พิพิธภัณฑ์พระราชวัง (ต้องห้าม) ของไต้หวัน

สวัสดีค่ะ

          กลับมาตามสัญญา ตอนนี้ขอแนะนำให้รู้จักกับพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่ใครๆ ไปไต้หวันก็ต้องอยากไปเยี่ยมเยือน โดยเฉพาะชาวจีนแผ่นดินใหญ่ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองไทเป เมืองหลวงของเกาะไต้หวัน มีชื่อเป็นทางการว่า พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ (The National Palace Museum- NPM)และมีชื่อเล่นเรียกกันโดยทั่วไปว่า พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกู้กง

          สำหรับท่านที่รู้จักพระราชวังต้องห้าม ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงปักกิ่ง อาจจะแปลกใจว่า ทำไมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกู้กง” เหมือนกัน หลังจากได้อ่านประวัติพิพิธภัณฑ์และความช่วยเหลือจากน้องที่รู้ภาษาจีน ก็พบว่า คำว่า “กู้กง” (Gu Gong) แปลว่า “พระราชวังโบราณ” หรือ “พระราชวังเดิม" ส่วนที่มีชื่อเรียกเหมือนกันก็เพราะในปี ค.ศ. 1962 พิพิธภัณฑ์ถูกสร้างขึ้นโดยเลียนแบบแผนผัง และรูปแบบอาคารมาจากพระราชวังต้องห้ามของปักกิ่ง


 

พระราชวังต้องห้าม หรือ พิพิธภัณฑ์พระราชวัง ณ กรุงปักกิ่ง
ภาพ: http://www.oceansmile.com/China/Kukong.htm


 

พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ ณ ไทเป
ภาพ: https://www.expedia.co.th/National-Palace-Museum-Taipei.



          นอกจากรูปแบบอาคารที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระราชวังต้องห้ามแล้ว ศิลปวัตถุที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์กว่า 620,000 ชิ้น ก็ยังเป็นสมบัติที่ถูกขนออกมาจากพระราชวังต้องห้ามที่ปักกิ่ง ในช่วงที่ประเทศจีนถูกรุกรานจากญี่ปุ่น เดิมพิพิธภัณฑ์ชื่อ “พิพิธภัณฑ์ จง ซาน” (เป็นชื่อของ ดร.ซุน ยัต เซ็น ในภาษาจีนกลาง) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกู้กง” เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บวัตถุสิ่งของและผลงานทางศิลปะของจีนโบราณที่มีประวัติยาวนานกว่า 5,000 ปี จากทุกราชวงศ์ของจีน เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเนื่องจากมีศิลปวัตถุจำนวนมากจึงต้องมีการหมุนเวียนวัตถุออกมาจัดแสดงทุกๆ 3 เดือน


 

      

วัตถุที่จัดแสดงภายนอกอาคาร ทั้งใหญ่และทรงพลัง

 
 

รูปปั้น ดร.ซุน ยัต เซ็น ที่โถงทางเข้าชั้น 1

 

            พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพภายในห้องจัดแสดงนะคะ (น่าเสียดายมาก... เพราะของสวยทุกชิ้น) นิทรรศการหลักจัดภายในอาคารหลังใหญ่ มี 3 ชั้น แบ่งเป็นโซนตามประเภทของวัตถุ และไล่เรียงตามลำดับเวลา ศิลปวัตถุที่ทางพิพิธภัณฑ์สะสมมีทั้งภาพเขียน บทกวี งานอักษร หนังสือหายาก ภาพเขียน ผ้าโบราณ งานเซรามิกและเครื่องปั้นดินเผา งานโลหะ งานหยกและหินหายาก งาช้าง งานไม้และสิ่งประดิษฐ์

           สำหรับวัตถุที่ห้ามพลาดในการมาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ “หยกผักกาดขาว” “หินเนื้อหมู” และ “กระถางสำริดของเหมากง” ที่ถูกเรียกว่า “สามมหาสมบัติแห่งกู้กง
 

 

ภาพ: http://theme.npm.edu.tw

 

           หยกผักกาดขาวเป็นงานแกะสลักหยกสีขาว-เขียว ในก้อนเดียวกัน ซึ่งถือเป็นหยกที่หาได้ยากมาก เดิมถูกวางไว้ในพระราชวังของหรงยู่ พระมเหสีของจักรพรรดิกวังซวี่ (ค.ศ.1875- 1908) ในเขตพระราชวังต้องห้าม จึงมีคนสันนิษฐานว่า งานชิ้นนี้อาจจะเป็นของขวัญสำหรับหมั้นหมาย ส่วนเหตุที่ต้องเป็นผักกาดขาว ก็เพราะโดยธรรมชาติผักกาดขาวจะทนต่อสภาพอากาศได้หลากหลาย คือ ปลูกในสภาพอากาศแบบไหนก็เติบโตได้ คนจีนเลยนำมาเป็นสัญลักษณ์ของคำว่า “มีกิน มีใช้ ไม่อดอยาก” ส่วนตั๊กแตนสีเขียวที่เกาะอยู่ หมายความว่า “มีลูกเต็มบ้าน มีหลานเต็มเมือง”

          สำหรับ หินเนื้อหมู ศิลปวัตถุของราชวงศ์ชิง ทำมาจากหินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แกะสลักด้วยความแม่นยำและเทคนิคการย้อมสีหินชั้นสูง ทำให้ลักษณะของหินที่เป็นผิวผนัง ชั้นติดมัน และไขมันของเนื้อหมูมีลวดลายที่สมจริงมาก
 
 
 

ภาพ: http://theme.npm.edu.tw

 

          ส่วน กระถางสำริดของเหมากง เป็นงานของราชวงศ์โจวตะวันตก (ปี 1046- 771 ก่อนคริสตกาล) รูปร่างภายนอกก็เหมือนกระถางสำริดทั่วไป แต่จารึกที่อยู่ภายในกระถางสิคะ ที่สำคัญ ที่เป็นที่หนึ่ง จารึกบันทึกเรื่องราวของกษัตริย์ Xuan แห่งราชวงศ์โจวที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ราชวงศ์ และวิธีการปกครองประเทศให้เจริญรุ่งเรือง


 

ภาพ: http://theme.npm.edu.tw

 

          นอกจากสามมหาสมบัติแห่งกู้กงที่ห้ามพลาดแล้ว พิพิธภัณฑ์ยังมีวัตถุสะสมที่สวยงามอีกหลากหลายชิ้น เอาภาพมาให้ชมกัน ถ้าใครสนใจอยากจะไปชมด้วยตนเองก็เชิญนะคะ พิพิธภัณฑ์เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30- 18.30 น. แต่ถ้าใจร้อนอยากชมภาพตัวอย่างวัตถุชิ้นเด่นอย่างละเอียด และเป็นส่วนตัวก็ชมได้ที่เว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ ที่  http://theme.npm.edu.tw  ได้ค่ะ
 

 

ชื่อภาพ: ดอกโบตั๋น

ภาพ: http://theme.npm.edu.tw

 
 

ภาพ: http://theme.npm.edu.tw

 
 

ภาพ: http://www.thirteenmonths.com/picturepages/twA/twA17.htm

 

           การเข้าชมพิพิธภัณฑ์สามารถทำได้เองด้วยการเช่าวิดีโอไกด์ (มีหลายภาษา แต่ยังไม่มีภาษาไทย) ติดตัวไป หรือจะชมเป็นรอบพร้อมมัคคุเทศก์ก็ทำได้ ซึ่งมักจะพาชมวัตถุชิ้นสำคัญๆ ก่อนจะปล่อยให้ชมด้วยตัวเอง
ส่วนเวลาไปชม เลือกตามสะดวกเลยค่ะ แต่แนะนำว่า ถ้าไม่อยากผจญภัยกับนักท่องเที่ยว (จีน) กลุ่มใหญ่ให้ไปช่วงบ่ายของวัน เพราะนักท่องเที่ยวจีนนิยมมาช่วงเช้าและชมวัตถุที่เป็นดาวเด่นเท่านั้น แต่ถ้าอยากชมนานๆ ค่อยๆ ชม ก็แนะนำให้อยู่ทั้งวัน ที่พิพิธภัณฑ์มีร้านอาหารและคาเฟ่ไว้คอยบริการ สะดวกมากๆ

             นอกจากนั้นท่านยังสามารถเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ได้ แต่ควรติดต่อสำรองที่นั่งล่วงหน้า เพราะกิจกรรมเหล่านี้มักได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากเด็กและผู้ปกครองเสมอ หรือถ้าอยากได้ของที่ระลึก ไม่ว่าจะเป็น ภาพถ่าย โปสการ์ด ภาพเขียน/ภาพพิมพ์ที่ทำเลียนแบบของเก่า เสื้อ เครื่องเซรามิค เครื่องเรือน ฯลฯ ให้เดินตรงไปร้านขายของที่ระลึกของพิพิธภัณฑ์เลย รับรองมีทุกสิ่งให้เลือกสรร

 

ภาพ: http://www.go-graph.com

 
            รูปสุดท้ายที่นำมาฝากกัน (แสดงถึงความใส่ใจ และให้ความสำคัญกับพิพิธภัณฑ์มากๆ) เป็นภาพที่ถ่ายในบริเวณทางเดินของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน คือ เป็นนิทรรศการขนาดเล็กแนะนำพิพิธภัณฑ์และวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้น่าสนใจ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินของบ้านเราก็น่าจะมีอย่างนี้บ้าง... คงสร้างแรงบันดาลใจ และแรงดึงดูดได้ไม่น้อย

 

อ้างอิง :

http://theme.npm.edu.tw/ เข้าถึงข้อมูลวันที่ 23 มีนาคม 2559
https://www.expedia.co.th/National-Palace-Museum-Taipei.d503003.Place-To-Visit เข้าถึงข้อมูลวันที่ 23 มีนาคม 2559
https://en.wikipedia.org/wiki/National_Palace_Museum เข้าถึงข้อมูล

ชื่อผู้แต่ง : จุฑามาศ ลิ้มรัตนพันธ์