พาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ที่เมืองมันเทศ

สวัสดีค่ะ

        สำหรับมิตรรักแฟนคลับเก่าชาวก้าวไปด้วยกัน กบอ้วนจาก “เรื่องเล่าริมสนาม” กลับมาอีกครั้งแบบฤกษ์สะดวกนะคะ ส่วนท่านไหนที่คิดถึงบทความ (เก่า) หรือจุลสาร “ก้าวไปด้วยกัน” สามารถอ่านออนไลน์ได้ทุกฉบับที่ http://www.sac.or.th/databases/museumdatabase/ ค่ะ...

          กลับมาคราวนี้พาทุกท่านไปรู้จักกับ “ไต้หวัน” หรือ “ไถวาน” ตามชื่อท้องถิ่น หรือ “สาธารณรัฐจีน” ในภาษาทางการ ขอเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเกาะนี้หน่อยนะคะ ปัจจุบันไต้หวันยังไม่มีสถานะเป็นประเทศ ประเทศจีน (แผ่นใหญ่) เคยเปรียบไต้หวันเหมือนกับเด็กดื้อที่ไม่ยอมกลับบ้าน บางครั้งการที่เรารู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่บ้าง ก็ทำให้เราเข้าใจเรื่องราวเบื้องหลังเกี่ยวกับสถานที่ ผู้คน หรืออาคารบ้านเรือนที่เราพบเห็นได้ชัดเจนขึ้นนะคะ...

          เนื่องจากไต้หวันเป็นเกาะขนาดใหญ่ ทำให้มีหลายประเทศหมายปองอยากครอบครอง เดิมเกาะไต้หวันเป็นที่รู้จักในชื่อ “เกาะเฟอโมซา” (Formasa) เป็นชื่อที่ชาวโปรตุเกสเรียก แปลว่า “เกาะที่สวยงาม”จากนั้นในยุคสำรวจ ศตวรรษที่ 17 ชาวสเปนและชาวฮอลันดาเข้ามาสำรวจ ทำการค้า และตั้งถิ่นฐานในที่สุด หลักฐานสำคัญที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันคือ โบสถ์ ตึกรามบ้านช่องที่ก่อด้วยอิฐสีแดงสไตล์ตะวันตก และป้อมปราการ ที่เมืองตันสุย (Danshui)
 

   

โบสถ์ประจำเมืองตันสุย (Danshuei Church)  

 

 

อาคารเดิมของวิทยาลัย Oxford ที่ก่อตั้งโดยจอร์จ เลสลี่ แม็คเคย์ (George Leslie Mackay) ปัจจุบันเป็นอาคารหนึ่งภายในมหาวิทยาลัยเอกชน Aletheia 
 

 
  
 

ป้อมปราการซาน โดมินโก (Fort San Domingo)
 

 
          ต่อมาในปีพ.ศ. 2438 (ค.ศ. 1895)  ความบาดหมางระหว่างประเทศจีนกับประเทศญี่ปุ่น เป็นเหตุให้ญี่ปุ่นได้ครอบครองไต้หวันอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ญี่ปุ่นได้ทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมไว้ที่ไต้หวันหลายอย่าง เช่น ที่อาบน้ำแร่ขนาดใหญ่แห่งแรกของไต้หวัน ที่เมืองเป่ยโถว (Beitou) ปัจจุบันคือ Beitou Hot Spring Museumการเข้ามาของญี่ปุ่นทำให้ไต้หวันได้ซึมซับวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมากพอสมควร ทำให้คนไต้หวันมีลักษณะเฉพาะตัว เป็นที่กล่าวขวัญว่า “...เป็นคนจีนที่มีระเบียบและอ่อนน้อมเหมือนกับคนญี่ปุ่น...” หลังสงครามโลกครั้งที่สองไต้หวันกลับไปรวมกับประเทศจีนอีกครั้ง



 

พิพิธภัณฑ์น้ำพุร้อน (Beitou Hot Spring Museum)

 

           เดิมทีในเกาะไต้หวันก็มีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ และมีชาวจีนแผ่นใหญ่อพยพเข้ามาเป็นระยะๆ แต่ระลอกใหญ่สุดเกิดขึ้นในช่วงพ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) เมื่อพรรคก๊กมินตั๋ง พรรคการเมืองชาตินิยมของจีนเป็นฝ่ายแพ้ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้มีผู้คนอพยพหนีออกจาก (จีน) แผ่นดินใหญ่เข้ามาที่ไต้หวันครั้งใหญ่สุด คาดกันว่า มีชาวจีนที่เป็นทั้งผู้นำ นักคิด ปัญญาชน ช่างฝีมือ และชาวบ้านมากกว่า 1,500,000 คน อพยพเข้ามาพร้อมด้วยศิลปวัตถุล้ำค่าจำนวนมาก (เชื่อกันว่า วัตถุจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ กว่า 600,000 ชิ้น เป็นสมบัติที่ถูกนำเข้ามาจากการอพยพครั้งนั้น)
 



 

พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ (The National Palace Museum)

ภาพ: http://www.npm.gov.tw/en/

 
          การอพยพโดยการนำของนายพลเจียง ไคเช็ก ครั้งนั้น อาจเทียบได้กับการลี้ภัยทางการเมืองของผู้คนที่เชื่อในแนวคิดประชาธิปไตยแบบ ดร.ซุน ยัด เซ็น พร้อมกับความหวังว่า สักวันจะได้กลับสู่ประเทศแม่อีกครั้งด้วยการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ความเชื่อแบบนั้นไม่เกิดขึ้นในแผ่นดินใหญ่ แต่กลับงอกงามบนเกาะไต้หวันที่ปัจจุบันมีการปกครองแบบสาธารณรัฐจีน คือ "เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยของประชาชน ประชาชนปกครอง และเป็นไปเพื่อประชาชน"

          ไต้หวันเป็นเกาะขนาดใหญ่ รูปร่างคล้ายมันเทศ จึงมีชื่อเรียกกันเล่นๆ ว่า “เกาะมันเทศ” กบอ้วนลองเอาภาพถ่ายทางอากาศที่ถ่ายโดยองค์การนาซา แผนที่ที่ปรากฎบน Google Map และแผนที่เขตปกครองต่างๆ ของไต้หวันมาเทียบให้ชมกัน ลองดูค่ะว่า เหมือนกับมันเทศรึเปล่า? หรือว่า ท่านเห็นเป็นรูปอะไร???


                    ภาพ: NASA              
                                     
      

ภาพ: Google Map


 

  


ภาพ: http://www.1000milesjourney.com/

 

             จากการเดินทางทำให้รู้ว่า ไต้หวันให้ความสำคัญกับพิพิธภัณฑ์/ แหล่งเรียนรู้อย่างมาก ทุกเมืองที่ได้ไปพบพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้อย่างน้อย 1 แห่ง ที่บอกเล่าความเป็นมาของเมือง หรือเรื่องราวของชุมชนที่อยู่ตรงนั้น เช่น เมืองจินกั๋วสือ (Jinguashi) อดีตเป็นเหมืองทองคำขนาดใหญ่ มี Gold Ecological Parkที่บอกเล่าชีวิตของคนงานเหมือง ขณะที่เมืองตันสุยเมืองท่าสำคัญทางภาคเหนือกลับเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไต้หวันถึงการเข้ามาของชาติตะวันตก หรือ เมืองเป่ยโถว (Beitou) ที่เล่าความรุ่งเรืองในอดีตของเมืองได้เป็นอย่างดีผ่าน Beitou Hot Spring MuseumและKetagalan Culture Centerที่เล่าเรื่องราวของชนพื้นเมืองบนเกาะแห่งนี้


 

                               Gold Ecological Park                                     



Ketagalan Culture Center

 

                 ขณะที่เมืองหลวงของไต้หวัน อย่างไทเปมีพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดร.ซุน ยัด เซ็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน พิพิธภัณฑ์ศิลปะ หอศิลปะร่วมสมัย พิพิธภัณฑ์เค้กและขนมอบ ฯลฯ



 

National Taiwan Museum    


 

                         

Taipei Fine Arts Museum

 

 

 


Kuo Yuan Ye Museum of Cake and Pastry

 

 


อนุสรณ์สถานเจียง ไคเช็ก

 
            การแนะนำพิพิธภัณฑ์ที่ไต้หวันครั้งนี้ กบอ้วนขอเล่าประสบการณ์การเดินทาง (ส่วนตัว) นะคะ ว่า ไปที่ไหน? ไปเจออะไร? แล้วประทับใจตรงไหน? อาจจะไม่ครอบคลุมทั่วทั้งเกาะ (เพราะยังไปไม่ทั่วนะฮะ) แต่จะเล่าถึงที่ที่เคยไปชมมาค่ะ การเล่าก็ขอแบ่งเล่าเป็นตอนๆ ไป เพื่อง่ายต่อความเข้าใจและการเรียบเรียง ตอนนี้ขอเกริ่นให้ทุกท่านได้รู้จักกับเกาะที่มีรูปร่างคล้ายมันเทศก่อน ว่า มีประวัติศาสตร์อย่างไร? มีอะไรน่าสนใจบ้าง? ตอนหน้าสัญญาว่า จะพาเที่ยวพิพิธภัณฑ์แล้วค่ะ แล้วพบกันนะคะ....

อ้างอิง :

-

ชื่อผู้แต่ง : กบอ้วน(นามแฝง)