พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชาติพันธุ์ลาวครั่ง วัดทุ่งผักกูด


พิพิธภัณฑ์กลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งบ้านทุ่งผักกูด หนึ่งในแหล่งเรียนรู้สำคัญของชุมชน ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งรายล้อมด้วยกำแพงวัด โบสถ์เก่าและหอฉันไม้โบราณ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้นับว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนอย่างแท้จริง เพราะเกิดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน ทั้งการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนความร่วมมือกับภาควิชาการ ในด้านการรวบรวมข้อมูลทั้งเรื่องประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม เพื่อนำข้อมูลมาประกอบจัดแสดง เป็นองค์ความรู้รวมและนิทรรศการเล่าขานตำนานท้องถิ่นให้มีชีวิตชีวา เมื่อความมุ่งมั่นสามัคคีเกิดผล พิพิธภัณฑ์กลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งบ้านทุ่งผักกูด จึงก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2555 ณ หมู่ที่ 2 วัดทุ่งผักกูด และเปิดให้เข้าชมในวันที่ 5 มกราคม 2556 ภายใต้อาคารจัดแสดงที่มีรูปแบบจำลองเรือนไม้โบราณ ตามความนิยมของชนในกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง ที่มักจัดแบ่งพื้นที่การใช้สอยของเรือนชั้นบนออกเป็น 1 ห้องนอน 1 ห้องครัว ซึ่งต่อออกไปจากตัวบ้าน ส่วนที่โล่งนอกชานสำหรับให้ผู้อาศัยกางมุ้งนอน ส่วนของห้องนอนนั้นทำไว้สำหรับบุตรสาวซึ่งเป็นเขตหวงห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามา อีกทั้งเป็นที่ตั้งหิ้งผี หากล่วงล้ำจึงถือว่าผิดผี ส่วนชั้นล่างของเรือนใช้สำหรับจัดเก็บเครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์การเกษตร ด้วยความมุ่งหวังให้พิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่เก็บรวบรวมสิ่งของและอุปกรณ์ประกอบอาชีพของผู้คนในอดีต ชาวบ้านจึงร่วมใจกันบริจาคของโบราณเท่าที่ตนมีเพื่อนำมาจัดแสดงหลายร้อยชิ้น โดยชั้นล่างเล่าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับอาชีพหลัก นั่นคือ การทำนา ทำให้บรรยากาศในห้องจัดแสดงแห่งนี้ มีกลิ่นอายของวัฒนธรรม พิธีกรรมเกี่ยวกับเรื่องราวของข้าว ทั้งพิธีลงแขกดำนา พิธีนวดข้าว พร้อมสรรพด้วยอุปกรณ์หาปลา ตลอดจนเครื่องมือก่อสร้างบ้าน โอ่ง ไห รวมถึงมุมประเพณีที่สำคัญ ส่วนชั้นบนจัดแสดงอุปกรณ์ในครัวเรือน หม้อ ไห ถ้วย ชาม โดยจําลองให้เป็นเสมือนเช่นเรือนครัวในอดีต นอกจากนั้น ยังจัดแสดงองค์ความรู้เรื่องการแต่งกาย ผ้าซิ่นทอมือที่มีอายุกว่า 100 ปี ห้องสาธิตการทำคลอดสมัยโบราณ โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นแหล่งให้ข้อมูลทางวิชาการเรื่องความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับสิ่งที่เคารพนับถือ สำหรับลักษณะภูมิทัศน์โดยรอบนับว่าร่มรื่น เพราะปกคลุมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ มียุ้งข้าว โอ่งน้ำโบราณรูปแบบต่าง ๆ วัว ควาย คันไถ เกวียน สีฝัด ที่นำมาจัดตกแต่งรอบตัวเรือนรวมถึงท้องทุ่งนา ทุกเรื่องราวที่ถูกเล่าขานผ่านพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงเป็นเสมือนชีวิตและลมหายใจของชาวลาวครั่งบ้านทุ่งผักกูดที่อยากถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานเพื่อประกาศถึงความภาคภูมิใจในชุมชนของตนเอง และเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาค้นคว้าสืบไป

ที่อยู่:
วัดทุ่งผักกูด ต.ห้วยด้วน อ.ดอนตูม จ.นครปฐม 73150
โทรศัพท์:
088-7531752 จิตกวี กระจ่างเมฆ, 081-37585051 พนม นาคโสมกุล
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
อีเมล:
huayduan_dontoom@hotmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2556
ของเด่น:
ผ้ามัดหมี่อายุ 200 ปี,วิถีชีวิตลาวคั่ง,การนับถือผีเจ้านาย-ผีเทวดา,เครื่องมือเกษตรกรรม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 07 มกราคม 2556

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชาติพันธุ์ลาวคั่ง

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ลาวคั่งแห่งนี้ เพิ่งเปิดประตูต้อนรับสาธาราณชนเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2556 เป็นพิพิธภัณฑ์ “น้องใหม่” ในจังหวัดนครปฐม พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวมาจากการทำงานของชุมชนและอาจารย์จิตกวี กระจ่างเมฆ ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องราวทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวคั่ง อาจารย์จิตกวีกล่าวถึงความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวคั่ง ที่สามารถนับย้อนตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ “หากอ้างตามการศึกษาของ ศ.ธวัช บุญโนทก ซึ่งท่านศึกษาเรื่องนี้เหมือนกัน ในความเป็นจริง ผู้เฒ่าผู้แก่บอกเล่า 2 ที่มา แต่นักวิชาการมักกล่าวว่า กลุ่มลาวคั่งสืบเชื้อสายมาจากหลวงพระบาง นั่นคือฐานเสียง [ภาษาพูด – ผู้เขียน] ไปเหมือนที่โน้น และฐานเสียงตรงนี้ เหมือนไทยเลย ในชุมชนบอกกล่าวกันว่า พ่อแม่ว่าจากหลวงพระบาง แต่บางกลุ่มที่อายุ 60-70 ว่ามาจากทางเวียงจันทน์ มีความเป็นไปได้ว่า เมื่อมีการกวาดต้อนมาครั้งสงครามระหว่างไทยกับลาว โดยเฉพาะเมื่อเจ้าอนุวงศ์เป็นกบฎ ก็มีการกวาดต้อนมาจากหลวงพระบางเป็นจำนวนมาก และไพร่พลมาพักที่เวียงจันทน์ก่อน ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านบางกลุ่มจึงบอกว่ามาจากหลวงพระบาง แต่บางส่วนว่ามาจากทางเวียงจันทน์”
 
หลายๆ คนอาจจะตั้งข้อสังเกตว่า ชื่อของพิพิธภัณฑ์เขียนว่า “ลาวคั่ง” ซึ่งแตกต่างจากงานทางวิชาการหลายแห่งที่ใช้คำว่าลาวครั่ง อาจารย์จิตกวีอธิบายไว้ถึงความแตกต่างในการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ในรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์ นั่นคือ คำว่าลาวคั่งอาจเกี่ยวข้องกับที่มาของบริเวณที่เป็นสถานที่ดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ในลาว บ้างนำไปเชื่อมโยงกับครั่งที่ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ในการย้อมผ้า และเป็นผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติ นั่นคือผ้ามัดย้อมและผ้าขิด แต่คำว่า ลาวคั่ง ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เลือกใช้สำหรับเป็นชื่อเรียกและการสะกดคำอย่างเป็นทางการ เนื่องมาจากการออกเสียงในภาษาคั่ง ที่ไม่มีการควบกล้ำ ฉะนั้น “ลาวคั่ง”น่าจะมีความเหมาะสมในการบอกถึงชาติพันธุ์และชื่อพิพิธภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่นี่
 
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งนี้ตั้งอยู่ในวัดทุ่งผักกูด ตำบลห้วยด้วน ซึ่งอาจพอสรุปได้อย่างกว้างๆ ว่ามีผู้คนที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ลาวคั่งเกือบทั้งตำบล อาคารของพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ โดยอาศัยลักษณะบ้านที่เป็นเรือนพื้นถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ นั่นคือเป็นอาคารใต้ถุนสูงโดยมีพื้นที่โล่งด้านล่างสำหรับการทำกิจกรรม แต่อาคารพิพิธภัณฑ์ได้รับการปรับให้ส่วนด้านล่างเป็นผนังรอบ เพื่อการจัดเก็บและจัดแสดงวัตถุ วัตถุต่างๆ ได้รับการจัดแบ่งตามหมวดหมู่ของการประกอบอาชีพหรือการทำกิน อันได้แก่ เกษตรกรรม (ข้าว การเพาะปลูก ทนานใส่ข้าว “ไม้คานหลาว” ที่ใช้ในการแทงข้าวหรือพุ้ยข้าวในระหว่างการเก็บเกี่ยว) การประมง (เครื่องมือดักสัตว์น้ำ หาปลา) เครื่องมือช่างที่แสดงให้เห็นถึงงานช่างไม้ที่บ่งบอกถึงการทำงานไม้โดยคนท้องถิ่น
 
ส่วนอาคารชั้นบน ประกอบด้วยพื้นที่สำคัญ 4 ส่วนได้แก่ ชานเรือน แสดงให้เห็นถึงพื้นที่การต้อนรับแขกผู้มาเยือน (สังเกตจากร้านน้ำ) พื้นที่โล่งซึ่งเป็นส่วนหลักของเรือน ทางด้านหนึ่งได้รับการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อสำคัญของชุมชน อันได้แก่ ผีเจ้านายและผีเทวดา ส่วนห้องขนาดเล็กหรือในภาษาลาวคั่งเรียกว่า “ห้องส้วม”เป็นห้องสำหรับลูกสาว ได้รับการดัดแปลงให้เป็นห้องสำหรับการคลอดลูกและการอยู่ไฟหลังคลอด ในส่วนสุดท้าย เป็นครัวไฟหรือในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “เฮือนคัว” ที่มีก้อนเสาเตาไฟ “กะปั๊ว” (อ่างยีขนมจีน) เป็นวัตถุที่น่าสนใจ และแสดงให้เห็นบรรยากาศความเป็นอยู่ของคนลาวคั่งได้เป็นอย่างดี
 
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการนับถือผี อาจารย์จิตกวีให้คำอธิบายว่า แม้กลุ่มชาติพันธุ์ลาวคั่งที่ห้อมล้อมด้วยความทันสมัย แต่การนับถือผียังคงได้รับการปฏิบัติกันเหนียวแน่น “มีการเลี้ยงผีกันทุกปี และชีวิตในแต่ละวัน ห้อมล้อมด้วยความเชื่อตรงนี้ และเมื่อศึกษาลึกๆ จะพบความเชื่อเป็นระเบียบ เช่น หญิงสาวถูกเนื้อต้องตัว คือคุณผิดผี มีความต่อเนื่องอย่างไร ทำอย่างไรให้สู่สภาวะปกติ ผีที่ชุมชนนับถือมี 2 ผี ได้แก่ ผีเจ้านาย (ผีปู่เสื้อย่าเสื้อ, ผีพ่อเฒ่า แล้วแต่จะเรียก) กับผีเทวดา สองผีที่นับถือกัน ผีที่เป็นใหญ่จะเป็นผีเจ้านายหรือผีปู่เสื้อย่าเสื้อ ชุมชนที่นี่มีความเชื่อว่าเป็นผู้ที่คุ้มครองลาวคั่งทั้งหมู่บ้าน หมู่บ้านหนึ่งมีศาล 7 หลัง พอถึงเดือน 7 ต้องมีการเลี้ยงผี และคนที่เป็นลูกผึ้งก้นเทียน ก็ต้องถือไก่สีดำไก่เป็นๆ มาเซ่นไหว้ มาตีหัวที่ศาล ส่วนคนที่นับถือผีเทวดา เป็นลูกของปู่เสื้อย่าเสื้อ แม้จะไม่ใช่ลูกผึ้งก้นเทียน แต่ก็ให้ความนับถือปู่เสื้อย่าเสื้อ ฉะนั้นใน 1 ปี คนที่นับถือผีเทวดา จะถือไก่ต้ม การแยกแยะว่ากลุ่มไหนนับถือผีปู่เสื้อย่าเสื้อ หรือผีเทวดา หากคุณเป็นลูกผึ้งก้นเทียน คุณถือไก่เป็นมา อยู่ในความคุ้มครองของผีเจ้านายโดยตรง ส่วนผีเทวดา พ่อแม่พาไปขึ้นผีเทวดา จริงๆ คือผีบ้านผีเรือนของตระกูล”
 
วัตถุทั้งหมดที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้รับจากการบริจาค ไม่จะเป็นพวกเครื่องมือทำกินที่แสดงไว้ที่ใต้ถุนเรือน หรือข้าวของที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ โดยเฉพาะผ้ามัดหมี่ที่มีอายุถึง 200 ปี ซึ่งอยู่ในตู้จัดแสดงชั้นบนหรือกระบอกไม้ไผ่ที่ใช้ในการใส่เอกสารสำคัญ ทั้งสิ่งที่แสดงให้เห็นรูปแบบความเป็นอยู่ในอดีตของชุมชน ส่วนภูมิทัศน์รายล้อมอาคารได้รับการปรับสภาพให้เป็นบริเวณของการสาธิตชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นยุ้งข้าว ที่มีการประกอบพิธีการนำข้าวใหม่ขึ้นยุ้ง การแสดงเกษตรกรรมแบบวิถีชีวิตพอเพียง นอกจากนี้ ยังมีส่วนของการจัดแสดงโอ่งและไหในขนาดต่างๆ อาจารย์วิชัย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ ขยายความเกี่ยวกับการนำเสนอการจัดวางโอ่งไว้ในบริเวณโล่งแจ้งข้างอาคาร “ไหร้อยไม่ต่างอะไรกับชีวิตคน นั่นคือเกิดมาก็มีร่างกายที่เล็ก เมื่อเติบใหญ่ร่างกายก็ใหญ่ขึ้น แต่ถึงวันหนึ่งทุกคนก็ต้องตาย เป็นเหมือนกับการเตือนสติให้กับผู้มาเยือนด้วยการตั้งลำดับให้จากเล็กมาใหญ่ และกลับมาเล็กอีกครั้ง วันหนึ่งคนเราคงไม่ต่างจากลำดับของโอ่งและไหเหล่านี้ ที่วันหนึ่งก็ต้องกลับสู่สภาพที่ตนเองเคยเป็นมาเช่นกัน”

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556
 
 
ชื่อผู้แต่ง:
-