เรือนมยุรา


เรือนมยุราเป็นบ้านเก่าแก่ของคนไทยเชื้อสายจีนบนเกาะยอ จังหวัดสงขลา เรือนมยุราเป็นของนายแง่ง และนางยกคุ่ย แซ่ตัน สร้างเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ลักษณะเป็นเรือนไทยยกพื้น หลังคาจั่ว 2 หลัง มีนอกชานคั่นกลาง เสาเรือนไม้วางบนโคนเสา หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเกาะยอ เรือนมยุราตั้งอยู่บนพื้นที่สวนผลไม้และยางพารา มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ อยู่ติดถนนเส้นทางหลัก ด้านทิศตะวันออกของเกาะยอ ในอดีตชุมชนบริเวณนี้ มีการทำเครื่องปั้นดินเผาใช้กันเอง มีเตาทุเรียงสำหรับเผาเครื่องปั้นดินเผาอยู่บริเวณริมทะเลเยื้องกับที่ตั้งของเรือนมยุรา เครื่องปั้นดินเผาที่เป็นภาชนะสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันของเรือนมยุราส่วนหนึ่งก็มาจากเตาเผาบนเกาะยอนี่เอง นอกเหนือจากตัวเรือนที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นที่น่าสนใจแล้ว ข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดงบนเรือนสะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนเกาะยออย่างน่าสนใจมีอยู่หลายชิ้น อาทิ ก้อต้า หรือ ภาชนะสำหรับใส่ยาสูบและอุปกรณ์การมวนยาสูบ เชี่ยนหมาก เป็นภาชนะสำหรับใส่หมากพลูรับรองแขกของคนโบราณที่นิยมกินหมากกัน เนียงเกาะยอ เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ทำมาจากดินเหนียว ที่มีการยุบตัวลงขณะที่อยู่ในเตาเผา หมอน้อย หรือ หมอนนมไม้ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการนวด นอกจากนี้ยังมีภาพถ่ายเก่าของครอบครัวที่เห็นบรรยากาศของเกาะยอในอดีต และบางภาพสะท้อนวิถีชีวิตของคนเกาะยอ และแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของสงขลาเมื่อครั้งอดีต

ที่อยู่:
เลขที่ 25 หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 90100
โทรศัพท์:
080 7164704
วันและเวลาทำการ:
เสาร์ – อาทิตย์ 08.00 – 16.00 น. กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ของเด่น:
ภาชนะดินเผาเกาะยอ, เชี่ยนหมาก, หมอน้อย, ภาพถ่ายเก่า
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

เรือนมยุรา

          เรือนมยุราตั้งบ้านเก่าแก่ของคนไทยเชื้อสายจีนบนเกาะยอ จังหวัดสงขลา   เรือนมยุราเป็นของนายแง่งและนางยกคุ่ย แซ่ตัน สร้างเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว  ลักษณะเป็นเรือนไทยยกพื้น หลังคาจั่ว 2 หลัง  มีนอกชานคั่นกลางเสาเรือนไม้วางบนโคนเสา หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเกาะยอ   เดิมเป็นบ้านพักอาศัยของนายแง่ง  และนางยกคุ่ย แซ่ตัน  ท่านมีบุตร  6 คน ชาย 3 คน หญิง 3 คน ได้แก่  นายวิจิตร  ตันติสุวรรณโณ  นายจรูญรัตนประทีป   นายเจือ รัตนประทีป  นางขิ้ม  คงจินดามุนี  นางเขี้ยม ศรีประสมนางจิ้ว ศรีสุวรรณ  ต่อมาเมื่อบุตรทั้ง 6 คน ได้สมรสมีครอบครัว  ทุกคนต่างแยกย้ายไปสร้างครอบครัวของตนเอง และเมื่อประมาณ 70 กว่าปีที่แล้ว  นายแง่ง แซ่ตัน ถึงแก่กรรม ต่อมานางยกคุ่ย แซ่ตัน  ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.2538  เรือนนี้จึงตกอยู่ในการครอบครองของทายาท คือนางจิ้วศรีสุวรรณ    ซึ่งได้สมรสกับนายเถ็กฉ้วน  ศรีสุวรรณ  มีบุตรด้วยกัน 4 คน ได้แก่ นายพิทูล ศรีสุวรรณ  นายพิสิทธิ์  ศรีสุวรรณ (ถึงแก่กรรม) นางนิพิท   ศิริเพชร และนายพร   ศรีสุวรรณ  ปัจจุบันเรือนหลังนี้อยู่ในการดูแลของนายเถ็กฉ้วน  ศรีสุวรรณ และบุตรคือนางนิพิท  ศิริเพชร

            เรือนมยุราตั้งอยู่บนพื้นที่สวนผลไม้และยางพารามีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ อยู่ติดถนนเส้นทางหลัก  ด้านทิศตะวันออกของเกาะยอ ด้านหลังเป็นภูเขาเนื้อที่สุดยอดเขาที่เป็นสันปันน้ำ และที่สุดปลายที่ดินด้านภูเขาอยู่ห่างจากสำนักสงฆ์เขากุฏิประมาณ 50 เมตร

            ลักษณะเรือนมยุราเป็นเรือนไทยถิ่นใต้มีสองจั่ว หน้าจั่วไม่มีปั้นลม เนื่องจากสร้างมานานแล้วมีหลังคาบางส่วนชำรุด จึงได้บูรณะซ่อมแซมเมื่อ พ.ศ.2562  เนื่องจากผู้สร้างเรือนเป็นคนไทยเชื้อสายจีน  จึงมีกิจกรรมหลายอย่างที่มีแสดงออกถึงวัฒนธรรมแบบชาวจีน  เช่น การไหว้เจ้าช่วงตรุษจีน   การไหว้ศพบรรพบุรุษ (เช้งเม้ง)  เป็นเพราะบิดาของนายแง่ง แซ่ตัน คือ นายมุ่ยแซ่ตัน เป็นคนจีนที่อพยพมาจากประเทศจีน มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ดินแห่งนี้ได้สมรสกับนางลำ แซ่ตัน เมื่อถึงแก่กรรมก็มีการฝังศพของท่านทั้งสองไว้บนที่ดินส่วนที่อยู่หน้าบ้านลูกหลานได้ระลึกและสำนึกในบุญคุณของท่านตลอดมา จึงมีพิธีกรรมไหว้ศพในวันที่ 4 เมษายน ของทุกปี

            ในอดีตชุมชนบริเวณนี้มีการทำเครื่องปั้นดินเผาใช้กันเอง มีเตาทุเรียงสำหรับเผาเครื่องปั้นดินเผาอยู่บริเวณริมทะเลเยื้องกับที่ตั้งของเรือนมยุรา เครื่องปั้นดินเผาที่เป็นภาชนะสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันของเรือนมยุราส่วนหนึ่งก็มาจากเตาเผาบนเกาะยอนี่เอง  เช่น อ่างดินเผาขนาดใหญ่  อ่างดินเผาขนาดเล็ก โอ่งขนาดใหญ่  กลาง และเล็ก สวด (ลังถึง) สำหรับนึ่งอาหาร ฯลฯ

           นอกเหนือจากตัวเรือนที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นที่น่าสนใจแล้ว  ข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดงบนเรือนสะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนเกาะยออย่างน่าสนใจมีอยู่หลายชิ้น อาทิ ก้อต้าหรือ ภาชนะสำหรับใส่ยาสูบและอุปกรณ์การมวนยาสูบ ในสมัยโบราณจะทำด้วยไม้ มีฝาเปิดปิดได้มีลักษณะเป็นกล่องที่ทำเป็นช่องสำหรับใส่ยาเส้น (เส้นยาสบ) และใบจาก หรือ ใบตองเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกลม เพราะจะทำให้ยาเส้น ใบจาก หรือ ใบตองกรอบไม่สะดวกในการมวนยาสูบ ก้อตานี้เป็นสมบัติเดิมของนายเถ็กฉ้วนศรีสุวรรณ มีอายุประมาณ 50 ปี  เป็นภาชนะใส่ของ เช่น  ยาสูบ หรือของใช้เล็กๆ น้อยๆ  แกะสลักจากไม้ สามารถกันฝนกันเปียกได้ สำหรับนำติดตัวไปใช้ในเรือประมง

          เชี่ยนหมากเป็นภาชนะสำหรับใส่หมากพลูรับรองแขกของคนโบราณที่นิยมกินหมากกัน ในเชี่ยนหมากจะประกอบด้วย หมาก  ใบพลูเต้าปูน  กรรไกรหนีบหมาก กระบอกยน  ยาเส้น  ในสมัยก่อนเชี่ยนหมาก เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงฐานะของเจ้าของบ้านได้เพราะการทำเชี่ยนหมากจากวัสดุที่แตกแต่งกันไปตามฐานะ  ชาวบ้านทั่วไปมักจะทำเชี่ยนหมากด้วยไม้ธรรมดาหรืออาจหากล่องใบใหญ่ๆ มาทำเชี่ยนหมาก แต่ถ้ามีฐานะดีหรือมีหน้าที่การงานดีเชี่ยนหมากอาจจะทำด้วยเครื่องทองเหลือง เครื่องเงิน หรือไม้แกะสลักปัจจุบันเครื่องเชี่ยนหมากกลายเป็นของสะสมอีกอย่างหนึ่งที่นักสะสมของเก่าต้องการ   เชี่ยนหมากของเรือนมยุรา ทำจากไม้กลึงมีเต้าปูนเป็นเซรามิกสีเขียว เป็นสมบัติเดิมของ นางยกคุ่ย แซ่ตัน มีอายุประมาณ 100 ปี

          เนียงเกาะยอหรือโอ่งใบกลาง เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ทำมาจากดินเหนียวที่มีการยุบตัวลงขณะที่อยู่ในเตาเผา  เพราะต้องมีการซ้อนกันของภาชนะหลายๆ ใบ หรือจากความร้อนภายในเตาเผาทำให้ภาชนะใบนี้ยุบตัวลง จึงมีรูปร่างที่แปลกไปจากใบอื่นๆ ที่มีลักษณะสมบูรณ์ โอ่งขนาดกลางใบนี้เป็นสมบัติเดิมของนางยกคุ่ย แซ่ตัน อายุประมาณ 100 ปี

          อ่างดินเผาหรือ อ่างเกาะยอ ขนาดเล็ก  เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารหมักดองใส่มะพร้าวขูดเพื่อคั้นกะทิโดยการขยี้มะพร้าวกับผิวของอ่าง ทำให้มะพร้าวนิ่มบีบน้ำกระทะออกได้มากและง่าย

          หมอน้อย หรือหมอนนมไม้  เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการนวดทำจากไม้เนื้อแข็ง ใช้นวดเพื่อการไหลเวียนของโลหิต ใช้กดจุดบนจุดต่างๆ บนลำตัวต้นคอ และแผ่นหลังที่มีอาการปวดเมื่อย หมอน้อยอันนี้เป็นสมบัติเดิมของนางจิ้วศรีสุวรรณ อายุประมาณ 70 ปี

          นอกจากนี้ยังมีภาพถ่ายเก่าของครอบครัวที่เห็นบรรยากาศของเกาะยอในอดีต และบางภาพสะท้อนวิถีชีวิตของคนเกาะยอ และแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของสงขลาเมื่อครั้งอดีต

ข้อมูลจาก:

รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำข้อมูลพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ สนับสนุนโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) 2564.

 

ชื่อผู้แต่ง:
ประเสริฐ รักษ์วงศ์