พิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน ส.บุญเสนอ


ที่อยู่:
ซอยกรุงเทพฯ-นนทบุรี 33(เทวรัตน์) เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทรศัพท์:
ติดต่อที่สมาคมนักเขียนฯ 02-9109565
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2552

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 09 มกราคม 2556

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ชีวิตสามัญอันแสนงามใน พิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน “ส.บุญเสนอ”

“เราไม่ได้เลือกลุงเสาว์ แต่ลุงเสาว์เลือกเรา” ชมัยภร แสงกระจ่าง อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยเล่าถึงที่มาของพิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน ส.บุญเสนอ ว่า ในบั้นปลายชีวิต เสาว์ บุญเสนอ นักเขียนอาวุโส ได้ยกบ้านและที่ดินแปลงงามในซอยเทวรัตน์ ย่านบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ให้กับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เมื่อทราบว่าสมาคมไม่มีที่ทำการ โดยมีข้อแม้ว่าให้สร้างที่ทำการสมาคมฯ ให้แล้วเสร็จภายในห้าปีหลังจากรับมอบ และสมาคมต้องปลูกบ้านให้เขาในลักษณะเดียวกับบ้านหลังเดิม

เมื่อเสาว์ บุญเสนอ อุทิศที่ดินและบ้านหลังแรกและหลังเดียวในชีวิตของเขาให้ไว้เป็นสาธารณะประโยชน์ไม่ถึงหนึ่งเดือน เขาจากโลกนี้ไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2544 ในวัย 92 ปี  หลังจากนั้นสมาคมสร้างอาคารที่ทำการติดกับบ้านของเสาว์ ในการนี้ สมาคมบูรณะตัวบ้านและจัดทำเป็น “พิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน ส.บุญเสนอ” เพื่อให้บ้านหลังเล็กที่เต็มไปด้วยชีวิตแสนรักของเขาและภรรยา ไว้เป็นอนุสรณ์ที่แสดงถึงการใช้ชีวิตเรียบง่ายของนักเขียนน้ำใจงามนาม “เสาว์ บุญเสนอ”

ชายผู้เสกกระดาษให้เป็นเงินด้วยกลแห่งอักษร

          ประวัติชีวิตของเสาว์ได้รับการสร้างสรรค์เป็นสาระนิยายโดยชมัยภร แสงกระจ่าง ในชื่อ “อยู่เพื่อใจดวงรัก” ในวาระครบรอบชาตกาล 100 ปี เสาว์ บุญเสนอ ชมัยภรอาสาค้นคว้าอ่านทั้งบันทึก สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ และตามสัมภาษณ์ผู้ใกล้ชิดกับเสาว์ด้วยตนเอง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ทราบเรื่องราวชีวิตของนักเขียนคนหนึ่งที่มีชีวิตเรียบง่าย สมถะ สามารถดำรงศักดิ์ศรีของความเป็นนักเขียนคนหนึ่งไว้ได้อย่างงดงาม เนื้อหาต่อจากนี้จึงขออนุญาตอ้างอิงจากหนังสือเล่มดังกล่าว

          เสาว์ บุญเสนอ เป็นลูกชาวนา เกิดเมื่อ พ.ศ. 2452 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ โดยอาศัยอยู่กับหลวงตาที่วัดราชาธิวาส และเรียนจนจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8  เขาหลงใหลในตัวอักษรมาตั้งแต่วัยเด็ก เรื่องสั้น “ผีดิบ” คือผลงานเขียนครั้งแรกที่ได้ตีพิมพ์ในสยามวิทยาศาสตร์ เขาเริ่มทำงานด้วยการเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการและเลขานุการของหลวงสารานุประพันธ์ เจ้าของหนังสือรายเดือนชื่อ สารานุกูล เคยรับราชการทหารในกองทัพอากาศ เสาว์คงทำงานอยู่ในแวดวงวรรณกรรม เขาเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เพลินจิตต์ ผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประมวญสาร ประมวญวัน ประมวญมารค ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ (น.ม.ส.)

          นวนิยายที่ทำให้เขามีชื่อเสียงและเป็นใบเบิกทางในถนนวรรณกรรมให้กับเขาคือนวนิยายเรื่อง “สายแดง”   ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของนักบิน เขาเขียนขณะที่เป็นศิษย์การบินในกองอากาศยาน นวนิยายนั้นตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์รายวัน โดยได้ค่าเรื่องวันละ 1 บาท เสาว์กลายเป็นนักเขียนที่มีชื่อในวัยเพียงยี่สิบต้น และมีรายได้มากคนหนึ่งในยุคนั้นเลยทีเดียว

เสาว์มีหลายนามปากกา ได้แก่ ส.บุญเสนอ บุญส่ง กุศลสนอง โสภา เสาวรักษ์ ลี เชยสกุล ส.เนาว์สาย และดุสิต วาสุกรี ผลงานจากปลายปากกาของเขารวม 40 กว่าเรื่อง อาทิ สหายสงคราม ชีวิตต่างด้าว ค่าแห่งเกียรติศักดิ์ เพื่อนคู่ชีวิต สามทหารเสือ ขบถเขมร ดิ่งนรัก รถจักร 333 วาสนาช่างกล เลือดน้ำเค็ม เกาะสมบัตร  และสารคดีเรื่องตามรอยลายสือไทย

          เสาว์ สมรสกับหญิงสาวลูกครึ่งหน้าตาสะสวยนาม ศรีสุดา วิกเตอร์ บุตรบุญธรรมของ ม.จ.ลุอิสาณ์ ดิศกุล ในเวลาต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ในภาวะสงคราม กิจการหนังสือซบเซาลง ในช่วงเวลานั้น ยังมีปัญหาความไม่สงบภายใน นักหนังสือพิมพ์ นักเขียนถูกทางการจับตามองเป็นพิเศษ โรงพิมพ์ประมวญมารคอันเป็นที่ทำงานของเขาถูกไฟไหม้จากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร เสาว์ตกงานและเริ่มมองหาอาชีพใหม่เพื่อเลี้ยงชีวิต

ด้วยความสามารถด้านภาษาอังกฤษและประสบการณ์ด้านภาษาที่โชกโชน เสาว์หันมายึดอาชีพแปลบทภาพยนตร์ต่างประเทศอย่างจริงจัง เดือนหนึ่ง ๆ เขามีรายได้เกือบหมื่นบาท นับว่าสูงมากในยุคนั้น แต่ชื่อเสียงของเขาในแวดวงวรรณกรรมค่อย ๆ จากห่างหายไป เพื่อทำตามฝันของเขาและภรรยาอันเป็นที่รัก นั่นคือการมีบ้านเป็นของตัวเอง เสาว์ใช้จ่ายอย่างประหยัดและเก็บหอมรอมริบจนพอมีเงินก้อน เมื่อ พ.ศ. 2495 เขาตัดสินใจซื้อที่ดินที่ถูกใจในย่านบางซื่อถึงสี่แปลง รวมแล้วได้ที่ดินไร่เศษ เขาจ่ายเงินไปกว่า 80,000 บาท นับว่าเป็นแพงไม่ใช่น้อยในสมัยนั้น

ชายผู้สร้างบ้านด้วยหัวใจรัก

          “เราจะต้องมีบ้านของเรา” เขาบอกภรรยา

         “หลังเล็กๆ นะคะ” ศรีสุดาว่า “ศรีจะได้ไม่เหนื่อยมาก หลังใหญ่ศรีดูแลไม่ไหวหรอก แล้วพี่ก็จะได้ไม่เสียเงินมากด้วย”

        เธอช่างเป็นผู้หญิงที่ถูกใจสียจริง สวย สมถะ งามพร้อมด้วยคุณสมบัติของแม่บ้านแม่เรือน เขาช่างเป็นผู้ชายที่โชคดีอะไรอย่างนี้

          “พี่จะเก็บเงินไว้ปลูกบ้าน...พี่จะเขียนหนังสือเยอะ...เก็บเงินไว้ให้น้อง”

           ศรีสุดายิ้ม สวยเสียจนเสาว์อดใจไว้ไม่ได้ ต้องให้รางวัลเธอ

          บทสนทนาแสนอบอุ่นระหว่างเสาว์และศรีสุดาใน “อยู่เพื่อใจดวงรัก” สะท้อนถึงความฝันที่จะมีบ้านหลังแรกของทั้งคู่

          บ้านหลักแรกในชีวิตของเสาว์ เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวหลังย่อมขนาด 1 ห้องนอน 1 ห้องนั่งเล่น 1 ห้องทำงาน และ 1 ห้องน้ำ ส่วนห้องครัวแยกออกไปต่างหาก มีบึงน้ำเล็ก ๆ หลังบ้านที่ให้ความสดชื่น เสาว์ได้แบบมาจากบ้านพักชายทะเลที่เคยเห็นในแมกกาซีนฝรั่ง ช่างที่ปลูกบ้านก็เป็นช่างแถบบางซ่อนนั้นเอง

          เสาว์และศรีสุดาไม่มีบุตรด้วยกัน ทั้งสองขอลูกจากญาติห่าง ๆ มาเลี้ยงเป็นบุตรธรรม แต่ก็ไม่มีความสุขตามที่คาดหวัง ทั้งสองอยู่ร่วมสุขร่วมทุกข์ในบ้านหลังนี้มาตลอดหลายสิบปีจนบั้นปลายชีวิต เนื่องจากศรีสุดา ภรรยาของเสาว์สุขภาพไม่ค่อยดีนัก เธอเคยป่วยด้วยวัณโรคในวัยสาว เมื่อสูงวัยเป็นโรครูมาตอยล์และอัมพาตในช่วงปลายชีวิต

ตลอดชีวิตที่เสาว์ทำงานหนักและใช้เงินอย่างมัธยัสถ์ สุดท้ายเงินทองที่เก็บหอมรอมริบจากการเขียนหนังสือและแปลบทภาพยนตร์ ทยอยนำมาใช้รักษาตัวภรรยาผู้เป็นที่รัก ทำให้เงินในบัญชีหดหายอย่างน่าใจหาย เสาว์ตัดสินใจขายที่ดินหลายแปลงรวมถึงตัดแบ่งที่ดินข้างบ้านขายเพื่อนำเงินมารักษาภรรยา และเก็บเงินส่วนหนึ่งเลี้ยงชีพในบั้นปลายยามที่ไม่มีรายได้

“ลุงเสาว์เป็นยอดนักบันทึก เน้นไปในเรื่องของการใช้จ่ายเป็นสำคัญ ทำให้รู้ว่าท่านมีชีวิตอยู่อย่างมีวินัย และดูแลชีวิตอย่างระมัดระวังอย่างไร และครั้งสุดท้ายที่ไปค้น ฉันพบเอกสารที่ว่าด้วยตัวเลขการเงินที่บันทึกมาจากสมุดบัญชีฝากเงิน อันแสดงว่าครั้งหนึ่งคุณลุงเสาว์มีเงินตัวเลขในบัญชีรวมกันถึง 5 ล้านบาท รวมทั้งพบเอกสารที่บันทึกข้อมูลการเจ็บป่วยของคุณป้าศรีสุดาและคุณลุงเสาว์ แบบข้อมูลดิบคือบอกวันที่เข้าโรงพยาบาล ผ่าตัดหรือรักษา พร้อมยอดเงิน ทำให้สะเทือนใจจนน้ำตาไหล เห็นภาพชายชราวัยแปดสิบปีเศษ กับภรรยาผู้ป่วยไข้หนักหนาสาหัส”

คำนำในหนังสืออยู่เพื่อใจดวงรักของชมัยภร สะท้อนความเป็นนักประหยัดอดออมและยอดนักบันทึก

          เสาว์ใจสลายเมื่อภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2538 ในวัย 73 ปี ขณะที่เขาอยู่ในวัยล่วงเข้า 86 ปี เขายุติการเขียนคอลัมน์ “ตามรอยลายสือไทย” ในหนังสือต่วยตูน ด้วยไม่มีกำลังใจเหลืออยู่เลย และใช้ชีวิตตามลำพังในบ้านไม้หลังน้อยที่เขาสร้างมาด้วยน้ำพักน้ำแรงด้วยเงินทุกบาททุกสตางค์ของเขา

ชายผู้มีน้ำใจงาม

บั้นปลายชีวิต เสาว์มีเพื่อนน้ำหมึกรุ่นน้องมาเยี่ยมเยือนสม่ำเสมอ อาทิ แท้ ประกาศวุฒิสาร วาทิน ปิ่นเฉียว สาโรจน์ มณีรัตน์  จุก เบี้ยวสกุล สุชาติ สวัสดิ์ศรี  และเมื่อ พ.ศ. 2544 เสาว์ได้รับรางวัลช่อการะเกดเกียรติยศ และรางวัลนราธิป ในวัย 92 ปี

“สมาคม [นักเขียนแห่งประเทศไทย] ยังไม่มีสำนักงานถาวรเลย มันเป็นปัญหาประการหนึ่ง เงื่อนไขการดูแลรักษา แล้วมันจะคุ้มค่าไหม ถ้าเราใช้เดือนละครั้ง หรือทำอย่างไรให้มันงอกเงย มีประโยชน์ต่อเรา ต้องดูต่อไป เป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงิน...เราอยากให้มี แต่มีปัญหาหนักทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าจ้างสต๊าฟ เรายังไม่คิดขั้นนั้น ยกเว้นแต่ว่ามีใครศรัทธา ยกบ้าน ยกตึกแถวร้างๆ ให้สักหลัง”

คำสัมภาษณ์ของประภัสสร เสวิกุล นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยในตอนนั้น และความที่ลุงเสาว์รู้จักกับบิดาของประภัสสร เป็นแรงกระเพื่อมให้เสาว์ตัดสินใจครั้งใหญ่อีกครั้งในชีวิต ปลาย พ.ศ. 2544 เขายกบ้านและที่ดินให้กับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เพื่อทำเป็นที่ทำการของสมาคม โดยมีเงื่อนไขสองข้อ กล่าวคือ สมาคมต้องปลูกบ้านให้เขาอยู่ในลักษณะเดียวกับบ้านหลังเดิม สมาคมต้องก่อสร้างที่ทำการให้เสร็จภายใน 5 ปี ไม่เช่นนั้นแล้วที่ดินและบ้านจะต้องกลับคืนไปเป็นของทายาท

หลังจากที่เสาว์ยกบ้านและที่ดินให้กับสมาคมฯ เพียงไม่ถึงเดือน เขาจากไปอย่างสงบในบ้านหลังเล็กที่มีอายุเกือบห้าสิบปี  แม้บ้านถูกปิดตายไปเกือบ 8 ปี แต่สุดท้ายบ้านไม้ที่สงบเงียบอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว ได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง แต่ในสถานะใหม่นาม “พิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน ส.บุญเสนอ”

หลังจากสมาคมสร้างอาคารที่ทำการ ตั้งอยู่ติดกับบ้านของเสาว์ บุญเสนอ สมาคมได้รับเงินบริจาคจากคุณหญิงสุรีพันธ์  มณีวัต จำนวน 1 ล้านบาท เพื่อนำมาปรับปรุงตัวบ้านที่ไม้บางส่วนเริ่มผุผัง ให้กลับมีสภาพแข็งแรงดังเดิม และได้รับการอนุเคราะห์เพิ่มเติมจากมูลนิธิซิเมนต์ไทย์ในเรื่องวัสดุก่อสร้าง และการทำส่วนหย่อมด้วยความอนุเคราะห์ของเขตบางซื่อ

“เราซ่อมบ้านเสร็จใช้เงินไปเกือบจะหมดล้านแทบไม่เหลืออะไรเลย เพราะว่าเสากลางก็หัก ปลวกกินเสากลาง เหลือแต่โครงไม้บางตัวแค่นั้นเอง เท่ากับสร้างใหม่หมด ค่าซ่อมนี้มันแพงกว่าสร้างอีก แต่ซ่อมแล้วไม่ได้ใช้ไม้นะแต่ใช้ไม้สมัยใหม่ [ไม้เทียม] ซึ่งปลวกไม่กิน...ถ้าใครเคยเห็นบ้านลุงเสาว์ก็จะเห็นโครงเดิมเลย แต่ว่ากระเบื้องหลังคาต้องเปลี่ยนตัวกระเบื้อง เพราะกระเบื้องเก่าก็พัง ไม้มันผุ ฟบังมันผุหมดเลย เหลือแต่โครงสร้างของตัวที่ยังอยู่” ชมัยภร อธิบายการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเรือนในบางส่วน

พิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน ส. บุญเสนอ ทำพิธีเปิดครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2552 ตรงกับวันคล้ายเกิดครบ 100 ปี ของเสาว์ บุญเสนอ ชมัยภร เล่าถึงสิ่งที่พิพิธภัณฑ์ต้องการสื่อสารต่อสังคม

“จุดประสงค์ในตอนนั้น คิดตั้งชื่อบ้านว่า ‘พิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน’ อยากให้เห็นว่านักเขียนมีชีวิตเรียบง่าย นักเขียนไม่ได้มีอะไรหรูหรา ไม่มีได้มีอะไรที่เกินไปกว่ามนุษย์ธรรมดาจะมีกัน แล้วถ้าหากนักเขียนที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย นักเขียนคนไหนก็ตามอยู่อย่างสมถะได้แล้ว จะสามารถอุทิศตนให้กับสังคมได้...คิดอยากให้ลุงเสาว์เป็นตัวแทนเรื่องนี้”

ภายในบ้านจัดแสดงเหมือนเมื่อครั้งที่เสาว์และศรีสุดายังมีชีวิต ทั้งโต๊ะทำงาน เครื่องพิมพ์ดีดที่เสาว์ใช้สร้างสรรค์งานเขียน เก้าอี้นวมตัวโปรดของเสาว์ จักรเย็บผ้าที่ศรีสุดาใช้เป็นประจำ ตู้เก็บหนังสือ กริ่งที่ศรีสุดาใช้กดเรียกเสาว์เมื่อครั้งนอนป่วย ภาพถ่ายคู่ของเสาว์และศรีสุดา ที่เพิ่มเติมคือหุ่นของลุงเสาว์กำลังนั่งพิมพ์บทประพันธ์สายแดง ที่นำพาทั้ง “เงินและกล่อง” มาให้เขา ด้วยสีหน้าที่ดูอ่อนโยนและมีรอยยิ้ม ใกล้กันเป็นหุ่นของศรีสุดา ที่กำลังถือถ้วยกาแฟมาเสิร์ฟสามีด้วยกิริยานุ่มนวล ห้องนั่งเล่นจึงเป็นบรรยากาศโรแมนติกที่แสดงถึงความรักและผูกพันระหว่างสามีภรรยาคู่นี้ โดยทางญาติได้สั่งทำหุ่นเมื่อทราบว่าสมาคมจะเปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์

ภายในห้องทำงาน จัดแสดงหนังสือพิมพ์ประมวญสาร ประมวญวัน และต้นฉบับนวนิยายผลงานของเสาว์ พร้อมกับรวบรวมเครื่องประดับจำพวกนาฬิกาข้อมือ กำไลข้อมือ หัวเข็มขัด ขวดน้ำหอม เครื่องกระเบื้อง มาจัดแสดงในตู้กระจกที่ตั้งไว้ชิดริมผนังห้อง ฝาผนังด้านหนึ่งติดป้ายที่ทำไว้ในวันครบรอบชาตกาล 100 ปี เสาว์ บุญเสนอ อธิบายประวัติของเสาว์และภาพถ่ายเสาว์และศรีสุดาในแต่ละช่วงชีวิต

ห้องนอนเขาเสาว์และภรรยา มีเพียงเตียงนอนและตู้เครื่องแป้ง ภาพถ่ายวัยสาวของศรีสุดายังคงตั้งเป็นที่ระลึกถึงความทรงจำแสนหวานในวันเก่า ใกล้กันมีแว่นตาและนาฬิกาปลุกที่เคยวางอย่างไรก็อยู่อย่างนั้น

“จะหานางใดในหล้า   เทียบเท่าศรีสุดาหามีไม่

เจ้าคือยอดชีวันขวัญใจ         จะขอรักอรทัยจนวายปราณ”

กลอนแสนหวานแสดงความรู้สึกที่มีต่อภรรยาคู่ชีวิตที่เสาว์ประพันธ์ไว้

บ้านนักเขียนในการดูแลของสมาคม

ในการบริหารจัดการของสมาคม การใช้ประโยชน์พิพิธภัณฑ์ขึ้นกับนโยบายของนายกสมาคมแต่ละคน

“ตอนที่พี่เป็นนายกสมาคมฯ จะมีเครือข่ายเป็นเพื่อน บางทีเพื่อนสอนอยู่มหาวิทยาลัย ขอว่าก็จะพาลูกศิษย์มาบ้านนักเขียนได้ไหม เราก็บอกมาได้ แต่ตอนนี้เขาก็ไม่ได้สอนแล้วก็ไม่ได้มา หรือว่าโรงเรียนที่รู้จักกันก็จะพาเด็กมาที่บ้านลุงเสาว์ ก็ดีมากเลยเพราะเด็กๆ ตื่นเต้น เราชี้อะไรให้ดูก็ดูหมด 

ชมัยภร อดีตนายกสมาคมฯ เล่าถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่พิพิธภัณฑ์ ที่ขึ้นกับเครือข่ายของนายกสมาคมฯ แต่ละท่าน ซึ่งโดยรวมแล้วยังมีการใช้งานที่จำกัด

แต่ที่แน่นอนทุกครั้งที่สมาคมจัดงานอบรมนักเขียน จะพาชมบ้านลุงเสาว์ เพราะฉะนั้นจะพูดได้ว่าทุกปีก็จะใช้งานบ้านลุงเสาว์สักประมาณ 4-5 ครั้งตามการอบรม” ชมัยภร อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “ขาจร” ค่อนข้างน้อย อาจด้วยเพราะอยู่ในซอยลึก การเดินทางไม่สะดวก และขาดการประชาสัมพันธ์

สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรที่ไม่ได้แสวงหากำไร งบประมาณและคนทำงานมีค่อนข้างจำกัด สมาคมจึงพยายามหาพันธมิตรเพื่อช่วยส่งเสริมงานด้านพิพิธภัณฑ์ ครั้งหนึ่งสมาคมหารือกับเขตบางซื่อ เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการบำรุงรักษาพิพิธภัณฑ์ แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาทำให้ต้องเปลี่ยนใจ

“[ตัวแทน] เขตเข้ามาดู ผมก็ปรึกษาเขาว่านะทำอย่างไรจะได้ค่า maintenance ค่าอะไรต่ออะไร  เขาก็บอกว่าถ้าสมมติจะของบประมาณในลักษณะนั้นต้องไปอยู่กับเขา ผมก็อ้าว! ก็บริหารงานมันก็ไม่ใช่สิ ถ้าพิพิธภัณฑ์อยู่ตรงนั้นแล้วที่ดินตรงนี้จะเป็นอย่างไรต่อล่ะ การจัดการต่างๆ ก็เลยไม่ต้องให้ ไม่! ทำเอง

บูรพา อารัมภีร อดีตนายกสมาคมเล่าประสบการณ์ที่ไม่สู้ดีกับเงื่อนไขของภาครัฐในการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้

กรณีพิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน ส.บุญเสนอ ทำให้เห็นชัดว่า แม้ว่าสถานภาพของแหล่งเรียนรู้/พิพิธภัณฑ์นั้นจะอยู่ภายใต้การบริหารขององค์กรที่ไม่ได้แสวงหากำไร  แต่ก็มิได้รับประกันว่าภาครัฐจะสามารถส่งเสริมหรือสนับสนุนได้อย่างทันที หากแต่เงื่อนไขที่ตายตัวและมักอ้างว่าต้องยกกรรมสิทธิ์ให้นั้น ทำให้แหล่งเรียนรู้หรือสถานที่ประวัติศาสตร์หลายแห่งเปลี่ยนสภาพหน้าที่หรือรกร้างผุผังไปอย่างน่าเสียดาย การทำไปแบบ “ตามมีตามเกิด” โดยขาดการเหลียวแลของภาครัฐ จึงไม่ควรจะเกิดขึ้นกับสถานที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้แก่สังคม โดยเฉพาะสถานที่ที่ปัจเจกบุคคลอุตส่าห์เสียสละและอุทิศทรัพย์สมบัติที่มีทั้งหมดของตนเอง เพื่อประโยชน์กับสังคม ดังเช่น บ้านนักเขียน เสาว์ บุญเสนอ


อ้างอิง

ชมัยภร แสงกระจ่าง. 2552. อยู่เพื่อใจดวงรัก. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เพื่อนดี.

สัมภาษณ์

ชมัยภร  แสงกระจ่าง. 2560. พิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน ส.บุญเสนอ (13 มกราคม) สัมภาษณ์โดย ปณิตา สระวาสีและชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ.

บูรพา อารัมภีร์. 2560. พิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน ส.บุญเสนอ  (18 มกราคม) สัมภาษณ์โดย ปณิตา สระวาสีและชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ.

 

ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน ส.บุญเสนอ

ชีวิตของนักเขียนคนหนึ่งที่ใช้นามปากกาว่า ส.บุญเสนอ เขาหลงใหลกับตัวหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ก่อนนี้เป็นเด็กวัด ทำงานเป็นคนส่งฟืนหัวรถจักรกับกรมรถไฟหลวง รับราชการทหารในกองทัพอากาศ ได้ทำงานให้กับหนังสือพิมพ์สารานุกุลของหลวงสารานุประพันธ์ เป็นบรรณาธิการให้กับหนังสือ “เพลินจิตต์” เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ “ประมวลสาร” เขามีผลงานทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี บทละคร และร้อยกรอง

ส.บุญเสนอ มีชื่อจริงว่าเสาว์ บุญเสนอ เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2452 ที่พระนครศรีอยุธยา เป็นลูกชาวนา พ่อชื่อชา แม่ชื่อพริ้ง มีพี่น้องสองคนเป็นชาย เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต สองคนพี่น้องจึงเข้ามาอาศัยอยู่ที่วัดราชาธิวาส หลังจบชั้นประถมศึกษาและมัธยมต้นจากโรงเรียนวัดราชาธิวาส เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรจนจบชั้นมัธยมแปด จากนั้นทำงานเป็นคนส่งฟืนหัวรถจักรกับกรมรถไฟหลวงที่หาดใหญ่ เมื่อครบอายุเกณฑ์ทหารได้ไปสมัครเป็นศิษย์การบินของกองโรงเรียนการบิน กรมอากาศยานทหารบกที่ดอนเมืองอยู่ 2 ปี


จากการได้เข้าไปเป็นศิษย์การบินในกองทัพอากาศ เขาได้เขียนนวนิยายเรื่อง สายแดง ใช้นามปากกาว่า ส.บุญเสนอ ส่งไปลงพิมพ์ในเดลิเมล์รายวันของ ม.ล.ฉะอ้าน อิสรศักดิ์ ได้ค่าเขียนเดือนละ 30 บาท นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกและเรื่องเด่นที่สร้างชื่อเสียงให้กับ ส. บุญเสนอ มาก เนื้อหาเป็นเรื่องราวของนักบินขับไล่ คนที่ได้อ่านจะรู้สึกว่าเหมือนกับเป็นการบันทึกภาพชีวิตของศิษย์การบิน มีรายละเอียดทั้งประเภทของเครื่องบินที่ใช้ ชีวิตของนักบินมือใหม่ การฝึกซ้อม “สายแดง” คือสายเกียรติยศทำจากเส้นไหมถักเป็นเกลียวประดับที่หน้าอกของนักบินที่มีความสามารถและกล้าหาญ เรื่องนี้เขียนขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ความน่าประทับใจของเรื่องนี้อยู่ที่มิตรภาพ การเสียสละ การเป็นสุภาพบุรุษให้เกียรติผู้หญิง


ช่วงปี พ.ศ.2473 – 2474 หลังออกจากราชการทหาร ส. บุญเสนอได้ทำงานที่หนังสือพิมพ์เพลินจิตต์ในฐานะบรรณาธิการ จากนั้นได้ออกจากเพลินจิตต์ไปทำหน้าที่ผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประมวลสาร ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ (น.ม.ส.) และได้พบรักและแต่งงานกับศรีสุดา วิคเตอร์ 


ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โรงพิมพ์ประมวลมารคถูกไฟไหม้ ส. บุญเสนอเปลี่ยนอาชีพมาเป็นคนแปลบทภาพยนตร์ พ.ศ. 2505 ส. บุญเสนอเป็นคนตั้งชื่อ ภาพยนตร์เจมส์บอนด์ 007 จัดทำเป็นตอนแรก โดยใช้คำว่า “พยัคฆ์ร้าย 007” ซึ่งโด่งดังและยังคงใช้มาจนปัจจุบัน 


เสาว์ บุญเสนอมีหลายนามปากกาได้แก่ ส. บุญเสนอ / บุญส่ง กุศลสนอง / โสภา เสาวรักษ์ / ส. เนาวสาย / ดุสิต วาสุกรี / เชย ลีสกุล ผลงานส่วนใหญ่เป็นนวนิยาย นอกจากเรื่องสายแดง ได้แก่ รถจักร 333 นางสาวสยาม สหายสงคราม เลือดน้ำเค็ม เกาะสมบัติ ชายเผชิญโชค สาวบ้านนอก เทวรูปสำริด นักมวยผู้มีเกียรติ เป็นต้น รวมนวนิยายทั้งหมด 43 เรื่อง 


ในปีพ.ศ. 2544 เสาว์ บุญเสนอ ได้รับประกาศเกียรติคุณให้เป็นนักเขียนรางวัลช่อการะเกดเกียรติยศจากสำนักช่างวรรณกรรมไทย ในฐานะที่เป็นนักเขียนและบรรณาธิการอาวุโส ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานมาเป็นระยะเวลายาวนาน ต่อเนื่อง และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง


ก่อนที่จะถึงแก่กรรมด้วยวัย 92 ปี เสาว์ บุญเสนอ หรือ ส. บุญเสนอ นักเขียนอาวุโส ได้ทำพินัยกรรม มอบบ้านและที่ดิน ในซอยกรุงเทพฯ-นนทบุรี 33 เขตบางซื่อ ให้สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545 โดย ประภัสสร เสวิกุล นายกสมาคมในสมัยนั้น (พ.ศ. 2544-2548) เป็นผู้รับมอบ และคิดวางแผนหาทุนเพื่อก่อสร้างเป็นที่ทำการสมาคมฯ หรือ ‘บ้านนักเขียน’ จากนั้นไมตรี ลิมปิชาติ(พ.ศ.2548-2550) ขึ้นเป็นนายกสมาคม ก็สานต่อเจตนารมณ์ด้วยการจัดหารายได้ จนก่อสร้างที่ทำการสมาคมฯ เป็นผลสำเร็จ

ในวันเปิดที่ทำการสมาคมนักเขียนฯ คุณหญิงสุรีพันธ์  มณีวัต หรือ นิตยา นาฏยะสุนทร (เจ้าของนวนิยาย “ไฟริษยา” “แก้วตาพี่” และอีกหลายเรื่อง) ได้บริจาคเงิน 1 ล้านบาท สำหรับการซ่อม “บ้านลุงเสาว์” ถัดมา ชมัยภร  แสงกระจ่าง ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 และคณะกรรมการสมาคมได้มีมติจัดทำ โครงการพิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียนขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการแสดงให้เห็นชีวิตที่เรียบง่าย พอเพียงของนักประพันธ์คนหนึ่ง ซึ่งดำเนินชีวิตมาโดยตลอดด้วยความอดออม จนสามารถมีบ้านหลังเล็กๆ มีครอบครัว และมีความสงบสุขต่อมาจนถึงวาระสุดท้ายได้อย่างงดงาม ทั้งยังอุทิศทรัพย์สมบัติอันสะสมมาได้ในชีวิตให้แก่ส่วนรวม อันแสดงถึงการไม่ยึดติด วิถีชีวิตของคนเช่นนี้สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างแก่สังคม  สมาคมนักเขียนฯ จึงได้ปรับปรุงบ้านของเสาว์ บุญเสนอ ให้เป็นบ้านตัวอย่างของนักเขียน

การปรับปรุงซ่อมแซมบ้านยังมี SCG มูลนิธิปูนซิเมนต์ไทย สนับสนุนวัสดุก่อสร้างหลังคาและผนังบ้าน ถ้าต้องการดูภาพช่วงของการซ่อมแซมก่อนจะมาเป็น “พิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน ส. บุญเสนอ” อย่างสวยงามที่เห็นกันทุกวันนี้ชมได้ที่
http://www.thaiwriterassociation.org/columnread.php?id=84

ต่อมาในวันที่ 3 พฤษภาคม 2552 ตรงกับวันเกิดครบ 100 ปีของ “ลุงเสาว์” ที่คนเรียกขานกัน สมาคมนักเขียนฯ จึงจัดงานฉลองวันครบรอบชาตกาล 100 ปี เสาว์ บุญเสนอ พร้อมทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน ส. บุญเสนอ 


เรื่องราวของคุณเสาว์ครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ บูรพา อารัมภีร ได้เขียนถึงว่า “วันนั้นลุงเสาว์อารมณ์ดี หัวเราะพูดคุยกับหลานๆอย่างเป็นกันเอง แล้วก็ถามพี่ประภัสสรว่า สมาคมนักเขียนฯ จะรับที่ดินของท่านไหม ผมได้ยินตอนนั้นก็ตื้นตันใจมากในความเมตตากรุณาของลุง จนเมื่อพี่ประภัสสรนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ก็มีมติรับที่ดินของลุงเสาว์ สร้างเป็นที่ทำการสมาคมฯ ในวันเซ็นสัญญายกที่ดิน ที่บ้านลุงเสาว์มีนักเขียนไปเป็นพยานกันเยอะ ผมเห็นลุงเสาว์ยิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนเดิม เนื่องด้วยเป็นผู้สูงอายุ ต่อมาลุงก็จากพวกเราไปก่อนที่จะทันเห็นที่ทำการสมาคมฯ”


บ้านนักเขียนของ ส.บุญเสนอ มีการบรรยายไว้ในหนังสือ “อยู่เพื่อดวงใจรัก” เขียนโดยชมัยภร แสงกระจ่าง โดยคุณชมัยภรได้ลงพื้นที่ติดตามค้นคว้าหาข้อมูลประวัติชีวิตของ ส.บุญเสนอด้วยตนเอง จึงถือว่าหนังสือนี้เคียงคู่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อย่างแท้จริง ตอนหนึ่งเล่าถึงการเดินทางไปที่บ้านลุงเสาว์ของสาโรจน์ มณีรัตน์ ซึ่งต่อมาสาโรจน์ในวัยสามสิบปลายๆ ได้กลายเป็นเกลอในสังคมวรรณกรรมกับเสาว์ บุญเสนอในวัยเก้าสิบต้นๆ


“ ณ หน้าบ้านไม้หลังเล็กๆในซอย ประตูรั้วที่เป็นไม้ด้านหน้าเปิดกว้าง มองจากด้านหน้าจะสัมผัสได้ถึงความสมถะ ในขณะที่บ้านรายรอบเป็นบ้านตึกสองชั้น ทั้งด้านข้างและด้านหน้า แต่บ้านหลังที่เป็นเป้าหมายของเขากลับสงบเงียบอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว รูปทรงของบ้านคล้ายบ้านไม้บังกะโลชั้นเดียวหลังเล็กๆ ที่เขาเคยเห็นปลูกอยู่ชายทะเลบางแสน สีสัน อายุ และสภาพแวดล้อมของบ้านบอกถึงความเหงาเปลี่ยวเดียวดาย ต้นมะม่วงใหญ่ยืนเด่นอยู่ทางด้านขวามือมีไม้ดอกไม้ประดับยืนยงและยืนทนเป็นเพื่อนเจ้าของอยู่ทั่วๆไป แต่ไม่มีส่วนใดที่แสดงว่าได้รับการจัดวางอย่างมีชีวิต เหมือนว่ามีอยู่อย่างไรก็อยู่ไปอย่างนั้น คล้ายว่าเป็นสถานที่รำลึกถึงวันเก่าๆของตัวมันเองด้วย”

มาถึงปัจจุบันเมื่อได้มาเยือนบ้านนักเขียน ส. บุญเสนอ คุณฉัตรชัย คุ้มอนุวงศ์ เจ้าหน้าที่สมาคมฯ ได้นำชมพิพิธภัณฑ์ วันนั้นอากาศเย็นสบาย บ้านนักเขียนแห่งนี้จึงดูสงบร่มเย็นอย่างประหลาด บึงน้ำเล็กๆหลังบ้านกับระเบียงสวย มองออกไปเห็นต้นขนุนกับชมพู่ม่าเหมี่ยว ลุงเสาว์มีเก้าอี้ตัวโปรดที่ชอบนั่ง เครื่องเรือนที่นี่เป็นไม้ทั้งหมด บ้านหลังนี้เมื่อเปิดหน้าต่างกว้างและบานประตูแบบบานพับ บ้านดูโปร่งโล่ง ลมพัดเข้าได้ทุกทิศทาง 


คุณฉัตรชัยได้เปิดอัลบัมภาพเก่าๆของลุงเสาว์ มีภาพที่แต่งตัวแบบทหารนักบิน มีภาพถ่ายกับเพื่อนๆทหาร ภาพของคุณศรีสุดาภรรยาสุดที่รัก ภาพถ่ายครอบครัวกับลูกบุญธรรม เมื่อมองไปรอบๆ มีตู้จัดแสดงหนังสือของลุงเสาว์อยู่จำนวนหนึ่ง นิตยสารเก่าที่เคยทำงาน โต๊ะเขียนหนังสือ เครื่องพิมพ์ดีด ในตู้กระจกมีบัตรประชาชน เครื่องมือช่าง ของใช้ส่วนตัว มีเสื้อผ้าที่เคยใช้อยู่ในตู้ ใกล้กันเป็นเตียงนอน มีจักรเย็บผ้าของคุณศรีสุดา ชุดน้ำชา วันนี้เจ้าของบ้านจากไปตามอายุขัย แต่วันนี้บ้านหลังนี้จะไม่เงียบเหงา ด้วยมีอีกหลายคนแวะเข้ามาเยี่ยมเยือนทำความรู้จัก


นี่คือชีวิตของลูกผู้ชายคนหนึ่ง ที่ยึดมั่นอยู่เพื่อดวงใจรัก พร้อมทั้งได้ฝากชื่อไว้กับผลงานและคุณความดีให้กับวงการนักเขียนไทยได้อย่างน่ายกย่อง 


สาวิตรี ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ


ข้อมูลจาก : 

สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 28 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2554
ชมัยภร แสงกระจ่าง. อยู่เพื่อใจดวงรัก. กรุงเทพฯ : เพื่อนดี , 2552.

บูรพา อารัมภีร. “ที่ทำการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย”. ปากไก่ วารสารของสมาคม นักเขียนแห่งประเทศไทย. พฤษภาคม 2550 : 194. 

คมชัดลึก. 
“ชานชาลานักเขียน: ฉลองครบรอบชาตกาล 100 ปี เสาว์ บุญเสนอ” วันที่ 3 พฤษภาคม 2552. [Accessed 16/04/2011]
“ติดตามการซ่อมแซมบ้าน ส.บุญเสนอ เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน” http://www.thaiwriterassociation.org/columnread.php?id=84/[Accessed 16/04/2011]
“สมาคมนักเขียนฯจัด 2 งานควบเปิดพิพิธภัณฑ์ ส.บุญเสนอหลังวันนักเขียน” http://news.sanook.com//[Accessed 16/04/2011]

การเดินทาง: พิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน ส.บุญเสนอ อยู่ในบริเวณเดียวกับที่ตั้งของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย รถเมล์สายที่ผ่าน ธรรมดา 16,30,50,51,65,97 / ปอ. 16,50,97,505 


จากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินบางซื่อ ค่าแท็กซี่ ราว 60 บาท
ชื่อผู้แต่ง:
สาวิตรี ตลับแป้น