3 เหตุการณ์สำคัญในแวดวงพิพิธภัณฑ์ไทยประจำปี 2559


ในปี 2559 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป เป็นปีหนึ่งที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นและสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างในแวดวงพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรมในไทย การย้อนกลับไปมองเรื่องราวดังกล่าวอาจทำให้เราเรียนรู้อะไรใหม่ๆ และคาดการณ์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในวงการพิพิธภัณฑ์ก็เป็นได้ ผู้เขียนคัดมา 3 เหตุการณ์ที่จัดว่าเด็ด ลองมาดูกันว่ามีอะไรดี อะไรดัง อะไรแย่ ตามมา ตามมา

1. แรงหนุนมหาชนระดมทุนช่วยพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในแวดวงพิพิธภัณฑ์ไทย ที่มหาชนคนธรรมดาช่วยบริจาคเงินเพื่อระดมทุนกว่า 10 ล้านบาทสำเร็จ ในการซื้อที่ดินข้างพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก แถบบางรัก เพื่อมิให้บดบังภูมิทัศน์ผลกระทบต่ออาคารเก่าของพิพิธภัณฑ์อันเนื่องมาจากการก่อสร้างตึกสูง  พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกก่อตั้งด้วยความมุ่งมั่นของอ.วราพร สุรวดี เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้สาธารณชนเข้าชมฟรีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 และโอนกรรมสิทธิทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กรุงเทพมหานครทั้งหมดเมื่อปี พ.ศ. 2547  ตอนเกิดเรื่องอ.วราพรเคยทำจดหมายถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อร้องขอให้ช่วยซื้อที่ดิน แต่ไม่เป็นผล อาจเป็นด้วยเหตุผลทางกฎระเบียบทางราชการ อ.วราพรจึงใช้เงินส่วนตัวมัดจำไปแล้ว 30 บ้านบาท ยังขาดอีก 10 ล้านบาท  เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และนำมาซึ่งกระแสการบอกต่อในโซเชียลเน็ตเวิร์กในช่วงเดือนกรกฎาคม กระทั่งมียอดบริจาคกว่า 700,000 บาทภายในเวลาเพียง 2 วัน และภายในเดือนเดียวได้ยอดครบ 10 ล้านบาท! เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงหนุนจากมหาชนคนไทยในการช่วยเหลือพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ประสบผลสำเร็จ เป็นเรื่องน่าคิด เมื่อเปรียบเทียบกับหลายพิพิธภัณฑ์ที่ประสบปัญหาด้านทุนทรัพย์เช่นกัน ที่เคยเป็นข่าวเช่น พิพิธภัณฑ์จ่าทวี จ.พิษณุโลก ที่ถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังหลายแสน




2. ไอคอนสยามผนึกกระทรวงวัฒนธรรมเปิดตัวไอคอนสยามเฮอริเทจมิวเซียม

MOUระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับโครงการไอคอนสยาม ที่จะให้เอกชนดังกล่าวยืมโบราณวัตถุที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร เพื่อนำไปจัดแสดงในไอคอนสยามเฮอริเทจมิวเซียม(ICONSIAM Heritage Museum)กลายเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ในหลายวงการ ฝ่ายสนับสนุนมองว่าเป็นการช่วยเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาติในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ประชาชนได้ความรู้ เป็นการช่วยแบ่งเบาภารกิจของกรมศิลปากรซึ่งมีข้อจำกัดหลายอย่าง ส่วนฝ่ายคัดค้านเป็นห่วงเรื่องความเสียหาย รวมถึงการนำโบราณวัตถุของชาติไปให้เอกชนหาผลประโยชน์ อาจกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนเพราะอีกส่วนหนึ่งไอคอนสยามเปิดศูนย์การประมูลโบราณวัตถุควบคู่กันด้วย และยังเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามในจริยธรรมวิชาชีพ จนถึงขั้นมีผู้รณรงค์ล่ารายชื่อผู้คัดค้านในเวปไซต์ change.org ทำนายได้เลยว่านี่อาจไม่ได้เป็นกรณีแรกและกรณีสุดท้ายเพราะต่อไปการจัดการมรดกวัฒนธรรมในรูปแบบใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคมกำลังจะเกิดขึ้นตามมา หวังว่าการดีเบตที่เกิดขึ้นทำให้สังคมเราได้บทเรียนจากกรณีนี้ไม่มากก็น้อย 



ภาพจาก http://www.finearts.go.th/

3. พิพิธภัณฑ์ไทยเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

วันที่ประชาชนชาวไทยโศกเศร้าที่สุดวันหนึ่งในประวัติศาสตร์คือ วันที่ 13 ตุลาคม 2559 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต แต่พระจริยวัตรอันงดงามและพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านยังคงสถิตอยู่ในใจของปวงชนคนไทย หลายคนหลายหน่วยงานแสดงออกอย่างหลากหลายถึงความจงรักภักดีและความอาลัย ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจ พิพิธภัณฑ์ไทยหลายแห่งแปรเปลี่ยนความเศร้าเสียใจเป็นพลังสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชอย่างมากมาย เช่น การเปิดพิพิธภัณฑ์ให้ชมในยามค่ำคืนหรือไนท์แอทเดอะมิวเซียมของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์และพิพิธภัณฑ์ที่เป็นพันธมิตร การพร้อมใจกันจัดทำนิทรรศการพิเศษเกี่ยวกับในหลวงของหลายพิพิธภัณฑ์ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด  ที่ง่ายที่สุดคือเปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรีอาทิ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ พิพิธบางลำพู ฯลฯ และอีกข่าวดีคือ ในอนาคตห้องประทับขณะรักษาพระอาการ โรงพยาบาลศิริราชมีโครงการเก็บรักษาห้องประทับไว้เพื่อจัดทำพิพิธภัณฑ์ซึ่งจะเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เราสามารถเข้าไปสัมผัสบรรยากาศและสถานที่จริงที่พระองค์ท่านเคยประทับอย่างใกล้ชิด เชื่อว่าหลายคนคงอยากเห็นสักครั้งในชีวิต รอติดตาม


สวัสดีปีใหม่ค่ะ :)
 

ภาพจาก http://www.okmd.or.th/activities/634/

อ้างอิง :

-

ชื่อผู้แต่ง : ปณิตา สระวาสี