ถึงเธอ เฮอร์มิเทจ พิพิธภัณฑ์แห่งกรุงเซนปีเตอร์เบิร์ก

“มีแค่หนูกับฉันเท่านั้นที่สามารถชื่นชมผลงานเหล่านี้ได้” 

นี่คือส่วนหนึ่งในบันทึกคำกล่าวของพระนางแคทเธอรีนที่ 2 มหาราช หรือซารีนาแคทเธอรีน ผู้เก็บสะสมสมบัติส่วนพระองค์และพระเจ้าปีเตอร์มหาราชแห่งรัสเซียขึ้น ภายในพระราชวังฤดูหนาวหรือเฮอร์มิเทจ ณ กรุงเซนปีเตอร์เบริ์ก 

เมืองเซนปีเตอร์เบริ์ก (St.Petersburg) มี 3 ชื่อและเปลี่ยนชื่อตามยุคสมัย ชื่อเซนปีเตอร์เบริ์ก เริ่มใช้ในปี ค.ศ.1703-1914    ต่อมาเปลี่ยนเป็นเปโตรกราด (Petrograd)  ใช้ในปี ค.ศ.1914 -1924  และเลนินกราด (Leningrad) ใช้ในปี ค.ศ. 1924 -1991 จากนั้นจึงกลับมาใช้เซนต์ปีเตอร์เบิร์กอีกในปี ค.ศ. 1991ถึงปัจจุบัน

น้อยคนนักที่จะได้เห็นข้าวของสมบัติสะสมของพระนาง จวบจนศตวรรษที่ 18  เมื่อพระราชวังแห่งนี้ได้เปิดให้สาธารณชนเข้าชมเป็นครั้งแรกในชื่อ พิพิธภัณฑ์สเตจเฮอร์มิเทจ(State Hermitage Museum)  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับการบันทึกในหนังสือสถิติโลกกินเนสส์ว่า เป็นหอศิลป์ที่มีงานสะสมมากชิ้นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ตามไปชมกันค่ะ



พระนางแคทเธอรีนที่ 2 มหาราช (ภาพโดยอมรรัตน์ นุกูล)

พิพิธภัณฑ์สเตทเฮอร์มิเทจ หรือพระราชวังฤดูหนาว (ภาษารัสเซีย: Зи́мний дворе́ц)  คำว่า "เฮอร์มิเทจ" มาจากรากศัพท์ดั้งเดิมภาษาฝรั่งเศสและภาษาละติน eremites หรือ hermit ที่แปลว่า ผู้อยู่สันโดษ โดดเดี่ยวตามลำพัง ในอดีตเคยเป็นพระราชวังหลวงของราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov) ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1732 ถึง 1917 ตั้งอยู่ระหว่างท่าวัง (Palace Quay) ของแม่น้ำเนวา (แม่น้ำที่เชื่อมทางออกสู่ทะเลอ่าวฟินแลนด์) กับจัตุรัสพระราชวัง (Palace Square)ที่เป็นลานอันกว้างใหญ่ อยู่ด้านหน้าของเฮอร์มิเทจ ตรงกลางลานเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 (Alexander I หรือ Alexander Column)  สร้างในปี ค.ศ. 1801-1825 เป็นรูปนางฟ้ายืนถือไม้กางเขนอยู่บนยอดเสาหินแกรนิตสีแดง สูงรวม 47.5 เมตร หนักถึง 600 ตัน เป็นสัญลักษณ์ที่ระลึกถึง พระเจ้า Alexander I ทีมีชัยชนะเหนือจักรพรรดิโปเลียน ในปี ค.ศ.1812

อาคารเฮอร์มิเทจเป็นตึกโทนสีเขียวตัดกับสีขาว ศิลปะสถาปัตยกรรมแบบบาโรค (Baroque Style) สร้างในปี ค.ศ. 1764 ตัวอาคารเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูงราว 30 เมตร ด้านหน้ามีความยาว 250 เมตร ออกแบบด้วยสถาปนิกหลายคน โดยมีสถาปนิกหลักคือ ฟรานเชสโก บาร์โทโลมีโอ รัสเทรลลี  (Francesco Bartolomeo Rastrelli)ชาวอิตาเลียน  มีการก่อสร้างเพิ่มเติมและดัดแปลงมาเรื่อยๆ ปัจจุบันมีอาคารเชื่อมต่อกันจำนวน 5 หลังได้แก่ พระราชวังฤดูหนาว(Winter Palace) เฮอร์มิเทจอาคารเล็ก (Small Hermitage) เฮอร์มิเทจอาคารเก่า (Old Hermitage) เฮอร์มิเทจอาคารใหม่ (New Hermitage) และ โรงละครเฮอร์มิเทจ(Hermitage Theatre)



อาคารพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ (ภาพโดย อมรรัตน์ นุกูล)

การเข้าเยี่ยมชมเฮอร์มิเทจนั้นสามารถซื้อตั๋วได้แบบปกติ และแบบผ่านทางเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ  หากซื้อแบบทางออนไลน์แล้ว คุณก็จะได้รับตั๋วผ่านทางอีเมลที่ลงทะเบียนไว้  ส่วนประตูทางเข้าของผู้ที่ซื้อตั๋วแบบออนไลน์นั้น  อยู่บริเวณอาคารเล็กเฮอร์มิเทจ (Small Hermitage) ให้เลี้ยวขวาตรงด้านประตูทางเข้าหลัก เมื่อเดินผ่านเข้าประตูแล้ว เจ้าหน้าที่ตรวจสอบกระเป๋า ด้านในมีห้องน้ำกว้างขวาง สะดวก  และมีพื้นที่ขายของที่ระลึก อีกทั้งไม่ต้องแลกตั๋วเข้าชมแต่ประการใด เพียงแค่คุณพิมพ์ตั๋วที่มีแถบบาร์โคด ให้ครบถ้วนก็สามารถนำตั๋วที่พิมพ์ออกมานั้น  สแกนผ่านเครื่องแล้วเข้าไป ด้านในอย่างสะดวกสบาย สำหรับราคาตั๋ว 1 วัน อยู่ที่ 17.95 ดอลล่าห์  (ประมาณ 650 บาท )  ตั๋ว 2 วัน ราคา  22.95 ดอลล่าห์ ราคานี้รวมค่าถ่ายภาพและกล้องวิดิโอ เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้คุณยังสามารถดาวน์โหลแอพพลิเคชั่นของเฮอร์มิเทจได้ผ่านบนหน้าจอมือถือ แอพพลิเคชั่นนี้ แสดงข้อมูลทั้งความเป็นมา การเดินทาง ตั๋วเข้าชม แผนผังห้องจัดแสดง ข้อมูลเบื้องต้น คอลเล็กชั่นต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมข่าวสาร นิทรรศการของพิพิธภัณฑ์  Free Wifi  นี่สินะสมเป็นพิพิธภัณฑ์ระดับโลก ต้องปรับตัวตามกระแส    

ที่สำคัญขอแนะนำว่า ต้องวางแผนการเดินทางที่นี่ให้ดีนะคะ เพราะพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก งานศิลปะวัตถุไม่ว่าจะเป็น รูปปั้น ภาพเขียน ภาพวาด นาฬิกา ราชรถ อาวุธ เฟอร์นิเจอร์ต่าง ฯลฯ มีจำนวนถึงสามล้านชิ้น!!!และยังเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เก่าที่สุดในโลก
  จากการจัดอันดับ 10 พิพิธภัณฑ์น่าชมทั่วโลก จัดโดย BBC Culture

State Hermitage Museum Application

ความเป็นมาของเฮอร์มิเทจนั้น แรกเริ่มสร้างเพื่อใช้เป็นพระราชวังที่ประทับของพระนางอลิซาเบธ (ค.ศ.1741-1761 ) และก่อสร้างเสร็จเมื่อปี 1762 แต่พระนางอลิซาเบธสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อน ทำให้พระราชวังแห่งนี้ กลายเป็นที่ประทับของซารีนา แคทเทอรีน หรือ พระนางแคทเธอรีนที่ 2 มหาราช (ค.ศ.1762-1796 ) ซึ่งขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 3 (ค.ศ.1761-1762) พระราชสวามี  ซึ่งตลอดในรัชสมัยของพระนางนั้น รัสเซียได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจหนึ่งของยุโรป เพราะรัสเซียขณะนั้นได้ขยายพรมแดนออกไปทางด้านทะเลดำและทะลเมดิเตอร์เรเนียนได้สำเร็จ รวมทั้งได้มีการปฏิรูประบอบการปกครองและสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับมหาอำนาจยุโรปอื่นๆ ทำให้กรุงเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก กลายเป็นมหานครที่เป็นศูนย์กลางการค้า สินค้าหรูหรา ฟุ่มเฟือยที่สำคัญของยุโรปและเอเชีย อีกเหล่าขุนนางและชนชั้นสูงต่างนิยมสะสม ศิลปวัตถุ และรูปภาพที่มีชื่อเสียงและราคาแพง เพื่อประกวดประชันกัน ตลอดจนยินดีจ่ายค่าจ้างจำนวนมหาศาล  ให้คณะแสดงต่างๆ ที่มีชื่อเสียงของยุโรปไม่ว่าจะเป็นคณะละคร ระบำ ดนตรี วงอุปรากร มาเปิดการแสดงที่นี่

ไม่เพียงแต่เหล่าชนชั้นสูงต่างประกวดประชันกันเท่านั้น ซารีนาแคทเธอลีน พระนางเองก็ทรงเป็นนักสะสมตัวแม่ พระนางเริ่มสะสมผลงานศิลปะ ในปี ค.ศ. 1764 จากพ่อค้าชาวเบอร์ลิน ชื่อ Johann Ernst Gotzkowsky โดยซื้อภาพเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบ จำนวน 225 ภาพ ภาพทั้งหมดล้วนวาดโดยจิตรกรที่มีชื่อในยุโรปในขณะนั้น พระนางสะสมศิลปวัตถุและโบราณวัตถุจากนานาประเทศยุโรปเรื่อยมาจนทำให้พระราชวังเฮอร์มิเทจ ต้องขยายพื้นที่ เพื่อเก็บของสะสมนานาชนิดของพระนาง

ในปี ค.ศ.1764 -1766 พระนาง มีพระบัญชาให้ ยูรี เฟลเทน (Yury Felten) ขยายพื้นที่การจัดสร้างพระราชวังไปยังด้านทิศตะวันออก  ปีถัดมาสั่งนายช่างชาวฝรั่งเศสชอง เบสติสต์ (Jean – Baptist Ballin de la Mothe) สร้างอาคารเพิ่มเติมทางด้านทิศเหนือบนฝั่งของแม่น้ำเนวา  และในระหว่างปีนั้นเองพระนางได้ วางของสะสมในศิลปะสมัยใหม่ (Neoclassic) มาไว้ยังอาคารที่เรียกว่า Small Hermitageและในระหว่างปี 1769 ถึง 1779 พระนางได้จัดซื้อภาพของศิลปินและภาพศิลปวัตถุ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากศิลปิน, ทายาทเจ้าของที่ผู้เคยครอบครองผลงานของศิลปิน อาทิ ภาพของ Bruhl 600 ภาพ ภาพของ Crozat  ภาพ Robert Walpole ในลอนดอน 198 ภาพ  ภาพวาดของท่านเคานท์ Baudouin 119 ภาพ

นอกจากภาพวาดแล้วพระนางยังโปรดที่จะซื้อสะสมเครื่องประดับต่างๆ ไว้อย่างมากมาย ว่ากันว่าในตลอดพระชนม์ชีพของพระนางนั้น สะสมภาพวาดไว้ถึง 4,000 ภาพ หนังสือ 30,000 กว่าเล่ม เครื่องประดับแกะสลัก 10,000 ชิ้น ภาพเขียนกว่า 10,000 ภาพ เหรียญต่างๆ อีก 16,000 เหรียญ  นอกจากนั้นยังมีของสะสมอื่นๆ  ไม่ว่าจะเป็นวัตถุทางธรรมชาติ และมนุษย์จัดทำขึ้น เหรียญตรา ห้องที่ใช้จัดวางข้าวของเหล่านี้ ต้องใช้พื้นที่ที่มีทั้งหมดราว 400 กว่าห้อง ต่อมาในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 (คศ.1801-1825) และพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 (คศ.1840 -1843) ได้ทรงจัดซื้อภาพวาดเพิ่มขึ้น พร้อมกับจัดหมวดหมู่ของสะสมต่างๆ   รวมทั้งปรับปรุงอาคารเล็กของเฮอร์มิเทจเรื่อยมา จนกระทั่ง อาคารใหม่ของเฮอร์มิเทจสร้างเสร็จ จึงได้เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1852


ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจแบ่งออกเป็น 3 ชั้น  พื้นที่จัดแสดงหลัก อาทิ ห้องอิยิปต์ (Egyptian) ห้องศิลปะคลาสสิก (Classical) ห้องศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์(Prehistoric art)ห้องศิลปะวัตถุแสดงเครื่องประดับ(Jewelry and decorative art) ห้องศิลปะแบบอิตาเลียนและสเปน(Italian and Spanish fine art)ห้องอัศวิน(Knight's Hall) ห้องศิลปะยุโรปสไตล์บาโรค(Dutch Golden Age and Flemish Baroque) ห้องศิลปะแบบเยอรมัน อังกฤษ สวิส และฝรั่งเศส(German, British, Swiss and French fine art) ห้องศิลปะสมัยนีโอคลาสสิกและสมัยใหม่(Neoclassical, Impressionist, and post-Impressionist art) และ ห้องศิลปะรัสเซีย (Russian art)
   
เมื่อเดินผ่านเข้าไป ตามห้องหมายเลขต่างๆ แทบทุกห้องล้วนมีการตกแต่งที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเรือน ภาพวาด ภาพเขียน ห้องนั่งเล่น ห้องสมุด ห้องโถง ฯลฯ สมพระเกียรติแห่งซาร์ (Tsar) รัสเซีย  เราตามไปชมความงดงามของเธอเฮอร์มิเทจ ห้องนิทรรศการและภาพศิลปะบางส่วนด้วยกันค่ะ


ห้องบันไดจอร์แดน The Jordan Staircase บริเวณห้องโถงและบันได  ชั้น 1 ที่จะเดินเข้าไปชมยังห้องนิทรรศการต่างๆ ในบริเวณชั้น 2 สร้างในปี1866 แต่ถูกไฟไหม้เสียหายใน ปี 1837 (ภาพโดย อมรรัตน์ นุกูล)


ห้องมาลาไคท์ The Marachite Room ชั้น 2 ห้อง หมายเลข 189 หินมาลาไคท์เป็นหินที่พบมากในรัสเซีย ลักษณะเป็นสีเขียวสว่างไปจนถึงเขียวเข้มอมดำ มีความสวยงาม จึงถูกนำมาใช้ตกแต่งเพดานผนัง และใช้ในการตกแต่งพระราชวัง (ภาพโดย อมรรัตน์ นุกูล)



ห้องสงคราม War Gallery of 1812 เป็นการระลึกถึงชัยชนะของรัสเซียที่มีต่อนโปเลียนของฝรั่งเศส บนกำแพงจะแขวนภาพของนายพลที่รบในสงครามปี 1812 จำนวน 332 ท่าน (ภาพโดย อมรรัตน์ นุกูล)


ห้องอิตาเลียน The Large Italians Skylight Room ชั้น 2 ห้องหมายเลข 238ภายในห้องนี้ตกแต่งด้วยปฏิมากรรมหินอ่อน และการตกแต่งห้องด้วยวาดผนังห้องอย่างสวยงาม (ภาพโดย นฤมล น ธรรมโม)



ห้องราฟาเอล
The Raphael Loggias ห้องหมายเลข 227 เป็นห้องระเบียงยาวประกอบด้วยภาพวาด ผลงานของ Raphael รวมเรื่องราวตามคัมภีร์ไบเบิล   (ภาพโดย ฤตา ไชยอิ่นแก้ว)


ห้องโถงประจำราชวงศ์ The Armorial Hall ออกแบบเพื่อใช้เป็นห้องโถงต้อนรับ  สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงปีเตอร์ มหาราช มีบัลลังก์ และรูปของพระองค์อยู่ด้านหลัง ยิ่งใหญ่อลังการด้วยเสาทองต้นใหญ่ (ภาพโดย อมรรัตน์ นุกูล)



โบสถ์ใหญ่ในเฮอร์มิเทจ Grand Church ใช้เป็นสถานที่ทำพิธีอภิเษกสมรส และพิธีทางศาสนาต่างๆ (ภาพโดยอมรรัตน์ นุกูล)


ห้อง Pavilion Hall หมายเลข 204 เป็นห้องสีขาวขนาดใหญ่ มีแชนเดอเลียร์ขนาดใหญ่ละลานตาจำนวน 28 โคม มีนาฬิกานกยูงทองลำแพนหางได้ และด้านข้างประกอบด้วย  นกฮูก และไก่สีทอง สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 แต่ยังทำงานได้อยู่ สามารถชมนาฬิกานี้ทำงานได้ผ่านจอทีวีที่อยู่ด้านข้าง (ภาพโดย อมรรัตน์ นุกูล)


บางส่วนของ ภาพศิลปะ ปฎิมากรรม เครื่องประดับ เสื้อผ้า ฯลฯ ในศตวรรษที่ 16 -18

ภาพโดย นฤมล น ธรรมโม


ภาพโดย อมรรัตน์ นุกูล


ภาพโดย ฤตา ไชยอิ่นแก้ว

ภาพโดย ฤตา ไชยอิ่นแก้ว


หากเราเปรียบเฮอร์มิเทจ (Her – mitage) เป็นหญิง เธอผู้นี้ก็เปล่งประกายสวย อย่างมีระดับ  และยังอยู่และยืนหยัดท่ามกลางวิกฤตการณ์หลายครั้ง ดังเช่น  ตัวพระราชวังได้ประสบเพลิงไหม้อย่างหนักในปี ค.ศ. 1837    และเคยถูกจู่โจมทั้งจากทหาร และประชาชนในช่วงการปฏิวัติรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1917  ไม่เว้นแม้แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี ค.ศ. 1941 กองทัพนาซีได้เข้าปิดล้อมกรุงเซนปีเตอร์เบิร์กนานถึง 900 วัน โชคดีที่ศิลปวัตถุจำนวนกว่า 2 ล้านชิ้น ได้ถูกขนย้ายด้วยรถไฟ นำไปซ่อนไว้ที่เทือกเขาอูราล ที่เมืองเอกาเตรินเบิร์ก ได้ทัน และยังขนย้ายไปอีกหลายแห่ง ทำให้บางส่วนถูกนำมาขายทอดตลาดให้กับต่างชาติ ทั้งในอเมริกาและอังกฤษ

สำหรับในช่วงปี ค.ศ. 1918 รัฐบาลสหภาพโซเวียตได้ชี้นำอุดมการณ์ทางการเมือง ด้วยการใช้นโยบายนำศิลปะแบบสังคมนิยมไปสู่ประชาชน  เชิญชวนให้สาธารณะชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และตัดสินใจว่ารัฐควรจัดซื้อและรวบรวมงานศิลปะแบบใดเป็นสมบัติของประเทศ พระราชวังเฮอร์มิเทจเองก็ได้เป็นหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับประชาชนโดยมีการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ การแสดง และการบรรยายด้านศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนการจัดแสดงคอนเสิร์ตเพื่อประชาชนขึ้นเป็นประจำ กิจกรรมที่ว่านี้ยังคงสืบทอดจนถึงปัจจุบัน   นอกจากนี้รัฐบาลโซเวียตยังนำสมบัติของพระเจ้าซาร์และราชวงศ์จากพระราชวังอื่นๆ มารวมไว้ที่เฮอร์มิเทจ  และพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ ยังมีชื่อการจัดตั้งสาขาในเมืองใหญ่ๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา อาทิ กรุงอัมสเตอร์ดัมใน เนเธอร์แลนด์กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมืองแฟร์รารา ประเทศอิตาลี และนครลาสเวกัส สหรัฐอเมริกาอีกด้วย

เมื่อแรกเข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์ เราเดินชมของสะสม ภาพงานศิลปะอย่างพิจารณาถ้วนถี่ ถ่ายภาพกันเพลิดเพลิน แต่เรากลับพบว่าเพียง 3-4 ชั่วโมงนั้น เราเดินชมเพียงชั้น 2 และ 3 บางส่วนเท่านั้น นี่เพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งที่ได้รู้จักเธอ เฮอร์มิเทจ จนเวลาใกล้จะปิดพิพิธภัณฑ์ ทำให้เราต้องรีบเดินจนถึงวินาทีสุดท้าย เจ้าหน้าที่ต้องไล่ต้อนพวกเราและนักท่องเที่ยวอื่นๆ ออกมารวมกันยังประตูทางออก หนึ่งในคณะของเราถึงกับเปรยขึ้นว่า  


“We need two years in Hermitage Museum”  เราขอเวลาอีกสองปีในการชมพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ !!


อ้างอิง 
ไพรัตน์ สูงกิจบูลย์. พรีเวียตรัสเซีย. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์อทิตตา, 2554. หน้า 118 – 119.
สัญชัย สุวังบุตร. เลนินกับการสร้างรัฐสังคมนิยมโซเวียต. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2553. หน้า 254-258.
อนันต์ชัย เลาะหะพันธุและสัญชัย สุวังบุตร. รัสเซียสมัยซาร์และสังคมนิยม. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2553. หน้า 115 – 122.
http://hermitagemuseum.org/wps/portal/hermitage/?lng=en  (เข้าถึงเมื่อ 2 สิงหาคม 2559 )
https://en.wikipedia.org/wiki/Hermitage_Museum#Egyptian_antiquities(เข้าถึงเมื่อ 2 สิงหาคม 2559 )
http://www.yingpook.com/-hermitage-st-petersburg (เข้าถึงเมื่อ 2 สิงหาคม 2559)
 

อ้างอิง :

ชื่อผู้แต่ง : อมรรัตน์ นุกูล