บล็อก

พิพิธภัณฑ์พระราชวัง (ต้องห้าม) ของไต้หวัน

โพสต์เมื่อ 26 พฤษภาคม 2564

สวัสดีค่ะ          กลับมาตามสัญญา ตอนนี้ขอแนะนำให้รู้จักกับพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่ใครๆ ไปไต้หวันก็ต้องอยากไปเยี่ยมเยือน โดยเฉพาะชาวจีนแผ่นดินใหญ่ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองไทเป เมืองหลวงของเกาะไต้หวัน มีชื่อเป็นทางการว่า พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ (The National Palace Museum- NPM)และมีชื่อเล่นเรียกกันโดยทั่วไปว่า พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกู้กง          สำหรับท่านที่รู้จักพระราชวังต้องห้าม ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงปักกิ่ง อาจจะแปลกใจว่า ทำไมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกู้กง” เหมือนกัน หลังจากได้อ่านประวัติพิพิธภัณฑ์และความช่วยเหลือจากน้องที่รู้ภาษาจีน ก็พบว่า คำว่า “กู้กง” (Gu Gong) แปลว่า “พระราชวังโบราณ” หรือ “พระราชวังเดิม" ส่วนที่มีชื่อเรียกเหมือนกันก็เพราะในปี ค.ศ. 1962 พิพิธภัณฑ์ถูกสร้างขึ้นโดยเลียนแบบแผนผัง และรูปแบบอาคารมาจากพระราชวังต้องห้ามของปักกิ่ง พระราชวังต้องห้าม หรือ พิพิธภัณฑ์พระราชวัง ณ กรุงปักกิ่งภาพ: http://www.oceansmile.com/China/Kukong.htm พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ ณ ไทเปภาพ: https://www.expedia.co.th/National-Palace-Museum-Taipei.          นอกจากรูปแบบอาคารที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระราชวังต้องห้ามแล้ว ศิลปวัตถุที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์กว่า 620,000 ชิ้น ก็ยังเป็นสมบัติที่ถูกขนออกมาจากพระราชวังต้องห้ามที่ปักกิ่ง ในช่วงที่ประเทศจีนถูกรุกรานจากญี่ปุ่น เดิมพิพิธภัณฑ์ชื่อ “พิพิธภัณฑ์ จง ซาน” (เป็นชื่อของ ดร.ซุน ยัต เซ็น ในภาษาจีนกลาง) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกู้กง” เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บวัตถุสิ่งของและผลงานทางศิลปะของจีนโบราณที่มีประวัติยาวนานกว่า 5,000 ปี จากทุกราชวงศ์ของจีน เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเนื่องจากมีศิลปวัตถุจำนวนมากจึงต้องมีการหมุนเวียนวัตถุออกมาจัดแสดงทุกๆ 3 เดือน       วัตถุที่จัดแสดงภายนอกอาคาร ทั้งใหญ่และทรงพลัง  รูปปั้น ดร.ซุน ยัต เซ็น ที่โถงทางเข้าชั้น 1             พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพภายในห้องจัดแสดงนะคะ (น่าเสียดายมาก... เพราะของสวยทุกชิ้น) นิทรรศการหลักจัดภายในอาคารหลังใหญ่ มี 3 ชั้น แบ่งเป็นโซนตามประเภทของวัตถุ และไล่เรียงตามลำดับเวลา ศิลปวัตถุที่ทางพิพิธภัณฑ์สะสมมีทั้งภาพเขียน บทกวี งานอักษร หนังสือหายาก ภาพเขียน ผ้าโบราณ งานเซรามิกและเครื่องปั้นดินเผา งานโลหะ งานหยกและหินหายาก งาช้าง งานไม้และสิ่งประดิษฐ์           สำหรับวัตถุที่ห้ามพลาดในการมาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ “หยกผักกาดขาว” “หินเนื้อหมู” และ “กระถางสำริดของเหมากง” ที่ถูกเรียกว่า “สามมหาสมบัติแห่งกู้กง”  ภาพ: http://theme.npm.edu.tw            หยกผักกาดขาวเป็นงานแกะสลักหยกสีขาว-เขียว ในก้อนเดียวกัน ซึ่งถือเป็นหยกที่หาได้ยากมาก เดิมถูกวางไว้ในพระราชวังของหรงยู่ พระมเหสีของจักรพรรดิกวังซวี่ (ค.ศ.1875- 1908) ในเขตพระราชวังต้องห้าม จึงมีคนสันนิษฐานว่า งานชิ้นนี้อาจจะเป็นของขวัญสำหรับหมั้นหมาย ส่วนเหตุที่ต้องเป็นผักกาดขาว ก็เพราะโดยธรรมชาติผักกาดขาวจะทนต่อสภาพอากาศได้หลากหลาย คือ ปลูกในสภาพอากาศแบบไหนก็เติบโตได้ คนจีนเลยนำมาเป็นสัญลักษณ์ของคำว่า “มีกิน มีใช้ ไม่อดอยาก” ส่วนตั๊กแตนสีเขียวที่เกาะอยู่ หมายความว่า “มีลูกเต็มบ้าน มีหลานเต็มเมือง”          สำหรับ หินเนื้อหมู ศิลปวัตถุของราชวงศ์ชิง ทำมาจากหินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แกะสลักด้วยความแม่นยำและเทคนิคการย้อมสีหินชั้นสูง ทำให้ลักษณะของหินที่เป็นผิวผนัง ชั้นติดมัน และไขมันของเนื้อหมูมีลวดลายที่สมจริงมาก   ภาพ: http://theme.npm.edu.tw           ส่วน กระถางสำริดของเหมากง เป็นงานของราชวงศ์โจวตะวันตก (ปี 1046- 771 ก่อนคริสตกาล) รูปร่างภายนอกก็เหมือนกระถางสำริดทั่วไป แต่จารึกที่อยู่ภายในกระถางสิคะ ที่สำคัญ ที่เป็นที่หนึ่ง จารึกบันทึกเรื่องราวของกษัตริย์ Xuan แห่งราชวงศ์โจวที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ราชวงศ์ และวิธีการปกครองประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ภาพ: http://theme.npm.edu.tw           นอกจากสามมหาสมบัติแห่งกู้กงที่ห้ามพลาดแล้ว พิพิธภัณฑ์ยังมีวัตถุสะสมที่สวยงามอีกหลากหลายชิ้น เอาภาพมาให้ชมกัน ถ้าใครสนใจอยากจะไปชมด้วยตนเองก็เชิญนะคะ พิพิธภัณฑ์เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30- 18.30 น. แต่ถ้าใจร้อนอยากชมภาพตัวอย่างวัตถุชิ้นเด่นอย่างละเอียด และเป็นส่วนตัวก็ชมได้ที่เว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ ที่  http://theme.npm.edu.tw  ได้ค่ะ  ชื่อภาพ: ดอกโบตั๋นภาพ: http://theme.npm.edu.tw  ภาพ: http://theme.npm.edu.tw  ภาพ: http://www.thirteenmonths.com/picturepages/twA/twA17.htm            การเข้าชมพิพิธภัณฑ์สามารถทำได้เองด้วยการเช่าวิดีโอไกด์ (มีหลายภาษา แต่ยังไม่มีภาษาไทย) ติดตัวไป หรือจะชมเป็นรอบพร้อมมัคคุเทศก์ก็ทำได้ ซึ่งมักจะพาชมวัตถุชิ้นสำคัญๆ ก่อนจะปล่อยให้ชมด้วยตัวเองส่วนเวลาไปชม เลือกตามสะดวกเลยค่ะ แต่แนะนำว่า ถ้าไม่อยากผจญภัยกับนักท่องเที่ยว (จีน) กลุ่มใหญ่ให้ไปช่วงบ่ายของวัน เพราะนักท่องเที่ยวจีนนิยมมาช่วงเช้าและชมวัตถุที่เป็นดาวเด่นเท่านั้น แต่ถ้าอยากชมนานๆ ค่อยๆ ชม ก็แนะนำให้อยู่ทั้งวัน ที่พิพิธภัณฑ์มีร้านอาหารและคาเฟ่ไว้คอยบริการ สะดวกมากๆ             นอกจากนั้นท่านยังสามารถเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ได้ แต่ควรติดต่อสำรองที่นั่งล่วงหน้า เพราะกิจกรรมเหล่านี้มักได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากเด็กและผู้ปกครองเสมอ หรือถ้าอยากได้ของที่ระลึก ไม่ว่าจะเป็น ภาพถ่าย โปสการ์ด ภาพเขียน/ภาพพิมพ์ที่ทำเลียนแบบของเก่า เสื้อ เครื่องเซรามิค เครื่องเรือน ฯลฯ ให้เดินตรงไปร้านขายของที่ระลึกของพิพิธภัณฑ์เลย รับรองมีทุกสิ่งให้เลือกสรร ภาพ: http://www.go-graph.com             รูปสุดท้ายที่นำมาฝากกัน (แสดงถึงความใส่ใจ และให้ความสำคัญกับพิพิธภัณฑ์มากๆ) เป็นภาพที่ถ่ายในบริเวณทางเดินของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน คือ เป็นนิทรรศการขนาดเล็กแนะนำพิพิธภัณฑ์และวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้น่าสนใจ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินของบ้านเราก็น่าจะมีอย่างนี้บ้าง... คงสร้างแรงบันดาลใจ และแรงดึงดูดได้ไม่น้อย 

พาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ที่เมืองมันเทศ

โพสต์เมื่อ 16 พฤษภาคม 2564

สวัสดีค่ะ        สำหรับมิตรรักแฟนคลับเก่าชาวก้าวไปด้วยกัน กบอ้วนจาก “เรื่องเล่าริมสนาม” กลับมาอีกครั้งแบบฤกษ์สะดวกนะคะ ส่วนท่านไหนที่คิดถึงบทความ (เก่า) หรือจุลสาร “ก้าวไปด้วยกัน” สามารถอ่านออนไลน์ได้ทุกฉบับที่ http://www.sac.or.th/databases/museumdatabase/ ค่ะ...          กลับมาคราวนี้พาทุกท่านไปรู้จักกับ “ไต้หวัน” หรือ “ไถวาน” ตามชื่อท้องถิ่น หรือ “สาธารณรัฐจีน” ในภาษาทางการ ขอเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเกาะนี้หน่อยนะคะ ปัจจุบันไต้หวันยังไม่มีสถานะเป็นประเทศ ประเทศจีน (แผ่นใหญ่) เคยเปรียบไต้หวันเหมือนกับเด็กดื้อที่ไม่ยอมกลับบ้าน บางครั้งการที่เรารู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่บ้าง ก็ทำให้เราเข้าใจเรื่องราวเบื้องหลังเกี่ยวกับสถานที่ ผู้คน หรืออาคารบ้านเรือนที่เราพบเห็นได้ชัดเจนขึ้นนะคะ...          เนื่องจากไต้หวันเป็นเกาะขนาดใหญ่ ทำให้มีหลายประเทศหมายปองอยากครอบครอง เดิมเกาะไต้หวันเป็นที่รู้จักในชื่อ “เกาะเฟอโมซา” (Formasa) เป็นชื่อที่ชาวโปรตุเกสเรียก แปลว่า “เกาะที่สวยงาม”จากนั้นในยุคสำรวจ ศตวรรษที่ 17 ชาวสเปนและชาวฮอลันดาเข้ามาสำรวจ ทำการค้า และตั้งถิ่นฐานในที่สุด หลักฐานสำคัญที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันคือ โบสถ์ ตึกรามบ้านช่องที่ก่อด้วยอิฐสีแดงสไตล์ตะวันตก และป้อมปราการ ที่เมืองตันสุย (Danshui)    โบสถ์ประจำเมืองตันสุย (Danshuei Church)    อาคารเดิมของวิทยาลัย Oxford ที่ก่อตั้งโดยจอร์จ เลสลี่ แม็คเคย์ (George Leslie Mackay) ปัจจุบันเป็นอาคารหนึ่งภายในมหาวิทยาลัยเอกชน Aletheia      ป้อมปราการซาน โดมินโก (Fort San Domingo)            ต่อมาในปีพ.ศ. 2438 (ค.ศ. 1895)  ความบาดหมางระหว่างประเทศจีนกับประเทศญี่ปุ่น เป็นเหตุให้ญี่ปุ่นได้ครอบครองไต้หวันอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ญี่ปุ่นได้ทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมไว้ที่ไต้หวันหลายอย่าง เช่น ที่อาบน้ำแร่ขนาดใหญ่แห่งแรกของไต้หวัน ที่เมืองเป่ยโถว (Beitou) ปัจจุบันคือ Beitou Hot Spring Museumการเข้ามาของญี่ปุ่นทำให้ไต้หวันได้ซึมซับวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมากพอสมควร ทำให้คนไต้หวันมีลักษณะเฉพาะตัว เป็นที่กล่าวขวัญว่า “...เป็นคนจีนที่มีระเบียบและอ่อนน้อมเหมือนกับคนญี่ปุ่น...” หลังสงครามโลกครั้งที่สองไต้หวันกลับไปรวมกับประเทศจีนอีกครั้ง พิพิธภัณฑ์น้ำพุร้อน (Beitou Hot Spring Museum)            เดิมทีในเกาะไต้หวันก็มีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ และมีชาวจีนแผ่นใหญ่อพยพเข้ามาเป็นระยะๆ แต่ระลอกใหญ่สุดเกิดขึ้นในช่วงพ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) เมื่อพรรคก๊กมินตั๋ง พรรคการเมืองชาตินิยมของจีนเป็นฝ่ายแพ้ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้มีผู้คนอพยพหนีออกจาก (จีน) แผ่นดินใหญ่เข้ามาที่ไต้หวันครั้งใหญ่สุด คาดกันว่า มีชาวจีนที่เป็นทั้งผู้นำ นักคิด ปัญญาชน ช่างฝีมือ และชาวบ้านมากกว่า 1,500,000 คน อพยพเข้ามาพร้อมด้วยศิลปวัตถุล้ำค่าจำนวนมาก (เชื่อกันว่า วัตถุจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ กว่า 600,000 ชิ้น เป็นสมบัติที่ถูกนำเข้ามาจากการอพยพครั้งนั้น)  พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ (The National Palace Museum)ภาพ: http://www.npm.gov.tw/en/           การอพยพโดยการนำของนายพลเจียง ไคเช็ก ครั้งนั้น อาจเทียบได้กับการลี้ภัยทางการเมืองของผู้คนที่เชื่อในแนวคิดประชาธิปไตยแบบ ดร.ซุน ยัด เซ็น พร้อมกับความหวังว่า สักวันจะได้กลับสู่ประเทศแม่อีกครั้งด้วยการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ความเชื่อแบบนั้นไม่เกิดขึ้นในแผ่นดินใหญ่ แต่กลับงอกงามบนเกาะไต้หวันที่ปัจจุบันมีการปกครองแบบสาธารณรัฐจีน คือ "เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยของประชาชน ประชาชนปกครอง และเป็นไปเพื่อประชาชน"          ไต้หวันเป็นเกาะขนาดใหญ่ รูปร่างคล้ายมันเทศ จึงมีชื่อเรียกกันเล่นๆ ว่า “เกาะมันเทศ” กบอ้วนลองเอาภาพถ่ายทางอากาศที่ถ่ายโดยองค์การนาซา แผนที่ที่ปรากฎบน Google Map และแผนที่เขตปกครองต่างๆ ของไต้หวันมาเทียบให้ชมกัน ลองดูค่ะว่า เหมือนกับมันเทศรึเปล่า? หรือว่า ท่านเห็นเป็นรูปอะไร???                    ภาพ: NASA                                                         ภาพ: Google Map   ภาพ: http://www.1000milesjourney.com/              จากการเดินทางทำให้รู้ว่า ไต้หวันให้ความสำคัญกับพิพิธภัณฑ์/ แหล่งเรียนรู้อย่างมาก ทุกเมืองที่ได้ไปพบพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้อย่างน้อย 1 แห่ง ที่บอกเล่าความเป็นมาของเมือง หรือเรื่องราวของชุมชนที่อยู่ตรงนั้น เช่น เมืองจินกั๋วสือ (Jinguashi) อดีตเป็นเหมืองทองคำขนาดใหญ่ มี Gold Ecological Parkที่บอกเล่าชีวิตของคนงานเหมือง ขณะที่เมืองตันสุยเมืองท่าสำคัญทางภาคเหนือกลับเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไต้หวันถึงการเข้ามาของชาติตะวันตก หรือ เมืองเป่ยโถว (Beitou) ที่เล่าความรุ่งเรืองในอดีตของเมืองได้เป็นอย่างดีผ่าน Beitou Hot Spring MuseumและKetagalan Culture Centerที่เล่าเรื่องราวของชนพื้นเมืองบนเกาะแห่งนี้                                Gold Ecological Park                                     Ketagalan Culture Center                  ขณะที่เมืองหลวงของไต้หวัน อย่างไทเปมีพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดร.ซุน ยัด เซ็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน พิพิธภัณฑ์ศิลปะ หอศิลปะร่วมสมัย พิพิธภัณฑ์เค้กและขนมอบ ฯลฯ National Taiwan Museum                              Taipei Fine Arts Museum   Kuo Yuan Ye Museum of Cake and Pastry  อนุสรณ์สถานเจียง ไคเช็ก             การแนะนำพิพิธภัณฑ์ที่ไต้หวันครั้งนี้ กบอ้วนขอเล่าประสบการณ์การเดินทาง (ส่วนตัว) นะคะ ว่า ไปที่ไหน? ไปเจออะไร? แล้วประทับใจตรงไหน? อาจจะไม่ครอบคลุมทั่วทั้งเกาะ (เพราะยังไปไม่ทั่วนะฮะ) แต่จะเล่าถึงที่ที่เคยไปชมมาค่ะ การเล่าก็ขอแบ่งเล่าเป็นตอนๆ ไป เพื่อง่ายต่อความเข้าใจและการเรียบเรียง ตอนนี้ขอเกริ่นให้ทุกท่านได้รู้จักกับเกาะที่มีรูปร่างคล้ายมันเทศก่อน ว่า มีประวัติศาสตร์อย่างไร? มีอะไรน่าสนใจบ้าง? ตอนหน้าสัญญาว่า จะพาเที่ยวพิพิธภัณฑ์แล้วค่ะ แล้วพบกันนะคะ....

ถึงเธอ เฮอร์มิเทจ พิพิธภัณฑ์แห่งกรุงเซนปีเตอร์เบิร์ก

โพสต์เมื่อ 19 เมษายน 2564

“มีแค่หนูกับฉันเท่านั้นที่สามารถชื่นชมผลงานเหล่านี้ได้”  นี่คือส่วนหนึ่งในบันทึกคำกล่าวของพระนางแคทเธอรีนที่ 2 มหาราช หรือซารีนาแคทเธอรีน ผู้เก็บสะสมสมบัติส่วนพระองค์และพระเจ้าปีเตอร์มหาราชแห่งรัสเซียขึ้น ภายในพระราชวังฤดูหนาวหรือเฮอร์มิเทจ ณ กรุงเซนปีเตอร์เบริ์ก  เมืองเซนปีเตอร์เบริ์ก (St.Petersburg) มี 3 ชื่อและเปลี่ยนชื่อตามยุคสมัย ชื่อเซนปีเตอร์เบริ์ก เริ่มใช้ในปี ค.ศ.1703-1914    ต่อมาเปลี่ยนเป็นเปโตรกราด (Petrograd)  ใช้ในปี ค.ศ.1914 -1924  และเลนินกราด (Leningrad) ใช้ในปี ค.ศ. 1924 -1991 จากนั้นจึงกลับมาใช้เซนต์ปีเตอร์เบิร์กอีกในปี ค.ศ. 1991ถึงปัจจุบัน น้อยคนนักที่จะได้เห็นข้าวของสมบัติสะสมของพระนาง จวบจนศตวรรษที่ 18  เมื่อพระราชวังแห่งนี้ได้เปิดให้สาธารณชนเข้าชมเป็นครั้งแรกในชื่อ พิพิธภัณฑ์สเตจเฮอร์มิเทจ(State Hermitage Museum)  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับการบันทึกในหนังสือสถิติโลกกินเนสส์ว่า เป็นหอศิลป์ที่มีงานสะสมมากชิ้นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ตามไปชมกันค่ะ พระนางแคทเธอรีนที่ 2 มหาราช (ภาพโดยอมรรัตน์ นุกูล) พิพิธภัณฑ์สเตทเฮอร์มิเทจ หรือพระราชวังฤดูหนาว (ภาษารัสเซีย: Зи́мний дворе́ц)  คำว่า "เฮอร์มิเทจ" มาจากรากศัพท์ดั้งเดิมภาษาฝรั่งเศสและภาษาละติน eremites หรือ hermit ที่แปลว่า ผู้อยู่สันโดษ โดดเดี่ยวตามลำพัง ในอดีตเคยเป็นพระราชวังหลวงของราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov) ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1732 ถึง 1917 ตั้งอยู่ระหว่างท่าวัง (Palace Quay) ของแม่น้ำเนวา (แม่น้ำที่เชื่อมทางออกสู่ทะเลอ่าวฟินแลนด์) กับจัตุรัสพระราชวัง (Palace Square)ที่เป็นลานอันกว้างใหญ่ อยู่ด้านหน้าของเฮอร์มิเทจ ตรงกลางลานเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 (Alexander I หรือ Alexander Column)  สร้างในปี ค.ศ. 1801-1825 เป็นรูปนางฟ้ายืนถือไม้กางเขนอยู่บนยอดเสาหินแกรนิตสีแดง สูงรวม 47.5 เมตร หนักถึง 600 ตัน เป็นสัญลักษณ์ที่ระลึกถึง พระเจ้า Alexander I ทีมีชัยชนะเหนือจักรพรรดิโปเลียน ในปี ค.ศ.1812 อาคารเฮอร์มิเทจเป็นตึกโทนสีเขียวตัดกับสีขาว ศิลปะสถาปัตยกรรมแบบบาโรค (Baroque Style) สร้างในปี ค.ศ. 1764 ตัวอาคารเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูงราว 30 เมตร ด้านหน้ามีความยาว 250 เมตร ออกแบบด้วยสถาปนิกหลายคน โดยมีสถาปนิกหลักคือ ฟรานเชสโก บาร์โทโลมีโอ รัสเทรลลี  (Francesco Bartolomeo Rastrelli)ชาวอิตาเลียน  มีการก่อสร้างเพิ่มเติมและดัดแปลงมาเรื่อยๆ ปัจจุบันมีอาคารเชื่อมต่อกันจำนวน 5 หลังได้แก่ พระราชวังฤดูหนาว(Winter Palace) เฮอร์มิเทจอาคารเล็ก (Small Hermitage) เฮอร์มิเทจอาคารเก่า (Old Hermitage) เฮอร์มิเทจอาคารใหม่ (New Hermitage) และ โรงละครเฮอร์มิเทจ(Hermitage Theatre) อาคารพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ (ภาพโดย อมรรัตน์ นุกูล) การเข้าเยี่ยมชมเฮอร์มิเทจนั้นสามารถซื้อตั๋วได้แบบปกติ และแบบผ่านทางเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ  หากซื้อแบบทางออนไลน์แล้ว คุณก็จะได้รับตั๋วผ่านทางอีเมลที่ลงทะเบียนไว้  ส่วนประตูทางเข้าของผู้ที่ซื้อตั๋วแบบออนไลน์นั้น  อยู่บริเวณอาคารเล็กเฮอร์มิเทจ (Small Hermitage) ให้เลี้ยวขวาตรงด้านประตูทางเข้าหลัก เมื่อเดินผ่านเข้าประตูแล้ว เจ้าหน้าที่ตรวจสอบกระเป๋า ด้านในมีห้องน้ำกว้างขวาง สะดวก  และมีพื้นที่ขายของที่ระลึก อีกทั้งไม่ต้องแลกตั๋วเข้าชมแต่ประการใด เพียงแค่คุณพิมพ์ตั๋วที่มีแถบบาร์โคด ให้ครบถ้วนก็สามารถนำตั๋วที่พิมพ์ออกมานั้น  สแกนผ่านเครื่องแล้วเข้าไป ด้านในอย่างสะดวกสบาย สำหรับราคาตั๋ว 1 วัน อยู่ที่ 17.95 ดอลล่าห์  (ประมาณ 650 บาท )  ตั๋ว 2 วัน ราคา  22.95 ดอลล่าห์ ราคานี้รวมค่าถ่ายภาพและกล้องวิดิโอ เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้คุณยังสามารถดาวน์โหลแอพพลิเคชั่นของเฮอร์มิเทจได้ผ่านบนหน้าจอมือถือ แอพพลิเคชั่นนี้ แสดงข้อมูลทั้งความเป็นมา การเดินทาง ตั๋วเข้าชม แผนผังห้องจัดแสดง ข้อมูลเบื้องต้น คอลเล็กชั่นต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมข่าวสาร นิทรรศการของพิพิธภัณฑ์  Free Wifi  นี่สินะสมเป็นพิพิธภัณฑ์ระดับโลก ต้องปรับตัวตามกระแส     ที่สำคัญขอแนะนำว่า ต้องวางแผนการเดินทางที่นี่ให้ดีนะคะ เพราะพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก งานศิลปะวัตถุไม่ว่าจะเป็น รูปปั้น ภาพเขียน ภาพวาด นาฬิกา ราชรถ อาวุธ เฟอร์นิเจอร์ต่าง ฯลฯ มีจำนวนถึงสามล้านชิ้น!!!และยังเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เก่าที่สุดในโลก  จากการจัดอันดับ 10 พิพิธภัณฑ์น่าชมทั่วโลก จัดโดย BBC Culture State Hermitage Museum Application ความเป็นมาของเฮอร์มิเทจนั้น แรกเริ่มสร้างเพื่อใช้เป็นพระราชวังที่ประทับของพระนางอลิซาเบธ (ค.ศ.1741-1761 ) และก่อสร้างเสร็จเมื่อปี 1762 แต่พระนางอลิซาเบธสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อน ทำให้พระราชวังแห่งนี้ กลายเป็นที่ประทับของซารีนา แคทเทอรีน หรือ พระนางแคทเธอรีนที่ 2 มหาราช (ค.ศ.1762-1796 ) ซึ่งขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 3 (ค.ศ.1761-1762) พระราชสวามี  ซึ่งตลอดในรัชสมัยของพระนางนั้น รัสเซียได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจหนึ่งของยุโรป เพราะรัสเซียขณะนั้นได้ขยายพรมแดนออกไปทางด้านทะเลดำและทะลเมดิเตอร์เรเนียนได้สำเร็จ รวมทั้งได้มีการปฏิรูประบอบการปกครองและสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับมหาอำนาจยุโรปอื่นๆ ทำให้กรุงเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก กลายเป็นมหานครที่เป็นศูนย์กลางการค้า สินค้าหรูหรา ฟุ่มเฟือยที่สำคัญของยุโรปและเอเชีย อีกเหล่าขุนนางและชนชั้นสูงต่างนิยมสะสม ศิลปวัตถุ และรูปภาพที่มีชื่อเสียงและราคาแพง เพื่อประกวดประชันกัน ตลอดจนยินดีจ่ายค่าจ้างจำนวนมหาศาล  ให้คณะแสดงต่างๆ ที่มีชื่อเสียงของยุโรปไม่ว่าจะเป็นคณะละคร ระบำ ดนตรี วงอุปรากร มาเปิดการแสดงที่นี่ ไม่เพียงแต่เหล่าชนชั้นสูงต่างประกวดประชันกันเท่านั้น ซารีนาแคทเธอลีน พระนางเองก็ทรงเป็นนักสะสมตัวแม่ พระนางเริ่มสะสมผลงานศิลปะ ในปี ค.ศ. 1764 จากพ่อค้าชาวเบอร์ลิน ชื่อ Johann Ernst Gotzkowsky โดยซื้อภาพเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบ จำนวน 225 ภาพ ภาพทั้งหมดล้วนวาดโดยจิตรกรที่มีชื่อในยุโรปในขณะนั้น พระนางสะสมศิลปวัตถุและโบราณวัตถุจากนานาประเทศยุโรปเรื่อยมาจนทำให้พระราชวังเฮอร์มิเทจ ต้องขยายพื้นที่ เพื่อเก็บของสะสมนานาชนิดของพระนาง ในปี ค.ศ.1764 -1766 พระนาง มีพระบัญชาให้ ยูรี เฟลเทน (Yury Felten) ขยายพื้นที่การจัดสร้างพระราชวังไปยังด้านทิศตะวันออก  ปีถัดมาสั่งนายช่างชาวฝรั่งเศสชอง เบสติสต์ (Jean – Baptist Ballin de la Mothe) สร้างอาคารเพิ่มเติมทางด้านทิศเหนือบนฝั่งของแม่น้ำเนวา  และในระหว่างปีนั้นเองพระนางได้ วางของสะสมในศิลปะสมัยใหม่ (Neoclassic) มาไว้ยังอาคารที่เรียกว่า Small Hermitageและในระหว่างปี 1769 ถึง 1779 พระนางได้จัดซื้อภาพของศิลปินและภาพศิลปวัตถุ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากศิลปิน, ทายาทเจ้าของที่ผู้เคยครอบครองผลงานของศิลปิน อาทิ ภาพของ Bruhl 600 ภาพ ภาพของ Crozat  ภาพ Robert Walpole ในลอนดอน 198 ภาพ  ภาพวาดของท่านเคานท์ Baudouin 119 ภาพ นอกจากภาพวาดแล้วพระนางยังโปรดที่จะซื้อสะสมเครื่องประดับต่างๆ ไว้อย่างมากมาย ว่ากันว่าในตลอดพระชนม์ชีพของพระนางนั้น สะสมภาพวาดไว้ถึง 4,000 ภาพ หนังสือ 30,000 กว่าเล่ม เครื่องประดับแกะสลัก 10,000 ชิ้น ภาพเขียนกว่า 10,000 ภาพ เหรียญต่างๆ อีก 16,000 เหรียญ  นอกจากนั้นยังมีของสะสมอื่นๆ  ไม่ว่าจะเป็นวัตถุทางธรรมชาติ และมนุษย์จัดทำขึ้น เหรียญตรา ห้องที่ใช้จัดวางข้าวของเหล่านี้ ต้องใช้พื้นที่ที่มีทั้งหมดราว 400 กว่าห้อง ต่อมาในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 (คศ.1801-1825) และพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 (คศ.1840 -1843) ได้ทรงจัดซื้อภาพวาดเพิ่มขึ้น พร้อมกับจัดหมวดหมู่ของสะสมต่างๆ   รวมทั้งปรับปรุงอาคารเล็กของเฮอร์มิเทจเรื่อยมา จนกระทั่ง อาคารใหม่ของเฮอร์มิเทจสร้างเสร็จ จึงได้เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1852 ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจแบ่งออกเป็น 3 ชั้น  พื้นที่จัดแสดงหลัก อาทิ ห้องอิยิปต์ (Egyptian) ห้องศิลปะคลาสสิก (Classical) ห้องศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์(Prehistoric art)ห้องศิลปะวัตถุแสดงเครื่องประดับ(Jewelry and decorative art) ห้องศิลปะแบบอิตาเลียนและสเปน(Italian and Spanish fine art)ห้องอัศวิน(Knight's Hall) ห้องศิลปะยุโรปสไตล์บาโรค(Dutch Golden Age and Flemish Baroque) ห้องศิลปะแบบเยอรมัน อังกฤษ สวิส และฝรั่งเศส(German, British, Swiss and French fine art) ห้องศิลปะสมัยนีโอคลาสสิกและสมัยใหม่(Neoclassical, Impressionist, and post-Impressionist art) และ ห้องศิลปะรัสเซีย (Russian art)     เมื่อเดินผ่านเข้าไป ตามห้องหมายเลขต่างๆ แทบทุกห้องล้วนมีการตกแต่งที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเรือน ภาพวาด ภาพเขียน ห้องนั่งเล่น ห้องสมุด ห้องโถง ฯลฯ สมพระเกียรติแห่งซาร์ (Tsar) รัสเซีย  เราตามไปชมความงดงามของเธอเฮอร์มิเทจ ห้องนิทรรศการและภาพศิลปะบางส่วนด้วยกันค่ะ ห้องบันไดจอร์แดน The Jordan Staircase บริเวณห้องโถงและบันได  ชั้น 1 ที่จะเดินเข้าไปชมยังห้องนิทรรศการต่างๆ ในบริเวณชั้น 2 สร้างในปี1866 แต่ถูกไฟไหม้เสียหายใน ปี 1837 (ภาพโดย อมรรัตน์ นุกูล) ห้องมาลาไคท์ The Marachite Room ชั้น 2 ห้อง หมายเลข 189 หินมาลาไคท์เป็นหินที่พบมากในรัสเซีย ลักษณะเป็นสีเขียวสว่างไปจนถึงเขียวเข้มอมดำ มีความสวยงาม จึงถูกนำมาใช้ตกแต่งเพดานผนัง และใช้ในการตกแต่งพระราชวัง (ภาพโดย อมรรัตน์ นุกูล) ห้องสงคราม War Gallery of 1812 เป็นการระลึกถึงชัยชนะของรัสเซียที่มีต่อนโปเลียนของฝรั่งเศส บนกำแพงจะแขวนภาพของนายพลที่รบในสงครามปี 1812 จำนวน 332 ท่าน (ภาพโดย อมรรัตน์ นุกูล) ห้องอิตาเลียน The Large Italians Skylight Room ชั้น 2 ห้องหมายเลข 238ภายในห้องนี้ตกแต่งด้วยปฏิมากรรมหินอ่อน และการตกแต่งห้องด้วยวาดผนังห้องอย่างสวยงาม (ภาพโดย นฤมล น ธรรมโม) ห้องราฟาเอล The Raphael Loggias ห้องหมายเลข 227 เป็นห้องระเบียงยาวประกอบด้วยภาพวาด ผลงานของ Raphael รวมเรื่องราวตามคัมภีร์ไบเบิล   (ภาพโดย ฤตา ไชยอิ่นแก้ว) ห้องโถงประจำราชวงศ์ The Armorial Hall ออกแบบเพื่อใช้เป็นห้องโถงต้อนรับ  สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงปีเตอร์ มหาราช มีบัลลังก์ และรูปของพระองค์อยู่ด้านหลัง ยิ่งใหญ่อลังการด้วยเสาทองต้นใหญ่ (ภาพโดย อมรรัตน์ นุกูล) โบสถ์ใหญ่ในเฮอร์มิเทจ Grand Church ใช้เป็นสถานที่ทำพิธีอภิเษกสมรส และพิธีทางศาสนาต่างๆ (ภาพโดยอมรรัตน์ นุกูล) ห้อง Pavilion Hall หมายเลข 204 เป็นห้องสีขาวขนาดใหญ่ มีแชนเดอเลียร์ขนาดใหญ่ละลานตาจำนวน 28 โคม มีนาฬิกานกยูงทองลำแพนหางได้ และด้านข้างประกอบด้วย  นกฮูก และไก่สีทอง สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 แต่ยังทำงานได้อยู่ สามารถชมนาฬิกานี้ทำงานได้ผ่านจอทีวีที่อยู่ด้านข้าง (ภาพโดย อมรรัตน์ นุกูล) บางส่วนของ ภาพศิลปะ ปฎิมากรรม เครื่องประดับ เสื้อผ้า ฯลฯ ในศตวรรษที่ 16 -18 ภาพโดย นฤมล น ธรรมโม ภาพโดย อมรรัตน์ นุกูล ภาพโดย ฤตา ไชยอิ่นแก้ว ภาพโดย ฤตา ไชยอิ่นแก้ว หากเราเปรียบเฮอร์มิเทจ (Her – mitage) เป็นหญิง เธอผู้นี้ก็เปล่งประกายสวย อย่างมีระดับ  และยังอยู่และยืนหยัดท่ามกลางวิกฤตการณ์หลายครั้ง ดังเช่น  ตัวพระราชวังได้ประสบเพลิงไหม้อย่างหนักในปี ค.ศ. 1837    และเคยถูกจู่โจมทั้งจากทหาร และประชาชนในช่วงการปฏิวัติรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1917  ไม่เว้นแม้แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี ค.ศ. 1941 กองทัพนาซีได้เข้าปิดล้อมกรุงเซนปีเตอร์เบิร์กนานถึง 900 วัน โชคดีที่ศิลปวัตถุจำนวนกว่า 2 ล้านชิ้น ได้ถูกขนย้ายด้วยรถไฟ นำไปซ่อนไว้ที่เทือกเขาอูราล ที่เมืองเอกาเตรินเบิร์ก ได้ทัน และยังขนย้ายไปอีกหลายแห่ง ทำให้บางส่วนถูกนำมาขายทอดตลาดให้กับต่างชาติ ทั้งในอเมริกาและอังกฤษ สำหรับในช่วงปี ค.ศ. 1918 รัฐบาลสหภาพโซเวียตได้ชี้นำอุดมการณ์ทางการเมือง ด้วยการใช้นโยบายนำศิลปะแบบสังคมนิยมไปสู่ประชาชน  เชิญชวนให้สาธารณะชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และตัดสินใจว่ารัฐควรจัดซื้อและรวบรวมงานศิลปะแบบใดเป็นสมบัติของประเทศ พระราชวังเฮอร์มิเทจเองก็ได้เป็นหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับประชาชนโดยมีการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ การแสดง และการบรรยายด้านศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนการจัดแสดงคอนเสิร์ตเพื่อประชาชนขึ้นเป็นประจำ กิจกรรมที่ว่านี้ยังคงสืบทอดจนถึงปัจจุบัน   นอกจากนี้รัฐบาลโซเวียตยังนำสมบัติของพระเจ้าซาร์และราชวงศ์จากพระราชวังอื่นๆ มารวมไว้ที่เฮอร์มิเทจ  และพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ ยังมีชื่อการจัดตั้งสาขาในเมืองใหญ่ๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา อาทิ กรุงอัมสเตอร์ดัมใน เนเธอร์แลนด์กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมืองแฟร์รารา ประเทศอิตาลี และนครลาสเวกัส สหรัฐอเมริกาอีกด้วย เมื่อแรกเข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์ เราเดินชมของสะสม ภาพงานศิลปะอย่างพิจารณาถ้วนถี่ ถ่ายภาพกันเพลิดเพลิน แต่เรากลับพบว่าเพียง 3-4 ชั่วโมงนั้น เราเดินชมเพียงชั้น 2 และ 3 บางส่วนเท่านั้น นี่เพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งที่ได้รู้จักเธอ เฮอร์มิเทจ จนเวลาใกล้จะปิดพิพิธภัณฑ์ ทำให้เราต้องรีบเดินจนถึงวินาทีสุดท้าย เจ้าหน้าที่ต้องไล่ต้อนพวกเราและนักท่องเที่ยวอื่นๆ ออกมารวมกันยังประตูทางออก หนึ่งในคณะของเราถึงกับเปรยขึ้นว่า  “We need two years in Hermitage Museum”  เราขอเวลาอีกสองปีในการชมพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ !!อ้างอิง  ไพรัตน์ สูงกิจบูลย์. พรีเวียตรัสเซีย. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์อทิตตา, 2554. หน้า 118 – 119. สัญชัย สุวังบุตร. เลนินกับการสร้างรัฐสังคมนิยมโซเวียต. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2553. หน้า 254-258. อนันต์ชัย เลาะหะพันธุและสัญชัย สุวังบุตร. รัสเซียสมัยซาร์และสังคมนิยม. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2553. หน้า 115 – 122. http://hermitagemuseum.org/wps/portal/hermitage/?lng=en  (เข้าถึงเมื่อ 2 สิงหาคม 2559 ) https://en.wikipedia.org/wiki/Hermitage_Museum#Egyptian_antiquities(เข้าถึงเมื่อ 2 สิงหาคม 2559 ) http://www.yingpook.com/-hermitage-st-petersburg (เข้าถึงเมื่อ 2 สิงหาคม 2559) 

พาไปส่องพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโตเกียว Tokyo National Museum

โพสต์เมื่อ 07 เมษายน 2564

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติโตเกียว Tokyo National Museum (TNM) เป็น 1 ใน 7 พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของญี่ปุ่น ตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะอูเอโนะ (Ueno) เขตไทโดะ ในกรุงโตเกียว เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1872 เป็นที่จัดเก็บ และจัดแสดงสมบัติประจำชาติญี่ปุ่นและของเอเชีย ทั้งงานศิลปะและโบราณวัตถุกว่า 110,000 ชิ้น มีอาคารจัดแสดงที่น่าสนใจถึง 6 อาคาร แต่ละอาคารต่างมีประวัติความเป็นมาและวัตถุจัดแสดงที่แตกต่างกันไป...แผนผังอาคารจัดแสดงภายใน Tokyo National Museumอาคารจัดแสดงหลักคือ อาคาร Honkan ที่เดิมสถาปนิกชาวอังกฤษ Josiah Conder ออกแบบไว้เป็นสไตล์ตะวันตก ต่อมาในปี ค.ศ.1923 ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากเหตุแผ่นดินไหวในเขตคันโต จากนั้น วาตานาเบะ จิน (Watanabe Jin) ได้ออกแบบอาคารขึ้นใหม่เน้นให้เป็นตะวันออกมากขึ้น และเริ่มก่อสร้างในปี ค.ศ.1932 เปิดให้เข้าชมในปี ค.ศ.1938 เป็นที่จัดแสดงงานศิลปะญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงศตวรรษที่ 19 โดยชั้น 2 ของอาคารเป็นห้องจัดแสดง “งานศิลปะชั้นครูของญี่ปุ่น” ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปโบราณ หน้ากาก เครื่องแต่งกาย ชุดเกราะ และอาวุธยุทโธปกรณ์อาคาร Honkan ภาพจาก: http://www.japan-guide.com/e/e3054_tokyo.htmlห้องจัดแสดงภายในอาคาร ภาพจาก: https://chillchilljapan.com/3-museums-in-ueno-park/วัตถุจัดแสดง ภาพจาก: http://japantourlist.com/tokyo-national-museum-a-few-hours-in-the-japanese-galleryวัตถุจัดแสดงภายในอาคาร Honkan ภาพจาก: https://chillchilljapan.com/3-museums-in-ueno-park/อาคารหลังที่สอง คือ อาคาร Hyokeikan เป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุด ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1909 ในวาระการเฉลิมฉลองงานอภิเษกของจักรพรรดิ Taisho ชื่ออาคารมีความหมายว่า "การแสดงความยินดี" รูปแบบอาคารถือเป็นตัวแทนงานสถ​​าปัตยกรรมแบบตะวันตกในสมัยเมจิตอนปลาย (ช่วงต้นศตวรรษที่ 20) และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติทางวัฒนธรรม ปัจจุบันเป็นที่จัดนิทรรศการชั่วคราวอาคาร Hyokeikan   ภาพจาก: http://www.gettyimages.comส่วนอาคารที่ตรงข้ามกับอาคาร Hyokeikan คือ อาคาร Toyokan ได้รับการออกแบบในปี ค.ศ. 1968 โดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่น Taniguchi Yoshiro เป็นที่จัดแสดงงานศิลปะของเอเชีย และสิ่งประดิษฐ์จากประเทศจีน เกาหลี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง อินเดีย และอียิปต์อาคาร Toyokan ภาพจาก: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Toyokan_of_Tokyo_National_Museum.jpgอาคารหลังที่ 4 ตั้งอยู่ด้านหลังอาคาร Honkan คือ อาคาร Heiseikan สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกงานอภิเษกสมรสของมกุฎราชกุมาร ในปี ค.ศ. 1993 เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุของญี่ปุ่น และนิทรรศการชุดพิเศษ (Japanese Archaeology and Special Exhibition)อาคาร Heiseikan ภาพจาก: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Heiseikan_of_Tokyo_National_Museum.jpgส่วนอาคาร Horyuji Homotsukan หรือ The Gallery of Horyuji Treasures เป็นอาคารที่จัดแสดงสมบัติของวัดโฮรีว จังหวัดนารา ที่มอบให้กับทางสำนักราชวังพระราชสำนักอิมพีเรียล เมื่อปี ค.ศ.1878 ซึ่งมีมากกว่า 300 ชิ้น ตัวอาคารได้รับการออกแบบจาก Yoshio Taniguchi และใช้เทคโนโลยีล่าสุดในการอนุรักษ์และนำเสนอ มีห้องจดหมายเหตุดิจิตอลที่อนุญาตให้ผู้ชมสามารถชมสมบัติของวัดโฮรีวได้ทุกชิ้น ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่มีคำอธิบายทั้งภาษาญี่ปุ่น จีน เกาหลี อังกฤษ และฝรั่งเศสให้เลือกอาคาร Horyuji Homotsukan ภาพจาก: http://www.arcspace.comอาคาร Kuroda Memorial Hall ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้ KurodaSeiki (1866- 1924) ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่เป็นที่รู้จักว่า เป็นบิดาแห่งภาพวาดสไตล์ตะวันตกที่ทันสมัย ภายในจัดแสดงภาพวาดสีน้ำมัน ภาพสเก๊ตช์ของคุโรดะ และศิลปินคนอื่นๆ เปิดให้เข้าชม ปีละ 3 ครั้งๆ ละ 2 สัปดาห์เท่านั้น ท่านที่สนใจจะไปชม สามารถเช็คตารางการเปิด- ปิดได้ล่วงหน้าที่เว็บไซต์ http://www.tnm.jp อาคาร Kuroda Memorial Hall ภาพจาก: http://www.gotokyo.org/en/tourists/topics_event/topics/150202/topics.html Lakeside, 1897 ภาพจาก: https://en.wikipedia.org/wiki/Kuroda_SeikiMaiko Girl, 1893 ภาพจาก: http://wiki.samurai-archives.com/index.php?title=Kuroda_Seikiเนื่องจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโตเกียว มีนโยบายหมุนเวียนวัตถุที่จัดแสดงเป็นประจำ ทำให้การไปชมนิทรรศการแต่ละครั้งเราอาจจะไม่ได้พบวัตถุจัดแสดงชิ้นเดิม แต่จะพบวัตถุประเภทเดียวกันที่มีลักษณะคล้ายกันมากกว่า และในบางครั้ง (ภายในอาคาร Honkan- อาคารจัดแสดงหลัก) พิพิธภัณฑ์ก็จะกำหนดหัวข้อพิเศษขึ้นมา เพื่อนำเสนอวัตถุจัดแสดงที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนั้นๆ เช่น ช่วงเดือนมีนาคม- พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ดอกซากุระบานบานทั่วญี่ปุ่น ทางพิพิธภัณฑ์ก็ได้นำเสนอและจัดแสดงวัตถุประเภทต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับดอกซารุกะ หรือเทศกาลชมดอกซากุระแทรกไว้ในนิทรรศการหลักได้อย่างน่าสนใจ มีใบงานแจกให้ตามหาวัตถุชิ้นสำคัญและเล่นเกมส์ตามจุดต่างๆ ภายในห้องจัดแสดง เมื่อทำครบสามารถนำมาแลกรับของที่ระลึกได้อีกด้วย สำหรับการถ่ายภาพวัตถุจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ พบว่า บางอาคาร บางห้องจัดแสดง และวัตถุจัดแสดงบางชิ้น ทางพิพิธภัณฑ์ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ หรือถ้าให้ถ่ายรูปได้ก็ห้ามใช้แฟลช อย่างไรก่อนลงมือกดชัตเตอร์สังเกตป้ายที่ติดตามตู้จัดแสดงด้วยค่ะ เพราะ TNM มีอาคารจัดแสดงถึง 6 อาคาร ที่มีเงื่อนไขการเปิด- ปิด และจัดแสดงวัตถุที่แตกต่างกัน ดังนั้นก่อนไปเยี่ยมชมควรเช็คตารางเวลาของทางพิพิธภัณฑ์สักหน่อย เพื่อป้องกันความผิดพลาด แล้วจะพาลทำให้หงุดหงิดใจจนหมดสนุกในการชม แต่ถ้าไม่ได้เฉพาะเจาะจงจะชมวัตถุ หรือนิทรรศการใดเป็นพิเศษ ก็ขอแนะนำว่า ไปโตเกียวครั้งใด ไม่ควรพลาดการเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วยประการทั้งปวง... ถ้าไม่มีเวลาชมมากนัก ขอแค่ไปเดินชมความสวยของอาคาร และสวนภายในพิพิธภัณฑ์...ก็คุ้มแล้วค่ะ!!!Tohaku-Kun (ตุ๊กตาเต้นรำดินเผา) 1 ในมาสคอตประจำพิพิธภัณฑ์ TNMอ้างอิง Guide Map- Tokyo National Museum http://www.tnm.jp (เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559) http://www.japan-guide.com/e/e3054_tokyo.html (เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559) http://www.arcspace.com/features/yoshio-taniguchi-and-associates/the-gallery-of-horyuji-treasures/ (เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559) http://www.gettyimages.com/license/498158174 (เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559) http://japantourlist.com/tokyo-national-museum-a-few-hours-in-the-japanese-gallery (เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559) http://www.mangovine.net/site/entry/top_japanese_treasures_at_the_tokyo_national_museum (เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559) https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Toyokan_of_Tokyo_National_Museum.jpg (เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559) http://www.gotokyo.org/en/tourists/topics_event/topics/150202/topics.html (เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559) https://chillchilljapan.com/3-museums-in-ueno-park/ (เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2559) https://en.wikipedia.org/wiki/Kuroda_Seiki (เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2559) http://wiki.samurai-archives.com/index.php?title=Kuroda_Seiki (เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2559)

19 พิพิธภัณฑ์บ้าน(ไม่) เก่า แรงบันดาลใจแห่งการอนุรักษ์

โพสต์เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2564

ครั้งหนึ่งบ้านอาจทำหน้าที่เป็นที่พักอาศัย  เมื่อเวลาล่วงเลย บ้านอาจเปลี่ยนบทบาทไปสู่การเป็นพิพิธภัณฑ์   พิพิธภัณฑ์บ้านมีเจ้าของทั้งที่เป็นเจ้าของเดิม และเจ้าของรับมรดกตกทอดมา มีทั้งที่เป็นของเอกชน และหน่วยงานรัฐ  บางแห่งยังมีผู้อยู่อาศัยในเรือน ความรักและภาคภูมิใจในสมบัติเดิม เป็นพลังผลักดันสำคัญให้ผู้ครอบครองบำรุงรักษาและเผยแพร่เกียรติคุณของบุคคลเจ้าของเรือน ตัวเรือน ตลอดจนสมบัติวัตถุในเรือน ให้ดำรงอยู่อย่างสง่างาม ในฐานะแหล่งเรียนรู้ของสังคม ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษายวิทยาสิรินธร ชวนคุณมาเคาะประตู ทำความรู้จัก “19 พิพิธภัณฑ์บ้าน” สถานที่อวลด้วยความงาม ความรู้ ความรัก และความทรงจำ  ที่ทุกอย่างแม้เก่า แต่ก็ไม่ทุบทิ้ง! พื้นที่ทุกตารางนิ้วของบ้านถูกเปลี่ยนให้กลายประโยชน์กับสังคม 1.      พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)    ตรัง บ้านเลขที่ 1 เรือนไม้สองชั้นสีเขียว ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ ภายในอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เคยเป็นที่พำนักของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) ปัจจุบันเป็นสมบัติที่อยู่ในความครอบครองของตระกูล “ณ ระนอง” และอนุญาตให้โรงเรียนกันตังพิทยากร เข้ามาดำเนินการจัดการพิพิธภัณฑ์ ทำหน้าที่ดูแลและให้บริการความรู้ต่างๆ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 วัตถุจัดแสดงภายในมีทั้งเครื่องเรือน ข้าวของเครื่องใช้ และภาพถ่ายเก่า ที่แสดงให้เห็นการดำเนินชีวิตภายในเรือน และแสดงให้เห็นสายสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของเรือนกับบุคคลอื่นๆ ในช่วงชีวิต อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1091 2.      บ้านชินประชา  ภูเก็ต ริมถนนกระบี่ ภายในเมืองภูเก็ต เป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่ 98 บ้านที่มีสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “ชิโน-โปรตุกีส” หลังแรกของเมืองภูเก็ต ชื่อว่า “บ้านชินประชา” สร้างขึ้นในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยพระพิทักษ์ชินประชา (ตันม่าเสียง) คหบดีเชื้อสายจีนที่เกิดในภูเก็ต เพื่อสำหรับใช้เป็นเรือนหอ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปีจึงแล้วเสร็จ บ้านชินประชาเป็นบ้านที่ภายในโปร่งโล่งสบาย มีหน้าต่างค่อนข้างมาก ตรงกลางบ้านมีบ่อน้ำ ทำให้ช่วยระบายอากาศได้ดี ปัจจุบันยังคงไว้ซึ่งการตกแต่งแบบดั้งเดิม เครื่องเรือนส่วนใหญ่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษเมืองจีน   และอีกส่วนหนึ่งที่สั่งมาจากต่างประเทศผ่านทางปีนัง           อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum /museum-detail/1199 3.      บ้านพิพิธภัณฑ์ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร  ประจวบคีรีขันธ์ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร  เจ้าของวลี “เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” และผู้คิดค้นสายพันธุ์แตงโมบางเบิดที่โด่งดังในอดีต ท่านละทิ้งหน้าที่การงานที่กำลังรุ่งโรจน์และความสุขสบายในเมืองหลวง มาบุกเบิกงานเกษตรกรรมแผนใหม่ในนามฟาร์มบางเบิด ชายทะเล จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตำหนักบางเบิดสร้างด้วยไม้และมุงหลังคาจาก ผุพังไปตามกาลเวลา จนกระทั่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เข้ามาปรับปรุงพื้นที่ ค้นหารากฐานอาคารเดิมจนเจอ ขุดแต่งและเปิดให้เห็นพื้นที่เดิม และสร้างบ้านหลังใหม่รูปทรงเลียนแบบหลังเดิมที่ได้มีการบันทึกรูป ถ่ายไว้ แต่สร้างแบบถาวรแข็งแรง และจัดแสดงประวัติและผลงานของท่านเจ้าของ อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/415 4.      พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ “คุ้มเจ้าหลวง”  แพร่ เดิมเป็นคุ้มเจ้าหลวง หลังจากเจ้าหลวงเมืองแพร่องค์สุดท้ายคือเจ้าพิริยะเทพวงศ์ได้หนีไปอยู่ที่เมืองหลวงพระบางภายหลังเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ในปี พ.ศ. 2445 คุ้มก็ถูกทิ้งร้าง และต่อมาได้ใช้เป็นที่ตั้งกองทหารของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ในสมัยรัชกาลที่ 6  สุดท้ายก่อนที่จะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ใช้เป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นอาคารสองชั้น ก่ออิฐฉาบปูน หลังคาปั้นหยา มีมุขและบันไดทางขึ้นด้านหน้า ปั้นลมและเชิงชายประดับไม้แกะสลักอย่างสวยงาม อาคารนี้มีประตูหน้าต่างรวมกัน 72 บาน โครงสร้างมีลักษณะพิเศษคือไม่มีเสาเข็ม แต่ใช้ท่อนซุงเช่นแก่นไม้แดงและไม้เนื้อแข็งรองรับฐานเสาทั้งหลัง           อ่านต่อ https://db.sac .or.th/museum/museum-detail/733 5.      บ้านวงศ์บุรี  แพร่ บ้านไม้ขนาดใหญ่ 2 ชั้น รูปทรงไทยผสมยุโรป มีลวดลายไม้แกะสลักเป็นส่วนประกอบทั่วไปของบ้าน ลวดลายส่วนใหญ่เป็นลายเครือเถาที่เรียกว่า ทรงขนมปังขิง สร้างโดยช่างชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้ง โดยมีช่างชาวไทยเป็นผู้ช่วย ใช้เวลาก่อสร้างนาน 3 ปี ภายในจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ในอดีตของบรรพบุรุษท่านเจ้าของบ้าน เอกสารสำคัญหาดูยาก เช่น เอกสารซื้อขายทาสอายุกว่า 100 ปี เอกสารการขอสัมปทานป่าไม้ ตั๋วรูปพรรณช้างโค ฯลฯ อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail /734   6.      บ้านบริบูรณ์  ลำปาง เรือนขนมปังขิง ในย่านตลาดกองต้า เมืองลำปาง เป็นอาคารกึ่งปูนกึ่งไม้ การตกแต่งอาคารด้านหน้า เข้าวงโค้งมาจรดพื้น ตั้งแต่ไม้เชิงชายที่มีลายฉลุเป็นเงาทาบอยู่บนช่องไม้ระบายลม หน้าต่างเป็นบานเกล็ด เปิดกระทุ้งได้ มีช่องราวระเบียงที่มีการแกะสลักอย่างอ่อนช้อยสวยงาม สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2471 ในอดีตเจ้าของบ้านคือ “หม่องยี” หรือนายใหญ่ บริบูรณ์ คหบดีลูกครึ่งพม่า ที่ทำกิจการค้าไม้   บ้านบริบูรณ์มีบุคคลที่ถือครองกรรมสิทธิ์ถึง 38 คน จึงต้องอาศัยทนายในการติดต่อทายาทเป็นเวลาสองปีเต็ม เพื่อให้มูลนิธินิยม ปัทมะเสวี เป็นเจ้าของและแปรสภาพให้เป็น “หอศิลปะการแสดงนครลำปาง” เริ่มงานอนุรักษ์เมื่อปี พ.ศ. 2558 หลังจากที่บ้านถูกปิดตายทิ้งร้างไม่มีผู้อาศัยกว่า 22 ปี อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1499   7.      บ้านไร่ไผ่งาม พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา   เชียงใหม่ เรือนไม้ใต้ถุนสูงสีดำเข้ม เดิมเป็นเรือนไม้เก่าของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ที่สร้างไว้ริมน้ำปิง ในเขตอำเภอจอมทอง เสมือนเป็นเรือนเรือนฤดูร้อนเมื่อ พ.ศ. 2480 ป้าแสงดา บันสิทธิ์ เก็บหอมรอมริบเพื่อนำเงินมาซื้อบ้านหลังนี้ไว้เมื่อทายาทบอกขาย หลังจากที่ป้าแสงดา บันสิทธิ์ ศิลปินแห่งชาติจากโลกนี้ไป เสาวนีย์ บันสิทธิ์ ลูกสาวคนเดียว ตัดสินใจเปิด “บ้านไร่ไผ่งาม” บ้านไม้สองชั้นหลังงามริมแม่น้ำปิง ที่ป้าแสงดาเคยใช้ชีวิตกับครอบครัวทำงานร่วม 50 ปี ให้ผู้คนได้เข้าชม จัดแสดงผลงานทอผ้าของป้าแสงดา และยังคงไว้ซึ่งสภาพพื้นที่ที่ป้าเคยพำนักและสร้างสรรค์ผลงาน ทุกฝากระดานเต็มไปด้วยความรักและความผูกพันในแทบจะทุกห้อง เป็นความพิเศษที่ผู้เยี่ยมชมสัมผัสได้ อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/627 8.      พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน  พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน นำเสนอประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของเมืองลำพูน โดยใช้คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ลำพูน คุ้มเจ้าเมืองลำพูนที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในลำพูน อายุกว่าหนึ่งร้อยปี เป็นที่จัดแสดง โดยมีเทศบาลเมืองลำพูน และกลุ่มกวงแหวน หละปูน เป็นผู้ริเริ่มจัดทำพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้น  ภายในจัดแสดงประวัติคุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ การเปลี่ยนแปลงด้านการใช้งานของคุ้มตั้งแต่อดีตจนกระทั่งมากลายเป็นพิพิธภัณฑ์ และภาพถ่ายเก่าที่สะท้อนเหตุการณ์ต่างๆ ของเมืองลำพูน ตั้งแต่ครั้งปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการประกวดนางงามของลำพูน  อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail /796 9.      บ้านศรีบูรพา  กรุงเทพมหานคร ศรีบูรพา เป็นนามปากกาของกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักประพันธ์ที่มีบทบาทสำคัญต่อวงวรรณกรรมไทย บ้านหลังงามของกุหลาบ เป็นบ้านสองชั้นรูปทรงแบบตะวันตก งามสง่าเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนบ้านหลังอื่นๆ ในซอยพระนาง  เป็นบ้านที่ปลูกเพื่อเป็นเรือนหอของเขากับชนิด สายประดิษฐ์ โดยได้รับประทานที่ดินจากม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ เพื่อเป็นของขวัญแต่งงาน ปีกซ้ายขของตัวบ้านถูกต่อเติมให้กลมกลืมกับตัวบ้านเดิม เพื่อเป็นพื้นที่จัดแสดงและนำเสนอประวัติและผลงานของกุหลาบ สายประดิษฐ์ มีประตูทางเข้าเฉพาะ โดยไม่รบกวนกับส่วนอยู่อาศัยอื่นในตัวบ้าน บ้านศรีบูพาไม่ได้เปิดประตูต้อนรับแขกตลอดเวลา  หากต้องนัดหมายล่วงหน้า เนื่องจากครอบครัวยังอาศัยอยู่ในตัวบ้าน ปกติทุกวันที่ 31 มีนาคม วันคล้ายวันเกิดของกุหลาบ สายประดิษฐ์ กองทุนศรีบูรพาร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดงานรำลึกศรีบูรพาและนำชมส่วนจัดแสดงห้องสมุดศรีบูรพา อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1496 10.  พิพิธภัณพ์บ้านนักเขียน ส.บุญเสนอ  กรุงเทพมหานคร เสาว์ บุญเสนอ นักเขียนที่อุทิศที่ดินและบ้านหลังแรกและหลังเดียวในชีวิตของเขา ให้ไว้เป็นสาธารณประโยชน์ให้กับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จากนั้นสมาคมฯ ได้บูรณะตัวบ้านและจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ บ้านไม้ชั้นเดียวหลังย่อมขนาด1ห้องนอน 1ห้องนั่งเล่น 1 ห้องทำงาน และ 1 ห้องน้ำ ส่ววนห้องครัวแยกออกไปต่างหาก มีบึงน้ำเล็กๆ หลังบ้านให้ความสดชื่น เสาว์ได้แบบมาจากบ้านพักชายทะเลที่เคยเห็นในนิตยสารฝรั่ง เขาใช้ชีวิตอย่างสมถะกับภรรยาโดยไม่มีบุตรด้วยกัน อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/202   11.  บ้าน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช  กรุงเทพมหานคร หมู่เรือนไทยหลังงามอายุกว่าร้อยปี ภายในซอยสวนพลู กรุงเทพมหานคร เป็นเรือนไทยที่มีที่มาจากต่างถิ่นต่างที่ เรือนหลังแรกสุดซื้อมาจากเทศบาลกรุงเทพมหานคร เป็นบ้านไทยขนาดใหญ่ที่ถูกเวนคืนบริเวณเสาชิงช้า เป็นเรือนฝาปะกนทำด้วยไม้สักฝีมือประณีต เรือนหลังต่อๆ ได้มาจากอำเภอผักไห่ พระนครศรีอยุธยา ทั้งบ้านใช้สลักไม้โดยไม่มีตะปูแม้แต่ดอกเดียว ในสมัยที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ยังมีชีวิตอยู่ บ้านเรือนไทยของท่านมีการต่อเติมและปรับเปลี่ยนสภาพให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัย เพิ่มพื้นที่ประโยชน์ใช้สอย มิได้ยึดคติตามแบบโบราณเสียทั้งหมด ด้วยอายุหลักร้อยปี การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงและการหารายได้เลี้ยงตัวเอง เป็นสิ่งท้าทายสำหรับทายาทเจ้าของบ้าน ท่ามกลางความเย้ายวนของราคาที่ดินต่อตารางวา สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/69 12.  บ้านหมอหวาน   กรุงเทพมหานคร “บ้านหมอหวาน” ก่อตั้งโดย หมอหวาน รอดม่วง แพทย์แผนโบราณที่มีชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 – 8  เป็นตึกออกแบบโดยสถาปนิกชาวต่างชาติท่านหนึ่งในยุคนั้น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2467 มีอาคารรูปแบบ ชิโน-โปรตุกีส หน้าอาคารมีคำว่า “บำรุงชาติสาสนายาไทย” ถัดลงมามีสัญลักษณ์ตาเหลวและชื่อหมอหวาน ซึ่งหน้าร้านเป็นร้านขายยาแบบตะวันตก มีบานประตูสูง ด้านข้างมีการวางขวดยาเพื่อให้รู้ว่าคือร้านขายยา ภาสินี ญาโณทัย  ผู้สืบทอดร้านยาหมอหวานในปัจจุบัน เป็นทายาทรุ่นที่ 4เข้ามาบูรณะอาคารด้วยการหาความรู้ด้วยตัวเอง จนสุดท้ายเปิดบ้านหมอหวานให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และสืบทอดตำรายาจากบรรพบุรุษให้มีรูปลักษณะทันสมัยแต่ยังคงรักษาตำรับยาแบบเดิม อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail /1430   13.  บ้านจิม ทอมป์สัน  กรุงเทพมหานคร จิม ทอมป์สัน ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมไหมไทยจนมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลก เขาสร้างหมู่เรือนไทย ประกอบจากเรือนไม้สัก 6 หลัง โดยนำเรือนไทยภาคกลางจากชุมชนบ้านครัว 1 หลัง และจากพระนครศรีอยุธยาอีก 5 หลัง มาจัดกลุ่มและเสริมแต่งดัดแปลงบางส่วน บ้านจิม ทอมป์สัน ถ่ายทอดความงามของศิลปวัตถุที่เป็นของสะสมของเขา ในอาณาบริเวณต่างๆ ของเรือน           อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum -detail/64 14.  พิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรเพื่อการพัฒนาประเทศ  กรุงเทพมหานคร มหาอำมาตย์เอก  พระยาสุริยานุวัตร (เกิด  บุนนาค) ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำฝรั่งเศส  อิตาลี  สเปนและรัสเซีย  ในสมัยรัชกาลที่ 5  อีกทั้งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย  “บ้านสุริยานุวัตร” จึงเป็นบ้านที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระราชทานเพื่อตอบแทนคุณความดีในการปฏิบัติราชการ บ้านสุริยานุวัติรเป็นอาคารที่ทำงานถาวรหลังแรกของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์  มาตั้งแต่ พ.ศ.2493 ปัจจุบันได้ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าประวัติของท่านเจ้าของบ้าน และเรื่องราวของสศช.  อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/177 15.  บ้านโสมส่องแสง พิพิธภัณฑ์บ้านดุริยางคศิลปิน มนตรี ตราโมท   นนทบุรี หลายคนรู้จักในนาม “บ้านโสมส่องแสง” บ้านหลังแรกของครูมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติสาขาดนตรีไทย หลังจากได้เงินบำเหน็จหลังเกษียณอายุราชการ ครูมนตรีถูกใจบ้านและที่ดินในซอยพิชยนันท์ นนทบุรี จึงตกลงซื้อ ในตอนนั้นที่ดินแถบนั้นส่วนใหญ่เป็นท้องนาและร่องสวน น้ำไฟยังเข้าถึง ตัวบ้านเป็นบ้านไม้สองชั้นใต้ถุงสูง รายล้อมไปด้วยต้นไม้ มีบ่อน้ำล้อมรอบตัวบ้าน หลังจากครูมนตรีถึงแก่กรรม ญาณี ตราโมท บุตรชายคนเล็ก ต้องการให้บ้านของพ่อเป็นพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในแบบอย่างวิถีชีวิตที่ดีงามของพ่อ และการดนตรีไทย เขาจึงใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวปรับปรุงและเปิดบ้นาให้สาธารณชนเข้าชมในนาม “พิพิธภัณฑ์บ้านดุริยางคศิลปิน มนตรี ตราโมท” อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail /213 16.  มณเฑียรอาเตอลิเยร์   นนทบุรี บ้านไม้สองชั้นสีขาวภายในซอยเล็กๆ ย่านงามวงศ์วาน นนทบุรี เป็นบ้านของครอบครัวและเป็นสถานที่ทำงานศิลปะกว่าสองทศวรรษ ของศิลปินนาม “มณเฑียร บุญมา” ศิลปินไทยคนสำคัญที่บุกเบิกงานศิลปะสื่อผสม บ้านปิดตายหลังเขาและภรรยาเสียชีวิต จนเมื่อปี พ.ศ. 2559 บุตรชายคนเดียวจุมพงษ์ บุตรชายคนเดียว มีแนวคิดที่จะปรับปรุงและชุบชีวิตบ้านหลังนี้ ให้เป็นแกลเลอรีขนาดย่อมเพื่อจัดแสดงผลงานของพ่อในนาม “มณเฑียร อาเตอลิเยร์” อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1460 17.  พิพิธภัณฑ์ชาติภูมิสถาน ป.อ.ปยุตโต  สุพรรณบุรี บ้านที่ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสมเด็จพระพุทธโฆษจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) ห้องแถวไม้ในบริเวณของตลาดศรีประจันต์ใกล้แม่น้ำสุพรรณบุรี ที่นี่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประวัติบุคคล ครอบครัว และบรรยากาศทางสังคมในห้วงเวลาที่ “ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ” (ตามการเรียกของชาวบ้าน) คงชีวิตในตลาดศรีประจันต์แห่งนี้ การจัดแสดงทำให้เห็นบรรยากาศดั้งเอมของ บ้านเลขที่ 49 ที่ตั้งของร้านค้าห้องแถวไม้สองชั้นชื่อ “ใบรัตนาคาร” กิจการค้าขายผ้า ตัวแทนจำหน่ายจักรเย็บผ้า ของครอบครัวของท่านป.อ.ปยุตโต อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/474 18.  บ้านประเสนชิต  นครราชสีมา เรือนโบราณที่ถูกขายทอดตลอด ได้รับการชะลอเรือนจากสถานที่ตั้งดั้งเดิมแถบสี่พระยา มาปลูกไว้ ณ เขาใหญ่ นครราชสีมา ในนามวิลล่ามูเซ่ ที่เจ้าของ “อรรถดา คอมันตร์” ปรารถนาให้เห็นทั้งสถานที่จัดแสดงสิ่งของสะสมของตนเอง และสถานที่ที่ผู้สนใจประวัติศาสตร์มาเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ การบูรณะที่ต้องอาศัยความรู้เชิงช่าง และความใส่ใจในรายละเอียด เป็นความท้าทายและทำได้สำเร็จด้วยความตั้งใจและใจรักของเจ้าของ ทำให้เรือนกลับมามีความสมบูรณ์และมีชีวิตอีกครั้งภายใต้ชื่อเรือนประเสนชิต ที่เจ้าของได้ชื่อมาจากคุณทวดของฝ่ายคุณแม่ พระยาประสนชิตศรีวิลัย  ภายในจัดแสดงวัถตุสะสมที่สัมพันธ์กับบริบทร่วมสมัยของอาคาร อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1500 19.  บ้านหลวงราชไมตรี  จันทบุรี เรือนแถวไม้ที่พำนักของหลวงราชไมตรี บุคคลแรกที่ริเริ่มนำยางพาราเข้ามาปลูกในจันทบุรี สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในภาคตะวันออก  บ้านที่ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็น “เรือนพักประวัติศาสตร์” ทำหน้าที่เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์และที่พัก  ภายในชุมชนริมน้ำจันทบูร ย่านการค้าที่เคยเฟื่องฟูในช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งเรือนถูกออกแบบโดยนำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของประวัติเจ้าของเรือน ประวัติศาสตร์ชุมชน มาบอกเล่าในพื้นที่ต่างๆ และภายในห้องพัก พื้นที่ชั้นล่างมีบริเวณจัดแสดงวัตถุที่เป็นสิ่งของในเรือนและจากที่พบเมื่อครั้งบูรณะอาคาร เครื่องใช้เครื่องเรือนในห้องพักต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นสิ่งของที่เป็นของบ้านมาแต่ก่อน  เป็นตัวอย่างของการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ที่เกิดขึ้น และเกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูชุมชน อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1495          มีพิพิธภัณฑ์บ้านอีกหลายแห่งที่น่าสนใจ  สามารถเข้าไปหาอ่านได้ที่ ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)  

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น “ผลิตความสุข”

โพสต์เมื่อ 19 กรกฎาคม 2562

Blogที่แล้ว ดิฉันชวนไปดูโครงการดีๆ เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพของผู้สูงวัยของพิพิธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษ คลิกอ่าน “พิพิธภัณฑ์ในฐานะพื้นที่บำบัดผู้สูงวัย กรณีประเทศอังกฤษ” คราวนี้ชวนมาทำความรู้จักพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทยอย่างน้อย 2 แห่ง ที่ทำกิจกรรมหรือมีกระบวนการเสริมสร้างสุขภาวะในชุมชน คือ พิพิธภัณฑ์เล่นได้ จ.เชียงราย และห้องภาพเมืองสุรินทร์ ค่ะ “ผลิตความสุข” ที่พิพิธภัณฑ์เล่นได้ หากความอยู่ดีมีสุขหรือสุขภาวะที่ดีมิได้หมายถึงเพียงแค่การมีสุขภาพดี แต่ยังรวมถึงสภาพจิตใจที่ดี สังคมเข้มแข็ง รวมถึงการมีปัญญารู้เท่าทันแล้วล่ะก็  ชัดเจนมากว่าการทำงานของพิพิธภัณฑ์เล่นได้ จ.เชียงราย สนับสนุนและส่งเสริมการสร้างสุขภาวะในชุมชน จุดเริ่มต้นมาจากความต้องการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสองวัยคือเด็กและผู้สูงวัยในชุมชนบ้านป่าแดด วีรวัฒน์ กังวานนวกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้งเล่าว่า “...ด้วยเชื่อมั่นในกระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่น เราจึงใช้ของเล่นเป็นเครื่องมือในการลดช่องว่างระหว่างผู้สูงอายุกับเด็กๆ ให้ของเล่นเป็นตัวประสานความสัมพันธ์ในครอบครัว สร้างความภาคภูมิใจในท้องถิ่น และแปรเป็นพลังสร้างสรรค์กิจกรรมในชุมชนอย่างต่อเนื่อง” กว่า 15 ปีที่แล้วทั้งคุณวีรวัฒน์และคุณวีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้ริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เล่นได้ในพื้นที่บ้านป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เห็นปรากฏการณ์การละทิ้งถิ่นฐานของคนหนุ่มสาวเพื่อเข้ามาทำงานในเมือง ทิ้งคนเฒ่าคนแก่หงอยเหงาอยู่บ้านกับเด็กๆ แถมคนสองวัยนี้ก็สื่อสารกันไม่ค่อยเข้าใจ จึงคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้คนสองวัยมาปฏิสัมพันธ์กันให้มากขึ้น เป็นมาของการจัดตั้งกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ ชวนพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยมาเล่ามาคุยในสิ่งที่ตนเองถนัดหนึ่งในนั้นคือการทำของเล่นพื้นบ้านจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น คนแก่ตาเป็นประกายและมีความสุขที่จะเล่า ส่วนเด็กๆนอกเหนือจากความสนุกสนานเมื่อได้เห็นและเล่นของเล่น ยังทำให้เด็กรู้จักทรัพยากรท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่พันธุ์ต่างๆ มีทักษะในการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ  มีสมาธิในสิ่งที่ทำ ส่งเสริมจินตนาการ และเปลี่ยนความคิดและค่านิยมที่เคยมองว่าของเล่นพื้นบ้านเชย ภาพโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร “ของเล่นที่เป็นสัตว์แกะสลัก...ท่านถามเด็กว่าตัวอะไร เด็กแต่ละคนมองว่าเป็นทั้งม้า หมู กวาง ท่านตอบว่าถูกหมด ของเล่นที่อุ๊ยทำเป็นอะไรก็ได้ ผมอมยิ้มในใจ และบอกในใจว่านี่แหละคือครูภูมิปัญญา เป็นเพชรเม็ดงามของชุมชน เพราะจินตนาการไม่มีถูกปิด ของเล่นที่ดีจะต้องมีที่ว่างเพื่อให้เด็กจินตนาการ...”  วีรวัฒน์เล่าถึงภูมิปัญญาในการสร้างจิตนาการ ในระหว่างการสอนพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยก็สอดแทรกเรื่องศีลธรรม จริยธรรมในการใช้ชีวิตที่คนรุ่นใหม่อาจหลงลืม เช่น “งู” ของเล่นที่สานจากตอก คนเฒ่าบางท่านก็เล่าว่าเอาไว้จีบสาว เพราะผู้ชายผู้หญิงไม่แตะเนื้อต้องตัวผิดประเพณี  อุ๊ยผู้ชายสานงูแล้วให้อุ๊ยผู้หญิงใส่ เมื่อใส่แล้วดึงอย่างไรก็ไม่ออก มีการจับสัมผัสนิดหน่อยแต่ไม่ผิดวัฒนธรรม เป็นต้น กระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเล็กๆ อย่างการประดิษฐ์และการชวนกันเล่นของเล่นพื้นบ้าน นอกจากสานความสัมพันธ์ในครอบครัวแล้ว  ยังเป็นการพัฒนาทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และจริยธรรม และยังมีของแถมเกิดเป็นกลุ่มอาชีพผลิตของเล่นพื้นบ้านส่งขายไปยังสถานที่ต่างๆ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน น่าดีใจที่พิพิธภัณฑ์เล่นได้ ได้ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ของเล่นพื้นบ้านเป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาสังคมและสร้างสุขภาวะออกไปสู่ชุมชนอื่นๆ ทั้งจากการเข้ามาดูงานของหน่วยงานต่างๆ ที่พิพิธภัณฑ์ และการออกไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้นอกสถานที่ “วัฒนธรรมสร้างสุข” กับห้องภาพเมืองสุรินทร์ โดยปกติแล้วกิจกรรมของห้องภาพเมืองสุรินทร์ มีหลากหลายและน่าสนใจมาก พื้นฐานคือการใช้ภาพถ่ายเก่าเป็นเครื่องมือในกระบวนการเรียนรู้อดีตและการสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ภายใต้แนวคิดสำคัญในการทำงานว่า “พิพิธภัณฑ์อย่าตั้งอยู่เฉยๆ ต้องก้าวออกไปข้างนอกตัวให้กว้างให้ไกลที่สุด...” กิจกรรมอันน่าประทับใจของห้องภาพเมืองสุรินทร์ ที่ช่วยเสริมสร้างความสุขของคนในชุมชน ชื่อว่า “โครงการเรื่องเล่าอันอบอุ่น”  เป็นการใช้ภาพถ่ายเก่าเป็นสื่อในการค้นคว้าและรวบรวมประวัติศาสตร์และความทรงจำในอดีตของครอบครัวต่างๆ ในเมืองสุรินทร์  พัทธนันท์ โอษฐ์เจษฎา เล่าความรู้สึกร่วมที่เกิดขึ้นว่า “...ความทรงจำของครอบครัว เราไม่เคยคิดภาพเก่าจะสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ลูกหลานกลับมาคุยกับพ่อแม่ที่ไม่ได้คุยกันมาสิบยี่สิบปี ก็เพราะภาพที่เราไปคุยกับพ่อแม่ ตายาย แล้วเขาได้เล่าให้ลูกหลานฟัง เป็นบรรยากาศที่เป็นกำลังใจทั้งสองฝ่าย เราทำงานก็มีความสุขที่ได้ไปเจอบรรยากาศอย่างนั้น...” กิจกรรมเรื่องเล่าอันอบอุ่นนอกจากเป้าหมายหลักที่เป็นต่อจิ๊กซอว์ข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากครอบครัวต่างๆ ในสุรินทร์แล้ว ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และยังทำให้อีกหลายๆ ครอบครัวเห็นประโยชน์และยินดีให้ข้อมูลและร่วมเป็นพันธมิตรกับห้องภาพเมืองสุรินทร์อย่างเต็มอกเต็มใจ ซ้ำยังสร้างความสุขแก่คนทำงานอย่างที่พวกเขาก็ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ภาพโดยห้องภาพเมืองสุรินทร์ แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าว่า ไม่นานมานี้ห้องภาพเมืองสุรินทร์ถูกเรียกคืนพื้นที่จากเจ้าของที่เป็นหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง  เป็นการยุติบทบาทของห้องภาพเมืองสุรินทร์ในเชิงกายภาพ  ทราบว่าผู้ก่อตั้งก็ยังพยายามทำงานในเชิงเก็บและเรียบเรียงข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเท่าที่เวลาโอกาสและสังขารจะเอื้ออำนวย  และสื่อสารผ่านช่องทางวารสารสุรินทร์สโมสร และหนังสือที่จัดพิมพ์ตามวาระต่างๆ เอาเข้าจริงประเด็นพิพิธภัณฑ์ในฐานะพื้นที่บำบัดผู้สูงวัย สำหรับบริบทในเมืองไทยอาจจะต่างกับที่อังกฤษ ทั้งในแง่สังคม ความนิยมเข้าพิพิธภัณฑ์ และตัวพิพิธภัณฑ์เอง ผู้เขียนมองว่าในเมืองไทย คนทำพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นส่วนใหญ่คือผู้สูงวัย  “การทำพิพิธภัณฑ์จึงเสมือนหนึ่งเป็นหนทางบำบัดผู้สูงวัย”  อย่างไรก็ดีเราคงต้องศึกษาประเด็นนี้กันต่อไป.      

พิพิธภัณฑ์ในฐานะพื้นที่บำบัดผู้สูงวัย กรณีประเทศอังกฤษ

โพสต์เมื่อ 19 กรกฎาคม 2562

โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ รายงานของสหประชาชาติเรื่องประชากรสูงอายุทั่วโลก ปี 2015 (World Population Ageing 2015) ให้ข้อมูลว่าในปี ค.ศ.  2015 – 2030 จำนวนประชากรทั่วโลกที่อายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนมากขึ้นกว่าร้อยละ 56 จาก 901 ล้านคน เป็น 1.4 พันล้านคน และในปี 2050 ประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกจะมีจำนวนมากถึง 2 เท่า ของจำนวนผู้สูงอายุในปี 2015 คือกว่า 2.1 พันล้านคน การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นอกจากเป็นเรื่องท้าทายนโยบายเศรษฐกิจ เพราะประชากรวัยทำงานลดลง มีผลต่อตลาดแรงงาน รวมถึงความมั่นคงของระบบสวัสดิการสุขภาพแล้ว ยังส่งผลต่อสังคมในมิติของระบบสุขภาพและการดูแลผู้สูงวัยทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภายใจด้วย  หลายประเทศกำลังเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดตามมา หนึ่งในนั้นคือประเทศอังกฤษ กรณีของประเทศอังกฤษน่าสนใจตรงที่ใช้ศิลปะและวัฒนธรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาเรื่องสุขภาพและความอยู่ดีมีสุขของผู้คนในสังคม ผู้สูงอายุเป็นเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญ อังกฤษเริ่มการปฏิรูปนโยบายสุขภาพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายสังคมและสุขภาพปี ค.ศ. 2012 ภายใต้แนวคิดที่ว่า “การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา”  นำไปสู่การขยายบทบาทหน้าที่ขององค์กรทางวัฒนธรรมอย่างพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นรูปธรรม แนวคิดดังกล่าวมองว่าหน่วยงานทางสาธารณสุขเพียงอย่างเดียวไม่สามารถลดความไม่เท่าเทียมกันทางสุขภาพได้  เครือข่ายทางสังคมและชุมชนท้องถิ่นมีอิทธิพลสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพ ความอยู่ดีมีสุขของปัจเจกบุคคล หากผู้คนสามารถมีส่วนร่วมในทางสังคมและสามารถกำหนดการใช้ชีวิตของตนเองได้จะก่อประโยชน์อย่างสำคัญในเชิงจิตใจ ความอยู่ดีมีสุขและสุขภาพที่ดีก็จะตามมา แพทย์อาจสามารถวินิจฉัยโรค รักษาโรค แต่แทบจะทำอะไรไม่ได้เลยในการป้องกันสาเหตุของความซึมเศร้า ความเครียด หรือโรคเรื้อรังที่เป็นผลมาจากการตกงาน การหย่าร้าง  สภาพที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี และความยากจน  แต่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ได้ ยกตัวอย่างโครงการ/โปรแกรม ที่น่าสนใจ  อาทิ กาแฟ เค้ก และวัฒนธรรม ที่พิพิธภัณฑ์แมนเชสเตอร์ โปรแกรมกิจกรรมสำหรับผู้สูงวัยที่เป็นโรคความจำเสื่อม ครอบครัว และผู้ดูแล จัดขึ้นเดือนละครั้งในวันพฤหัสบดี ครั้งละ 2 ชั่วโมง โดยใช้นิทรรศการและคอลเล็กชั่นในพิพิธภัณฑ์เป็นพี้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความทรงจำ กับผู้สูงวัยที่ความจำเสื่อมและผู้ที่อยู่กับผู้เป็นโรคความจำเสื่อม  โดยมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จิบกาแฟและขนม หลังจากการชมนิทรรศการ   Creative Age โครงการ “Creative Age” ดำเนินการโดย Equal Arts องค์กรการกุศลที่ทำงานกับผู้สูงวัยที่เป็นโรคความจำเสื่อม โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน ทำร่วมกับหอศิลป์หลายแห่ง อาทิ BALTIC Centre for Contemporary Art in Gateshead, Middlesbrough Institute of Modern Art (mima)ได้รับการสนับสนุนจาก Art Council England ที่สนับสนุนให้พิพิธภัณฑ์มีส่วนสำคัญในการบำบัดโรคของผู้สูงอายุ เพราะแม้คนมีอายุยืนยาวขึ้นแต่หลีกเลี่ยงชีวิตที่อยู่กับโรคไม่ได้ เช่น ความจำเสื่อม เบาหวาน  ความดัน  กลุ่มเป้าหมายโครงการนี้คือผู้สูงวัย ครอบครัว และผู้ที่ดูแล โดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการช่วยบำบัดเข้าร่วมโครงการ ผลตอบรับหนึ่งจากครอบครัวของผู้เข้าร่วมโครงการ ภาพจาก http://www.artscouncil.org.uk/ “แม่ฉันเป็นโรคความจำเสื่อม โครงการ Creative Age ทำให้แม่ฉันมีความมั่นใจในทางบวกมากขึ้น ฉันไม่รู้จะอธิบายอย่างไรว่ามันมีความหมายสำหรับแม่ฉันและครอบครัวเรา การใช้ชีวิตมักยากสำหรับแม่เมื่อเธอทำอะไรผิดพลาดอยู่เสมอหรือไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ฉันชอบที่จะพูดคุยกับแม่ตอนวันอังคาร ฉันเห็นถึงความกระตือรือร้นของแม่เมื่อเธอเล่าให้ฟังว่าไปทำอะไรมาบ้าง ฉันรู้สึกทีเดียวว่ากลุ่มและกิจกรรมเหมาะกับแม่มาก มันดูเหมือนจะท้าทายแม่และสร้างความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับส่วนลึกในใจเธอแต่ไม่ได้ครอบงำเธอ”  Not So Grim Up North โครงการวิจัยความร่วมมือระหว่าง นักวิจัยจาก UCLและพิพิธภัณฑ์อีก 3 แห่งคือ Whitworth Art Gallery Manchester Museum และ Tyne & Wear Archives &Museums ที่ร่วมกันหาคำตอบว่า พิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีสามารถช่วยในเรื่องของสุขภาพและความอยู่ดีมีสุขได้อย่างไร? กลุ่มเป้าหมายคือคนที่เป็นโรคความจำเสื่อม  ผู้ป่วยเส้นโลหิตไปเลี้ยงสมองอุดตันที่กำลังฟื้นฟู ผู้ใช้บริการคำปรึกษาด้านสุขภาพจิต และผู้ใช้บริการคำปรึกษาด้านการติดสารเสพติด มีระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี 2015-2018 ขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล ดูรายละเอียดได้ใน  Not So Grim Up North Art Council England ทำโพลจากการสอบถามผู้สูงอายุชาวอังกฤษ ที่อายุ 65 ปีขึ้นไปกว่า 700 คน เกี่ยวกับความสำคัญของศิลปะและวัฒนธรรม ได้ข้อมูลที่น่าสนใจในการสนับสนุนพลังอำนาจของศิลปะและวัฒนธรรมที่มีต่อสุขภาพและความอยู่ดีมีสุข 76% ของผู้สูอายุบอกว่าศิลปะและวัฒนธรรมช่วยให้พวกเขามีความสุข 57% บอกว่าศิลปะและวัฒนธรรมช่วยให้พวกเขาได้พบปะกับผู้คนอื่นๆ69% บอกว่าศิลปะและวัฒนธรรมช่วยให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของพวกเขาดีขึ้น การที่พิพิธภัณฑ์เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสังคมสุขภาพและความอยู่ดีมีสุขถือเป็นแนวคิดใหม่ ไม่เพียงแต่ท้าท้ายความคิดของวงการสาธารณสุข แต่ยังท้าทายและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับวงการพิพิธภัณฑ์ด้วย แทบจะพูดได้เลยว่าแต่เดิมนั้นพิพิธภัณฑ์ไม่เคยมีส่วนร่วมอะไรกับงานสาธารสุขมากนัก จริงๆ ในไทยก็มีตัวอย่างเช่นกัน แต่ไม่ได้เกิดจากระดับนโยบายรัฐหรือเป็นวาระแห่งชาติแบบอังกฤษ เป็นการทำงานของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโดยลำพัง  คราวต่อไปคงจะได้พูดถึงเรื่องนี้กันค่ะ อ้างอิงHelen Chatterjee and Guy Noble.(2013).Museums, Health and Well-Being. Surrey: Ashgate. http://www.healthandculture.org.uk/ https://equalarts.org.uk/our-work/creative-age/ http://www.un.org/en/development/desa/population/publications/pdf/ageing/WPA2015_Report.pdf http://www.comres.co.uk/polls/arts-council-england-older-people-poll/ http://www.artscouncil.org.uk/how-we-make-impact/arts-culture-and-older-people http://www.museum.manchester.ac.uk/community/communityengagement/coffeecakeandculture/    

พิพิธภัณฑ์ทำอะไรได้บ้างกับเรื่องการเมืองร้อนๆ

โพสต์เมื่อ 20 มิถุนายน 2562

ในสังคมประชาธิปไตย การเปิดกว้างทางความคิดเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไป  การแสดงออกทางการเมืองที่ไม่ได้เห็นพ้องกับคนหมู่มากหรือแม้กระทั่งรัฐจึงไม่ใช่อาชญากร การเมืองเป็นเรื่องของทุกคนหรือพูดอีกอย่างว่าการเมืองเป็นชีวิตประจำวันของทุกคน  ไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นพิพิธภัณฑ์ในฝั่งยุโรปหรืออเมริกามักมีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญที่เกิดขึ้น อย่างที่รู้ๆ กันในรอบปีที่ผ่านมามีการเมืองร้อนๆที่ทั่วโลกจับตามอง ทั้งเรื่องBrexit  คลื่นผู้อพยพ  หรือการเข้าสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัล ทรัมป์  ปฏิกิริยาพิพิธภัณฑ์ที่ว่าคือมีทั้งนิทรรศการ การจัดกิจกรรมที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น   MoMA(Museum of Modern Art)เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่แสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนต่อนโยบายกีดกันผู้อพยพของทรัมป์ สิ่งที่MoMAทำคือการยกเอาผลงานของศิลปินมุสลิมจากประเทศในตะวันออกกลางที่ถูกห้ามเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาตามคำสั่งที่ออกมาเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2017 ทั้งภาพวาด งานปั้น งานติดตั้ง ขึ้นมาไฮไลท์และจัดแสดงในพื้นที่นิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์เลยทีเดียว รวมถึงจัดฉายภาพยนตร์จากนักทำหนังที่เป็นมุสลิมจากประเทศในตะวันออกกลางด้วย ถือเป็นการตอกย้ำแนวคิดเรื่องการเปิดกว้างและเสรีภาพที่เป็นหัวใจสำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่ต้องการจะส่งสารถึงสหรัฐอเมริกา ต่อกรณีเดียวกันสมาคมพิพิธภัณฑ์ (Museums Association)ของสหราชอาณาจักรออก “แถลงการณ์ของพิพิธภัณฑ์สำหรับการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นและการอยู่ร่วมกัน” (Museum Manifesto for Tolerance and Inclusion) โดยหลักใหญ่ใจความคือ ให้พิพิธภัณฑ์ยึดถือหลักจรรยาบรรณข้อสำคัญของพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของสาธารณะและผลประโยชน์ของสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ควรปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมด้วยความเคารพและซื่อสัตย์ สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ละทิ้งผู้ชมปัจจุบันและมองหาผู้ชมกลุ่มใหม่ที่หลากหลาย ยึดหลักการทำงานเกี่ยวกับความหลากหลายและความเท่าเทียม ขณะที่สำนักพิพิธภัณฑ์ศึกษา มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ถึงกับเสนอ 6 แนวทางในการที่พิพิธภัณฑ์ควรตอบโต้ต่อนโยบายเลือกปฏิบัติต่อศาสนาและชาติพันธุ์ของทรัมป์และนโยบายขวาจัดในอียู 1. ยินดีต้อนรับ: แสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่ของทุกคน คล้ายกับสุภาษิตที่ว่าใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ ไม่ว่าจะยากดีมีจน เขาจะนับถือศาสนาไหน เชื้อชาติใด 2. นำเสนอ: แสดงให้เห็นว่าสนับสนุนเรื่องความหลากหลายของผู้คนและสังคม พิพิธภัณฑ์ควรสำรวจคอลเล็กชั่นที่มีและชุมชนรายรอบ แล้วนำมาเล่าเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์สามารถช่วยเปลี่ยนความคิดด้านลบหรือการเล่าเรื่องแบบผิดๆ เกี่ยวกับคนชายชอบรวมถึงผู้อพยพได้ 3. บันทึก เก็บข้อมูล และสะสม: พิพิธภัณฑ์และงานจดหมายเหตุเป็นสถานที่สำคัญในการเก็บรวบรวม บันทึก และนำเสนอความไร้มนุษยธรรมที่เกิดขึ้น คงไม่มีใครต้องการให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยดังเหตุการณ์กรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวในสงครามโลกครั้งที่สอง 4. แสดงพลัง: รณรงค์ในสิ่งที่ถูกต้องควรจะเป็น อย่าทำตัวเป็นกลาง ควรเลือกข้าง โดยยืนอยู่ข้างสิ่งที่ถูกต้อง 5. อย่าอดทนกับการไม่ยอมรับความแตกต่าง: พิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องนำเสนอมุมมองของทั้งสองข้าง หากข้างใดข้างหนึ่งประกาศว่าเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติ หรือคลั่งศาสนา การไม่ให้เวทีไม่ใช่การปฏิเสธเสรีภาพในการแสดงออกอย่างที่บางคนอ้าง แต่เป็นกลไกที่สามารถก้าวออกมาจากการไม่ยอมรับความแตกต่างและความเกลียดชัง  6. รื่นรมย์กับความดีงามของความเป็นมนุษย์: พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่คุณสามารถค้นหาความดีงามของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ วัฒนธรรม และมรดกของมนุษยขาติ พิพิธภัณฑ์ยังสามารถสร้างเสริมสุขภาพและสุขภาวะ ควรทำพิพิธภัณฑ์ให้เป็นสถานที่สร้างแรงบันดาลใจสำหรับผู้คนในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม และไม่จำเป็นที่พิพิธภัณฑ์จะต้องเก็บของเก่า แต่วัตถุร่วมสมัยในชีวิตประจำวันที่แสดงพลังการเล่าเรื่องก็สำคัญไม่แพ้กัน กรณีเหตุการณ์ที่ผู้หญิงทั่วโลกลุกขึ้นมาเดินขบวนประท้วงทรัมป์เนื่องจากไม่พอใจนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ ตลอดจนการแสดงออกของทรัมป์ที่มีท่าทีดูถูกผู้หญิงหลังที่เขาเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง  ห้องสมุดผู้หญิงแห่งกลาสโกว์ (Glasgow Women’s Library)ถือโอกาสนี้ออกมาประกาศรับบริจาคป้ายประท้วง ใบปลิว เครื่องแต่งกาย อันเนื่องมาจากเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว   ภาพจาก http://www.vam.ac.uk/ เช่นเดียวกับV&A พิพิธภัณฑ์ที่เป็นผู้นำด้านศิลปะและการดีไซน์ได้ออกโปรเจ็ค “Rapid Response Collecting”  โดยการให้พื้นที่จัดแสดงวัตถุดีไซน์ที่เป็นประจักษ์พยานเหตุการณ์สำคัญร่วมสมัยทางสังคมและการเมือง  เรียกว่าเป็นคอลเล็กชั่นที่ข้ามพรมแดนพิพิธภัณฑ์แบบเดิมๆ คือต้องดีลกับวัตถุของใช้ในชีวิตประจำวันที่ผลิตและใช้อยู่ในสังคม สำรวจตรอบสอบนัยทางการเมืองที่เกี่ยวพันกับการผลิตวัตถุดังกล่าว หนึ่งในคอลเล็กชั่นที่น่าสนใจของโปรเจ็กนี้คือ “ธงของผู้อพยพ” เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงผู้อพยพย้ายถิ่นหลายล้านทั่วโลก โดยเริ่มแรกจัดทำเพื่อจะใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ของกลุ่มนักกีฬาที่เป็นผู้อพยพที่รวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมแข่งขัน โดยธงนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงอำนาจในการออกแบบ สะท้อนทั้งพื้นที่ทางสัญลักษณ์และกายภาพสำหรับการตะหนักถึงการมีอยู่ของผู้อพยพและชะตากรรมของพวกเขา ธงเป็นสีส้มสดคาดแถบสีดำตรงกลาง แรงบันดาลใจจากการออกแบบมาจากเสื้อชูชีพของผู้อพยพทางเรือที่ข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อมุ่งหวังสร้างชีวิตใหม่ ส่วนอีกชิ้นคือ "เบอร์กินี"(burkini) ชุดว่ายน้ำที่ปกปิดร่ายกายตามแบบสตรีมุสลิม เบอร์กินีถูกออกแบบและวางขายในปี 2004 ถือเป็นการสนับสนุนให้สตรีมุสลิมหันมาออกกำลังกายมากขึ้น แต่ต่อมาเป็นประเด็นร้อนเมื่อเมืองชายทะเลหลายเมืองในฝรั่งเศสออกคำสั่งห้ามสวมชุดว่ายน้ำเบอร์กินีบริเวณชายหาดสาธารณะ ประเด็นดังกล่าวนำไปสู่การถกเถียงระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ฝ่ายขวาจัดมองว่าการสวมเบอร์กินีเป็นการแสดงสัญลักษณ์ศาสนาที่สร้างความแปลกแยกไม่สอดคล้องกับรัฐฆราวาส  ส่วนฝ่ายสนับสนุนมองว่าการออกคำสั่งห้ามเป็นการละเมิดเสรีภาพพลเมืองและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน พิพิธภัณฑ์จึงสามารถที่จะกลายเป็นเวทีที่กระตุ้นให้ผู้ชมได้ถกเถียงหรือตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองสำคัญที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ น่าสนใจอีกว่าปีนี้การประชุมสัมมนาประจำปี 2017ของ ICOMOS(International Council on Monuments and Sites)เปิดรับบทความในหัวข้อ “Heritage and Democracy” ยิ่งทำให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรมกับการเมืองไม่ใช่เรื่องห่างไกลเลย แต่น่าเศร้าเมื่อหันกลับมาพิจารณาสถานการณ์ในบ้านเรา การทำอะไรในลักษณะนั้นบ้างคงไม่ใช่เรื่องง่าย หากเรายังอยู่ในห้วงเวลาที่ความรู้และการแลกเปลี่ยนความรู้ในแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเมืองถูกเซ็นต์เซอร์อย่างไร้สติโดยรัฐอ้างอิงhttp://www.vam.ac.uk/blog/network/rapid-response-collecting-burkini-and-refugee-flag http://www.vam.ac.uk/content/articles/r/rapid-response-collecting/ https://www.nytimes.com/2017/02/03/arts/design/moma-protests-trump-entry-ban-with-work-by-artists-from-muslim-nations.html?_r=0 http://advisor.museumsandheritage.com/museums-can-stand-trump-discriminatory-politics/ http://advisor.museumsandheritage.com/features/museums-react-events-political-turmoil-protests-sporting-triumphs/ http://www.icomos.org/en/about-icomos/image-menu-about-icomos/173-governance/general-assembly/8738-call-for-papers-and-proposals-heritage-and-democracy-19th-icomos-general-assembly-and-scientific-symposium  

แนะนำ Museum Backpacker

โพสต์เมื่อ 23 มกราคม 2562

สวัสดีค่ะ วันนี้อยากแนะนำ Blog (บทความขนาดสั้น) ที่ชื่อว่า "Museum Backpacker" หรือชื่อภาษาไทยว่า "ท่องไปในพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก" ผู้เขียน blog เป็นคนที่มีความใฝ่ฝันอยากจะเดินทางท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกให้ได้อย่าง 100 พิพิธภัณฑ์ โดยเริ่มเดินทางตั้งแต่ปี 2008 (พ.ศ. 2551) ถึงปี 2013 (พ.ศ. 2556) น่าสนใจใช่ไหมคะ? ว่า เธอผู้นั้นเดินทางไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ที่ไหนมาแล้วบ้าง? เราสามารถติดตามการท่องเที่ยวของเธอได้ที่ https://museumbackpacker.wordpress.com             หน้าแรก (Home) ผู้เขียนจะบอกเล่าความตั้งใจในการทำ blog พร้อมกับลงภาพพิพิธภัณฑ์ที่ได้ไปเยือนแต่ละแห่งไว้ ทั้งในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ฯลฯ               จากนั้นเราสามารถเลือกพิพิธภัณฑ์ที่เราสนใจได้เลยค่ะ พอเปิดเข้าไปก็จะพบกับข้อมูลสรุปเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์นั้นๆ ภาพถ่ายวัตถุที่จัดแสดง (สวยงาม) ในช่วงท้ายของหน้าจะบอกข้อมูลพื้นฐานของพิพิธภัณฑ์ เช่น เวลาที่ใช้ในการชม (เข้าใจว่า มาจากเวลาที่ผู้เขียนใช้ชมพิพิธภัณฑ์)  ภาษา (ที่พิพิธภัณฑ์ใช้สื่อสาร)  เวลาเปิด- ปิด  ราคาค่าตั๋วเข้าชม เวบไซต์ของทางพิพิธภัณฑ์  ที่ตั้ง  และข้อความสรุปใน 1 ประโยคจากผู้เขียนที่มีต่อพิพิธภัณฑ์นั้นๆ ที่สำคัญผู้เขียนยังใจดีอนุญาตให้เผยแพร่ภาพถ่ายและข้อความภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ ซึ่งท่านไหนจะนำไปใช้หรือเผยแพร่ต่อ อย่าลืมปฎิบัติตามภายใต้เงื่อนไขนี้นะคะ              นอกจากผู้เขียนจะแนะนำพิพิธภัณฑ์รายแห่งแล้ว ผู้เขียนแนะนำกฎ/ ข้อควรปฎิบัติ หรืออาจจะเรียกว่า เทคนิค หรือที่ชอบเรียกกันทับศัพท์ว่า “ทิป” (Tips) ในหัวข้อ Rules and Tips สิ่งที่ควรรู้ก่อนเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์ เป็นบอกเทคนิคให้เตรียมตัวสำหรับคนที่ต้องการชมพิพิธภัณฑ์อย่างมีความสุข ซึ่งผู้เขียนเขียนไว้ทั้งหมด 10 ข้อ พร้อมให้คำอธิบายสั้นๆ ว่า แต่ละข้อหมายถึงอะไร บางข้อนักเที่ยวพิพิธภัณฑ์ก็รู้อยู่แล้ว เช่น กฎการถ่ายภาพ แต่ผู้เขียนก็เขียนย้ำ เป็นการเตือนถึงสิ่งที่ควรปฎิบัติ ขณะที่บางข้อก็เป็นเทคนิคบอกถึงการเพิ่มความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในการชม เช่น ควรหลีกเลี่ยงการชมพิพิธภัณฑ์ในชั่วโมงเร่งด่วน เป็นต้น                                    ส่วนหัวข้อ มารู้จักประเภทของพิพิธภัณฑ์กันดีกว่า เป็นความพยายามของผู้เขียนที่จะอธิบายว่า พิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่ (ทั่วโลก) มีประเภทไหนบ้าง? แล้วแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร? แล้วพิพิธภัณฑ์ที่ผู้เขียนได้ไปชมมาอยู่ในประเภทไหน ใน blog ผู้เขียนได้แบ่งพิพิธภัณฑ์ออกเป็น 39 ประเภท ตามเกณฑ์การแบ่งของ Wikipedia ซึ่งการแบ่งประเภทจะทำให้เรารู้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ช่องทางนี้ยังสามารถช่วยให้เราสืบค้นพิพิธภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของเราได้อีกด้วย              สำหรับท่านที่ต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือเพิ่มเติมข้อมูลให้กับทาง blog ก็สามารถสมัครสมาชิกเป็นแฟนเพจของ blog นี้ได้นะคะ ไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างไร... อยากลืมเข้าไปให้กำลังใจแก่ผู้เขียน ผู้ซึ่งที่มีใจอยากจะแบ่งปันเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ให้กับเราๆ ได้รับรู้นะคะ... เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เราได้ท่องโลก (พิพิธภัณฑ์) กว้างขึ้นค่ะ...

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งชาติเกาหลี The National Folk Museum of Korea

โพสต์เมื่อ 23 มกราคม 2562

มาเยือนโซลทั้งที นักท่องเที่ยวคงไม่พลาดที่จะแวะชมความงดงามของพระราชวังคย็องบกกุง (Gyeongbokgung) พระราชวังหลวงเก่าแก่แห่งนี้ถูกสร้างในสมัยโชซอนเมื่อกว่าเจ็ดร้อยปีที่ผ่านมา ระหว่างทางเดินชมพระราชวังจะเห็นสาวเกาหลีหน้าตาแฉล้มใส่ชุดฮันบกสีสันสดใสยืนถ่ายรูปอยู่ตามมุมต่างๆของพระราชวัง ภาพผู้คนแต่งชุดประจำชาติที่ผสมกลมกลืนไปสิ่งปลูกสร้างตรงหน้ายิ่งช่วยให้จินตนาการย้อนไปในอดีตเมื่อครั้งที่พระราชวังแห่งนี้ยังมีชีวิตนับร้อยอาศัยอยู่  แสงอาทิตย์ยามเย็นสาดลงมา ณ มุมหนึ่งของพระราชวังคย็องบกกุง แต่พระเอกของวันนี้ไม่ใช่พระราชวัง หรือหญิงสาวใส่ชุดฮันบก หากแต่เป็น “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งชาติเกาหลี” ที่ตั้งอยู่ทางด้านฝั่งใต้ของพระราชวัง สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งรวมของสิ่งของทางประวัติศาสตร์กว่าหลายพันชิ้น ซึ่งล้วนแต่ผ่านการใช้งานจริงในชีวิตประจำวันของคนเกาหลีจากหลายยุคสมัยก่อนมาแล้วทั้งสิ้น นักท่องเที่ยวแวะเวียนกันมาถ่ายรูปด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งชาติเกาหลี        ความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์อยู่ที่วิสัยทัศน์ของพิพิธภัณฑ์ที่จะทำให้มีลักษณะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ปฏิสัมพันธ์กับโลกและเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ “A museum that interacts with the world” โดยนำเอาแนวคิดอย่างเช่น “Edutainment”แนวคิดเรื่องการศึกษาที่ผสมผสานกับความสนุกสนานบันเทิง “Globalism” ที่พยายามทำให้ความรู้เกี่ยววัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมโลกผสมผสานเข้าด้วยกัน และ “Eco – museum” แนวคิดด้านนิเวศพิพิธภัณฑ์หรือการผสานท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม  จากแนวคิดดังกล่าว ทำให้การเข้าชมเป็นเรื่องความรู้พอๆ กับความบันเทิงใจตั้งแต่ย่างเท้าเข้าเขตพิพิธภัณฑ์ อย่างเช่น รูปปั้นนักษัตร 12 ราศีที่ตั้งอยู่ด้านหน้าตึกพิพิธภัณฑ์ที่สะท้อนความเชื่อพื้นบ้านของเกาหลี พอเข้ามาชมนิทรรศการถาวรภายในก็ได้ลองหยิบจับอุปกรณ์หรือสิ่งของต่างๆ ที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดวางไว้ให้ได้ลองเล่นได้ลองสัมผัสวิถีชีวิตของชาวเกาหลีในอดีต  รูปปั้นนักษัตร 12 ราศีที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์มุมนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้ทดลองเขียนตัวอักษรลงบนทรายอย่างที่ชาวเกาหลีสมัยก่อนเคยเขียนกัน นิทรรศการถาวรแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกจัดแสดงสิ่งของในชีวิตประจำวันที่สะท้อนวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาวเกาหลีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ไปจนถึงยุคสมัยใหม่ ส่วนถัดมาเป็นนิทรรศการที่แสดงให้เห็นว่าชาวเกาหลีมีชีวิตความเป็นอยู่เช่นไรในช่วง Joseon (1392-1910) ซึ่งเกี่ยวพันกับชีวิตทางการเกษตร และวงจรในรอบปีของฤดูกาลทั้งสี่ นิทรรศการในห้องนี้จำลองบรรยากาศหมู่บ้านของวิถีชีวิตคนสมัยก่อนไว้ได้อย่างสวยงาม ในส่วนสุดท้ายของนิทรรศการคือส่วนของสิ่งของทางประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนไปตามหัวข้อต่างๆ แล้วแต่ประเด็นที่ตั้งขึ้นมา  ตัวอย่างหนังสือเขียนมือเก่าเก็บของชาวเกาหลีที่ยังคงสภาพความสดใสของสีไว้ได้อย่างชัดเจนบ้านจำลองในมุมหนึ่งของพิพิธภัณฑ์สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของชาวเกาหลี นับตั้งแต่การก่อตั้งในปี 1946 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการศึกษาวิจัยในขั้นต้นเกี่ยวกับวิถีชีวิตพื้นบ้านของชาวเกาหลี มีการตีพิมพ์รายงาน และจัดบรรยายส่งเสริมความรู้ให้กับบุคคลทั่วไปมาโดยตลอด  ผู้เข้าชมยังสามารถชมนิทรรศการผ่านออนไลน์ได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ทางพิพิธภัณฑ์ยังมีความพยายามในการสร้างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม หน้ากากเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความบันเทิงให้แก้ผู้คนและอยู่ในวัฒนธรรมของชาวเกาหลีมาช้านาน หุ่นจำลองวิถีชีวิตในโรงเรียนของชาวเกาหลีสมัยก่อนอีกส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ที่สร้างความประทับใจได้ไม่แพ้กันคือ Children’s Museum ส่วนที่น่าสนใจและเป็นสีสันของพิพิธภัณฑ์น่าอยู่ที่นิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นเหมือนพื้นที่เรียนรู้ที่น่าสนุกสนานของเด็กๆ มีการดีไซน์รูปแบบของนิทรรศการแบบที่เด็กๆ สามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าได้อย่างเต็มที่ เด็กๆ จะได้รับการกระตุ้นจินตนาการ และความสนุกสนานไปพร้อมๆ กับความรู้ ผ่านการมองเห็นการเล่นการสัมผัส ด้านหน้าของ Children’s Museum มุมฉายวีดีทัศน์ ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาตินิทรรศการถาวรแบ่งออกเป็นหลายส่วน เช่น ส่วนของ “Story from Trees” ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของต้นไม้ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ และส่วนของ “The moon and the sun”ที่มุ่งหมายให้เด็กๆ ตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ การเคารพธรรมชาติ เหมาะอย่างยิ่งแก่เด็กๆในเมืองที่ไม่มีโอกาสสัมผัสธรรมชาติมากนัก บรรยากาศของนิทรรศการข้างในพิพิธภัณฑ์นั้นไม่เฉพาะแต่เด็กๆที่สามารถมีส่วนร่วม แต่ผู้ใหญ่ ครู ผู้ปกครองก็สามารถมีส่วนร่วมเช่นกัน และอาจจะได้พบว่ายังมีความรู้อีกหลายอย่างที่ไม่เคยได้รู้มาก่อนก็เป็นได้ นอกจากนิทรรศการถาวรแล้วภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีมุมอ่านหนังสือที่เด็กๆ สามารถมานั่งอ่านได้อีกด้วย  เด็กๆ ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆในพิพิธภัณฑ์ผ่านการลองเล่นลองทำ   เด็กๆ กำลังเล่นสนุกอยู่ในลานเด็กเล่นกลางพิพิธภัณฑ์ จากการมาเยือนพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งชาติเกาหลีในครั้งนี้ ได้เห็นถึงความพยายามต่างๆในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งของการเรียนรู้ ตลอดชีวิตอย่างที่ทางพิพิธภัณฑ์ได้ตั้งวิสัยทัศน์ไว้ เพื่อการรักษาและส่งต่อความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวเกาหลีเหล่านี้ให้ ยั่งยืนและนับว่าเป็นอีกพิพิธภัณฑ์หนึ่งที่น่ามาศึกษา สิ่งที่ได้ติดไม้ติดมือกลับไปอาจไม่ใช่แค่บรรยากาศที่สวยงามและความรู้ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวเกาหลี หากแต่รวมไปถึงแนวคิดเรื่องการเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย  แนวคิดในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม และยังได้เห็นตัวอย่างของการสื่อสารต่อสาธารณะที่สร้างสรรค์อีกด้วย