ภัณฑารักษ์ควรได้รับการอ้างอิงในผลงานวิจัย?

เราคงเคยได้ยินชาวบ้านหรือคนให้ข้อมูลบ่นว่า นักวิจัยมักมาถามๆ มาเก็บข้อมูล มาเอาข้อมูลจากคนในชุมขน แล้วก็หายไปเลย ชาวบ้านไม่ได้อะไร กระทั่งผลงานวิจัยชุมชนก็ไม่เคยเห็นหรือได้อ่าน พูดง่ายๆว่า นักวิจัยมักมาตักตวงข้อมูลแต่ไม่ส่งคืนความรู้กลับสู่ต้นทางหรือชุมชน

ในแวดวงพิพิธภัณฑ์ก็เกิดข้อชวนคิดทำนองเดียวกันนี้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์ Museums+Heritage Advisor ของอังกฤษ ได้โพสต์ประเด็นที่น่าสนใจว่า จริงๆ แล้ว ภัณฑารักษ์ควรได้รับการอ้างอิงในผลงานวิจัยหรือไม่  ผู้เขียนคือ Jan Freedman ภัณฑารักษ์ด้านธรรมชาติวิทยาของพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์แห่งเมืองพลีมัธ (Natural History atPlymouth City Museum and Art Gallery) เหตุที่ภัณฑารักษ์ด้านประวัติศาสตร์ธรรมชาติที่อังกฤษลุกขึ้นมารณรงค์ในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในสหราชอาณาจักรถูกตัดงบสนับสนุนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา การพยายามให้ทั้งระดับนโยบาย องค์กร และสังคมได้เห็นคุณค่าและสำคัญของคอลเล็กชั่นและภาระงานของภัณฑารักษ์จึงเป็นสิ่งจำเป็น

Freedman อ้างบทความวิชาการในวารสารTaxonวารสารของสมาคมระหว่างประเทศว่าด้วยอนุกรมวิธานพืช  (the International Association for Plant Taxonomy) ชื่อเรื่อง “The time has come for Natural History Collections to claim co-authorship of research articles”  หรือแปลได้ประมาณว่า “ถึงเวลาแล้วที่คอลเล็กชั่นทางประวัติศาสตร์ธรรมชาติจะได้รับการอ้างถึงการมีส่วนร่วมในงานวิจัย”



ภาพจาก http://advisor.museumsandheritage.com/

Freedmanเรียกร้องว่าภัณฑารักษ์ควรได้รับการอ้างชื่อว่าเป็นผู้แต่งร่วม ในสิ่งพิมพ์ที่ได้ข้อมูลมาจากการศึกษาในคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์ เขาย้ำว่าประเด็นนี้สำคัญเพราะคอลเล็กชั่นด้านประวัติศาสตร์ธรรมชาติที่มีอยู่ แสดงถึงความแตกต่างหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเป็นล้านสายพันธุ์ ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างน่าทึ่งแล้ว ยังให้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์อีกด้วย เรียกได้ว่าคอลเล็กชั่นทางธรรมชาติวิทยาในพิพิธภัณฑ์ คือห้องสมุดแห่งชีวิตเพียงหนึ่งเดียวบนโลกใบนี้ ข้อมูลต่างๆ ของตัวอย่าง (specimen) ตั้งแต่สถานที่และวันที่ ไปจนถึงข้อมูลพันธุศาสตร์ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จึงถือเป็นแหล่งข้อมูลชั้นเลิศของนักวิทยาศาสตร์

พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกมีนักวิจัยหลายพันคนที่เข้ามาศึกษาคอลเล็กชั่นในพิพิธภัณฑ์ตลอดเวลา ผลงานวิจัยเหล่านี้บ่อยครั้งที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการด้านวิทยาศาสตร์  หรือพูดได้ว่าเป็นความจริงที่ว่าคอลเล็กชั่นในพิพิธภัณฑ์ถูกใช้เพื่อทำวิจัยอย่างมหาศาล แต่พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักในเกี่ยวกับการเข้ามาหาข้อมูลทำวิจัย กระทั่งภัณฑารักษ์เองก็ไม่ได้ตระหนักเกี่ยวกับสิ่งตีพิมพ์ดังกล่าว ว่าพิพิธภัณฑ์ควรได้รับสำเนาของบทความหรืองานวิจัยที่มาใช้ตัวอย่าง(specimen) ของพิพิธภัณฑ์ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับ  พิพิธภัณฑ์ควรได้รับอ้างอิงในสิ่งตีพิมพ์ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้ทำ หมายเลขรหัสของตัวอย่าง(specimen) ที่งานวิจัยนำไปใช้ควรได้รับการอ้างอิงซึ่งมีน้อยมากที่ทำ

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ สาธารณชนทั่วไปหรือในระดับนโยบายอาจไม่เข้าใจหรือเห็นคุณค่าของคอลเล็กชั่นอย่างที่ควรจะเป็น พิพิธภัณฑ์จึงเสนอวิธีการหากนักวิจัยใช้ข้อมูลจากคอลเล็กชั่นในการเขียนงานวิจัย โดยสิ่งที่ต้องทำมีอย่างน้อย 3 ประการ คือ

-           การใช้ตัวอย่าง(specimen) ใดในงานวิจัยต้องอ้างอิงเต็มรูปแบบถึงหมายเลขรหัสของตัวอย่างนั้น
-           พิพิธภัณฑ์ได้ถูกเป็นที่รับรู้ในกิตติกรรมประกาศ
-           พิพิธภัณฑ์ได้รับสำเนาสิ่งตีพิมพ์นั้น

บทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Taxonเสนอว่าภัณฑารักษ์ควรได้รับการลงชื่อว่าเป็นผู้เขียนร่วมในสิ่งพิมพ์ที่ใช้คอลเล็กชั่นของพวกเขาในงานวิจัยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะว่าถ้าพวกเขามีส่วนร่วมอย่างสำคัญในงานวิจัยนั้น  ซึ่งควรพิจารณาเป็นกรณีๆไป ขึ้นกับว่าภัณฑารักษ์มีส่วนสำคัญในงานวิจัยแค่ไหน เช่น การเก็บรวบรวมข้อมูลที่สัมพันธ์โดยตรงกับงานวิจัยนั้น หรือให้ข้อมูลจากแฟ้มข้อมูลที่มี

ถือได้ว่าภัณฑารักษ์มีส่วนร่วมกับงานวิจัย โดยพวกเขามักต้องสละเวลาอย่างมากเพื่อให้ข้อมูลกับนักวิจัย ตั้งแต่การบอกสถานที่เก็บตัวอย่าง การเตรียมพื้นที่สำหรับนักวิจัย การกำกับดูแลและอบรมให้นักวิจัยทำงานกับตัวอย่างอย่างถูกวิธีและปลอดภัย รวมไปถึงการศึกษาวิจัยการบันทึกข้อมูลและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวอย่าง หรือพูดอีกอย่างว่าหากปราศจากความช่วยเหลือของภัณฑารักษ์ การวิจัยก็คงไม่สามารถทำได้

ประโยชน์ต่อภัณฑารักษ์โดยตรงนอกจากเพิ่มพูนความรู้ของพวกเขาเกี่ยวกับการวิจัยในคอลเล็กชั่นของพวกเขา แล้ว โบนัสชิ้นโตคืองานวิจัยถูกเป็นที่รับรู้มากขึ้น  การเป็นผู้เขียนร่วมหมายความว่าภัณฑารักษ์ได้รับสำเนาวิจัยโดยอัตโนมัติ  ภัณฑารักษ์สามารถมั่นใจว่ารายละเอียดสำคัญถูกระบุไว้อย่างถูกต้องในงานวิจัย (เช่น หมายเลขรหัสตัวอย่าง) และการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับงานวิจัยจะอ้างถึงผู้เขียนทุกคน(และที่ทำงาน) โบนัสที่ได้ต่อมาคือการเพิ่มความตระหนักรู้ในความสำคัญของคอลเล็กชั่นต่อเพื่อนร่วมงาน ผู้จัดการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร

บทความนี้ย้ำว่า งานนี้ไม่ได้หมายความว่าภัณฑารักษ์ควรได้รับการใส่ชื่อเป็นผู้เขียนร่วมในทุกผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ แต่หากงานวิจัยใช้ข้อมูลหรือองค์ความรู้จากภัณฑารักษ์ในงานวิจัย มันควรเป็นทางเลือก สิ่งสำคัญ(โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ในสหราชอาณาจักร) งานที่ภัณฑารักษ์เป็นผู้เขียนร่วมยังไม่เคยถูกพิจารณา นักวิจัยควรถูกกระตุ้นเรื่องนี้และช่วยสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือสำหรับพิพิธภัณฑ์ที่พวกเขาใช้ข้อมูลหรือใช้ประโยชน์  สิ่งที่ควรทำคือการอ้างอิงตัวอย่างและพิพิธภัณฑ์ที่พวกเขาใช้ข้อมูล และควรใส่ชื่อภัณฑารักษ์เป็นผู้เขียนร่วมกรณีที่ควรจะเป็น

อ้างอิง
http://advisor.museumsandheritage.com/blogs/museum-curators-expert-analysis-acknowledged-research-papers/

 

อ้างอิง :

http://advisor.museumsandheritage.com/blogs/museum-curators-expert-analysis-acknowledged-research-papers/

ชื่อผู้แต่ง : ปณิตา สระวาสี