พิพิธภัณฑ์ทำอะไรได้บ้างกับเรื่องการเมืองร้อนๆ

ในสังคมประชาธิปไตย การเปิดกว้างทางความคิดเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไป  การแสดงออกทางการเมืองที่ไม่ได้เห็นพ้องกับคนหมู่มากหรือแม้กระทั่งรัฐจึงไม่ใช่อาชญากร การเมืองเป็นเรื่องของทุกคนหรือพูดอีกอย่างว่าการเมืองเป็นชีวิตประจำวันของทุกคน  ไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นพิพิธภัณฑ์ในฝั่งยุโรปหรืออเมริกามักมีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญที่เกิดขึ้น อย่างที่รู้ๆ กันในรอบปีที่ผ่านมามีการเมืองร้อนๆที่ทั่วโลกจับตามอง ทั้งเรื่องBrexit  คลื่นผู้อพยพ  หรือการเข้าสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัล ทรัมป์  ปฏิกิริยาพิพิธภัณฑ์ที่ว่าคือมีทั้งนิทรรศการ การจัดกิจกรรมที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
 
MoMA(Museum of Modern Art)เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่แสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนต่อนโยบายกีดกันผู้อพยพของทรัมป์ สิ่งที่MoMAทำคือการยกเอาผลงานของศิลปินมุสลิมจากประเทศในตะวันออกกลางที่ถูกห้ามเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาตามคำสั่งที่ออกมาเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2017 ทั้งภาพวาด งานปั้น งานติดตั้ง ขึ้นมาไฮไลท์และจัดแสดงในพื้นที่นิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์เลยทีเดียว รวมถึงจัดฉายภาพยนตร์จากนักทำหนังที่เป็นมุสลิมจากประเทศในตะวันออกกลางด้วย ถือเป็นการตอกย้ำแนวคิดเรื่องการเปิดกว้างและเสรีภาพที่เป็นหัวใจสำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่ต้องการจะส่งสารถึงสหรัฐอเมริกา

ต่อกรณีเดียวกันสมาคมพิพิธภัณฑ์ (Museums Association)ของสหราชอาณาจักรออก “แถลงการณ์ของพิพิธภัณฑ์สำหรับการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นและการอยู่ร่วมกัน” (Museum Manifesto for Tolerance and Inclusion) โดยหลักใหญ่ใจความคือ ให้พิพิธภัณฑ์ยึดถือหลักจรรยาบรรณข้อสำคัญของพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของสาธารณะและผลประโยชน์ของสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ควรปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมด้วยความเคารพและซื่อสัตย์ สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ละทิ้งผู้ชมปัจจุบันและมองหาผู้ชมกลุ่มใหม่ที่หลากหลาย ยึดหลักการทำงานเกี่ยวกับความหลากหลายและความเท่าเทียม

ขณะที่สำนักพิพิธภัณฑ์ศึกษา มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ถึงกับเสนอ 6 แนวทางในการที่พิพิธภัณฑ์ควรตอบโต้ต่อนโยบายเลือกปฏิบัติต่อศาสนาและชาติพันธุ์ของทรัมป์และนโยบายขวาจัดในอียู

1. ยินดีต้อนรับ: แสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่ของทุกคน คล้ายกับสุภาษิตที่ว่าใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ ไม่ว่าจะยากดีมีจน เขาจะนับถือศาสนาไหน เชื้อชาติใด

2. นำเสนอ: แสดงให้เห็นว่าสนับสนุนเรื่องความหลากหลายของผู้คนและสังคม พิพิธภัณฑ์ควรสำรวจคอลเล็กชั่นที่มีและชุมชนรายรอบ แล้วนำมาเล่าเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์สามารถช่วยเปลี่ยนความคิดด้านลบหรือการเล่าเรื่องแบบผิดๆ เกี่ยวกับคนชายชอบรวมถึงผู้อพยพได

3. บันทึก เก็บข้อมูล และสะสม
: พิพิธภัณฑ์และงานจดหมายเหตุเป็นสถานที่สำคัญในการเก็บรวบรวม บันทึก และนำเสนอความไร้มนุษยธรรมที่เกิดขึ้น คงไม่มีใครต้องการให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยดังเหตุการณ์กรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวในสงครามโลกครั้งที่สอ


4. แสดงพลัง: รณรงค์ในสิ่งที่ถูกต้องควรจะเป็น อย่าทำตัวเป็นกลาง ควรเลือกข้าง โดยยืนอยู่ข้างสิ่งที่ถูกต้อ

5. อย่าอดทนกับการไม่ยอมรับความแตกต่าง
: พิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องนำเสนอมุมมองของทั้งสองข้าง หากข้างใดข้างหนึ่งประกาศว่าเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติ หรือคลั่งศาสนา การไม่ให้เวทีไม่ใช่การปฏิเสธเสรีภาพในการแสดงออกอย่างที่บางคนอ้าง แต่เป็นกลไกที่สามารถก้าวออกมาจากการไม่ยอมรับความแตกต่างและความเกลียดชัง 

6. รื่นรมย์กับความดีงามของความเป็นมนุษย์: พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่คุณสามารถค้นหาความดีงามของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ วัฒนธรรม และมรดกของมนุษยขาติ พิพิธภัณฑ์ยังสามารถสร้างเสริมสุขภาพและสุขภาวะ ควรทำพิพิธภัณฑ์ให้เป็นสถานที่สร้างแรงบันดาลใจสำหรับผู้คนในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม

และไม่จำเป็นที่พิพิธภัณฑ์จะต้องเก็บของเก่า แต่วัตถุร่วมสมัยในชีวิตประจำวันที่แสดงพลังการเล่าเรื่องก็สำคัญไม่แพ้กัน กรณีเหตุการณ์ที่ผู้หญิงทั่วโลกลุกขึ้นมาเดินขบวนประท้วงทรัมป์เนื่องจากไม่พอใจนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ ตลอดจนการแสดงออกของทรัมป์ที่มีท่าทีดูถูกผู้หญิงหลังที่เขาเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง  ห้องสมุดผู้หญิงแห่งกลาสโกว์ (Glasgow Women’s Library)ถือโอกาสนี้ออกมาประกาศรับบริจาคป้ายประท้วง ใบปลิว เครื่องแต่งกาย อันเนื่องมาจากเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว


 
ภาพจาก http://www.vam.ac.uk/

เช่นเดียวกับV&A พิพิธภัณฑ์ที่เป็นผู้นำด้านศิลปะและการดีไซน์ได้ออกโปรเจ็ค “Rapid Response Collecting”  โดยการให้พื้นที่จัดแสดงวัตถุดีไซน์ที่เป็นประจักษ์พยานเหตุการณ์สำคัญร่วมสมัยทางสังคมและการเมือง  เรียกว่าเป็นคอลเล็กชั่นที่ข้ามพรมแดนพิพิธภัณฑ์แบบเดิมๆ คือต้องดีลกับวัตถุของใช้ในชีวิตประจำวันที่ผลิตและใช้อยู่ในสังคม สำรวจตรอบสอบนัยทางการเมืองที่เกี่ยวพันกับการผลิตวัตถุดังกล่าว หนึ่งในคอลเล็กชั่นที่น่าสนใจของโปรเจ็กนี้คือ “ธงของผู้อพยพ” เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงผู้อพยพย้ายถิ่นหลายล้านทั่วโลก โดยเริ่มแรกจัดทำเพื่อจะใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ของกลุ่มนักกีฬาที่เป็นผู้อพยพที่รวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมแข่งขัน โดยธงนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงอำนาจในการออกแบบ สะท้อนทั้งพื้นที่ทางสัญลักษณ์และกายภาพสำหรับการตะหนักถึงการมีอยู่ของผู้อพยพและชะตากรรมของพวกเขา ธงเป็นสีส้มสดคาดแถบสีดำตรงกลาง แรงบันดาลใจจากการออกแบบมาจากเสื้อชูชีพของผู้อพยพทางเรือที่ข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อมุ่งหวังสร้างชีวิตใหม่

ส่วนอีกชิ้นคือ "เบอร์กินี"(burkini) ชุดว่ายน้ำที่ปกปิดร่ายกายตามแบบสตรีมุสลิม เบอร์กินีถูกออกแบบและวางขายในปี 2004 ถือเป็นการสนับสนุนให้สตรีมุสลิมหันมาออกกำลังกายมากขึ้น แต่ต่อมาเป็นประเด็นร้อนเมื่อเมืองชายทะเลหลายเมืองในฝรั่งเศสออกคำสั่งห้ามสวมชุดว่ายน้ำเบอร์กินีบริเวณชายหาดสาธารณะ ประเด็นดังกล่าวนำไปสู่การถกเถียงระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ฝ่ายขวาจัดมองว่าการสวมเบอร์กินีเป็นการแสดงสัญลักษณ์ศาสนาที่สร้างความแปลกแยกไม่สอดคล้องกับรัฐฆราวาส  ส่วนฝ่ายสนับสนุนมองว่าการออกคำสั่งห้ามเป็นการละเมิดเสรีภาพพลเมืองและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

พิพิธภัณฑ์จึงสามารถที่จะกลายเป็นเวทีที่กระตุ้นให้ผู้ชมได้ถกเถียงหรือตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองสำคัญที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

น่าสนใจอีกว่าปีนี้การประชุมสัมมนาประจำปี 2017ของ ICOMOS(International Council on Monuments and Sites)เปิดรับบทความในหัวข้อ “Heritage and Democracy” ยิ่งทำให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรมกับการเมืองไม่ใช่เรื่องห่างไกลเลย

แต่น่าเศร้าเมื่อหันกลับมาพิจารณาสถานการณ์ในบ้านเรา การทำอะไรในลักษณะนั้นบ้างคงไม่ใช่เรื่องง่าย หากเรายังอยู่ในห้วงเวลาที่ความรู้และการแลกเปลี่ยนความรู้ในแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเมืองถูกเซ็นต์เซอร์อย่างไร้สติโดยรัฐ


อ้างอิง

http://www.vam.ac.uk/blog/network/rapid-response-collecting-burkini-and-refugee-flag
http://www.vam.ac.uk/content/articles/r/rapid-response-collecting/
https://www.nytimes.com/2017/02/03/arts/design/moma-protests-trump-entry-ban-with-work-by-artists-from-muslim-nations.html?_r=0
http://advisor.museumsandheritage.com/museums-can-stand-trump-discriminatory-politics/
http://advisor.museumsandheritage.com/features/museums-react-events-political-turmoil-protests-sporting-triumphs/
http://www.icomos.org/en/about-icomos/image-menu-about-icomos/173-governance/general-assembly/8738-call-for-papers-and-proposals-heritage-and-democracy-19th-icomos-general-assembly-and-scientific-symposium



 

อ้างอิง :

ชื่อผู้แต่ง : ปณิตา สระวาสี