พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอำเภอรัตภูมิ


พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอำเภอรัตภูมิ ใช้อาคารที่ว่าการอำเภอรัตภูมิหลังเก่าเป็นสถานที่จัดแสดง พิพิธภัณฑ์ริเริ่มจากสภาวัฒนธรรมอำเภอรัตภูมิและชมรมฯ ที่เห็นคุณค่าของสถาปัตยกรรมอาคารที่ว่าการอำเภอรัตภูมิหลังเก่า ซึ่งเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ เคยเป็นศูนย์บริหารราชการของอำเภอรัตภูมิมาอย่างยาวนาน ครั้งเวลาผ่านมาหลายสิบปี ที่ว่าการอำเภอหลังดังกล่าวทรุดโทรมลง นายอำเภอขณะนั้นเห็นว่าควรแทงจำหน่ายและรื้อถอน แต่หลังจากหารือกันหลายฝ่ายแล้ว อำเภอจึงมีมติให้คงสภาพเดิมไว้ พร้อมทั้งบูรณะให้ดีขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความประทับใจ ในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ได้ให้โอกาสมาประทับ ณ สถานที่แห่งนั้น เมื่อครั้งเสด็จประพาส ภาคใต้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2502 มีหลักฐานเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ ประทับยืนที่หน้ามุขของที่ว่าการอำเภอสมัยนั้นว่า “ที่ว่าการอำเภอรัตตภูมิ” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของอำเภอรัตภูมิ การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์นอกจากจะเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 เป็นหลักแล้ว ยังมีวัตถุวัฒนธรรมที่ได้รับบริจาคจากคนในท้องถิ่นและแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนรัตภูมิ อาทิ หวูดให้สัญญาณเสียงของพ่อค้าขายหมูในอำเภอ กล้องถ่ายภาพขาวดำจากร้านถ่ายภาพแห่งเดียวในอำเภอ ตะเกียงเจ้าพายุ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือดักจับสัตว์น้ำ

ที่อยู่:
ที่ว่าการอำเภอรัตภูมิหลังเก่า หมู่ 1 ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา 90180
โทรศัพท์:
0892981499 ติดต่อนายชัย เหล่าสิงห์
วันและเวลาทำการ:
วันและเวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ของเด่น:
หวูดให้สัญญาณเสียงของพ่อค้าขายหมูในอำเภอ, กล้องถ่ายภาพขาวดำจากร้านถ่ายภาพแห่งเดียวในอำเภอ, ตะเกียงเจ้าพายุ, ไหสี่หู
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

แผนผังพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอำเภอรัตภูมิ...

โดย: ศมส.

วันที่: 03 มีนาคม 2565

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอำเภอรัตภูมิ

          อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกสุดของจังหวัดสงขลา ติดต่อกับอำเภอควนโดน จังหวัดสตูล มีเทือกเขานครศรีธรรมราชอยู่ทางทิศตะวันตก  ส่วนทางตะวันออกที่เป็นที่ราบซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ทำการเกษตร อำเภอรัตภูมิ เดิมเป็นกิ่งอำเภออยู่ในเขตการปกครองของอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ที่บ้านปากบางภูมี ซึ่งเป็นปากน้ำของคลองรัตภูมิ ริมทะเลสาบสงขลา ซึ่งขณะนี้อยู่ในพื้นที่ของ ตำบลรัตภูมิ อำเภอควนเนียง และได้ยกฐานะ ขึ้นเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2435 เรียกชื่อ "อำเภอรัฐภูมิ"

          ในเวลาต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้ง ณ ตำบลกำแพงเพชร โดยเรียกชื่อว่า "อำเภอกำแพงเพชร"  อันเป็นสถานที่ที่ตั้งอำเภอในปัจจุบัน แต่เนื่องจากชื่อนี้พ้องกับชื่อจังหวัดกำแพงเพชร ทางราชการเกรงว่าจะสับสน เมื่อ พ.ศ. 2480 จึงเปลี่ยนเป็นชื่อใหม่ว่า "อำเภอรัตตภูมิ"  คำว่ารัตตภูมิไม่มีคำแปล มีการตรวจสอบแล้วจึงเปลี่ยนใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่อพ.ศ. 2504 ว่า "อำเภอรัตภูมิ" ซึ่งแปลว่า "พื้นที่ดินแดง" อันตรงกับลักษณะภูมิประเทศของอำเภอรัตภูมิที่ส่วนมากจะเป็นดินสีแดงละเอียด และมีแร่ธาตุอาหารสำหรับเป็นอาหารของพืชอยู่มากไม่ได้หมายถึงดินลูกรังแต่อย่างใด

          ที่ว่าการอำเภอรัตภูมิ เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความทรงจำร่วมของคนอำเภอรัตภูมิ  จากภาพประวัติศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินีนาถเสด็จมาที่อำเภอรัตภูมิ ฉายภาพขณะประทับยืนที่หน้ามุขของที่ว่าการอำเภอสมัยนั้นว่า “ที่ว่าการอำเภอรัตตภูมิ” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของอำเภอรัตภูมิ เมื่อครั้งเสด็จประพาสภาคใต้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2502   เมื่อที่ว่าการอำเภอหลังเก่านี้นั้นทรุดโทรมลง ทางการเห็นว่าควรรื้อถอน   แต่คนในชุมชนภายใต้การนำของประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอรัตภูมิ และสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอำเภอรัตภูมิ  มีความเห็นร่วมกันว่าอาคารที่ว่าการอำเภอรัตภูมิหลังเก่าเคยเป็นศูนย์บริหารราชการของอำเภอรัตภูมิมาอย่างยาวนาน  และหลังจากหารือกันหลายฝ่ายแล้ว  จึงมีมติให้บูรณะอาคาร และจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอำเภอรัตภูมิ เพื่ออนุสรณ์สถานแห่งความประทับใจ ในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ได้ให้โอกาสมาประทับ ณ สถานที่แห่งนี้  โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2547

          ภายในพิพิธภัณฑ์นำเสนอพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และเหตุการณ์เมื่อครั้งเสด็จประเพาสภาคใต้เป็นครั้งแรก โดยดาวเด่นคือพระบรมฉายาลักษณ์พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ที่หน้ามุข ที่ว่าการอำเภอรัตตภูมิหลังหลังเก่า  ในครั้งนั้นทรงเสด็จเข้าในเขตจังหวัดสงขลา บริเวณพื้นที่แรกที่ทรงประทับพระบาท คือหมู่ที่ 2 ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ  ในครั้งนั้น บรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดสงขลา และพสกนิกรจำนวนมากต่างตั้งแถวรับเสด็จ ณ ซุ้มรับเสด็จซึ่งทำด้วยไม้และประดับประดาด้วยงานฝีมือของคนในท้องถิ่นอย่างสวยงาม หลังจากนั้นพระองค์เสด็จเข้าสู่ที่ว่าการอำเภอรัตภูมิ  ทั้งสองพระองค์ได้ประทับเพื่อฉายพระรูปที่หน้ามุขของที่ว่าการอำเภอรัตภูมิ ภาพพระบรมฉายาลักษณ์คราวนั้นได้ถูกบันทึก และนำมาแพร่หลายให้กับผู้คนที่สนใจในอำเภอรัตภูมิเป็นจำนวนมาก จนเรียกว่ากลายเป็นภาพที่เกือบจะมีกันทุกบ้านในอำเภอ  

          นอกจากนิทรรศการเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แล้ว ภายในจัดแสดงวัตถุทางวัฒนธรรม และเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตในอดีตของผู้คนในอำเภอรัตภูมิ  ชิ้นที่โดดเด่นคือ “หวูด” หรือในภาษาถิ่นเรียกว่า “ตูด” ทำมาจากเขาควาย  เดิมเป็นของนายง่วนกี่ แซ่แต้ หรือที่คนรัตภูมิ เรียกท่านว่า “แป๊ะซุ่นฮะ”  เป็นคนจีนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่  แป๊ะซุ่นฮะเล่าว่ามาตั้งหลักปักฐานที่จังหวัดชุมพร ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และรับจ้างทั่วไป และได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวชุมพร หลังจากที่ภรรยาเสียชีวิต ท่านและบุตรสาวได้ย้ายจากชุมพรมาลงหลักปักฐานที่อำเภอรัตภูมิ และมาพบรักใหม่กับแม่ม่ายชาวพรุพ้อ ชื่อ ฉิ้ม และอยู่กินกันจนมีบุตรชายทั้งหมด 5 คน  ท่านได้ประกอบอาชีพขายหมู มีรถจักรยานสามล้อเป็นพาหนะ 1 คัน ทุกวันท่านจะต้องออกหาซื้อหมูจากชาวบ้าน แล้วนำมาฆ่าชำแหละ ขายตามตลาดนัดใกล้บ้าน ถ้าขายในตลาดนัดไม่หมด ท่านก็จะปั่นจักรยานสามล้อ ออกขายในหมู่บ้าน โดยปั่นไป เป่าหวูดหรือตูดเขาควายส่งเสียงไปแต่ไกล ชาวบ้านได้ยินเสียงก็เตรียมเงินทองไปดักหน้าซื้อ  การเป่าหวูด ต้องอาศัยความชำนาญพิเศษ คนทั่วไป เป่าไม่ค่อยดัง หวูด ไม่ได้เป็นเครื่องดนตรี เพราะมีเพียง เสียงเดียว แต่เป็นอุปกรณ์ส่งสัญญาณ

          วัตถุที่น่าสนใจชิ้นต่อมาคือ กล้องถ่ายภาพขาวดำ เป็นของนายดิเรก ทองคำ  เจ้าของห้องภาพ “สุวรรณภูมิ”  ร้านถ่ายภาพเพียงแห่งเดียวในอำเภอรัตภูมิ  เดิมเป็นคนสนใจการถ่ายภาพด้วยกล้องสะพายมาก่อน  ได้รับจ้างถ่ายภาพกิจกรรมงานต่างๆ มากมาย   ในอำเภอรัตภูมิมีเพียงเจ้าเดียว ตอนหลังจึงตั้งห้องภาพรับจ้างถ่ายภาพด้วยฟีล์มขาวดำทุกขนาด  โดยในห้องภาพจะมีกล้องถ่ายภาพชุดใหญ่ คือชุดที่ได้บริจาคให้แก่พิพิธภัณฑ์รัตภูมิ  ปัจจุบันห้องภาพนี้ปิดตัวไปแล้ว

          คอลเล็กชั่นตะเกียงที่ได้รับบริจาคมา มีตะเกียงหลายแบบที่ชาวบ้านเคยใช้งาน โดยเฉพาะตะเกียงเจ้าพายุ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าตะเกียงกล้อง ซึ่งเป็นตะเกียงที่ให้แสงสว่างได้กว้างไกลกว่าตะเกียงชนิดอื่น ตะเกียงประเภทนี้นอกจากใช้ในบ้านเรือนแล้ว  ยังได้ถูกนำไปใช้ในโคมไฟตามถนนหนทางเมื่อครั้งที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงในภาคใต้เมื่อ 60 – 70 ปี ก่อนจะนิยมใช้กับการแสดงหนังตะลุง ดังคำกลอนหนังตะลุงโบราณที่ว่า “รีบเปิดลมเข้าสักหน่อยปล่อยน้ำมัน   พอลมดันเข็มแกว่งแจ้งนิทาน”

          นอกจากนี้ยังจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้อื่นๆ อาทิ  เครื่องปั้นดินเผา  เครื่องมือดักจับสัตว์น้ำ ที่ได้รับบริจาคจากคนในชุมชน

ข้อมูลจาก:

รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำข้อมูลพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ สนับสนุนโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) 2564.

https://district.cdd.go.th/rattaphum/

ชื่อผู้แต่ง:
ปณิตา สระวาสี