พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาตอนล่าง วัดคูเต่า


วัดคูเต่าเป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่ราบลุ่มริมคลองใกล้ทะเลสาบสงขลา อาคารเสนาสนะต่างๆ ทั้งอุโบสถ กุฏิ ศาลาการเปรียญที่มีสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่น ได้รับการอนุรักษ์และบูรณะจากวัดและคนในชุมชนอย่างดีจนได้รับรางวัลจากทั้งยูเนสโก และสมาคมสถาปนิกสยามฯ ที่มาของพิพิธภัณฑ์ เกิดจากการที่วัดคูเต่าได้รับงบประมาณจากกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2558 ในการบูรณะกุฏิหลังเก่าที่อยู่หน้าโรงธรรมของพ่อท่านหนู อดีตเจ้าอาวาสวัดรูปที่ 3 และมีกุฏิยาวอีก 2 หลัง เดิมปลูกสร้างบริเวณหน้าลานโรงธรรม และได้ย้ายมาตั้งคู่กันใกล้ทางเข้าวัด กุฏิหลังดังกล่าวเป็นกุฏิที่มีประวัติศาสตร์และเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย พระครูปราโมทย์สมกิจ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน เห็นว่าควรทำเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวในอดีตของคนลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาตอนล่าง จึงจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยได้รับความเห็นชอบจากทั้งคณะกรรมการวัด และคนในชุมชนมีส่วนร่วมเข้ามบริจาคเงินเพื่อจัดทำ การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติวัดคูเต่า และแสดงถึงวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ผ่านข้าวของเครื่องใช้ท้องถิ่นและภาพถ่ายเก่า อาทิ เครื่องโรยเส้นขนมลา/ฝอยทอง กระเชอ ไม้ตะพด กระต่ายขูดมะพร้าว

ชื่อเรียกอื่น:
พิพิธภัณฑ์วัดคูเต่า
ที่อยู่:
วัดคูเต่า หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ทอม อ.บางกล่ำ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์:
081 543 0649, 088 786 2379
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
อีเมล:
Aum1278@Gmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2559
ของเด่น:
เครื่องสังคโลก เครื่องโรยเส้นขนมลา/ฝอยทอง กระเชอ ไม้ตะพด กระต่ายขูดมะพร้าว
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

ผังจัดแสดง

โดย: ศมส.

วันที่: 10 มีนาคม 2565

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาตอนล่าง วัดคูเต่า

          ลุ่มน้ำอู่ตะเภาตอนล่างมีพื้นที่คลอบคลุมอำเภอหาดใหญ่ อำเภอบางกล่ำ อำเภอควนเนียง และอำเภอเมืองด้านทิศใต้ ทั้งนี้คลองอู่ตะเภาเป็นสายน้ำที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสงขลา คลองอู่ตะเภาเกิดจากการไหลมาบรรจบของคลองใหญ่สองสายที่บางหรำ (บ้านคลองแงะ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา) คือคลองรำ ที่ไหลมาจากเขาลูกช้าง (สะเดา) และเทือกเขาบรรทัด (ผาดำ) และคลองแม่น้ำที่ไหลมาจากเขาน้ำค้าง (นาทวี) รวมความยาวเกือบร้อยกิโลเมตร ถึงปากอ่าวทะเลสาบสงขลา   พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอาทิ ทำนา ทำสวน ประมงพื้นบ้าน  วิถีชีวิตผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีนกับวัฒนธรรมไทยท้องถิ่น

          วัดคูเต่า ตั้งอยู่ริมคลองอู่ตะเภาใกล้ทะเลสาบสงขลา เป็นวัดเก่าแก่ย้อนไปได้ถึงสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรุงศรีอยุธยา  ภายในวัดมีเสนาสนะที่งดงามด้วยสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น อาทิ อุโบสถที่ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างท้องถิ่น  กุฏิสงฆ์ไม้ 7 หลัง ศาลาการเปรียญ หรือ ศาลาปักษ์ใต้ หรือ ศาลาเรียน ที่เป็นอาคารลักษณะเป็นโถงยกพื้น หลังคากระเบื้องพื้นบ้านแบบเกาะยอ หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นสวยงาม เป็นอาคารโรงเรียนสอนปริยัติธรรมแห่งแรกของอำเภอหาดใหญ่  ศาลาที่นี้มี 2 หลัง สร้างมานานกว่า 100 ปี ในอดีตใช้ประกอบงานบุญของประชาชน รวมถึงเป็นที่สอนหนังสือให้กับเด็ก ๆ ตลอดถึงสามเณรในวัด ซึ่งด้วยกาลเวลาล่วงเลยมาทำให้ศาลามีการชำรุดทรุดโทรม 

          ทั้งนี้ระหว่างปี พ.ศ. 2551-2553 สถาบันอาศรมศิลป์ ได้เข้ามาช่วยในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมต่างๆ ในวัด โดยวัดและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม  การที่วัดและชุมชนเห็นสำคัญและช่วยกันมีส่วนร่วมอนุรักษ์และบูรณะอาคารเก่าแก่ภายในวัด ทำให้ได้รับรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปี 2011 จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2554

          พิพิธภัณฑ์วัดคูเต่า ก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาที่วัดคูเต่าได้รับประมาณจากกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2558       ในการบูรณะกุฏิหลังเก่า(ในภาษาถิ่นเรียกว่าเตะ)ที่อยู่หน้าโรงธรรมของพ่อท่านหนู อดีตเจ้าอาวาสวัดรูปที่ 3 และกุฏิยาวอีก 2 หลัง เดิมปลูกสร้างบริเวณหน้าลานโรงธรรม แต่สมัยพ่อท่านหอมดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส กุฏิยาวทั้งสองหลังได้ถูกย้ายมาตั้งอยู่คู่กันใกล้กับทางเข้าวัด  ซึ่งในกุฏิหลังนั้นเดิมเป็นที่เก็บวัตถุและเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ของวัดในอดีต

          พระอธิการมาโนช กตบุญโญ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ได้เล็งเห็นว่าเมื่อบูรณะแล้วเสร็จ ควรใช้พื้นที่กุฏิให้เป็นประโยชน์ โดยทำเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวในอดีตของคนลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาตอนล่าง โดยจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์  และได้ปรึกษากับทางคณะกรรมการวัด จนมีมติให้ดำเนินการก่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2559 และได้ประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำพิพิธภัณฑ์และร่วมบริจาคทรัพย์ โดยทางคณะกรรมการวัดได้แจกรูปอดีตเจ้าอาวาสพระครูสุคนธศีลาจาร (พ่อท่านหอม) เป็นทีระลึก

          ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงประวัติความเป็นมาของวัดและวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนในเขตลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาตอนล่าง นำเสนอภาพถ่ายเก่าของวัดและชุมชน  วัตถุทางศาสนาที่เป็นสมบัติวัด ข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านที่สะท้อนวิถีการทำไร่ทำนา  ประมงพื้นบ้าน และประเพณีท้องถิ่นที่ผูกโยงกับความเชื่อและวัฒนธรรมเกษตรกรรม  วัตถุที่น่าสนใจ อาทิ

          กระเชอ หรือ ภาษาใต้เรียกเชอ หรือชัน  เป็นเครื่องจักสานที่ทำจากไม้ไผ่และ  ก้นสอบ ปากกว้าง  เคลือบด้วยน้ำชันใสกันมอด ชาวบ้านใช้สำหรับใส่ข้าวเปลือก ข้าวสาร หรือใส่ของในพิธีกรรมต่าง ๆ  ใส่ของไปวัดในวันพระส่วนกระเชอขนาดเล็กใช้เป็นเชี่ยนหมากหรือใช้ใส่สินสอดทองหมั้นในงานแต่งงาน

          เครื่องโรยเส้นขนมลา ในอดีตเครื่องโรยเส้นขนมลาจะใช้กะลามะพร้าว แต่ปัจจุบันใช้กระป๋องแทนกะลา แต่เครื่องโรยเส้นขนมลาที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นั้นทำด้วยภาชนะที่มีความแข็งแรง ใช้ทำขนมได้หลากหลายนอกเหนือจากขนมลา เช่น ขนมฝอยทอง ลอดช่อง สลิ่ม เป็นต้น

          ขนมลาเป็นขนมที่ใช้ในเทศกาลวันสารทเดือนสิบ  ขนมลามีสองชนิดคือ ลาลอยมัน และลาเช็ด  แตกต่างกันเล็กน้อยในเครื่องปรุงและการโรยเส้น โดยลาเช็ด มีเส้นละเอียด เครื่องปรุงประกอบด้วยแป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย น้ำตาลเคี่ยว และไข่ไก่ ผสมเครื่องแล้วนำมาโรยเส้นที่เรียกว่า “ทอดลา” ในกระทะขนาดใหญ่ นำแป้งที่ผสมแล้วใส่ในเครื่องโรยเส้น โรยในกระทะวนไปมา จนได้แผ่นลาเป็นรูปวงกลมขนาดพองาม พอแป้งสุกจึงตักขึ้นวางให้สะเด็ดน้ำมัน จัดวางซ้อนกันเป็นชุดๆ  ส่วนลาลอยมัน ใช้ส่วนผสมเดียวกันแต่ไม่ใส่ไข่ไก่ แป้งจะหยาบกว่าเล็กน้อย และผสมด้วยน้ำตาลโตนด การโรยลาลอยมันต้องใส่น้ำมันจำนวนมาก เครื่องโรยเส้นรูจะใหญ่กว่า เมื่อแป้งสุกจะเป็นแผ่นที่หนากว่าลาเช็ด แล้วจะใช้ไม้ไผ่บางๆ สอดพับแผ่นลาเป็นรูปสามเหลี่ยม เมื่อเย็นจะกรอบ

            นอกจากพิพิธภัณฑ์แล้วยังแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ของวัดที่น่าสนใจได้แก่  จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ เป็นงานจิตรกรรมภาพเขียนสีฝุ่นฝีมือช่างพื้นบ้าน สภาพค่อนข้างสมบูรณ์และมีเอกลักษณ์  ช่างได้สร้างสรรค์ผลงานโดยประยุกต์เอาตัวหนังตะลุงอันเป็นงานศิลปกรรมของภาคใต้เข้ามาใช้ในการวาด ไม่ว่าจะเป็นพระเวสสันดร  นางมัทรี จะรูปเป็นแบบเดียวกับกษัตริย์และนางกษัตริย์ในหนังตะลุง  ตัวชูชกมีลักษณะของตัวตลกหนังตะลุง เนื้อเรื่องของภาพจิตรกรรมเป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดก หรือมหาชาติ และมีภาพเทพชุมนุม

          ส่วนอุโบสถของวัดคูเต่า   สร้างโดยพระอธิการแก้วเมื่อ พ.ศ. 2430แต่มาแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2445   โดยพระอธิการหนู ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 15 ปี เป็นพระอุโบสถที่ค่อนข้างทึบ   แม้จะมีกรอบหน้าต่าง   แต่ช่องหน้าต่างเป็นช่องแสงที่ค่อนข้างเล็ก   หน้าบันด้านหน้าปั้นเป็นรูปพระพรหมทรงหงส์ล้อมรอบด้วยลายพันธุ์พฤกษาและรูปคนกับสัตว์   โดยมีการทำรูปยักษ์แทรกเหมือนกำลังแบกหน้าบันเอาไว้   ภายในอุโบสถคล้ายกับมีอุโบสถซ้อนอีกหลังหนึ่ง เพราะมีผนังด้านหลังปิดและมีทางเดินโดนรอบ ตรงกลางมีพระประธาน  ขนาบด้วยพระพุทธรูปขนาดเล็กกว่าอีก 2องค์ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มพระพุทธรูป   โดยซุ้มตรงกลางจะซ้อน 2ชั้นและสูงกว่า   เพื่อให้โดดเด่นกว่าซุ้มข้าง ๆ   โดยซุ้มข้าง ๆ ทำเป็นรูปยักษ์  อีกฝั่งหนึ่งทำเป็นรูปเหมือนราหูอมจันทร์  ส่วนที่ผนังด้านบนเขียนภาพเทพชุมนุม

ข้อมูลจาก:

รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำข้อมูลพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ สนับสนุนโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) 2564.

https://talung.gimyong.com/index.php?topic=30992.0

ชื่อผู้แต่ง:
ปณิตา สระวาสี