การ(ห้าม)ถ่ายภาพในพิพิธภัณฑ์ สำคัญไฉน?

          เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ไรจ์(Rijks Museum)ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มีกฎห้ามผู้ชมนำกล้องและโทรศัพท์มือถือเข้าพิพิธภัณฑ์ แต่ออกแคมเปญเชิญชวนให้สเก็ตช์ภาพในพิพิธภัณฑ์  นัยว่าเป็นการส่งเสริมให้ผู้ชมได้ดื่มด่ำกับสุนทรียภาพในการชมพิพิธภัณฑ์ให้มากขึ้น  จริงๆ ประเด็นนี้น่าขบคิด  

           ปัจจุบันการถ่ายภาพกลายเป็นสิ่งสามัญในชีวิตประจำวันของผู้คนในโลกดิจิทัล โดยเฉพาะการถ่ายจากมือถือ การไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ และได้ถ่ายภาพเพื่อแชร์ประสบการณ์ให้กับเพื่อนๆ แต่เมื่อเห็นป้ายห้ามถ่ายภาพในพิพิธภัณฑ์ก็สร้างความหงุดหงิดใจไม่น้อย   เอาเข้าจริงการสเก็ตซ์ภาพก็ควรจะต้องถูกตั้งคำถามด้วยเหมือนกัน  เป็นไปได้สูงที่การนั่งหรือยืนสเก็ตซ์จะรบกวนผู้ชมคนอื่นๆ เพราะต้องใช้พื้นที่  ใช้เวลานาน แถมอาจจะเสี่ยงที่ดินสอจะไปทำความเสียหายต่อวัตถุจัดแสดง


  พิพิธภัณฑ์เปอกามอน(Pergamon Museum) เบอร์ลิน เยอรมนี : ภาพโดยปณิตา สระวาสี
   
           นีน่า ไซมอน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Santa Cruz Museum of Art & Historyและผู้ก่อตั้ง Blog Musuem 2.0 ตั้งข้อสังเกตเรื่องนโยบายการถ่ายภาพในพิพิธภัณฑ์ไว้ได้น่าสนใจในบล็อก  ‘Museum Photo Policies Should Be as Open as Possible’  ขออนุญาตนำมา “แชร์” ในที่นี้ ไซมอนเล่าว่าปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เด็กและพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มักอนุญาตให้ถ่ายภาพ หรือแม้กระทั่งสามารถหยิบจับวัตถุ ทดลองเล่นกับวัตถุต่างๆ ได้ ในขณะนี้พิพิธภัณฑ์ด้านศิลปะและประวัติศาสตร์ที่มีคอลเล็กชั่นจัดแสดง ยังมีนโยบายห้ามถ่ายภาพอยู่  ซึ่งเธอรวบรวมการอ้างเหตุผลของการห้ามได้ 5 ข้อ ดังนี้

1.    ทรัพย์สินทางปัญญา: พิพิธภัณฑ์บางแห่งที่ได้รับการบริจาควัตถุหรือให้ยืมวัตถุจัดแสดง  จึงต้องเคารพในข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาจากเจ้าของ  หรือบางพิพิธภัณฑ์มีคอลเล็กชั่นทั้งที่สามารถถ่ายภาพได้และไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ  ดังนั้นเพื่อง่ายต่อการจัดการก็มีนโยบายห้ามถ่ายภาพไปซะเลย สิ้นเรื่อง!

2.    อนุรักษ์วัตถุ: วัตถุบางประเภทหากโดนแสงจากแฟลช อาจทำให้เสื่อมสภาพ นักอนุรักษ์บางท่านก็ยอมรับการถ่ายภาพวัตถุได้หากไม่ใช้แฟลช  พิพิธภัณฑ์บางแห่งอำนวยประโยชน์แก่ผู้ชมด้วยการจัดแสงให้สว่างขึ้น เพื่อผู้ชมจะได้ถ่ายภาพได้สะดวกโดยไม่จำเป็นต้องเปิดแฟลช

3.    สร้างรายได้: พิพิธภัณฑ์บางแห่งต้องการหารายได้จากการขายภาพถ่ายวัตถุอย่างเป็นทางการ ดังนั้นการอนุญาตให้ผู้ชมถ่ายภาพได้อาจจะกระทบรายได้ของพิพิธภัณฑ์

4.    สร้างประสบการณ์สุนทรียภาพ: การถ่ายภาพอาจรบกวนผู้ชมคนอื่นๆ  และเกรงว่าการชมผลงานศิลปะผ่านเลนส์กล้องเป็นการลดทอนสุนทรียประสบการณ์ไปอย่างน่าเสียดาย  และผู้ชมอาจแสดงกิริยาไม่เหมาะสมในภาพถ่ายที่ถ่ายกับวัตถุหรือเนื้อหาจัดแสดง  ซึ่งเป็นการบิดเบือนคุณค่าและความตั้งใจของพิพิธภัณฑ์

5.    ความปลอดภัย: การถ่ายภาพอาจจะเป็นการวางแผนประสงค์ร้าย เช่น ขโมยวัตถุในพิพิธภณฑ์ หรือประสงค์ต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ชมคนอื่น



พิพิธภัณฑ์เปอกามอน(Pergamon Museum) เบอร์ลิน เยอรมนี : ภาพโดยปณิตา สระวาสี

           เหตุผลข้างต้นในบางข้อสำหรับไซมอนแล้ว เธอมองว่าอาจจะดูแปลกๆ ไปสักหน่อย  เพราะในฐานะที่เธอเป็นภัณฑารักษ์สกุลที่สนับสนุนการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชมกับตัวนิทรรศการหรือการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์   เธอสนับสนุนเต็มที่ต่อนโยบายการเปิดให้ผู้ชมถ่ายภาพในพิพิธภัณฑ์ได้   ลองมาดูเหตุผลการสนับสนุนของเธอบ้าง

1.    ตราบใดที่การถ่ายภาพไม่ได้ลดทอนความปลอดภัยในวัตถุจัดแสดง หรือกับผู้ชม หรือเป็นการละเมิดกฎหมายแล้วพิพิธภัณฑ์ควรเปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้ามีส่วนร่วม สร้างความเป็นกันเอง ไม่ทำสิ่งใดที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเกร็ง ที่สำคัญไม่ควรเอาความรู้สึกส่วนตัวของเจ้าหน้าที่มาตัดสินหรือกำหนดเป็นนโยบาย  หากจะกำหนดนโยบายใดควรมีงานวิจัยพฤติกรรมของผู้ชมมารองรับ  แม้หลายคนอาจยังไม่ค่อยสบายใจต่อการกระแสวัฒนธรรมการเซลฟี แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้ความชอบและไม่ชอบส่วนตัวมาเป็นสิ่งบังคับพฤติกรรมของคนอื่นโดยปราศจากเหตุผลที่ดี

2.    นโยบายห้ามถ่ายภาพทำลายความสัมพันธ์อันดีระว่างพิพิธภัณฑ์และผู้ชม  ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือมีกล้องอยู่ในตัว นั่นหมายถึงผู้ชมเดินเข้ามาพิพิธภัณฑ์พร้อมกับกล้องในมือ  เป็นไปได้สูงที่ผู้ชมจะอารมณ์เสียเมื่อถูกสั่งให้ฝากมือถือไว้หรือห้ามถ่ายภาพ  กลายเป็นว่าพิพิธภัณฑ์เองยิ่งต้องเหนื่อยแรงในการรักษากฎและอาจต้องตามไปตรวจตราเว็บไซต์ต่างๆ ว่าโพสต์รูปต้องห้ามรึเปล่า  ซึ่งการออกคำสั่งว่าห้ามถ่ายภาพในพิพิธภัณฑ์ยังสร้างความรู้สึกว่าพิพิธภัณฑ์เป็นผู้มีอำนาจหรือเจ้าเข้าเจ้าของวัตถุจัดแสดง มากกว่าการเป็นสถานที่เรียนรู้  คำถามคือแล้วผู้ชมจะมีส่วนร่วมกับพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไร หากพวกเขาไม่สามารถเป็นเจ้าของภาพถ่ายจากประสบการณ์ของพวกเขาเอง

3.    การถ่ายภาพทำให้ผู้ชมสามารถย้อนรำลึกถึงช่วงเวลานั้นและเป็นการสร้างความหมายจากการชมพิพิธภัณฑ์  มีงานศึกษาหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าการสร้างบันทึกส่วนตัวต่อประสบการณ์และการกลับมาเปิดภาพดูอีกครั้ง ยิ่งเพิ่มการเรียนรู้และการเก็บรักษาไว้ซึ่งความรู้  เมื่อผู้ชมพลิกภาพถ่ายแต่ละภาพพวกเขาย้อนระลึกถึงความสนใจของพวกเขาที่มีต่อวัตถุหรือนิทรรศการมากกว่าการไม่มีภาพถ่ายเป็นตัวช่วย

4.    วัตถุประสงค์ของการภาพถ่ายส่วนตัวแตกต่างจากการซื้อภาพอย่างเป็นทางการ  ผู้ชมส่วนใหญ่ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเหตุการณ์หรือประสบการณ์ส่วนตัว แต่หากต้องการใช้ภาพวัตถุที่ถ่ายอย่างประณีตส่วนใหญ่ก็จะยินดีจะซื้ออยู่แล้ว การที่ผู้ชมถ่ายภาพพิพิธภัณฑ์อย่างสวยงามแล้วแชร์ในเว็บไซต์ อาจจะสร้างกระแสการเพิ่มยอดจำนวนผู้ชมพิพิธภัณฑ์เสียด้วยซ้ำไป  และคงจะเปรียบเทียบไม่ได้เลยระหว่างการขาดรายได้อันเนื่องมาจากการอนุญาตให้ถ่ายภาพ กับการสร้างความประทับใจในหมู่ชนจากภาพถ่ายพิพิธภัณฑ์ที่แชร์กันในโลกออนไลน์  อย่างไรก็ดีมีพิพิธภัณฑ์ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการเปิดให้ถ่ายและแชร์ภาพออนไลน์ต่อรายได้ของพิพิธภัณฑ์จากการขายภาพ พบว่าไม่มีผลกระทบเชิงรายได้ และกลับกลายเป็นมีผลทางบวกมากกว่า อ่านรายงานศึกษาได้ที่  in-depth paper

5.    เมื่อใครก็ตามที่แชร์ภาพพิพิธภัณฑ์ของเรา นั่นหมายถึงพวกเขาได้โปรโมทพิพิธภัณฑ์เรา  ปี ค.ศ. 2008 Henry Jenkins  นักวิจัยของสถาบัน MITได้ตีพิมพ์รายงานศึกษาเรื่อง  "If it Doesn't Spread, It's Dead,"  ที่แสดงให้เห็นว่าการเผยแพร่สื่อที่เกี่ยวกับวัตถุจัดแสดงส่งผลกระทบมหาศาล เมื่อผู้เสพย์สื่อนั้นนำสื่อนั้นไปต่อยอด ทุกครั้งที่ภาพถ่ายถูกแชร์ นั่นหมายถึงการขยายวงผู้ชมในการเข้าถึงวัตถุหรือเนื้อหานิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ และยิ่งไปกว่านั้น  การต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ต่อวัตถุทางวัฒนธรรมจากภาพถ่ายหรือสื่ออื่นๆ ถือเป็นการส่งเสริม “กระบวนการสร้างความหมาย” พูดง่ายๆ ก็คือสนับสนุนผู้คนให้ใช้เครื่องมือที่เขามีในการอธิบายโลกที่อยู่รอบๆ ตัวพวกเขา

           คงจะเป็นเรื่องน่าตกใจไม่น้อย  หากบางพิพิธภัณฑ์ที่ไม่รู้หรือไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าตนมีนโยบายห้ามถ่ายภาพไปทำไม  ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้พิพิธภัณฑ์ควรทบทวนนโยบายการอนุญาตให้ถ่ายภาพใหม่  ไม่ควรปล่อยให้ทำตามๆ กันต่อไปโดยไม่รู้เหตุผลที่แท้จริง

อ้างอิง :

-

ชื่อผู้แต่ง : ปณิตา สระวาสี