พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดสองพี่น้อง


พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดสองพี่น้อง ก่อตั้งโดยพระครูปลัดมงคล เขมจาโร เจ้าอาวาส ร่วมกับชาวบ้าน โดยใช้กุฏิเจ้าอาวาสหลังเก่าจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้วัดและชุมชนได้เก็บรวบรวมข้าวของ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของชุมชนไว้จำนวนหนึ่ง ตั้งวางรวมกันไว้บนกุฏิ ยังไม่ได้จัดแบ่งหมวดหมู่หรือจัดแสดงแต่อย่างใด วัตถุที่น่าสนใจอาทิ เหรียญหลวงปู่เหม้น อดีตเจ้าอาวาสที่ชาวบ้านศรัทธา นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน อาทิ ปาหยะ เป็นมีดพร้าอย่างหนึ่ง ใช้ถากหญ้า บอกขนมจีนทำจากโลหะประเภททองเหลือง เนียงหรือไหทรงสูง คนโบราณจะใช้เนียงใส่น้ำไว้ดื่มหรือใส่วัตถุดิบอื่นๆ ถ้าใส่ข้าวสาร เรียก เนียงสาร ใส่หมากแช่ เรียก เนียงหมาก เป็นต้น

ที่อยู่:
วัดสองพี่น้อง บ้านสองพี่น้อง หมู่ที่ 1 ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา 90170
โทรศัพท์:
084 313 2090 (นายสมพงษ์ ขุนทอง)
วันและเวลาทำการ:
กรุณานัดหมายล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ของเด่น:
เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดสองพี่น้อง

            วัดสองพี่น้อง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  ตั้งอยู่บ้านสองพี่น้อง หมู่ที่ 1 ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอสะเดา   จังหวัดสงขลา    พระครูปลัดมงคล  เขมจาโร  เจ้าอาวาส  ร่วมกับชาวบ้านได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดสองพี่น้องขึ้น โดยใช้กุฏิเจ้าอาวาสหลังเก่าจัดเป็นพิพิธภัณฑ์    โดยได้เก็บรวบรวมข้าวของ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของชุมชนไว้จำนวนหนึ่ง  ตั้งวางรวมกันไว้บนกุฏิ   ยังไม่ได้จัดแบ่งหมวดหมู่หรือจัดแสดงแต่อย่างใด   

            วัตถุที่น่าสนใจอาทิ  เหรียญหลวงปู่เหม้น  อดีตเจ้าอาวาสที่ชาวบ้านศรัทธา ท่านได้บูรณะวัด สร้างกุฏิ 1 หลัง  เล่ากันว่าท่านได้ออกธุดงค์ตามสถานที่ต่าง ๆ  จนไปถึงภูเขาสันกาลาคีรี  ที่บ้านป่าไร่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี  ได้อาศัยอยู่กับชาวเขาที่ผู้คนเรียกว่า “คนธรรพ์”  ต่อจากนั้นท่านเดินทางไปถึงบ้านบากง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส   ได้สร้างวัดทรายทองขึ้น  หลังจากนั้นท่านได้เดินทางกลับวัดสองพี่น้อง ท่านหมื่นนันท์ นรารักษ์ ได้นิมนต์ท่านนิ่ม ซึ่งเป็นหลานของหลวงปู่เหม้น เป็นเจ้าอาวาสวัดสองพี่น้อง หลังจากนั้นท่านได้สร้างวัดที่บ้านควนสังข์ ประเทศมาเลเซีย และจำพรรษาที่นั่นจนถึง พ.ศ.2483 จนกระทั่งท่านอาพาธ พระนิ่มจึงนิมนต์ท่านกลับวัดสองพี่น้อง และท่านก็ได้มรณภาพ เมื่อ พ.ศ.2483 อายุได้ 61 พรรษา   หลวงปู่เหม้น เป็นพระที่มีวิทยาคม ท่านได้แสดงอภินิหารไว้หลายอย่าง เช่น  ลงอาบน้ำในขวด ให้ลูกศิษย์เห็นที่วัดทรายทอง บ้านบากง จังหวัดนราธิวาส    กำบังกายจับช้างเถื่อนที่อำเภอนาทวี  จังหวัดสงขลา   ใช้คาถาปราบโจร เป็นต้น

          นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน อาทิ ปาหยะ (บ้างเรียกปายะ  ปะหยะ  ปาดหญ้า) เป็นมีดพร้าอย่างหนึ่ง ใช้ถากหญ้า ฟันหญ้าในนา  ปาหยะเหมาะที่จะใช้ในนาที่ไม่มีน้ำ หรือน้ำขังน้อย ๆ  ใช้สับหญ้าก็ได้ สับดินก็ได้ เช่น สับหญ้าในมุมหรือขอบคันนาที่ไถเข้าไปไม่ถึง  ปาหยะที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดสองพี่น้อง ชาวบ้านได้บริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์

         บอกขนมจีน หรือ บอกหนมจีน ทำจากโลหะประเภททองเหลือง เป็นเครื่องมือใช้ทำขนมจีน หรือ “เหยียบขนมจีน”    เนียงหรือไหทรงสูง ส่วนตรงกลางจะป้อมออกมาเพียงเล็กน้อย ที่คอของเนียงจะคอดกิ่ว แล้วบานออกเล็กน้อย  คนโบราณจะใช้เนียงใส่น้ำไว้ดื่ม จะได้น้ำที่มีความเย็น  บางบ้านจะใช้เนียงไว้รองรับน้ำฝน   นอกจากจะใช้เนียงใส่น้ำดื่มแล้ว เนียงยังใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง เช่น  ใส่ข้าวสาร เรียก เนียงสาร   ใส่หมากแช่ เรียก เนียงหมาก  ใส่หวาก  เรียก  เนียงหวาก  ใส่หนาง เรียก เนียงหนาง  บ้านเรือนทางภาคใต้ในสมัยก่อนทุกบ้านจะมีเนียงไว้ใช้สอย ไว้เก็บอาหาร  ไว้ถนอมอาหาร เปรียบเสมือนตู้เย็นในปัจจุบัน 

ข้อมูลจาก:

รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำข้อมูลพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ สนับสนุนโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) 2564.

ชื่อผู้แต่ง:
ประเสริฐ รักษ์วงศ์
คำสำคัญ:
ไม่มีข้อมูล
คำสำคัญ: