ชุมชนบ้านด่านเป็นชุมชนเก่าที่ตั้งอยู่ริมคลองหัวไทร เดิมเรียกว่า “บางด่าน” สันนิษฐานว่าวัดน่าจะสร้างในราวปี พ.ศ. 2437 วัดบ้านด่านเป็นวัดเก่าแก่ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ห่างจากชายทะเลประมาณ 4 กิโลเมตร เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันคือ พระครูสังฆรักษ์สมเกียรติ กิตฺติปัญโญ ท่านเป็นพระนักพัฒนา ภายในมีเสนาสนะเก่าแก่ที่ทางวัดอนุรักษ์ ได้แก่ หอไตรกลางน้ำ สร้างด้วยไม้หลังมุงด้วยกระเบื้องดินเผาทรงปั้นหยาและทรงจั่ว สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2470 สมัยพ่อท่านซ้วน อดีตเจ้าอาวาส กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติปี พ.ศ. 2562 ปัจจุบันอาคารหอไตรได้รับการบูรณะ และเจ้าอาวาสได้จัดทำเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์วัดบ้านด่าน โดยการจัดแสดงภายในอยู่ระหว่างการรวบรวมวัตถุสิ่งของ ยังไม่แล้วเสร็จ เรื่องราวและวัตถุสำคัญของวัดอาทิ ประวัติความเป็นมาของวัดและอดีตเจ้าอาวาสอันเป็นที่เคารพศรัทธาของคนในชุมชน ภาพถ่ายเก่าอดีตเจ้าอาวาสและภาพเก่าวัด คัมภีร์ใบลานเดิมที่อยู่ในหอไตร บาตรน้ำมนต์พระสมเด็จ เครื่องถ้วยกระเบื้องหลากหลายรูปแบบ ปิ่นโตทองเหลือง ถ้วยรางวัลการแข่งขันเรือเพรียว เป็นต้น ด้วยความที่วัดอยู่ติดริมน้ำ วัดบ้านด่านมีชื่อเสียงด้าน “เรือเพรียว” หรือเรือยาวสำหรับประเพณีแข่งเรือและใช้ในประเพณีลากพระในวัฒนธรรมภาคใต้ เรือเพรียววัดบ้านด่านมีสองคำ คือ เจ้าพายุหวน และเจ้าแม่แสงอุทัย หลังจากพ่อท่านซ้วนมรณภาพแล้วการแข่งขันเรือเพรียวได้หยุดไป ต่อมาในปีพ .ศ. 2553 เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันได้ฟื้นฟูการแข่งขันเรือเพรียวขึ้นมาอีกครั้ง และใช้ศาลาเอนกประสงค์เป็นที่เก็บเรือเพรียว ทำเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับเรือเพรียวลุ่มน้ำปากพนังอีกด้วย
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พิพิธภัณฑ์วัดบ้านด่าน
ชุมชนบ้านด่านเป็นชุมชนเก่าที่ตั้งอยู่ริมคลองหัวไทร เดิมเรียกว่า “บางด่าน” ท่านอุปัชฌาย์ซ้วน องฆรตโน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “พ่อท่านซ้วน” อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านด่าน เคยเล่าไว้ว่า “วัดบ้านด่านเป็นวัดพวกเสนาของพระเจ้าศรีธรรมโศก ท่านพระยาได้ส่งขุนนางมาตั้งด่านเก็บภาษีเรือสำเภา ตลอดถึงบ้านบางพูด บ้านสระนอก พวกขุนนางเข้ามาทำหน้าที่รังวัด และเก็บภาษีด่านที่ย่านสามหลักนั้น พวกพ่อค้าที่มาจากเมืองแขกได้แวะจอดทอดสมอเรียงรายอยู่ในย่านนี้ทั้งสองฝั่งคลองรวมแล้วเกือบ 10 วัด แต่เมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ทางบ้านเมืองมีการจัดระบบใหม่ ฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราชเสื่อมอำนาจลง พวกเมืองแขกทางใต้ไม่ค่อยไปมาหาสู่เหมือนแต่ก่อน เพราะตกไปเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ชุมชนวัดบ้านด่านจึงหมดหน้าที่ความเป็นด่าน เหลือร่องรอยคือวัดและชุมชน” สันนิษฐานจากรายนามชื่อเจ้าอาวาสองค์แรกคือพระตาปอด (พ.ศ. 2437-2440) คาดว่าวัดน่าจะสร้างในราวปี พ.ศ. 2437 หรือก่อนหน้านั้น
วัดบ้านด่านเป็นวัดเก่าแก่ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ห่างจากชายทะเลประมาณ 4 กิโลเมตร เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันคือ พระครูสังฆรักษ์สมเกียรติ กิตฺติปัญโญ ท่านเป็นพระนักพัฒนา ภายในมีเสนาสนะเก่าแก่ที่ทางวัดอนุรักษ์ ได้แก่ หอไตรกลางน้ำ สร้างด้วยไม้ หลังมุงด้วยกระเบื้องดินเผาทรงปั้นหยาและทรงจั่ว ยอดจั่วประดับด้วยอกไก่และมีเสาสาระไนหรือเสากระโดงลักษณะคล้ายลักษณะเจดีย์ที่มีปล้องไฉนยาว เป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นผสมผสานอาคารเนื่องในพุทธศาสนา สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2470 สมัยพ่อท่านซ้วน กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติปี พ.ศ. 2562 ปัจจุบันอาคารหอไตรได้รับการบูรณะ และเจ้าอาวาสได้จัดทำเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์วัดบ้านด่าน นอกจากนี้ยังมีศาลาเอนกประสงค์รูปแบบสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นศาลาไม้ยกพื้นสูงเปิดโล่ง
พิพิธภัณฑ์วัดบ้านด่าน ริเริ่มโดยเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันคือ พระครูสังฆรักษ์สมเกียรติ กิตฺติปัญโญ โดยหลังจากร่วมกับกรมศิลปากรบูรณะหอไตรในปี พ.ศ. 2563 แล้วเสร็จ ท่านจึงตั้งใจใช้อาคารเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ จึงได้ปรับอาคารหอไตรกลางน้ำเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยการจัดแสดงภายในอยู่ระหว่างการรวบรวมวัตถุสิ่งของ ยังไม่แล้วเสร็จ
เรื่องราวและวัตถุสำคัญของวัดอาทิ ประวัติความเป็นมาของวัดและอดีตเจ้าอาวาสอันเป็นที่เคารพศรัทธาของคนในชุมชน ภาพถ่ายเก่าอดีตเจ้าอาวาสและภาพเก่าวัด คัมภีร์ใบลานเดิมที่อยู่ในหอไตร บาตรน้ำมนต์พระสมเด็จ เป็นบาตรน้ำมนต์โบราณของวัดแต่ดั้งเดิม รอบบาตรน้ำมนต์ประดับด้วยพระสมเด็จวัดระฆังเนื้อผง เครื่องถ้วยกระเบื้องหลากหลายรูปแบบ เช่น เครื่องลายคราม เครื่องเบญจรงค์ ส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ยังไม่ได้จัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ ปิ่นโตทองเหลือง ถ้วยรางวัลการแข่งขันเรือเพรียว เป็นต้น
ด้วยความที่วัดอยู่ติดริมน้ำ วัดบ้านด่านมีชื่อเสียงด้าน “เรือเพรียว” หรือเรือยาวสำหรับประเพณีแข่งเรือและใช้ในประเพณีลากพระในวัฒนธรรมภาคใต้ ผู้ริเริ่มการแข่ขันเรือเพรียวของวัดบ้านด่านคือพ่อท่านซ้วน เรือเพรียววัดบ้านด่านมีสองคำ คือ เจ้าพายุหวน และเจ้าแม่แสงอุทัย หลังจากพ่อท่านซ้วนมรณภาพแล้วการแข่งขันเรือเพรียวได้หยุดไป ต่อมาในปีพ .ศ. 2553 เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันได้ฟื้นฟูการแข่งขันเรือเพรียวขึ้นมาอีกครั้ง และใช้ศาลาเอนกประสงค์เป็นที่เก็บเรือเพรียว ทำเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับเรือเพรียวลุ่มน้ำปากพนังอีกด้วย
ที่มา :
ดำรงค์ หนูทอง.(2563). “ศูนย์เรียนรู้เรือเพียววัดบ้านด่าน”.สารนครศรีธรรมราช” 50(7), 23-28.
รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำข้อมูลพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ สนับสนุนโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) 2564.
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
หอไตร คัมภีร์ใบลาน
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ร.ร.ทุ่งสงวิทยา
จ. นครศรีธรรมราช
พิพิธภัณฑ์ชุมชนหัวไทร
จ. นครศรีธรรมราช
หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองคอน
จ. นครศรีธรรมราช