ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช


ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยใช้ชื่อว่า “ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช” ภายในอาคารศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มีนิทรรศการว่าด้วยประวัติศาสตร์และวิถีวัฒนธรรมของชาวเมืองนครศรีธรรมราชและภาคใต้ นำเสนอประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองนครศรีธรรมราช ที่สามารถย้อนอดีตไปไกลถึง 1,500 ปีที่แล้ว หลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญที่ศูนย์ฯ ได้อ้างถึงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมือง อาทิ ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 จัดแสดงหนังสือบุดที่สำคัญอันเป็นวรรณกรรมท้องถิ่น เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน ประเพณีสำคัญ มหรสพพื้นบ้านอาทิ โนรา หนังตะลุง การละเล่นพื้นบ้าน พื้นที่ด้านนอกอาคารจัดแสดง ยังจัดสร้างกลุ่มเรือนไทยที่เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคใต้ไว้ให้ได้ชมกันด้วย

ที่อยู่:
ต.ท่างิ้ว อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช 80000
โทรศัพท์:
0-7539-6089
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 8.00-16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2531
ของเด่น:
หนังสือบุด, เครื่องจักสาน, หนังตะลุง
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช  ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2531 โดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น  โดยใช้ชื่อว่า “ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้  วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช”   แต่เดิมนั้นสถานศึกษาแห่งนี้มีกำหนดมาจากโรงเรียนฝึกหัดครูที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2500  จากนั้นพัฒนาเป็นวิทยาลัยครู  สถาบันราชภัฏ และมหาวิทยาลัยราชภัฏในปัจจุบัน

ภายในอาคารศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช   นำเสนอประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองนครศรีธรรมราช ที่สามารถย้อนอดีตไปไกลถึง 1,500 ปีที่แล้ว อันเป็นที่ตั้งของนครรัฐที่มีความสำคัญในภูมิภาคในด้านการค้า การปกครอง ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม  โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามยุคสมัย อาทิ ตามพรลิงค์  ตั้งม่าหลิ่ง  เชี้ยะโท้ว  สิริธรรมนคร  ละคอน เป็นต้น

หลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญที่ศูนย์ฯ ได้อ้างถึงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมือง อาทิ ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นจารึกอุทิศบูชาพระศิวะ สันนิษฐานว่ากลุ่มชนผู้สร้างศิลาจารึกหุบเขาช่องคอยขึ้นนี้ จะต้องเป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาสันสกฤตนับถือศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวะนิกาย

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งค้นคว้าด้านภาษาและวรรณกรรมท้องถิ่น  จัดแสดง “หนังสือบุด” อันเป็นวรรณกรรมที่เป็นลายลักษณ์ของวัฒนธรรมภาคใต้   เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่สำคัญ  ลักษณะเป็นแผ่นกระดาษยาวหน้าแคบ แผ่นกระดาษทำจากต้นข่อย  ในภูมิภาคอาจเรียกชื่อต่างกัน เช่น สมุดข่อย  สมุดไทย เป็นต้น

นำเสนอมหรสพพื้นบ้านที่สำคัญ ได้แก่ โนรา อันเป็นมหรสพที่เน้นลีลาท่ารำ ประกอบบทร้อง ศิลปินต้องมีความสามารถในการร่ายรำ และการร้องเป็นอย่างดี ร่างกายทุกส่วนต้องอ่อนช้อยมีจังหวะตามท่วงทำนองของดนตรี   นอกจากนี้ยังจัดแสดงหนังตะลุง ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงที่สำคัญอีกแขนงหนึ่งของภาคใต้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังบอกเล่าผ่านภาพถ่ายเก่าวิถีชีวิตของผู้คนและประเพณีสำคัญ  อาทิ  ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ อันเป็นประเพณีสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของเมืองนครศรีธรรมราช  โดยผู้มีจิตศรัทธาพร้อมใจกันบริจาคเงินทอง เพื่อนำไปซื้อผ้ามาเย็บต่อกันเป็นผืนยาว  แล้วพากันแห่ไปพันรอบฐานองค์พระบรมธาตุเจดีย์  ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของพระพุทธเจ้าอันเป็นที่พึ่งทางจิตใจ เป็นประเพณีที่รวมเอาความศรัทธาของผู้คนเมืองนครและพื้นที่ใกล้เคียงไว้ด้วยกัน ทำสืบต่อกันมาหลายร้อยปี มักทำกันในช่วงวันสำคัญทางศาสนาได้แก่วันมาฆบูชาและวิสาขบูชา

จัดแสดงวัตถุทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ อาทิ กรือโต๊ะ เป็นการละเล่นชนิดหนึ่งของชาวไทยมุสลิม กรือโต๊ะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ตัวกรือโต๊ะ เด๊าว์หรือใบ และไม้ตีตัวกรือโต๊ะ   ตัวกรือโต๊ะทำจากไม้เนื้อแข็งที่เรียกว่า "ไม้ตาแป" จะเอาไม้ตาแปมาตากแดดให้แห้งสนิทแล้วนำมาตัดให้ได้ขนาดแล้วใช้สิวขุดให้เป็นหลุม ลักษณะของหลุมที่นิยมคือ หลุมปากแคบ และป่องตรงกลาง ภายนอกจะตกแต่งหรือกลึงอย่างสวยงามมีการทาสี สีที่นิยมทากันคือ สีฟ้า สีขาว สีเหลือง หรือทาน้ำมันชักเงาให้สวยงาม  เด๊าว์ หรือ เรียกว่า ใบ หรือลิ้นเสียง จะทำจากไม้ตาแปที่แห้งสนิทดีเช่นเดียวกับกรือโต๊ะ กรือโต๊ะใบหนึ่งๆ มีเด๊าว์ 3 อัน คือทำเป็นเสียงต่ำ เสียงกลาง และเสียงสูง อย่างละอัน ขนาดของเด๊าว์ยาวประมาณ 2 - 3 ฟุต กว้างประมาณ 6 - 8 นิ้ว ส่วนความยาวตามความชำนาญของผู้ใช้เล่น  ส่วนไม้ตี ทำจากไม้เนื้อแข็ง ขนาดของไม้พอจับถือได้ถนัด ยาวประมาณ 1 ฟุต ปลายด้ามที่ใช้ตี จะพันด้วยเส้นยางพาราเป็นหัวกลมขนาดโตกว่ากำปั้นเล็กน้อย   วิธีการเล่นกรือโต๊ะ จะมีการตีกรือโต๊ะแข่งขันกันว่ากรือโต๊ะของใครจะมีเสียงดังกว่ากัน และมีเสียงที่นิ่มนวลกลมกลืนกันและมีความพร้อมเพรียงกันในการตีกรือโต๊ะ

เครื่องจักสานท้องถิ่น อาทิ  ครุ หรือที่ภาษาถิ่นเรียกว่า  โตร๊ะ”  เป็น ภาชนะจักสาน มีหูหิ้ว สำหรับใส่ไม้คานหาม ทำจากไม้ไผ่สาน  ชาวบ้านนิยมใส่ผลไม้ขนย้ายจากภูเขาหรือที่สูง  ใช้มากที่อำเภอลานสกา นครศรีธรรมราช

กระเชอใหญ่ หรือชาวบ้านเรียกเชอใหญ่  เป็นเครื่องจักสานที่ทำด้วยไม้ไผ่ สำหรับใส่ข้าวเปลีอก  มีขนาดใหญ่มาก เมื่อใส่ข้าวเปลือกแล้ว ต้องใช้ผู้แบกหาม 2-3 คน

พื้นที่ด้านนอกอาคารจัดแสดง ยังจัดสร้างกลุ่มเรือนไทยที่เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคใต้ไว้ให้ได้ชมกันด้วย

ข้อมูลจาก:

รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำข้อมูลพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ สนับสนุนโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) 2564.

https://www.nstru.ac.th/th

https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/58

ชื่อผู้แต่ง:
ปณิตา สระวาสี