คลังสำคัญไฉน

พิพิธภัณฑ์หลายแห่งไม่มี “คลัง” หรือ “ห้องคลังเก็บวัตถุ” และยังไม่เข้าใจว่า คลังเก็บวัตถุคืออะไร มีประโยชน์ต่อพิพิธภัณฑ์ขนาดไหน แล้วถ้าอยากจะมีจะต้องจัดการอย่างไร ทุกประเด็นคำถามที่ชาวพิพิธภัณฑ์สงสัยสามารถหาคำตอบได้จากบทความนี้
 
“คลัง” คือ อะไร
“คลัง” เป็นคำเรียกอย่างสั้นและง่ายของ “ห้องคลังเก็บวัตถุ” ที่พิพิธภัณฑ์ทุกพิพิธภัณฑ์ควรมี เพราะห้องคลังเก็บวัตถุคือ สถานที่เก็บวัตถุสิ่งของของพิพิธภัณฑ์ ที่ไม่ได้นำออกแสดงในห้องจัดแสดง เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ขอเปรียบพิพิธภัณฑ์เป็นเสมือนร้านขายของ ห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ก็คือ หน้าร้าน ส่วน “คลัง” หรือ “ห้องคลังเก็บวัตถุ” ก็คือ “โกดังเก็บสินค้า” ของร้าน เป็นที่เก็บสินค้าสำรอง รวมถึงสินค้าตัวใหม่ที่ร้านยังไม่ได้นำออกจำหน่าย ห้องคลังเก็บวัตถุทำหน้าที่เช่นเดียวกัน คือ เก็บวัตถุสิ่งของสำรอง และวัตถุสิ่งของทุกชิ้นของทางพิพิธภัณฑ์
 
“คลัง” มีประโยชน์อย่างไร
นอกจากคลังเก็บวัตถุจะทำหน้าที่เก็บวัตถุสิ่งของที่ยังไม่ได้นำออกแสดง และเป็นที่เก็บวัตถุสำรองของทางพิพิธภัณฑ์แล้ว คลังยังมีประโยชน์อย่างมากต่อห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ เพราะคลังจะเป็นตัวช่วยแรกที่ทำให้ห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์สวยงาม และไม่หนาแน่นแออัดเกินไปด้วยวัตถุสิ่งของที่ซ้ำกัน อย่างเช่น ถ้าพิพิธภัณฑ์มีตะเกียงเจ้าพายุทั้งหมด 20 ดวงที่รูปร่างลักษณะเหมือนกัน พิพิธภัณฑ์อาจจะจัดแสดงเพียง 3- 5 ดวงเพื่อเป็นตัวอย่าง ส่วนตะเกียงที่เหลือก็เก็บเข้าคลังเก็บวัตถุ เพื่อเป็นวัตถุสำรองหรือเป็นวัตถุหมุนเวียนในการจัดแสดง เป็นต้น

ภาพ: พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด ก่อนมีห้องคลังเก็บวัตถุ

 

  

ภาพ: ตู้จัดแสดงโกศเก็บอัฐิ (บางส่วน) ของพิพิธภัณฑ์ หลังมีห้องคลังเก็บวัตถุ

 
ขณะเดียวกันเมื่อมีวัตถุสิ่งของในห้องจัดแสดงน้อยลง ก็ทำให้รู้ว่า วัตถุสิ่งของที่จัดแสดงอยู่แต่ละชิ้นมีสภาพเป็นอย่างไร ทำให้ดูแลรักษาได้ง่ายและทั่วถึง เช่นเดียวกับวัตถุสิ่งของที่อยู่ในห้องคลังเก็บวัตถุก็จะได้รับการดูแลและรักษาสภาพของวัตถุให้มีอายุยืนยาวได้ เมื่อมีการจัดเก็บที่ถูกวิธี นอกจากนั้นเมื่อวัตถุสิ่งของทั้งในห้องจัดแสดงและห้องคลังเก็บวัตถุเกิดสูญหาย ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ก็สามารถรู้ได้ทันที เนื่องจากมีการตรวจนับและคัดแยกประเภทของวัตถุสิ่งของก่อนนำเข้าห้องคลังเก็บวัตถุ อีกประการหนึ่ง เมื่อห้องจัดแสดงมีความเป็นระเบียบก็ทำให้ดูแลได้ง่ายและทั่วถึงเช่นเดียวกัน

ถ้าพิพิธภัณฑ์สามารถทำห้องคลังเก็บวัตถุอย่างเป็นระบบได้ คือ สามารถคัดแยกประเภทของวัตถุสิ่งของ ทำความสะอาดวัตถุอย่างถูกวิธี ทำการลงทะเบียนวัตถุทุกชิ้น นำวัตถุสิ่งของออกแสดงเป็นบางส่วนและเก็บวัตถุสำรองอย่างถูกวิธีไว้ในห้องคลังเก็บวัตถุ ก็จะทำให้ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์สามารถรู้ได้ว่า พิพิธภัณฑ์มีวัตถุสิ่งของที่อยู่ในความครอบครองกี่ประเภท อะไรบ้าง และมีจำนวนเท่าไร ซึ่งก็จะง่ายในการค้นหาวัตถุสิ่งของและนำออกไปจัดแสดงนิทรรศการทั้งชั่วคราวและถาวร บางครั้งห้องคลังเก็บวัตถุที่จัดทำอย่างเป็นระบบก็สามารถทำหน้าที่เสมือนเป็นห้องจัดแสดงอีกห้องหนึ่งของทางพิพิธภัณฑ์ด้วย
 
“คลัง” ควรอยู่ที่ไหน
ตอนนี้คิดว่า ชาวพิพิธภัณฑ์หลายคนเริ่มสนใจอยากจะมี“คลัง” เป็นของส่วนตัว คำถามต่อมาก็คือ ห้องคลังเก็บวัตถุควรอยู่ตรงไหนในพิพิธภัณฑ์ ในเรื่องนี้คงไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่า ห้องคลังเก็บวัตถุควรอยู่ตรงไหน แต่สิ่งที่ชาวพิพิธภัณฑ์ต้องคำนึกถึงก่อนก็คือ
1. วัตถุสิ่งของสะสมที่ทางพิพิธภัณฑ์มีอยู่นั้น เป็นวัตถุประเภทไหน จำนวนเท่าไร
2. วัตถุสิ่งของสะสมทั้งหมดของทางพิพิธภัณฑ์มีมาก- น้อย ประมาณไหน
3. ในพิพิธภัณฑ์มีพื้นที่ว่างหรือไม่ กว้าง- ยาว เท่าไร
ถ้าพิพิธภัณฑ์แห่งใดมีวัตถุสิ่งของสะสมมากและมีพื้นที่ว่างในพิพิธภัณฑ์มาก ขอแนะนำให้กันพื้นที่ว่างนั้นไว้ และจัดทำเป็นห้องคลังเก็บวัตถุ ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด จ.นครปฐม ได้กันพื้นที่ชั้นบนอาคารจัดแสดงหลังที่ 2 ของพิพิธภัณฑ์เป็นห้องคลังเก็บวัตถุ เนื่องจากมีวัตถุสิ่งของสะสมจำนวนมากและหลากหลายประเภท ประกอบกับพื้นที่ชั้นบนของอาคารจัดแสดงหลังนี้ เดิมเป็นพื้นที่ว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทางพิพิธภัณฑ์จึงเห็นควรให้ดัดแปลงใช้เป็นห้องคลังเก็บวัตถุของพิพิธภัณฑ์ ด้วยการต่อชั้นวางวัตถุสิ่งของขึ้น จากนั้นก็นำวัตถุสิ่งของที่เป็นส่วนเกินในการจัดแสดงมาจัดเก็บรักษาไว้ที่คลัง มีการแบ่งแยกตามชนิดและประเภทของวัตถุ


 

ภาพ: สภาพห้องเดิมก่อนดัดแปลงทำเป็น “ห้องคลังเก็บวัตถุ”

 


ภาพ:  ชั้นเหล็กสำหรับวางวัตถุ ในห้องคลังเก็บวัตถุ

 

              

 

ภาพ: สภาพปัจจุบันของห้องคลังเก็บวัตถุ ของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด

 
ในกรณีที่พิพิธภัณฑ์ไม่มีพื้นที่ว่างหรือพื้นที่ใหม่สำหรับทำห้องคลังเก็บวัตถุ ก็สามารถใช้พื้นที่ในการจัดแสดงเป็นพื้นที่คลังเก็บวัตถุได้ อย่างเช่น พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินหลวง จ.ลำปาง พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จ.พิษณุโลก ที่ใช้ห้องจัดแสดงวัตถุเป็นห้องคลังเก็บวัตถุไปพร้อมกัน วิธีการนี้จะเหมาะกับพิพิธภัณฑ์ที่มีวัตถุสิ่งของสะสมน้อยและชนิดของวัตถุซ้ำกัน ในบางครั้งห้องคลังเก็บวัตถุก็เป็นส่วนหนึ่งของห้องจัดแสดงที่มีสภาพเป็นบ้านจำลอง ห้องเก็บของในบ้าน หรือยุ้งฉางจำลองที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จ.พิษณุโลก พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร จ.สมุทรสงคราม เป็นต้น
 

ภาพ: ห้องจัดแสดงที่เป็นห้องคลังเก็บวัตถุ ของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จ.พิษณุโลก

 


 

ภาพ: บ้านจำลองที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร จ.สมุทรสงคราม

 

 

ภาพ: ห้องคลังเก็บวัตถุที่มีสภาพเป็นห้องเก็บของภายในบ้านจำลอง

 
พิพิธภัณฑ์บางแห่งอาจจะหาพื้นที่ใหม่ให้กับการทำห้องคลังเก็บวัตถุ ขณะที่บางแห่งไม่มีพื้นที่มากขนาดนั้น ก็อาจจะใช้ห้องจัดแสดงเป็นห้องคลังเก็บวัตถุ หรือบางที่ก็ให้ห้องคลังเก็บวัตถุเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดง ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ห้องคลังเก็บวัตถุจะอยู่ที่ไหนในพิพิธภัณฑ์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม จำนวนวัตถุสิ่งของสะสม ประเภทของวัตถุสิ่งของ และพื้นที่ว่างในพิพิธภัณฑ์
 
 “คลัง” มีกี่แบบ
นอกจากพิพิธภัณฑ์จะต้องพิจารณาความเหมาะสม จำนวนวัตถุสิ่งของและที่ว่างในพิพิธภัณฑ์แล้ว รูปแบบของคลังก็มีผลต่อการทำห้องคลังเก็บวัตถุด้วย เพราะห้องคลังเก็บวัตถุแต่ละแบบจะมีทั้งข้อดี ข้อเสีย ที่แตกต่างกัน ดังนั้น จะเลือกทำห้องคลังเก็บวัตถุแบบไหน ก็ควรต้องพิจารณาเงื่อนไขและปัจจัยที่เหมาะกับพิพิธภัณฑ์ให้มากที่สุด ห้องคลังเก็บวัตถุแบ่งได้ 2 แบบคือ

1. ห้องคลังเก็บวัตถุแบบเปิดเป็นห้องคลังเก็บวัตถุที่อนุญาตให้คนดูได้เห็นวัตถุสิ่งของสะสมของทางพิพิธภัณฑ์ได้ทั้งหมด ห้องคลังแบบนี้มักจะอยู่ที่เดียวกับห้องจัดแสดงวัตถุ หรือเป็นส่วนหนึ่งของห้องจัดแสดง เช่น พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หิน จ. ลำปาง

ข้อดีของห้องคลังเก็บวัตถุแบบเปิด
  • คนดูสามารถชมวัตถุสิ่งของสะสมของพิพิธภัณฑ์ได้ทั้งหมด
  • คนดูสามารถเข้าถึงวัตถุสิ่งของได้ง่าย
  • ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์สามารถควบคุมและดูแลรักษาวัตถุสิ่งของได้ง่าย เมื่อเกิดการสูญหายหรือเกิดความเสียหายกับวัตถุ

ข้อเสียของห้องคลังเก็บวัตถุแบบเปิด
  • วัตถุสิ่งของในพิพิธภัณฑ์เกิดการสูญหาย และอาจได้รับความเสียหายได้ง่าย
  • ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ต้องทำความสะอาดวัตถุสิ่งของอย่างสม่ำเสมอ
 
2. ห้องคลังเก็บวัตถุแบบปิดเป็นห้องคลังเก็บวัตถุที่ไม่อนุญาตให้คนดูได้เห็นวัตถุสิ่งของสะสมครบทุกชิ้น ทางพิพิธภัณฑ์จะเป็นผู้เลือกวัตถุ และนำมาจัดแสดงให้เห็นเป็นบางส่วนเท่านั้น ห้องคลังแบบนี้อาจจะเป็นห้องคลังที่สร้างพื้นที่ขึ้นมาใหม่ หรืออาจจะเป็นส่วนหนึ่งของฉากการจัดแสดงก็ได้ เช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด จ.นครปฐม หรือห้องคลังเก็บวัตถุที่อยู่ในบ้านจำลอง ที่พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร จ.สมุทรสงคราม

ข้อดีของห้องคลังเก็บวัตถุแบบปิด
  • สามารถเก็บวัตถุสิ่งของที่ชำรุดหรือเสียหาย หรือสิ่งของที่ไม่ต้องการให้คนดูชม ออกจากห้องจัดแสดงได้
  • สามารถรักษาสภาพของวัตถุสิ่งของได้ดีกว่าห้องคลังแบบเปิด
  • ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์สามารถดูแลรักษาวัตถุสิ่งของได้ง่าย เมื่อเกิดการสูญหาย หรือเกิดความเสียหายกับวัตถุ
ข้อเสียของห้องคลังเก็บวัตถุแบบปิด
  • วัตถุสิ่งของในห้องคลังเก็บวัตถุถูกลืม หรือถูกละเลย 
  • คนดูไม่สามารถเห็นวัตถุสิ่งของสะสมของพิพิธภัณฑ์ทั้งหมด
 
วิธีการจัด “คลัง”
          เมื่อถึงขั้นนี้ ชาวพิพิธภัณฑ์คงตัดสินใจได้แล้วว่า จะทำห้องคลังเก็บวัตถุแบบไหนดี จึงจะเหมาะสมกับพิพิธภัณฑ์ของตน ขั้นตอนในการทำห้องคลังเก็บวัตถุเริ่มจาก
          1. หาพื้นที่ที่จะใช้เป็นห้องคลังเก็บวัตถุ ถ้าเป็นพื้นที่ใหม่ก็ควรจะต้องหาที่มีรั้วรอบขอบชิด เพื่อป้องกันการสูญหายของวัตถุ หรือถ้าใช้พื้นที่บางส่วนของนิทรรศการ เช่น ยุ้ง ฉาง หรือบ้านจำลอง ก็ควรเลือกบริเวณที่สามารถปิดล็อกกุญแจได้ เช่นเดียวกับการทำเป็นห้องคลังเก็บวัตถุแบบเปิด วัตถุสิ่งของชิ้นเล็กควรเก็บและจัดแสดงในตู้จัดแสดงที่มีกุญแจล็อกเรียบร้อย
          2. ควรทำชั้น หรือนำตู้จัดแสดงที่เหลือใช้ มาทำเป็นที่วางวัตถุสิ่งของเพื่อความสะดวกในการจัดเก็บ ดูแลรักษาวัตถุ และสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยในห้องคลัง แต่ถ้าไม่มี ก็สามารถวางวัตถุไว้กับพื้นห้องได้
          3. เมื่อได้พื้นที่ของห้องคลังเก็บวัตถุแล้ว ควรคัดแยกประเภทของวัตถุสิ่งของ
          4. สำรวจสภาพของวัตถุสิ่งของ ทำความสะอาดวัตถุเบื้องต้น และทำทะเบียนวัตถุ
          5. คัดเลือกวัตถุสิ่งของที่จะนำออกจัดแสดง (ในกรณีที่ทำห้องคลังแบบปิด) ส่วนวัตถุสิ่งของสำรอง และวัตถุสิ่งของชิ้นอื่นที่จะนำเก็บในห้องคลัง ก็ให้จัดเก็บให้ถูกต้องตามหลักวิธีการ เพื่อรักษาสภาพของวัตถุ
          6. หมั่นเปิดเข้าไปทำความสะอาดห้องคลังเก็บวัตถุอย่างสม่ำเสมอ และควรสำรวจตรวจสอบสภาพวัตถุสิ่งของที่อยู่ในห้องคลัง
         
แต่ในความเป็นจริงนั้น พิพิธภัณฑ์อาจไม่สามารถทำตามขั้นตอนที่กล่าวมาได้ เนื่องจากขาดบุคลากรทำงาน ประกอบกับมีวัตถุสิ่งของสะสมมากและไม่มีเวลา ในบางครั้ง มีคนขอเข้าชมพิพิธภัณฑ์มาก จะให้ปิดเพื่อทำห้องคลังเก็บวัตถุก็ไม่ได้ วิธีแก้ไขในเรื่องนี้คือ หาพื้นที่สำหรับเป็นห้องคลังเก็บวัตถุ คัดเลือกวัตถุให้เหลือเฉพาะสำหรับการจัดแสดง ส่วนวัตถุที่เหลือเก็บเข้าห้องคลัง แล้วจึงคัดแยกประเภท ทำความสะอาด ทำทะเบียนวัตถุ และจัดเก็บตามขั้นตอนในภายหลัง เมื่อห้องคลังเก็บวัตถุเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ก็มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินการจัดทำ และการดูแลรักษา
         
ห้องคลังเก็บวัตถุเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพิพิธภัณฑ์ทุกแห่งทุกประเภทที่ควรมี เพราะนอกจากจะทำให้ห้องจัดแสดงมีความสวยงามและเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว ห้องคลังเก็บวัตถุยังสามารถช่วยยืดอายุของวัตถุสิ่งของได้ด้วย หากจัดเก็บอย่างถูกวิธี  ห้องคลังเก็บวัตถุอาจมีรูปร่าง/ลักษณะ และวิธีการจัดเก็บแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม
 
Tips สร้างความเข้าใจ
พิพิธภัณฑ์        =  ร้านค้าขายของ
ห้องจัดแสดง     =  หน้าร้าน
ห้องคลังเก็บวัตถุ =  โกดังเก็บสินค้า
วัตถุสิ่งของ       =  สินค้า

อ้างอิง :

-

ชื่อผู้แต่ง : จุฑามาศ ลิ้มรัตนพันธ์