน

โนราส่วนใหญ่แสดงกลางคืนและพักผ่อนในตอนกลางวันโดยนั่งหลับในรถระหว่างการนั่งรถเดินทางไปทั่วภาคใต้ แต่โนราเติมใช้เวลาในช่วงกลางวันในการทำงานและบริหารจัดการวางแผนการทำงานในคณะของตนเองตลอดเวลา ด้วยสาเหตุต้องตรากตรำทำงานอย่างหนักจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อนทำให้ท่านต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรขณะอายุได้เพียง 56 ปี นับเป็นศิลปินคนแรกที่ต่อสู้ดิ้นรนขวนขวาย คิดค้นรูปแบบการแสดงใหม่เพื่อฟันฝ่ากับอุปสรรคในยุคที่โนราต้องแข่งขันกับกระแสเทคโนโลยีใหม่ ๆ จนต่อมารูปแบบการพัฒนาการแสดงของท่านศิลปินโนรารุ่นลูกรุ่นหลานได้นำมาใช้ประกอบอาชีพโนราและสามารถเลี้ยงชีมาได้จนถึงปัจจุบัน โนราเติม เมืองตรังนั้น แม้ว่าสังขารของท่านจะละโลกไปแล้ว แต่หัวใจของท่านยังคงอยู่ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความห่วงหาอาลัยต่อบุตรหลานโนราและผู้ร่วมอาชีพโนราเช่นเดียวกับท่าน หัวใจโนรานักสู้ของท่านจึงเป็นเหมือนอนุสรณ์ที่คงเหลือไว้ให้ลูกหลานได้กราบไหว้บูชามาจนทุกวันนี้

พิพิธภัณฑ์โนราเติม วิน วาด

พิพิธภัณฑ์โนราเติม วิน วาด ก่อตั้งโดยคุณวราภรณ์ อ๋องเซ่ง ทายาทของโนราเติม บอกเล่าเรื่องราวของสายตระกูลโนราเติม โนราหนูวิน โนราหนูวาด สองศรีภริยาของโนราเติม ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเครื่องแต่งกายและชุดแสดง และเครื่องดนตรีบรรเลงโนราของโนราเติมในนามคณะ “มโนราห์เติม วิน วาด” มีเครื่องแต่งกายของโนราหนูวิน  โนราหนูวาด และเทริดโบราณของโนราวันเฒ่า เมืองนคร อายุกว่า 100 ปี    หนังสืออันเป็นผลงานการประพันธ์ของโนราเติมในอดีต    ภาพถ่ายหายากของโนราเติม  โนราหนูวิน-โนราหนูวาด โนราวันเฒ่า คณะโนราศิษย์โนราเติม และชาวคณะมโนราห์เติม วิน วาดในอดีต  ตลอดจนเสียงการขับกลอนมุตโตของโนราเติมในอดีตหลายวาระ รวมถึงเสียงการขับกลอนแบบฉบับโนราหญิงโบราณของโนราหนูวิน – โนราหนูวาด ซึ่งเคยโต้กลอนกันในอดีตหลายวาระ ที่ล้วนมีคุณค่าในด้านการใช้ภาษาถิ่นใต้ได้อย่างงดงาม หนังสือเกี่ยวกับประวัติและผลงานของโนราเติมในอดีต  ประวัติและผลงานของศิลปินโนราอาวุโสของภาคใต้หลายสายตระกูล   และภาพผลงานการแสดงของเยาวชน “กลุ่มรักษ์โนรา ชุมชนทุ่งหวัง” ปี 2547 – 2554“ และภาพผลงานการแสดงของเยาวชน “กลุ่มรักษ์โนรา ตำบลคูเต่า” ปี 2554 ถึงปัจจุบัน 

อาคารพิพิธภัณฑ์โนราเติม วิน วาด แบ่งการจัดแสดงเป็นสองชั้น ชั้นบน ได้แก่ ห้องภูมิหลังโนราเติม   ห้องครูหมอโนรา  ห้องลูกปัด เทริด เครื่องประดับ  ห้องเครื่องแต่งกายรำโนรา และดนตรีบรรเลงเพลงโนรา  ชั้นล่าง ได้แก่ มุมห้วงเวลาโนราเติม  มุมความจงรักภักดีและจิตสาธารณะของโนราเติม  และมุมรางวัลและเกียรติยศที่ได้รับ 

นอกเหนือจากการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แล้ว เครือข่ายพิพิธภัณฑ์โนราเติม วิน วาด ยังจัดตั้งอาคารชั่วคราวที่เป็นสำนักงานกลุ่มรักษ์โนรา ตำบลคูเต่า  โดยเป็นอาคาร 1 ห้องใหญ่ มีขนาดพื้นที่อาคารเท่ากับ 2 ห้อง ได้รับความอนุเคราะห์จากนายสุวรรณ ช่วยนุกูล นายอำเภอเมืองจังหวัดสตูล ซึ่งเป็นเจ้าของอาคาร ชั้นล่างใช้เพื่อเป็นสถานที่เพื่อฝึกสอนศิลปะการแสดงโดยท่ารำของสายตระกูลโนราเติม วิน วาด ชั้นบนใช้สำหรับเก็บวัสดุและเครื่องแต่งกายโนราและเครื่องดนตรีบรรเลงเพลงโนรา ให้แก่เยาวชน “กลุ่มรักษ์โนรา ตำบลคูเต่า” ซึ่งเยาวชนทั้งหมดเป็นบุตรหลานของชาวบ้านตำบลคูเต่า มาจากโรงเรียนต่าง  จำนวน 15 โรงเรียน มารวมตัวกันเพื่อฝึกฝนศิลปะการแสดงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 มาจวบจนถึงปัจจุบัน 

 

ข้อมูลจาก: รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำข้อมูลพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ สนับสนุนโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) 2564.

ชื่อผู้แต่ง:
ปณิตา สระวาสี