ขโมยขึ้นพิพิธภัณฑ์


ในช่วงเวลาไม่กี่ปี มานี้  ข่าวการขโมยโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์  มีให้ได้ยินมาเสมอ  ที่เป็นข่าวใหญ่เมื่อปี 2552 คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น  ถูกโจรกรรมโบราณวัตถุเกือบร้อยรายการ   และที่สดๆ ร้อนๆ คือ พิพิธภัณฑสถานชาติ ชัยนาทมุนี  ที่อดีต รปภ.ของพิพิธภัณฑ์เป็นโจรเสียเอง  กรณีนี้กว่าเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์จะทราบว่าถูกขโมย ก็ใช้เวลาเป็นเดือน เมื่อเข้าไปตรวจเช็คทะเบียนวัตถุทั้งหมด   เพราะวัตถุในพิพิธภัณฑ์มิได้มีแค่ที่จัดแสดงอย่างเดียว  ถ้าหายก็รู้ได้ทันที  และข้าวของที่เก็บอยู่ในคลัง ถ้าไม่ตรวจเช็คบ่อยๆ กว่าจะรู้ก็กินเวลา

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่ง  หนีไม่พ้นกับปัญหาของหาย ของถูกลักขโมย  ทั้งของที่มีค่ามีราคา เช่น พระพุทธรูป  หรือโบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดี  รวมไปถึงของใช้พื้นบ้านที่หายาก  ไม่มีคนทำอีกแล้ว  บางคนอาจคิดว่าไม่ใช่ของล้ำค่า  ไม่มีราคาค่างวด แต่สำหรับคนทำพิพิธภัณฑ์หรือเจ้าของแล้ว ของทุกชิ้นที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรง เป็นของรักของผูกพัน ไม่ว่าของมีหรือไม่มีมูลค่า ต่างก็มี “คุณค่า”  สำหรับพวกเขาทั้งนั้น  และสำหรับผู้ชมอย่างเรา  วัตถุเหล่านั้นมีประโยชน์ในด้านการศึกษาที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ 



ผู้เขียน มีโอกาสไปเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จ.พิษณุโลก”  ที่นักวิชาการบางคนให้สมญานามว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงเทคโนโลยีพื้นบ้านที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย  ท่ามกลางข้าวของและเรื่องราวที่น่าสนใจจากคุณพรศิริ บูรณเขตต์ ลูกสาวจ่าทวี  มีมุมจัดแสดงหนึ่งที่แปลกออกไป  คือเป็นแท่นไม้วางวัตถุจัดแสดง  ที่ไม่มีวัตถุ แต่กลับเป็นป้ายที่เขียนด้วยลายมืออ่านง่ายของทายาทเจ้าของพิพิธภัณฑ์  บรรยายถึงของหายและคุณค่าของวัตถุเหล่านั้น  ที่ชวนสะเทือนใจและโกรธขึ้งไปไม่น้อยกว่าเจ้าของ

“ยินดีต้อนรับ สุจริตชนทุกท่าน   ในช่วง 1 เดือนมานี้ มีของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ถูกหยิบฉวยลักขโมยไปมาก เช่น รองเท้าไม้ไผ่สาน(เกือก)  กลักใส่ดินปืน  ตลับใส่หมาก  ตลับยาเส้น  ตลับสีเสียด อย่างละ 1 ชิ้น  กระปุกปูน  ซองใส่พลู อย่างละ 2 ชิ้น ...ลุงจ่าใช้เงินจากน้ำพักน้ำแรงจากการทำงานหนัก  ซื้อของจำนวนมากนำมาจัดแสดงให้ลูกหลานไทยทุกคน ...สิ่งของที่ลุงจ่าเก็บมานานกว่า 30 ปี เป็นที่รักผูกพัน  เป็นของที่ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้คนนับพันนับหมื่นคนมาเป็นชั่วนาตาปี  จึงมิควรสูญไปในช่วงเวลานี้ ด้วยคนเห็นแก่ตัวไม่กี่คน   จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเป็นหูเป็นตา ช่วยกันดูแล แจ้งเบาะแส...”




บางครั้งความอัดอั้น  ไม่รู้จะทำอย่างไรกับของที่หาย ของที่ถูกขโมย  ก็กลับกลายมาเป็นเรื่องที่จัดแสดงได้พิพิธภัณฑ์นอกจากจะได้เล่าระบายให้สาธารณชนได้รับรู้แล้ว  ยังปรามพวกมือไว  และให้ผู้ชมช่วยเป็นหูเป็นตาให้ได้ด้วย ได้ไม่มากก็น้อย  

ที่จังหวัดราชบุรี  “จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว”  พิพิธภัณฑ์ชุมชนที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองโบราณคูบัว และวิถีชีวิตชาวไทยวน     บนชั้นสองของพิพิธภัณฑ์มุมจัดแสดง “สร้อยร้อยโคตรไท-ยวน”  สร้อยที่ตระกูลเก่าแก่บริจาคไว้   เป็นกรอบไม้ปิดด้วยกระจก  ด้านในบุกำมะหยี่สีน้ำเงิน  พร้อมตะขอแขวน  แต่ภายในกลับว่างเปล่า  มีเพียงแผ่นกระดาษที่เขียนข้อความอวยพรแก่พวกมิจฉาชีพ   ที่ดูจะเผ็ดร้อน และแสดงถึงความสำคัญของวัตถุที่มีคุณค่าทางจิตใจต่อผู้ทำพิพิธภัณฑ์อยู่ไม่น้อย

“สร้อยโคตรเหง้าทั้งสามเส้นนี้  ถูกพวกอัปรีย์จัญไรขโมยไป เมื่อ 9 เมษายน 2550 เพื่อนำไปเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของพวกมัน  ขอให้สาธุชนทั้งหลาย จงแผ่พลังจิตไปยังพวกมัน เพื่อให้พวกมันจงมีความเป็นไป ตามที่ท่านปรารถนาจะให้เป็นด้วยเทอญ”




นอกจากจะติดกล้องวงจรปิดแล้ว  พิพิธภัณฑ์สถาบันขนาดใหญ่ในต่างประเทศที่พอมีสตางค์  ส่วนใหญ่มักใช้วิธีให้คนยืนเฝ้าตามห้องจัดแสดงด้วย  บางแห่งก่อนเข้าชมต้องฝากกระเป๋าถือ  ห้ามนำของมีคมเข้าไป   เดินผ่านเครื่องตรวจโลหะ  เป็นต้น  ถือคติที่ว่ากันไว้ดีกว่าแก้   แม้ต้องให้ผู้ชมยืนเข้าคิวต่อแถวตรวจยาวเป็นหางว่าวก็ตาม   ที่สุดแล้วหากมีการออกแบบระบบความปลอดภัยที่ดีตั้งแต้ต้น จะสามารถป้องกันได้ทั้งข้าวของ  จากผู้ชม  และเจ้าหน้าที่เอง   

แต่เมื่อของหาย หรือถูกขโมยไปแล้ว   ทำอย่างไรที่ของหายจะได้คืน    เครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยเป็นเบาะแส ยืนยันความเป็นเจ้าของและรูปพรรณสัณฐานของวัตถุในครอบครองของเราได้คือ “ทะเบียนวัตถุ”  ที่ระบุทั้งขนาด  น้ำหนัก  ลักษณะเด่น  อายุสมัย และข้อมูลสำคัญต่างๆ  และที่สำคัญคือภาพถ่ายวัตถุ   

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่งยังไม่ได้ทำทะเบียนวัตถุ   บางแห่งทำบ้างไม่ทำบ้างตามแต่เวลาจะอำนวย  อย่างที่รู้กันดีว่าการทำทะเบียนเป็นงานละเอียด ใช้เวลา  สมัยก่อนอาจจะบันทึกลงในสมุด บางครั้งก็ประกบภาพถ่ายไปด้วย  หรือแยกภาพออกมาต่างหากอีกชุดหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างจะใช้งานยุ่งยาก    ตอนนี้หลายแห่งก็ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยทำทะเบียน  เช่น Microsoft Access แม้กระทั่งกรมศิลปากร ก็เร่งให้พิพิธภัณฑสถาณแห่งชาติ นำระบบทำทะเบียนแบบดิจิทัลเข้ามาใช้  หลังจากโดนขโมยขึ้นพิพิธภัณฑ์มาหมาดๆ



ผู้เขียนมีอีกหนึ่งโปรแกรมทำทะเบียนวัตถุมาแนะนำ ชื่อว่า Museum Management1.0  เป็นโปรแกรมที่ค่อนข้างยืดหยุ่น ใช้ง่ายไม่ยุ่งยาก  ลองทำสักชิ้นสองชิ้นก็คล่องแล้ว  ด้วยความเอื้อเฟื้อจากคุณราชบดินทร์  สุวรรณคัณฑิ  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  ต้องขอขอบคุณเอ๋  ราชบดินทร์  ที่พัฒนาโปรแกรมมาให้ได้ใช้กัน   ลองเข้าไปดาวน์โหลดมาใช้กัน  คลิกดาวน์โหลดโปรแกรมที่นี่ 




เมื่อทำทะเบียนวัตถุแบบดิจิทัลกันแล้ว  พี่ๆ น้องๆ ชาวพิพิธภัณฑ์ อย่าลืมสำเนาไฟล์ทะเบียนวัตถุของท่านเก็บไว้หลายๆ ที่นะคะ   เกิดไฟล์หาย หรือเปิดไม่ได้ขึ้นมา  จะปวดหัวไม่แพ้ขโมยขึ้นพิพิธภัณฑ์เลยทีเดียว
 

 

อ้างอิง :

-

ชื่อผู้แต่ง : ปณิตา สระวาสี