19 พิพิธภัณฑ์บ้าน(ไม่) เก่า แรงบันดาลใจแห่งการอนุรักษ์




ครั้งหนึ่งบ้านอาจทำหน้าที่เป็นที่พักอาศัย  เมื่อเวลาล่วงเลย บ้านอาจเปลี่ยนบทบาทไปสู่การเป็นพิพิธภัณฑ์   พิพิธภัณฑ์บ้านมีเจ้าของทั้งที่เป็นเจ้าของเดิม และเจ้าของรับมรดกตกทอดมา มีทั้งที่เป็นของเอกชน และหน่วยงานรัฐ  บางแห่งยังมีผู้อยู่อาศัยในเรือน ความรักและภาคภูมิใจในสมบัติเดิม เป็นพลังผลักดันสำคัญให้ผู้ครอบครองบำรุงรักษาและเผยแพร่เกียรติคุณของบุคคลเจ้าของเรือน ตัวเรือน ตลอดจนสมบัติวัตถุในเรือน ให้ดำรงอยู่อย่างสง่างาม ในฐานะแหล่งเรียนรู้ของสังคม

ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษายวิทยาสิรินธร ชวนคุณมาเคาะประตู ทำความรู้จัก “19 พิพิธภัณฑ์บ้าน” สถานที่อวลด้วยความงาม ความรู้ ความรัก และความทรงจำ  ที่ทุกอย่างแม้เก่า แต่ก็ไม่ทุบทิ้ง! พื้นที่ทุกตารางนิ้วของบ้านถูกเปลี่ยนให้กลายประโยชน์กับสังคม

1.      พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)    ตรัง



บ้านเลขที่ 1 เรือนไม้สองชั้นสีเขียว ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ ภายในอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เคยเป็นที่พำนักของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) ปัจจุบันเป็นสมบัติที่อยู่ในความครอบครองของตระกูล “ณ ระนอง” และอนุญาตให้โรงเรียนกันตังพิทยากร เข้ามาดำเนินการจัดการพิพิธภัณฑ์ ทำหน้าที่ดูแลและให้บริการความรู้ต่างๆ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535

วัตถุจัดแสดงภายในมีทั้งเครื่องเรือน ข้าวของเครื่องใช้ และภาพถ่ายเก่า ที่แสดงให้เห็นการดำเนินชีวิตภายในเรือน และแสดงให้เห็นสายสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของเรือนกับบุคคลอื่นๆ ในช่วงชีวิต

อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1091


2.      บ้านชินประชา  ภูเก็ต



ริมถนนกระบี่ ภายในเมืองภูเก็ต เป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่ 98 บ้านที่มีสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “ชิโน-โปรตุกีส” หลังแรกของเมืองภูเก็ต ชื่อว่า “บ้านชินประชา” สร้างขึ้นในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยพระพิทักษ์ชินประชา (ตันม่าเสียง) คหบดีเชื้อสายจีนที่เกิดในภูเก็ต เพื่อสำหรับใช้เป็นเรือนหอ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปีจึงแล้วเสร็จ

บ้านชินประชาเป็นบ้านที่ภายในโปร่งโล่งสบาย มีหน้าต่างค่อนข้างมาก ตรงกลางบ้านมีบ่อน้ำ ทำให้ช่วยระบายอากาศได้ดี ปัจจุบันยังคงไว้ซึ่งการตกแต่งแบบดั้งเดิม เครื่องเรือนส่วนใหญ่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษเมืองจีน   และอีกส่วนหนึ่งที่สั่งมาจากต่างประเทศผ่านทางปีนัง
          อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum /museum-detail/1199


3.      บ้านพิพิธภัณฑ์ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร  ประจวบคีรีขันธ์



ม.จ.สิทธิพร กฤดากร  เจ้าของวลี “เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” และผู้คิดค้นสายพันธุ์แตงโมบางเบิดที่โด่งดังในอดีต ท่านละทิ้งหน้าที่การงานที่กำลังรุ่งโรจน์และความสุขสบายในเมืองหลวง มาบุกเบิกงานเกษตรกรรมแผนใหม่ในนามฟาร์มบางเบิด ชายทะเล จ.ประจวบคีรีขันธ์

ตำหนักบางเบิดสร้างด้วยไม้และมุงหลังคาจาก ผุพังไปตามกาลเวลา จนกระทั่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เข้ามาปรับปรุงพื้นที่ ค้นหารากฐานอาคารเดิมจนเจอ ขุดแต่งและเปิดให้เห็นพื้นที่เดิม และสร้างบ้านหลังใหม่รูปทรงเลียนแบบหลังเดิมที่ได้มีการบันทึกรูป ถ่ายไว้ แต่สร้างแบบถาวรแข็งแรง และจัดแสดงประวัติและผลงานของท่านเจ้าของ

อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/415


4.      พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ “คุ้มเจ้าหลวง”  แพร่



เดิมเป็นคุ้มเจ้าหลวง หลังจากเจ้าหลวงเมืองแพร่องค์สุดท้ายคือเจ้าพิริยะเทพวงศ์ได้หนีไปอยู่ที่เมืองหลวงพระบางภายหลังเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ในปี พ.ศ. 2445 คุ้มก็ถูกทิ้งร้าง และต่อมาได้ใช้เป็นที่ตั้งกองทหารของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ในสมัยรัชกาลที่ 6  สุดท้ายก่อนที่จะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ใช้เป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่

เป็นอาคารสองชั้น ก่ออิฐฉาบปูน หลังคาปั้นหยา มีมุขและบันไดทางขึ้นด้านหน้า ปั้นลมและเชิงชายประดับไม้แกะสลักอย่างสวยงาม อาคารนี้มีประตูหน้าต่างรวมกัน 72 บาน โครงสร้างมีลักษณะพิเศษคือไม่มีเสาเข็ม แต่ใช้ท่อนซุงเช่นแก่นไม้แดงและไม้เนื้อแข็งรองรับฐานเสาทั้งหลัง

          อ่านต่อ https://db.sac .or.th/museum/museum-detail/733


5.      บ้านวงศ์บุรี  แพร่



บ้านไม้ขนาดใหญ่ 2 ชั้น รูปทรงไทยผสมยุโรป มีลวดลายไม้แกะสลักเป็นส่วนประกอบทั่วไปของบ้าน ลวดลายส่วนใหญ่เป็นลายเครือเถาที่เรียกว่า ทรงขนมปังขิง สร้างโดยช่างชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้ง โดยมีช่างชาวไทยเป็นผู้ช่วย ใช้เวลาก่อสร้างนาน 3 ปี

ภายในจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ในอดีตของบรรพบุรุษท่านเจ้าของบ้าน เอกสารสำคัญหาดูยาก เช่น เอกสารซื้อขายทาสอายุกว่า 100 ปี เอกสารการขอสัมปทานป่าไม้ ตั๋วรูปพรรณช้างโค ฯลฯ

อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail /734

 

6.      บ้านบริบูรณ์  ลำปาง



เรือนขนมปังขิง ในย่านตลาดกองต้า เมืองลำปาง เป็นอาคารกึ่งปูนกึ่งไม้ การตกแต่งอาคารด้านหน้า เข้าวงโค้งมาจรดพื้น ตั้งแต่ไม้เชิงชายที่มีลายฉลุเป็นเงาทาบอยู่บนช่องไม้ระบายลม หน้าต่างเป็นบานเกล็ด เปิดกระทุ้งได้ มีช่องราวระเบียงที่มีการแกะสลักอย่างอ่อนช้อยสวยงาม สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2471 ในอดีตเจ้าของบ้านคือ “หม่องยี” หรือนายใหญ่ บริบูรณ์ คหบดีลูกครึ่งพม่า ที่ทำกิจการค้าไม้  

บ้านบริบูรณ์มีบุคคลที่ถือครองกรรมสิทธิ์ถึง 38 คน จึงต้องอาศัยทนายในการติดต่อทายาทเป็นเวลาสองปีเต็ม เพื่อให้มูลนิธินิยม ปัทมะเสวี เป็นเจ้าของและแปรสภาพให้เป็น “หอศิลปะการแสดงนครลำปาง” เริ่มงานอนุรักษ์เมื่อปี พ.ศ. 2558 หลังจากที่บ้านถูกปิดตายทิ้งร้างไม่มีผู้อาศัยกว่า 22 ปี

อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1499

 

7.      บ้านไร่ไผ่งาม พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา   เชียงใหม่



เรือนไม้ใต้ถุนสูงสีดำเข้ม เดิมเป็นเรือนไม้เก่าของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ที่สร้างไว้ริมน้ำปิง ในเขตอำเภอจอมทอง เสมือนเป็นเรือนเรือนฤดูร้อนเมื่อ พ.ศ. 2480 ป้าแสงดา บันสิทธิ์ เก็บหอมรอมริบเพื่อนำเงินมาซื้อบ้านหลังนี้ไว้เมื่อทายาทบอกขาย

หลังจากที่ป้าแสงดา บันสิทธิ์ ศิลปินแห่งชาติจากโลกนี้ไป เสาวนีย์ บันสิทธิ์ ลูกสาวคนเดียว ตัดสินใจเปิด “บ้านไร่ไผ่งาม” บ้านไม้สองชั้นหลังงามริมแม่น้ำปิง ที่ป้าแสงดาเคยใช้ชีวิตกับครอบครัวทำงานร่วม 50 ปี ให้ผู้คนได้เข้าชม จัดแสดงผลงานทอผ้าของป้าแสงดา และยังคงไว้ซึ่งสภาพพื้นที่ที่ป้าเคยพำนักและสร้างสรรค์ผลงาน ทุกฝากระดานเต็มไปด้วยความรักและความผูกพันในแทบจะทุกห้อง เป็นความพิเศษที่ผู้เยี่ยมชมสัมผัสได้

อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/627


8.      พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน 



พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน นำเสนอประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของเมืองลำพูน โดยใช้คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ลำพูน คุ้มเจ้าเมืองลำพูนที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในลำพูน อายุกว่าหนึ่งร้อยปี เป็นที่จัดแสดง โดยมีเทศบาลเมืองลำพูน และกลุ่มกวงแหวน หละปูน เป็นผู้ริเริ่มจัดทำพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้น 

ภายในจัดแสดงประวัติคุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ การเปลี่ยนแปลงด้านการใช้งานของคุ้มตั้งแต่อดีตจนกระทั่งมากลายเป็นพิพิธภัณฑ์ และภาพถ่ายเก่าที่สะท้อนเหตุการณ์ต่างๆ ของเมืองลำพูน ตั้งแต่ครั้งปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการประกวดนางงามของลำพูน 

อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail /796

9.      บ้านศรีบูรพา  กรุงเทพมหานคร



ศรีบูรพา เป็นนามปากกาของกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักประพันธ์ที่มีบทบาทสำคัญต่อวงวรรณกรรมไทย บ้านหลังงามของกุหลาบ เป็นบ้านสองชั้นรูปทรงแบบตะวันตก งามสง่าเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนบ้านหลังอื่นๆ ในซอยพระนาง  เป็นบ้านที่ปลูกเพื่อเป็นเรือนหอของเขากับชนิด สายประดิษฐ์ โดยได้รับประทานที่ดินจากม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ เพื่อเป็นของขวัญแต่งงาน

ปีกซ้ายขของตัวบ้านถูกต่อเติมให้กลมกลืมกับตัวบ้านเดิม เพื่อเป็นพื้นที่จัดแสดงและนำเสนอประวัติและผลงานของกุหลาบ สายประดิษฐ์ มีประตูทางเข้าเฉพาะ โดยไม่รบกวนกับส่วนอยู่อาศัยอื่นในตัวบ้าน

บ้านศรีบูพาไม่ได้เปิดประตูต้อนรับแขกตลอดเวลา  หากต้องนัดหมายล่วงหน้า เนื่องจากครอบครัวยังอาศัยอยู่ในตัวบ้าน ปกติทุกวันที่ 31 มีนาคม วันคล้ายวันเกิดของกุหลาบ สายประดิษฐ์ กองทุนศรีบูรพาร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดงานรำลึกศรีบูรพาและนำชมส่วนจัดแสดงห้องสมุดศรีบูรพา

อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1496


10.  พิพิธภัณพ์บ้านนักเขียน ส.บุญเสนอ  กรุงเทพมหานคร



เสาว์ บุญเสนอ นักเขียนที่อุทิศที่ดินและบ้านหลังแรกและหลังเดียวในชีวิตของเขา ให้ไว้เป็นสาธารณประโยชน์ให้กับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จากนั้นสมาคมฯ ได้บูรณะตัวบ้านและจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์

บ้านไม้ชั้นเดียวหลังย่อมขนาด1ห้องนอน 1ห้องนั่งเล่น 1 ห้องทำงาน และ 1 ห้องน้ำ ส่ววนห้องครัวแยกออกไปต่างหาก มีบึงน้ำเล็กๆ หลังบ้านให้ความสดชื่น เสาว์ได้แบบมาจากบ้านพักชายทะเลที่เคยเห็นในนิตยสารฝรั่ง เขาใช้ชีวิตอย่างสมถะกับภรรยาโดยไม่มีบุตรด้วยกัน

อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/202

 

11.  บ้าน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช  กรุงเทพมหานคร



หมู่เรือนไทยหลังงามอายุกว่าร้อยปี ภายในซอยสวนพลู กรุงเทพมหานคร เป็นเรือนไทยที่มีที่มาจากต่างถิ่นต่างที่ เรือนหลังแรกสุดซื้อมาจากเทศบาลกรุงเทพมหานคร เป็นบ้านไทยขนาดใหญ่ที่ถูกเวนคืนบริเวณเสาชิงช้า เป็นเรือนฝาปะกนทำด้วยไม้สักฝีมือประณีต เรือนหลังต่อๆ ได้มาจากอำเภอผักไห่ พระนครศรีอยุธยา ทั้งบ้านใช้สลักไม้โดยไม่มีตะปูแม้แต่ดอกเดียว

ในสมัยที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ยังมีชีวิตอยู่ บ้านเรือนไทยของท่านมีการต่อเติมและปรับเปลี่ยนสภาพให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัย เพิ่มพื้นที่ประโยชน์ใช้สอย มิได้ยึดคติตามแบบโบราณเสียทั้งหมด

ด้วยอายุหลักร้อยปี การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงและการหารายได้เลี้ยงตัวเอง เป็นสิ่งท้าทายสำหรับทายาทเจ้าของบ้าน ท่ามกลางความเย้ายวนของราคาที่ดินต่อตารางวา สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/69


12.  บ้านหมอหวาน   กรุงเทพมหานคร



“บ้านหมอหวาน” ก่อตั้งโดย หมอหวาน รอดม่วง แพทย์แผนโบราณที่มีชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 8  เป็นตึกออกแบบโดยสถาปนิกชาวต่างชาติท่านหนึ่งในยุคนั้น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2467 มีอาคารรูปแบบ ชิโน-โปรตุกีส หน้าอาคารมีคำว่า “บำรุงชาติสาสนายาไทย” ถัดลงมามีสัญลักษณ์ตาเหลวและชื่อหมอหวาน ซึ่งหน้าร้านเป็นร้านขายยาแบบตะวันตก มีบานประตูสูง ด้านข้างมีการวางขวดยาเพื่อให้รู้ว่าคือร้านขายยา

ภาสินี ญาโณทัย  ผู้สืบทอดร้านยาหมอหวานในปัจจุบัน เป็นทายาทรุ่นที่ 4เข้ามาบูรณะอาคารด้วยการหาความรู้ด้วยตัวเอง จนสุดท้ายเปิดบ้านหมอหวานให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และสืบทอดตำรายาจากบรรพบุรุษให้มีรูปลักษณะทันสมัยแต่ยังคงรักษาตำรับยาแบบเดิม

อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail /1430

 

13.  บ้านจิม ทอมป์สัน  กรุงเทพมหานคร



จิม ทอมป์สัน ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมไหมไทยจนมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลก เขาสร้างหมู่เรือนไทย ประกอบจากเรือนไม้สัก 6 หลัง โดยนำเรือนไทยภาคกลางจากชุมชนบ้านครัว 1 หลัง และจากพระนครศรีอยุธยาอีก 5 หลัง มาจัดกลุ่มและเสริมแต่งดัดแปลงบางส่วน

บ้านจิม ทอมป์สัน ถ่ายทอดความงามของศิลปวัตถุที่เป็นของสะสมของเขา ในอาณาบริเวณต่างๆ ของเรือน

          อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum -detail/64


14.  พิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรเพื่อการพัฒนาประเทศ  กรุงเทพมหานคร



มหาอำมาตย์เอก  พระยาสุริยานุวัตร (เกิด  บุนนาค) ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำฝรั่งเศส  อิตาลี  สเปนและรัสเซีย  ในสมัยรัชกาลที่ อีกทั้งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย  “บ้านสุริยานุวัตร” จึงเป็นบ้านที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระราชทานเพื่อตอบแทนคุณความดีในการปฏิบัติราชการ

บ้านสุริยานุวัติรเป็นอาคารที่ทำงานถาวรหลังแรกของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์  มาตั้งแต่ พ.ศ.2493 ปัจจุบันได้ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าประวัติของท่านเจ้าของบ้าน และเรื่องราวของสศช.

 อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/177


15.  บ้านโสมส่องแสง พิพิธภัณฑ์บ้านดุริยางคศิลปิน มนตรี ตราโมท   นนทบุรี



หลายคนรู้จักในนาม “บ้านโสมส่องแสง” บ้านหลังแรกของครูมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติสาขาดนตรีไทย หลังจากได้เงินบำเหน็จหลังเกษียณอายุราชการ ครูมนตรีถูกใจบ้านและที่ดินในซอยพิชยนันท์ นนทบุรี จึงตกลงซื้อ ในตอนนั้นที่ดินแถบนั้นส่วนใหญ่เป็นท้องนาและร่องสวน น้ำไฟยังเข้าถึง ตัวบ้านเป็นบ้านไม้สองชั้นใต้ถุงสูง รายล้อมไปด้วยต้นไม้ มีบ่อน้ำล้อมรอบตัวบ้าน

หลังจากครูมนตรีถึงแก่กรรม ญาณี ตราโมท บุตรชายคนเล็ก ต้องการให้บ้านของพ่อเป็นพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในแบบอย่างวิถีชีวิตที่ดีงามของพ่อ และการดนตรีไทย เขาจึงใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวปรับปรุงและเปิดบ้นาให้สาธารณชนเข้าชมในนาม “พิพิธภัณฑ์บ้านดุริยางคศิลปิน มนตรี ตราโมท”

อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail /213


16.  มณเฑียรอาเตอลิเยร์   นนทบุรี



บ้านไม้สองชั้นสีขาวภายในซอยเล็กๆ ย่านงามวงศ์วาน นนทบุรี เป็นบ้านของครอบครัวและเป็นสถานที่ทำงานศิลปะกว่าสองทศวรรษ ของศิลปินนาม “มณเฑียร บุญมา” ศิลปินไทยคนสำคัญที่บุกเบิกงานศิลปะสื่อผสม บ้านปิดตายหลังเขาและภรรยาเสียชีวิต

จนเมื่อปี พ.ศ. 2559 บุตรชายคนเดียวจุมพงษ์ บุตรชายคนเดียว มีแนวคิดที่จะปรับปรุงและชุบชีวิตบ้านหลังนี้ ให้เป็นแกลเลอรีขนาดย่อมเพื่อจัดแสดงผลงานของพ่อในนาม “มณเฑียร อาเตอลิเยร์”

อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1460


17.  พิพิธภัณฑ์ชาติภูมิสถาน ป.อ.ปยุตโต  สุพรรณบุรี



บ้านที่ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสมเด็จพระพุทธโฆษจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) ห้องแถวไม้ในบริเวณของตลาดศรีประจันต์ใกล้แม่น้ำสุพรรณบุรี ที่นี่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประวัติบุคคล ครอบครัว และบรรยากาศทางสังคมในห้วงเวลาที่ “ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ” (ตามการเรียกของชาวบ้าน) คงชีวิตในตลาดศรีประจันต์แห่งนี้

การจัดแสดงทำให้เห็นบรรยากาศดั้งเอมของ บ้านเลขที่ 49 ที่ตั้งของร้านค้าห้องแถวไม้สองชั้นชื่อ “ใบรัตนาคาร” กิจการค้าขายผ้า ตัวแทนจำหน่ายจักรเย็บผ้า ของครอบครัวของท่านป.อ.ปยุตโต

อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/474


18.  บ้านประเสนชิต  นครราชสีมา



เรือนโบราณที่ถูกขายทอดตลอด ได้รับการชะลอเรือนจากสถานที่ตั้งดั้งเดิมแถบสี่พระยา มาปลูกไว้ ณ เขาใหญ่ นครราชสีมา ในนามวิลล่ามูเซ่ ที่เจ้าของ “อรรถดา คอมันตร์” ปรารถนาให้เห็นทั้งสถานที่จัดแสดงสิ่งของสะสมของตนเอง และสถานที่ที่ผู้สนใจประวัติศาสตร์มาเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ

การบูรณะที่ต้องอาศัยความรู้เชิงช่าง และความใส่ใจในรายละเอียด เป็นความท้าทายและทำได้สำเร็จด้วยความตั้งใจและใจรักของเจ้าของ ทำให้เรือนกลับมามีความสมบูรณ์และมีชีวิตอีกครั้งภายใต้ชื่อเรือนประเสนชิต ที่เจ้าของได้ชื่อมาจากคุณทวดของฝ่ายคุณแม่ พระยาประสนชิตศรีวิลัย  ภายในจัดแสดงวัถตุสะสมที่สัมพันธ์กับบริบทร่วมสมัยของอาคาร

อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1500


19.  บ้านหลวงราชไมตรี  จันทบุรี



เรือนแถวไม้ที่พำนักของหลวงราชไมตรี บุคคลแรกที่ริเริ่มนำยางพาราเข้ามาปลูกในจันทบุรี สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในภาคตะวันออก  บ้านที่ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็น “เรือนพักประวัติศาสตร์” ทำหน้าที่เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์และที่พัก  ภายในชุมชนริมน้ำจันทบูร ย่านการค้าที่เคยเฟื่องฟูในช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์

ทั้งเรือนถูกออกแบบโดยนำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของประวัติเจ้าของเรือน ประวัติศาสตร์ชุมชน มาบอกเล่าในพื้นที่ต่างๆ และภายในห้องพัก พื้นที่ชั้นล่างมีบริเวณจัดแสดงวัตถุที่เป็นสิ่งของในเรือนและจากที่พบเมื่อครั้งบูรณะอาคาร เครื่องใช้เครื่องเรือนในห้องพักต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นสิ่งของที่เป็นของบ้านมาแต่ก่อน  เป็นตัวอย่างของการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ที่เกิดขึ้น และเกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูชุมชน

อ่านต่อ https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1495

 

        มีพิพิธภัณฑ์บ้านอีกหลายแห่งที่น่าสนใจ  สามารถเข้าไปหาอ่านได้ที่ ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

อ้างอิง :

ชื่อผู้แต่ง : ปณิตา สระวาสี