หอนิทรรศน์สานอารยธรรมจังหวัดปัตตานี (พิพิธภัณฑ์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว)


หอนิทรรศน์สานอารยธรรมจังหวัดปัตตานี หรือพิพิธภัณฑ์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ก่อตั้งโดยศาลเจ้าเล่งจูเกียง ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิเทพปูชนียสถาน โดยได้รับทุนสนับสนุนการก่อสร้างและจัดแสดงโดยกระทรวงวัฒนธรรม ศาลเจ้าเล่งจูเกียงหรือที่เรียกกันว่าศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นสถานที่สำคัญของจังหวัดปัตตานี และมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเกี่ยวกับองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของคนไทยเชื้อสายจีนในปัตตานี และชาวจีนในประเทศเพื่อนบ้าน เล่าสืบกันมาว่าเป็นศาลเจ้าแห่งความศรัทธาและศักดิ์สิทธิ สร้างในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อ ปี พ.ศ.2407 หลวงสำเร็จกิจกรจางวาง (ตันจงซิ่น) ได้ทำการบูรณะและจัดงานสมโภชเป็นประเพณีขึ้น ต่อมา พระจีนคณานุรักษ์ (ตันจูล่าย) ได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จากบ้านกรือเซะ มาประดิษฐาน และเรียกชื่อศาลเจ้าใหม่ว่า ศาลเจ้าเล่งจูเกียง หรือ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว การจัดทำพิพิธภัณฑ์เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2556 เมื่อนายประยูรเดช คณานุรักษ์ ประธานมูลนิธิเทพปูชนียสถาน จัดทำโครงการก่อตั้งและได้รับงบประมาณสนันสนุนจาก กระทรวงวัฒนธรรม ทำให้เป็นแหล่งศึกษาทางประวัติศาสตร์ของจังหวัด เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนจีนเมืองปัตตานี ทั้งศิลปะภาพถ่าย ความรู้ทางวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และองค์พระต่าง ๆ ประเพณีวัฒนธรรมของจีน รวมทั้งความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต อัตลักษณ์ของชุมชนในจังหวัดปัตตานี เพื่อก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในรากเหง้าอัตลักษณ์ของคนในท้องถิ่น และหวังจะช่วยบรรเทาปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ด้วยมิติทางวัฒนธรรม

ชื่อเรียกอื่น:
พิพิธภัณฑ์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
ที่อยู่:
ศาลเจ้าเล่งจูเกียง เลขที่ 63 ถนนอาเนาะรู ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000
โทรศัพท์:
073-332851, 073- 333316
โทรสาร:
073- 311860
วันและเวลาทำการ:
ทุกวัน 9.00 - 16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
อีเมล:
thephpuchaneeyasthan.foundation@gmail.com, Limkoneaw.pattani@hotmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2557
ไม่มีข้อมูล

ผังจัดแสดง

โดย: ศมส.

วันที่: 04 กรกฎาคม 2565

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

          จังหวัดปัตตานี เป็นศูนย์รวมของประชากรหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา สืบเนื่องมาจากความเจริญรุ่งเรืองทางการปกครองและการค้าในอดีต จึงมีการรับเอาอารยธรรมจากชนชาติต่างๆ มาผสมผสานจนกลายเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น โดยปรากฏร่องรอยตามแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ  ศิลปวัฒนธรรม การแสดง การแต่งกาย อาหาร และวิถีชีวิตชุมชนที่งดงาม  ทุกคนสามารถเลือกที่จะนับถือศาสนาได้อย่างเสรีภาพ ชาวปัตตานีที่นับถือศาสนาพุทธหรือชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัด สามารถอยู่ร่วมกับชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างปกติสุข โดยมีศาสนาสถานซึ่งเป็นดั่งศูนย์รวมความเชื่อ ความศรัทธา

          “เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว”  เป็นเทพเจ้าจีนเพียงองค์เดียวที่มีตำนานเกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานี และในประเทศไทย เป็นศูนย์รวมจิตใจและมีความผูกพันความเคารพ ศรัทธา กับวิธีชีวิตของประชาชนในจังหวัดปัตตานี และจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างมาก เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภและค้าขาย

          ศาลเจ้าเล่งจูเกียง หรือศาลเจ้าแห่งความศรัทธาและศักดิ์สิทธิ สร้างในสมัยราชวงศ์เหม็ง  ศักราชบ้วนเละ ปีที่ 2 ตรงกับ พ.ศ.2117 สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา  เดิมเรียกว่า  ศาลเจ้า ซูก๋ง เป็นศาลเจ้าประจำชุมชนชาวจีน มีองค์พระหมอ หรือโจ๊วซูกง มาเป็นเทพประธานประจำศาลเจ้า ถือเป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย  เมื่อ ปี พ.ศ.2407 หลวงสำเร็จกิจกรจางวาง (ตันจงซิ่น) ได้ทำการบูรณะและจัดงานสมโภชเป็นประเพณีขึ้น ต่อมา พระจีนคณานุรักษ์ (ตันจูล่าย)  ได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว  จากบ้านกรือเซะ มาประดิษฐาน และเรียกชื่อศาลเจ้าใหม่ว่า ศาลเจ้าเล่งจูเกียง หรือ ศาลเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยว  

          ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงยิ่งจากพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ที่เสด็จมาศาลเจ้านี้ ถึง 4 พระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์เกือบทุกพระองค์ ได้เสด็จและพระราชทานกระถางธูป กล่าว คือ

1)      พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)  เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2443 (ร.ศ.119)

2)      พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)พ.ศ.2454 (ร.ศ.129)

3)      สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาในรัชกาลที่ 6 วันที่ 5 ตุลาคม 2517

4)      พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ วันที่ 8 กันยายน 2519

5)      สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ วันที่ 26 มกราคม 2523

6)      สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  วันที่ 26 กันยายน 2538

7)      พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ์ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10)  วันที่ 4 ตุลาคม 2546

8)      ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประทานกระถางธูป วันที่ 20 กุมภาพันธ์  2556

           ในปี พ.ศ. 2556 นายประยูรเดช คณานุรักษ์ ประธานมูลนิธิเทพปูชนียสถาน (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) จัดทำโครงการ และในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2557  ได้รับงบประมาณสนันสนุนจาก กระทรวงวัฒนธรรม โดย ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 17.35 ล้านบาท และมอบหมายให้ลำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานีกำกับติดตาม ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 1 ปี

            ทำให้เป็นแหล่งศึกษาทางประวัติศาสตร์ของจังหวัด เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน นักวิชาการ และนักทองเที่ยวชาวไทย และต่างประเทศ ได้เข้ามาเรียนรู้เนื้อหาทางประวัติศาสตร์ชุมชนจีนเมืองปัตตานี ทั้งศิลปะภาพถ่าย ความรู้ทางวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และองค์พระต่าง ๆ ประเพณีวัฒนธรรมของจีน  รวมทั้งความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต อัตลักษณ์ของชุมชนในจังหวัดปัตตานีให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และเกิดความภาคภูมิใจ และสามารถแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ด้วยมิติทางวัฒนธรรมด้วย 

          การจัดแสดงแบ่งเป็น 4 ส่วนได้แก่

1. ส่วนจัดแสดงประวัติปัตตานี และชุมชนจีน (จุดเปลี่ยนแห่งยุคสมัย)

          จัดแสดงผังพื้นที่อาคารบริเวณทั้ง 2 อาคาร อธิบายเส้นทางเดินชมและตำแหน่งห้องการจัดแสดงต่างๆ  โดยนำเสนอไว้ในตำแหน่งด้านซ้ายมือบริเวณทางเข้า  การออกแบบตกแต่งบริเวณส่วนจัดแสดงผังบริเวณ ต้องการให้ผู้เยี่ยมชมทราบแผนผังที่ตั้งจุดต่างๆ ในอาคารเป็นเบื้องต้น เพื่อผู้เยี่ยมชมได้ปรับสภาพความรู้สึกและร่างกายให้มีความพร้อมแล้ว จะเริ่มเรียนรู้ข้อมูลทางวิชาการประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว อย่างเป็นทางการ

2. ส่วนจัดแสดงเรื่องราวประวัติของลิ้มโต๊ะเคี่ยม

          ลักษณะการจัดแสดง เป็นโมเดลจำลองบ้านเมืองชุมชนของจีน จำลองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ชุมชนจีนต่างๆในอดีต จำลองการเดินทางของลิ้มโต๊ะเคี่ยมสู่ดินแดนเมืองปัตตานี สามารถสัมผัสด้วยการอ่านประวัติและการชมเนื้อหาเรื่องราวจากเมืองจำลองได้ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ดูดซับเสียงลดการสะท้อนเสียง และใช้โทนสีค่อนข้างมืดทึบเพื่อช่วยให้การมองเห็นภาพจากจอนำเสนอ  ใช้สำหรับแสดงภาพและเสียงการบรรยายเรื่องประวัติศาลเจ้าเล่งจูเกียง ประวัติองค์พระในศาลเจ้า และการจัดงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ฯลฯ 

3. ส่วนจัดแสดงห้องคนรักปัตตานี เป็นห้องโถงใหญ่ มีจอ LCD 5 จอ

จอที่ 1   ภาพ Animationชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนจีนในอดีต

จอที่ 2   ภาพนิ่ง การจัดงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

จอที่ 3   วีดีโอการจัดงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

จอที่ 4   ภาพบุคคลสำคัญ และคนมีชื่อเสียงในประเทศไทยที่มาเยี่ยมศาลเจ้าเล่งจูเกียง

จอที่ 5   ภาพ Animationชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนจีนในอดีต

4. ส่วนจัดแสดงห้องรำลึกมหาราชา (We love the Kings Thailand)

          จัดแสดงเนื้อหารูปภาพการเสด็จศาลเจ้าเล่งจูเกียง   ของในหลวงรัชกาลที่ 9  จัดแสดงสไลด์     พระกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงประกอบพระกรณียกิจในด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ชาวปัตตานีตลอดพระชนมายุของพระองค์ และจัดแสดงของใช้ของมงคล  ซึ่งเป็นของเก่าที่ใช้ประกอบพิธีทางศาสนกิจ มีอายุประมาณ 100 ปี


ข้อมูลจาก:  รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำข้อมูลพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ สนับสนุนโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) 2564.

ชื่อผู้แต่ง:
ประเสริฐ รักษ์วงศ์