พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น “ผลิตความสุข”

Blogที่แล้ว ดิฉันชวนไปดูโครงการดีๆ เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพของผู้สูงวัยของพิพิธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษ คลิกอ่าน “พิพิธภัณฑ์ในฐานะพื้นที่บำบัดผู้สูงวัย กรณีประเทศอังกฤษ” คราวนี้ชวนมาทำความรู้จักพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทยอย่างน้อย 2 แห่ง ที่ทำกิจกรรมหรือมีกระบวนการเสริมสร้างสุขภาวะในชุมชน คือ พิพิธภัณฑ์เล่นได้ จ.เชียงราย และห้องภาพเมืองสุรินทร์ ค่ะ

“ผลิตความสุข” ที่พิพิธภัณฑ์เล่นได้


หากความอยู่ดีมีสุขหรือสุขภาวะที่ดีมิได้หมายถึงเพียงแค่การมีสุขภาพดี แต่ยังรวมถึงสภาพจิตใจที่ดี สังคมเข้มแข็ง รวมถึงการมีปัญญารู้เท่าทันแล้วล่ะก็  ชัดเจนมากว่าการทำงานของพิพิธภัณฑ์เล่นได้ จ.เชียงราย สนับสนุนและส่งเสริมการสร้างสุขภาวะในชุมชน จุดเริ่มต้นมาจากความต้องการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสองวัยคือเด็กและผู้สูงวัยในชุมชนบ้านป่าแดด วีรวัฒน์ กังวานนวกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้งเล่าว่า

“...ด้วยเชื่อมั่นในกระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่น เราจึงใช้ของเล่นเป็นเครื่องมือในการลดช่องว่างระหว่างผู้สูงอายุกับเด็กๆ ให้ของเล่นเป็นตัวประสานความสัมพันธ์ในครอบครัว สร้างความภาคภูมิใจในท้องถิ่น และแปรเป็นพลังสร้างสรรค์กิจกรรมในชุมชนอย่างต่อเนื่อง”

กว่า 15 ปีที่แล้วทั้งคุณวีรวัฒน์และคุณวีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้ริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เล่นได้ในพื้นที่บ้านป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เห็นปรากฏการณ์การละทิ้งถิ่นฐานของคนหนุ่มสาวเพื่อเข้ามาทำงานในเมือง ทิ้งคนเฒ่าคนแก่หงอยเหงาอยู่บ้านกับเด็กๆ แถมคนสองวัยนี้ก็สื่อสารกันไม่ค่อยเข้าใจ จึงคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้คนสองวัยมาปฏิสัมพันธ์กันให้มากขึ้น เป็นมาของการจัดตั้งกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ ชวนพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยมาเล่ามาคุยในสิ่งที่ตนเองถนัดหนึ่งในนั้นคือการทำของเล่นพื้นบ้านจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น คนแก่ตาเป็นประกายและมีความสุขที่จะเล่า ส่วนเด็กๆนอกเหนือจากความสนุกสนานเมื่อได้เห็นและเล่นของเล่น ยังทำให้เด็กรู้จักทรัพยากรท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่พันธุ์ต่างๆ มีทักษะในการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ  มีสมาธิในสิ่งที่ทำ ส่งเสริมจินตนาการ และเปลี่ยนความคิดและค่านิยมที่เคยมองว่าของเล่นพื้นบ้านเชย



ภาพโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

“ของเล่นที่เป็นสัตว์แกะสลัก...ท่านถามเด็กว่าตัวอะไร เด็กแต่ละคนมองว่าเป็นทั้งม้า หมู กวาง ท่านตอบว่าถูกหมด ของเล่นที่อุ๊ยทำเป็นอะไรก็ได้ ผมอมยิ้มในใจ และบอกในใจว่านี่แหละคือครูภูมิปัญญา เป็นเพชรเม็ดงามของชุมชน เพราะจินตนาการไม่มีถูกปิด ของเล่นที่ดีจะต้องมีที่ว่างเพื่อให้เด็กจินตนาการ...”  วีรวัฒน์เล่าถึงภูมิปัญญาในการสร้างจิตนาการ

ในระหว่างการสอนพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยก็สอดแทรกเรื่องศีลธรรม จริยธรรมในการใช้ชีวิตที่คนรุ่นใหม่อาจหลงลืม เช่น “งู” ของเล่นที่สานจากตอก คนเฒ่าบางท่านก็เล่าว่าเอาไว้จีบสาว เพราะผู้ชายผู้หญิงไม่แตะเนื้อต้องตัวผิดประเพณี  อุ๊ยผู้ชายสานงูแล้วให้อุ๊ยผู้หญิงใส่ เมื่อใส่แล้วดึงอย่างไรก็ไม่ออก มีการจับสัมผัสนิดหน่อยแต่ไม่ผิดวัฒนธรรม เป็นต้น

กระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเล็กๆ อย่างการประดิษฐ์และการชวนกันเล่นของเล่นพื้นบ้าน นอกจากสานความสัมพันธ์ในครอบครัวแล้ว  ยังเป็นการพัฒนาทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และจริยธรรม และยังมีของแถมเกิดเป็นกลุ่มอาชีพผลิตของเล่นพื้นบ้านส่งขายไปยังสถานที่ต่างๆ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

น่าดีใจที่พิพิธภัณฑ์เล่นได้ ได้ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ของเล่นพื้นบ้านเป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาสังคมและสร้างสุขภาวะออกไปสู่ชุมชนอื่นๆ ทั้งจากการเข้ามาดูงานของหน่วยงานต่างๆ ที่พิพิธภัณฑ์ และการออกไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้นอกสถานที่


“วัฒนธรรมสร้างสุข” กับห้องภาพเมืองสุรินทร์


โดยปกติแล้วกิจกรรมของห้องภาพเมืองสุรินทร์ มีหลากหลายและน่าสนใจมาก พื้นฐานคือการใช้ภาพถ่ายเก่าเป็นเครื่องมือในกระบวนการเรียนรู้อดีตและการสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ภายใต้แนวคิดสำคัญในการทำงานว่า

“พิพิธภัณฑ์อย่าตั้งอยู่เฉยๆ ต้องก้าวออกไปข้างนอกตัวให้กว้างให้ไกลที่สุด...”

กิจกรรมอันน่าประทับใจของห้องภาพเมืองสุรินทร์ ที่ช่วยเสริมสร้างความสุขของคนในชุมชน ชื่อว่า “โครงการเรื่องเล่าอันอบอุ่น”  เป็นการใช้ภาพถ่ายเก่าเป็นสื่อในการค้นคว้าและรวบรวมประวัติศาสตร์และความทรงจำในอดีตของครอบครัวต่างๆ ในเมืองสุรินทร์ 

พัทธนันท์ โอษฐ์เจษฎา เล่าความรู้สึกร่วมที่เกิดขึ้นว่า
“...ความทรงจำของครอบครัว เราไม่เคยคิดภาพเก่าจะสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ลูกหลานกลับมาคุยกับพ่อแม่ที่ไม่ได้คุยกันมาสิบยี่สิบปี ก็เพราะภาพที่เราไปคุยกับพ่อแม่ ตายาย แล้วเขาได้เล่าให้ลูกหลานฟัง เป็นบรรยากาศที่เป็นกำลังใจทั้งสองฝ่าย เราทำงานก็มีความสุขที่ได้ไปเจอบรรยากาศอย่างนั้น...”

กิจกรรมเรื่องเล่าอันอบอุ่นนอกจากเป้าหมายหลักที่เป็นต่อจิ๊กซอว์ข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากครอบครัวต่างๆ ในสุรินทร์แล้ว ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และยังทำให้อีกหลายๆ ครอบครัวเห็นประโยชน์และยินดีให้ข้อมูลและร่วมเป็นพันธมิตรกับห้องภาพเมืองสุรินทร์อย่างเต็มอกเต็มใจ ซ้ำยังสร้างความสุขแก่คนทำงานอย่างที่พวกเขาก็ไม่ได้คาดคิดมาก่อน



ภาพโดยห้องภาพเมืองสุรินทร์

แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าว่า ไม่นานมานี้ห้องภาพเมืองสุรินทร์ถูกเรียกคืนพื้นที่จากเจ้าของที่เป็นหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง  เป็นการยุติบทบาทของห้องภาพเมืองสุรินทร์ในเชิงกายภาพ  ทราบว่าผู้ก่อตั้งก็ยังพยายามทำงานในเชิงเก็บและเรียบเรียงข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเท่าที่เวลาโอกาสและสังขารจะเอื้ออำนวย  และสื่อสารผ่านช่องทางวารสารสุรินทร์สโมสร และหนังสือที่จัดพิมพ์ตามวาระต่างๆ

เอาเข้าจริงประเด็นพิพิธภัณฑ์ในฐานะพื้นที่บำบัดผู้สูงวัย สำหรับบริบทในเมืองไทยอาจจะต่างกับที่อังกฤษ ทั้งในแง่สังคม ความนิยมเข้าพิพิธภัณฑ์ และตัวพิพิธภัณฑ์เอง ผู้เขียนมองว่าในเมืองไทย คนทำพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นส่วนใหญ่คือผู้สูงวัย  “การทำพิพิธภัณฑ์จึงเสมือนหนึ่งเป็นหนทางบำบัดผู้สูงวัย”  อย่างไรก็ดีเราคงต้องศึกษาประเด็นนี้กันต่อไป.


 
 
 

อ้างอิง :

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ(บก.).(2557). คนทำพิพิธภัณฑ์.กรุงเทพฯ:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
วีรวัฒน์ กังวานนวกุล.(2555). “พิพิธภัณฑ์เล่นได้: พื้นที่เล่นอย่างสร้างสรรค์” ใน ภูมิรู้สู้วิกฤต. กรุงเทพฯ:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

ชื่อผู้แต่ง : ปณิตา สระวาสี