มณเฑียร อาเตอลิเยร์


มณเฑียร บุญมา เป็นศิลปินไทยคนสำคัญที่บุกเบิกงานศิลปะสื่อผสม งานจัดวาง และงานเชิงความคิดเข้าด้วยกัน หลังจากเขาเสียชีวิต บ้านที่เคยพำนักและสร้างสรรค์ผลงานถูกชุบชีวิตขึ้นอีกคร้ัง จัดแสดงในลักษณะ “idea storage” โดยมีแนวคิดว่า ต้องการนำงานทดลองของอาจารย์มณเฑียร งานสเก็ตซ์ บันทึก ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เคยได้เห็น มาจัดแสดง คล้ายกับเป็นจดหมายเหตุบริบทการสร้างงาน และเบื้องหลังแนวคิดการทำงานของมณเฑียร บุญมา ในช่วงชีวิตต่างๆ วิธีการนำเสนอและเล่าเรื่องใช้วิธีแบ่งเป็นช่วงชีวิต(time line) ของอาจารย์มณเฑียรในการสร้างงานศิลปะ ออกเป็น 5 ช่วง คือ 1.เด็กจิตรกรรมฯ รั้วศิลปากร 2.สอนที่วิทยาลัยช่างศิลป์/สมาชิกกลุ่มไวท์/นักศึกษาปริญญาโทมหาวิทยาลัยศิลปากร 3.ศึกษาต่อปริญญาโทที่ประเทศฝรั่งเศส 4..สอนที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 5..ย้ายกลับมาพำนักที่กรุงเทพฯและวาระสุดท้ายของชีวิต พิพิธภัณฑ์เปิดประตูต้อนรับสาธารณชนในปี 2559 ภายใต้ชื่อ “408 Art Space” โดยให้บริการสามส่วน ส่วนแรกคือร้านอาหารบริเวณชั้นล่าง ส่วนที่สองคือพื้นที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์บริเวณด้านหน้า และส่วนสุดท้ายคือ “มณเฑียร อาเตอลิเยร์” เปิดตัวครั้งแรกเมื่อกุมภาพันธ์ 2560

ที่อยู่:
408 งามวงศ์วาน 25 ซอย 3 ถ.งามวงศ์วาน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์:
081-714-3075 (ติดต่อคุณเเบงค์)
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน พุธ-อาทิตย์ 12.00- 19.00น. กรุณานัดหมายล่วงหน้าหากต้องการการนำชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
Estateofmontien@gmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2559
ของเด่น:
จดหมายเหตุส่วนบุคคลของมณเฑียร,ภาพร่างและผลงานทดลองของมณเฑียร
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

“งานทุกอย่างพวกสเก็ต ฟิล์ม หรืออะไรก็ตามที่มันยังเหมือนเดิม ทุกอย่างอยู่ในโรงรถ อยู่ในห้องเก็บของ ยกเว้นช่วงที่มีการมายืมไปจัดแสดง ซึ่งก็ไม่มีใครรื้ออกมาทั้งหมด ไม่มีใครดูเลยตั้งแต่คุณพ่อวางไว้ตอนนั้น”

จุมพงษ์ บุญมา บุตรชายคนเดียวของมณเฑียร บุญมา ศิลปินไทยคนสำคัญผู้ล่วงลับขณะที่งานของเขายังรุ่งโรจน์ ย้อนความทรงจำถึงสภาพข้าวของก่อนที่เขาจะเริ่มเข้ามารื้อฟื้นความทรงจำที่มีทั้งต่อพ่อ ผลงานของพ่อ และบ้านของครอบครัว

มณเฑียรใช้บ้านของตัวเองเป็นพื้นที่ทำงานศิลปะ ข้าวของและผลงานของมณเฑียรที่ทำมาตลอดเวลากว่า 20 ปี สงบนิ่งอยู่ในตัวบ้านหลังจากที่เขาเสียชีวิต “โสมสุดา เปี่ยมสัมฤทธิ์” ผู้ช่วยภัณฑารักษ์หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน(ในตอนนั้น) ได้รับการติดต่อจากจุมพงษ์และครอบครัว ให้มาเป็นภัณฑารักษ์เพื่อออกแบบและ “จัดการ” การปรับเปลี่ยนหน้าที่จากเรือนอาศัยของครอบครัว ไปสู่สถานที่ต้อนรับสาธารณชนในนาม “มณเฑียร อาเตอลิเยร์”

 โสมสุดาเล่าถึงการทำงานตลอดระยะเวลากว่า 10 เดือนว่า เริ่มตั้งแต่สำรวจชิ้นงาน ตรวจสอบสภาพ คัดแยก จัดแบ่งกลุ่ม ทำทะเบียน ที่เรียกได้ว่าคืองานจัดการเอกสารจดหมายเหตุว่า ข้าวของหลายอย่างไม่ทราบที่มา คนทำงานไม่เคยเห็นมาก่อน เหล่านี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ท้าทายการทำงาน การสืบค้นข้อมูลจำเป็นต้องมาจากหลายแหล่ง ทั้งจากหนังสือ คำบอกเล่าของเพื่อน ลูกศิษย์ และผู้ช่วยของมณเฑียร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ความจำเป็นในการปรับปรุงบ้านทั้งหลัง ทำให้ต้องย้ายข้าวของทั้งหมดไปที่โกดังผู้รับเหมา ช่วงแรกภัณฑารักษ์ยังไม่ได้มีแนวคิดการจัดแสดงชัดเจน หลังจากสำรวจข้าวของ พบว่าข้าวของมีจำนวนมากทั้งเป็นผลงานทดลอง วัสดุที่ใช้ประกอบงานศิลปะ สมุดสเก็ตช์ ภาพถ่าย เอกสารสำคัญ จดหมายส่วนตัว ขณะที่ได้รับการจัดสรรพื้นที่ให้จัดแสดงได้เฉพาะชั้นบนของตัวบ้าน

ด้วยเงื่อนไขด้านพื้นที่จำกัดเพียง 25 ตารางเมตร  ผลงานส่วนมากของมณเฑียรมีขนาดใหญ่  จึงไม่เหมาะกับการจัดแสดงผลงาน  ด้วยความน่าสนใจของวัตถุต่าง ๆ ที่ค้นพบ สุดท้ายครอบครัวและภัณฑารักษ์จึงตกลงใจเปลี่ยนจากแกลเลอรี่เป็น “idea storage” โดยมีแนวคิดว่า ต้องการนำงานทดลอง  งานสเก็ตซ์ บันทึกต่างๆ ของมณเฑียร ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็น มาจัดแสดง คล้ายกับเป็นจดหมายเหตุบริบทการสร้างงาน และเบื้องหลังแนวคิดการทำงานของมณเฑียร บุญมา ในช่วงชีวิตต่างๆ

วัตถุจัดแสดงที่เห็นในมณเฑียร อาเตอลิเยร์ เป็นเพียงร้อยละ 25 จากข้าวของที่มีทั้งหมด แต่เป็นวัตถุที่อธิบายเบื้องหลังและแนวคิดการทำงานของมณเฑียร บุญมาได้อย่างมีพลัง เนื่องจากงานของมณเฑียร เป็นงานศิลปะเชิงความคิด การเข้าใจ “ระหว่างทาง” ของการทำงาน รวมถึงบริบทและประสบการณ์ศิลปินเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นภาพร่าง วัตถุทดลอง หรืองานที่ยังไม่แล้วเสร็จ และเอกสารที่เป็นจดหมายเหตุ จึงทรงคุณค่าและเพิ่มพลังในการอธิบายความหมายผลงานของมณเฑียร
 
ดังนั้นจุดมุ่งหมายสำคัญของการออกแบบมณเฑียร อาเตอลิเยร์ จึงเป็นไปเพื่อการศึกษา มุ่งเป้าไปที่การเป็นพื้นที่ค้นคว้าและศึกษาภูมิหลังแนวคิดการทำงานของมณเฑียร งานทุกชิ้นได้รับการจัดการ และแปลงรูปเป็นดิจิทัลเพื่อการสืบค้นได้ในคอมพิวเตอร์

พื้นที่บ้านมณเฑียร บุญมา เปิดประตูต้อนรับสาธารณชน พ.ศ. 2559 ภายใต้ชื่อ “408 Art Space”  โดยให้บริการสามส่วน ส่วนแรกคือ ร้านอาหารบริเวณชั้นล่าง ส่วนที่สองคือ พื้นที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์บริเวณด้านหน้า และส่วนสุดท้ายคือ “มณเฑียร อาเตอลิเยร์” บริเวณชั้นบนของบ้าน เปิดตัวครั้งแรกเมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ปณิตา สระวาสี เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 23 มีนาคม 2560
ชื่อผู้แต่ง:
-