พิพิธภัณฑ์ต้องเสียภาษีหรือเปล่า?


คนทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายคน โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินงานโดยเอกชนมักประสบปัญหาเรื่องการถูกเรียกเก็บภาษีนานาประเภททั้งจากกรมสรรพากรและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ยกตัวอย่าง พิพิธภัณฑ์อูบคำ จังหวัดเชียงรายของอาจารย์จุลศักดิ์ สุริยะไชย ที่เปิดพื้นที่บ้านพักของตนเองทำเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุของอาณาจักรล้านนาโบราณ กลุ่มชาติพันธุ์ และผ้าพื้นเมืองที่หาดูได้ยาก ถูกเรียกเก็บภาษีป้าย  หรือที่โด่งดังเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์คือพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ถูกเรียกเก็บภาษีโรงเรือนเป็นเงินกว่าสองแสนบาท เมื่อปี พ.ศ.2545 จนกระทั่งตอนนั้นถึงกับติดป้ายประกาศขายพิพิธภัณฑ์ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ในความเข้าใจของผู้เขียน พิพิธภัณฑ์ควรจะเป็นองค์กรที่รัฐควรส่งเสริมและให้ความสำคัญ รวมถึงให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ผ่านมาตรการทางกฎหมาย มิพักต้องพูดถึงเรื่องการเรียกเก็บภาษี ในฐานะองค์กรหรือสถานที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น  มีกฎหมายเฉพาะรองรับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในฐานะเป็นแหล่งเรียนรู้  หรือมาตรการทางภาษีที่สร้างแรงจูงใจและการบริจาคจากภาคประชาสังคม และที่สำคัญคือการยกเว้นภาษีเพื่อลดค่าใช้จ่ายของพิพิธภัณฑ์ แต่เราพบว่าในความเป็นจริง มาตรการทางภาษีกลับไม่เอื้อต่อการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และกลายเป็นอุปสรรคด้วยซ้ำไป

ใครที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับภาษีกับงานพิพิธภัณฑ์ แนะนำให้อ่านวิทยานิพนธ์ของนางสาวชนน์ชนก พลสิงห์ เรื่อง “มาตรการภาษีในการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น” มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมาตรการทางภาษีมีรายละเอียดปลีกย่อยมาก ผู้เขียนขอสรุปและยกตัวอย่างมาบางส่วน

วิทยานิพนธ์ของชนน์ชนกชี้ให้เห็นว่า เนื่องจากปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นยังไม่มีสถานะทางกฎหมาย เว้นแต่ถูกจัดตั้งภายใต้การบริหารงานของนิติบุคคล  ในเชิงมาตรการทางภาษีจึงพิจารณาจากลักษณะการจัดตั้งภายใต้การบริหารงานของบุคคลหรือองค์กรใน 3 รูปแบบ ตามหน่วยภาษี ได้แก่ 1) บุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคล  2) สมาคมหรือมูลนิธิ และ3) สมาคมหรือมูลนิธิที่ได้รับการประกาศเป็นองค์การสถานสาธารณกุศลตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร  ดังนั้นการจัดเก็บหรือยกเว้นภาษีจึงยึดตามหน่วยภาษีหรือประเภทองค์กรที่บริหารจัดการ พิพิธภัณฑ์ที่มีสถานภาพองค์กรต่างกันมีภาระในการเสียภาษีแต่ละประเภทแตกต่างกัน


พิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินงานโดยบุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคลมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้แบบอัตราก้าวหน้า  ภาษีมูลค่าเพิ่มหากมูลค่าฐานภาษีถึง  ภาษีโรงเรือนและที่ดินไม่ได้รับการยกเว้น รวมถึงภาษีบำรุงท้องที่และภาษีป้าย  ส่วนพิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินงานโดยสมาคมหรือมูลนิธิเสียภาษีเงินได้แบบอัตราคงที่  ภาษีมูลค่าเพิ่มหากมูลค่าฐานภาษีถึง  ภาษีโรงเรือนและที่ดินภาษีบำรุงท้องที่ไม่ได้รับการยกเว้น  ส่วนภาษีป้ายได้รับการยกเว้น  และพิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินงานโดยสมาคมหรือมูลนิธิที่ได้รับการประกาศเป็นองค์การสถานสาธารณกุศลมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เสียภาษีมูลค่าเพิ่มหากมูลค่าฐานภาษีถึง  แต่สามารถขอยกเว้นได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด  เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องถิ่น  แต่ได้รับการยกเว้นภาษีป้าย


พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี อ.เมือง จ.พิษณุโลก

อย่างไรก็ตามมาตรการทางภาษีดังกล่าว  เป็นตัวสร้างปัญหาและอุปสรรคในการบริหารงานให้กับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอยู่ไม่น้อย เช่น การถูกเรียกเก็บภาษีป้าย ทำให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นต้องระมัดระวังในการปิดป้ายประชาสัมพันธ์  ส่งผลต่อการรู้จักของผู้เยี่ยมชม ไม่นับตัวเงินภาษีที่ต้องหามาจ่ายในขณะที่รายรับมีจำกัด   หรือปัญหาการขอมีสถานะเป็นองค์การสถานสาธารณกุศล ซึ่งการที่กฎหมายพิจารณาพิพิธภัณฑ์เอกชนในสถานะเป็นองค์การสถานสาธารณกุศลได้ ต้องเปิดให้เข้าชมเป็นสาธารณะและไม่เก็บค่าเข้าชมนั้น ทำให้พิพิธภัณฑ์ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยไม่ได้รับการสนับสนุนเงินจากภาครัฐแต่อย่างใด   หรือการที่กฎหมายระบุถึงสิทธิประโยชน์ของผู้บริจาคว่านำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ในกรณีบริจาคให้พิพิธภัณฑ์เอกชนที่เป็นองค์การสถานสาธารณกุศลที่ประกาศไว้เป็นการถาวร  แต่ปัญหาคือพิพิธภัณฑ์เอกชนดังกล่าวไม่มีสถานะทางกฎหมาย เมื่อผู้บริจาคต้องนำหลักฐานการบริจาคไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ การที่พิพิธภัณฑ์ไม่มีสถานภาพทางกฎหมายทำให้ในทางปฏิบัติผู้บริจาคไม่มีหลักฐานการบริจาคที่น่าเชื่อถือทางกฎหมาย และพิพิธภัณฑ์จึงไม่อาจใช้สิทธิประโยชน์ได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย


ที่สุดแล้วมาตรการทางภาษีของรัฐนอกจากไม่ได้ส่งเสริมงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แต่ยังกลับบั่นทอนการทำงานเพื่อสาธารณะของคนทำพิพิธภัณฑ์ คำว่า “ถือไต้ฝ่าสายฝน” ของคุณพรศิริ บุรณเขตต์ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ที่ถูกเรียกเก็บภาษีโรงเรือนเป็นเงินเรือนแสน ทั้งที่ๆ ก่อนหน้านั้นเปิดให้คนเข้าชมฟรีมากกว่า 20 ปี  คงอธิบายสถานการณ์ที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี  

อ้างอิง :

-

ชื่อผู้แต่ง : ปณิตา สระวาสี