พิพิธภัณฑ์ในฐานะพื้นที่บำบัดผู้สูงวัย กรณีประเทศอังกฤษ

โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ รายงานของสหประชาชาติเรื่องประชากรสูงอายุทั่วโลก ปี 2015 (World Population Ageing 2015) ให้ข้อมูลว่าในปี ค.ศ.  2015 – 2030 จำนวนประชากรทั่วโลกที่อายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนมากขึ้นกว่าร้อยละ 56 จาก 901 ล้านคน เป็น 1.4 พันล้านคน และในปี 2050 ประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกจะมีจำนวนมากถึง 2 เท่า ของจำนวนผู้สูงอายุในปี 2015 คือกว่า 2.1 พันล้านคน

การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นอกจากเป็นเรื่องท้าทายนโยบายเศรษฐกิจ เพราะประชากรวัยทำงานลดลง มีผลต่อตลาดแรงงาน รวมถึงความมั่นคงของระบบสวัสดิการสุขภาพแล้ว ยังส่งผลต่อสังคมในมิติของระบบสุขภาพและการดูแลผู้สูงวัยทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภายใจด้วย  หลายประเทศกำลังเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดตามมา หนึ่งในนั้นคือประเทศอังกฤษ

กรณีของประเทศอังกฤษน่าสนใจตรงที่ใช้ศิลปะและวัฒนธรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาเรื่องสุขภาพและความอยู่ดีมีสุขของผู้คนในสังคม ผู้สูงอายุเป็นเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญ อังกฤษเริ่มการปฏิรูปนโยบายสุขภาพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายสังคมและสุขภาพปี ค.ศ. 2012 ภายใต้แนวคิดที่ว่า “การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา”  นำไปสู่การขยายบทบาทหน้าที่ขององค์กรทางวัฒนธรรมอย่างพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นรูปธรรม

แนวคิดดังกล่าวมองว่าหน่วยงานทางสาธารณสุขเพียงอย่างเดียวไม่สามารถลดความไม่เท่าเทียมกันทางสุขภาพได้  เครือข่ายทางสังคมและชุมชนท้องถิ่นมีอิทธิพลสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพ ความอยู่ดีมีสุขของปัจเจกบุคคล หากผู้คนสามารถมีส่วนร่วมในทางสังคมและสามารถกำหนดการใช้ชีวิตของตนเองได้จะก่อประโยชน์อย่างสำคัญในเชิงจิตใจ ความอยู่ดีมีสุขและสุขภาพที่ดีก็จะตามมา

แพทย์อาจสามารถวินิจฉัยโรค รักษาโรค แต่แทบจะทำอะไรไม่ได้เลยในการป้องกันสาเหตุของความซึมเศร้า ความเครียด หรือโรคเรื้อรังที่เป็นผลมาจากการตกงาน การหย่าร้าง  สภาพที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี และความยากจน  แต่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ได้ ยกตัวอย่างโครงการ/โปรแกรม ที่น่าสนใจ  อาทิ


กาแฟ เค้ก และวัฒนธรรม ที่พิพิธภัณฑ์แมนเชสเตอร์


โปรแกรมกิจกรรมสำหรับผู้สูงวัยที่เป็นโรคความจำเสื่อม ครอบครัว และผู้ดูแล จัดขึ้นเดือนละครั้งในวันพฤหัสบดี ครั้งละ 2 ชั่วโมง โดยใช้นิทรรศการและคอลเล็กชั่นในพิพิธภัณฑ์เป็นพี้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความทรงจำ กับผู้สูงวัยที่ความจำเสื่อมและผู้ที่อยู่กับผู้เป็นโรคความจำเสื่อม  โดยมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จิบกาแฟและขนม หลังจากการชมนิทรรศการ
 


Creative Age

โครงการ “Creative Age” ดำเนินการโดย Equal Arts องค์กรการกุศลที่ทำงานกับผู้สูงวัยที่เป็นโรคความจำเสื่อม โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน ทำร่วมกับหอศิลป์หลายแห่ง อาทิ BALTIC Centre for Contemporary Art in Gateshead, Middlesbrough Institute of Modern Art (mima)ได้รับการสนับสนุนจาก Art Council England ที่สนับสนุนให้พิพิธภัณฑ์มีส่วนสำคัญในการบำบัดโรคของผู้สูงอายุ เพราะแม้คนมีอายุยืนยาวขึ้นแต่หลีกเลี่ยงชีวิตที่อยู่กับโรคไม่ได้ เช่น ความจำเสื่อม เบาหวาน  ความดัน  กลุ่มเป้าหมายโครงการนี้คือผู้สูงวัย ครอบครัว และผู้ที่ดูแล โดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการช่วยบำบัดเข้าร่วมโครงการ ผลตอบรับหนึ่งจากครอบครัวของผู้เข้าร่วมโครงการ


ภาพจาก http://www.artscouncil.org.uk/

“แม่ฉันเป็นโรคความจำเสื่อม โครงการ Creative Age ทำให้แม่ฉันมีความมั่นใจในทางบวกมากขึ้น ฉันไม่รู้จะอธิบายอย่างไรว่ามันมีความหมายสำหรับแม่ฉันและครอบครัวเรา การใช้ชีวิตมักยากสำหรับแม่เมื่อเธอทำอะไรผิดพลาดอยู่เสมอหรือไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ฉันชอบที่จะพูดคุยกับแม่ตอนวันอังคาร ฉันเห็นถึงความกระตือรือร้นของแม่เมื่อเธอเล่าให้ฟังว่าไปทำอะไรมาบ้าง ฉันรู้สึกทีเดียวว่ากลุ่มและกิจกรรมเหมาะกับแม่มาก มันดูเหมือนจะท้าทายแม่และสร้างความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับส่วนลึกในใจเธอแต่ไม่ได้ครอบงำเธอ” 

Not So Grim Up North


โครงการวิจัยความร่วมมือระหว่าง นักวิจัยจาก UCLและพิพิธภัณฑ์อีก 3 แห่งคือ Whitworth Art Gallery Manchester Museum และ Tyne & Wear Archives &Museums ที่ร่วมกันหาคำตอบว่า พิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีสามารถช่วยในเรื่องของสุขภาพและความอยู่ดีมีสุขได้อย่างไร? กลุ่มเป้าหมายคือคนที่เป็นโรคความจำเสื่อม  ผู้ป่วยเส้นโลหิตไปเลี้ยงสมองอุดตันที่กำลังฟื้นฟู ผู้ใช้บริการคำปรึกษาด้านสุขภาพจิต และผู้ใช้บริการคำปรึกษาด้านการติดสารเสพติด มีระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี 2015-2018 ขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล ดูรายละเอียดได้ใน  Not So Grim Up North


Art Council England ทำโพลจากการสอบถามผู้สูงอายุชาวอังกฤษ ที่อายุ 65 ปีขึ้นไปกว่า 700 คน เกี่ยวกับความสำคัญของศิลปะและวัฒนธรรม ได้ข้อมูลที่น่าสนใจในการสนับสนุนพลังอำนาจของศิลปะและวัฒนธรรมที่มีต่อสุขภาพและความอยู่ดีมีสุข

  • 76% ของผู้สูอายุบอกว่าศิลปะและวัฒนธรรมช่วยให้พวกเขามีความสุข
  • 57% บอกว่าศิลปะและวัฒนธรรมช่วยให้พวกเขาได้พบปะกับผู้คนอื่นๆ
  • 69% บอกว่าศิลปะและวัฒนธรรมช่วยให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของพวกเขาดีขึ้น

การที่พิพิธภัณฑ์เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสังคมสุขภาพและความอยู่ดีมีสุขถือเป็นแนวคิดใหม่ ไม่เพียงแต่ท้าท้ายความคิดของวงการสาธารณสุข แต่ยังท้าทายและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับวงการพิพิธภัณฑ์ด้วย แทบจะพูดได้เลยว่าแต่เดิมนั้นพิพิธภัณฑ์ไม่เคยมีส่วนร่วมอะไรกับงานสาธารสุขมากนัก จริงๆ ในไทยก็มีตัวอย่างเช่นกัน แต่ไม่ได้เกิดจากระดับนโยบายรัฐหรือเป็นวาระแห่งชาติแบบอังกฤษ เป็นการทำงานของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโดยลำพัง  คราวต่อไปคงจะได้พูดถึงเรื่องนี้กันค่ะ

อ้างอิง


Helen Chatterjee and Guy Noble.(2013).Museums, Health and Well-Being. Surrey: Ashgate.
http://www.healthandculture.org.uk/
https://equalarts.org.uk/our-work/creative-age/
http://www.un.org/en/development/desa/population/publications/pdf/ageing/WPA2015_Report.pdf
http://www.comres.co.uk/polls/arts-council-england-older-people-poll/
http://www.artscouncil.org.uk/how-we-make-impact/arts-culture-and-older-people
http://www.museum.manchester.ac.uk/community/communityengagement/coffeecakeandculture/

 
 

อ้างอิง :

ชื่อผู้แต่ง : ปณิตา สระวาสี