จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre

สัญญาไทย-ฝรั่งเศส ครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ

จารึก

สัญญาไทย-ฝรั่งเศส ครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566 19:42:50 )

ชื่อจารึก

สัญญาไทย-ฝรั่งเศส ครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ

อักษรที่มีในจารึก

ไทยอยุธยา

ศักราช

พุทธศักราช 2230

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวน 12 หน้า มี 249 บรรทัด

วัตถุจารึก

กระดาษแข็งสีขาว

ลักษณะวัตถุ

แผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

ใน ประชุมจดหมายเหตุอยุธยา ภาค 1 พ.ศ. 2510 กำหนดเป็น “สัญญาไทย-ฝรั่งเศส ครั้งสมเด็จพระนารายณ์”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2427

สถานที่พบ

หอสมุดทหารเรือ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ผู้พบ

พระยาประสิทธิ์ศัลการ

ปัจจุบันอยู่ที่

ต้นฉบับอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กระทรวงอาณานิคม ประเทศฝรั่งเศส ส่วนสำเนาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานทหารบก กรุงเทพมหานคร

พิมพ์เผยแพร่

1) Journal of the Siam Society XIV, 2 (1921) : (7)-(39).
2) ประชุมจดหมายเหตุสมัยอยุธยา ภาค 1 (พระนคร : มปท., 2510), 12-16.

ประวัติ

พระยาประสิทธิ์ศัลการ ขณะยังดำรงตำแหน่งเป็นนายร้อยโทสะอาด ผู้ช่วยราชการทหารราชทูตสยามในกรุงปารีส ได้คัดสำเนาหนังสือนี้จากหอสมุดของทหารเรือกรุงปารีสเมื่อ พ.ศ. 2427 โดยมีการตีพิมพ์ในวารสารสยามสมาคม เมื่อ พ.ศ. 2464 (Journal of the Siam Society XIV, 2 (1921)) ชื่อบทความ “Siamese documents of the Seventeenth Century” โดย ศาสตราจารย์ G. Cœdès ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเป็นผู้อำนวยการหอสมุดวชิรญาณต่อมามีการตีพิมพ์คำอ่านลงใน ประชุมจดหมายเหตุอยุธยา ภาค 1 ใน พ.ศ. 2510 สัญญาฉบับนี้ทำขึ้นที่เมืองลพบุรีเมื่อ วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2230 ระหว่าง ลาลูแบร์ (Monsieur Simon de La Loubère) อุปทูต และ เซเบอร์เรต (Monsieur Céberet) เจ้าหน้าที่ฝ่ายฝรั่งเศส กับผู้แทนฝ่ายสยาม 2 คน คือ ออกญาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีศรีศุปราชพิริยพาหุ และพระศรีพิพัฒน์ราชโกษา ต้นฉบับสัญญาทำเป็น 3 ภาษา ภาษาละ 3 ฉบับ ได้แก่ ภาษาไทย, ภาษาฝรั่งเศสและภาษาโปรตุเกส ตอนท้ายของสัญญาลงท้ายด้วยลายเซ็นของลาลูแบร์และเซเบอร์เรต ประทับตราตำแหน่งบนครั่งและมีตราของฝ่ายสยาม 3 ตรา ใช้หมึกสีแดง 2 ตราแรกได้แก่ ตราเทวดาถือจักร และตราบัวแก้ว ซึ่งเป็นตราของเสนาบดีกระทรวงคลัง และตราที่ 3 ซึ่งไม่ชัดเจนเป็นตราของพระศรีพิพัฒน์ราชโกษา ปัจจุบันต้นฉบับได้รับการเก็บรักษาอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กระทรวงอาณานิคม ประเทศฝรั่งเศส ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มีการกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศสเพื่อลดสภาวะการผูกขาดทางการค้ากับฮอลันดา คณะทูตฝรั่งเศสที่ทำสัญญาฉบับนี้ นำโดยลาลูแบร์ (Monsieur Simon de La Loubère) ซึ่งเป็นคณะที่ 2 ที่เดินทางเข้ามาในอยุธยา (คณะแรกนำโดย เชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ เข้ามาเมื่อ พ.ศ. 2228) สนธิสัญญาฉบับนี้ฝรั่งเศสได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงคลังสินค้า และไม่ต้องเสียภาษีสินค้าเข้า-ออก ที่สำคัญคือได้รับการผูกขาดการค้าดีบุกในไทย

เนื้อหาโดยสังเขป

หนังสือสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเรื่องการอนุญาตให้บริษัทฝรั่งเศสเข้ามาค้าขายในประเทศไทยโดยมีเงื่อนไขต่างๆ 12 ข้อ ได้แก่
(1) พระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชทานที่ดินแก่บริษัทฝรั่งเศสเพื่อสร้างตึกสำหรับการค้าขาย
(2) พระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงอนุญาตให้บริษัทฝรั่งเศสค้าขายในกรุงศรีอยุธยาโดยไม่คิดจังกอบและฤชา และสามารถซื้อสินค้าของชาติอื่นๆ ได้ตามต้องการ แต่ถ้าเป็นของที่ทางราชการไทยต้องการเช่นเดียวกันทางไทยก็จะแบ่งขายให้ในราคาทุนที่ซื้อมา หากบริษัทต้องการซื้อดีบุกนอกเมืองถลางบางคลี งาช้าง ช้าง ดินประสิวขาว ดีบุกดำ หมากกรอกและฝาง ทางพระคลังจะขายให้ในราคาที่ซื้อขายกับลูกค้ารายอื่นๆ โดยห้ามไม่ให้บริษัทฝรั่งเศสซื้อขายสินค้าดังกล่าวกับผู้อื่น ส่วนสินค้าต้องห้าม ได้แก่ ดินประสิวขาว-ดำ กำมะถัน ปืนและอาวุธ จะสามารถซื้อขายได้เมื่อพระนารายณ์มีพระราชประสงค์เท่านั้น นอกจากนี้ บริษัทฝรั่งเศสต้องยื่นบัญชีสินค้าให้ทางราชการดูก่อน หากทางการต้องการสินค้าใดย่อมมีสิทธิ์ซื้อก่อนผู้อื่น อีกประการหนึ่งคือ ห้ามฝรั่งเศสซื้อหนังจากกรุงศรีอยุธยาฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้จนถึงปากน้ำเจ้าพระยาเพราะพระราชทานสิทธิ์แก่บริษัทฮอลันดาแล้ว แต่หากจะซื้อจากที่อื่นโดยไม่ได้นำเข้ามาก็สามารถซื้อขายได้
(3) อย่าให้พนักงานเรียกเก็บจังกอบเมื่อบริษัทไปค้าขายต่างเมือง
(4) ถ้าบริษัทเช่าระวางของผู้อื่นไปค้าขาย ให้เงื่อนไขเป็นไปตามข้อสองและข้อสาม (5) หากคนฝรั่งเศสหรือคนในบังคับของบริษัทก่อเหตุฆ่ากันตาย ให้ใช้กฎหมายฝรั่งเศส โดยส่งตัวกลับไปลงโทษที่ฝรั่งเศส หากต้องอาญาหรือเป็นความแพ่งกับคนฝรั่งเศสและชาติอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในบังคับของบริษัท ให้ตุลาการของทางราชการไทยเป็นผู้พิจารณาคดีแต่ต้องมีนายบริษัทฝรั่งเศสอยู่ด้วย
(6) บริษัทฝรั่งเศสสามารถซื้อขายที่เมืองถลางบางคลีโดยไม่เสียจังกอบและฤชา และอนุญาตให้ซื้อดีบุกในเมืองนั้นได้เพียงผู้เดียว หากผู้ใดลักลอบซื้อ ให้ริบแล้วแบ่งเป็นสี่ส่วน โดยสองส่วนให้เป็นของหลวง ส่วนหนึ่งให้โจทย์ อีกส่วนหนึ่งให้บริษัทฝรั่งเศส สินค้าที่ฝรั่งเศสนำมาขายและดีบุกที่จะซื้อให้เจ้าเมืองและบริษัทตกลงกันอย่าให้ขึ้นลงราคาตามใจชอบ สำหรับอากรดีบุกที่เมืองถลางให้ทางคลังเรียกเก็บตามธรรมเนียม และห้ามราษฎรซื้อขายดีบุกตั้งแต่เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิ์ศก
(7) หากฝรั่งเศสต้องการสร้างตึกค้าขายที่หัวเมืองและเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาสามารถทำได้โดยมีเงื่อนไขเช่นเดียวกับข้อ 2-5 แต่ห้ามซื้อขายดีบุกที่เมืองนครเพราะเป็นสิทธิ์ของฮอลันดา
(8) หากเรือกำปั่นของบริษัทเสียในบริเวณที่ขึ้นแก่กรุงศรีอยุธยา ให้บริษัทเก็บสินค้าไว้อย่าให้เจ้าเมืองหรือผู้ใดนำไป
(9) ทางบริษัทฝรั่งเศสต้องสัญญาว่าจะไม่ให้ที่ดินซึ่งพระนารายณ์ฯ พระราชทาน เป็นที่อาศัยหรือช่วยเหลือศัตรูของกรุงศรีอยุธยา
(10) หากชาวฝรั่งเศสที่มีลูกเมียในกรุงศรีอยุธยาและเมืองขึ้น ต้องการออกไปจากกรุงศรีอยุธยาก็สามารถนำทั้งลูกเมียและทรัพย์สินทั้งปวงของตนไปด้วยได้
(11) ชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมากรุงศรีอยุธยาหรือเมืองขึ้นโดยเรือกำปั่นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ดี มากับกำปั่นของบริษัทก็ดี อย่าให้เจ้าพนักงานชักชวนให้ละไปจากเรือ หากมีการหลบหนี ให้เจ้าพนักงานนำตัวมาให้แก่นายกำปั่นให้ได้
(12) พระนารายณ์ ฯ ทรงเห็นชอบกับสัญญาเรื่องการค้าพริกไทยกับฝรั่งเศสที่ทำขึ้นใน พ.ศ. 2227 (ที่จริงคือพ.ศ. 2226) และมีพระราชโองการว่าพริกที่ถูกริบและไหมที่ได้มาจากผู้ลักลอบนั้นให้แบ่งเป็นสี่ส่วน 2 ส่วนให้เป็นของหลวง ส่วนหนึ่งให้แก่ผู้ส่อ อีกส่วนหนึ่งให้แก่บริษัทฝรั่งเศส โดยขณะที่ทำการแบ่งให้ทุกฝ่ายอยู่ด้วยกัน แต่ละฝ่ายมีกุญแจของตน เพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาท
ตอนท้ายกล่าวถึงการเขียนเป็นภาษาไทย 3 ฉบับ ภาษาฝรั่งเศส 3 ฉบับ ภาษาโปรตุเกส 3 ฉบับ ระบุสถานที่เขียนคือ เมืองลพบุรี ในวันพฤหัสบดี เดือนอ้ายขึ้นแปดค่ำ พ.ศ. 2231 ปีเถาะนพศก

ผู้สร้าง

ออกญาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีศรีศุปราชพิริยพาหุ, พระศรีพิพัฒน์ราชโกษา, Monsieur Simon de La Loubère และ Monsieur Ceberet

การกำหนดอายุ

กำหนดจากศักราชที่ปรากฏในเอกสาร คือ พุทธศักราช 2231 ปีเถาะ นพศก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคือ พ.ศ. 2230 เพราะเป็นการใช้เกณฑ์การนับจุลศักราชโดยบวกด้วย 1182 เหมือนลังกาและพม่า ซึ่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ปัจจุบันจะเกินไป 1 ปี เนื่องจากหลักฐานใน หนังสือออกพระวิสุทธสุนธรถึงเมอร์สิเออร์ มาร์กีส์ เดอ เซนเญอเลและเมอร์สิเออร์ เดอ ลายีซึ่งระบุ พ.ศ. 2231 แต่ในความเป็นจริงแล้วปีที่โกษาปานเดินทางกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาคือ ค.ศ. 1687 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2230

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) G. Cœdès, Siamese document of the Seventeenth Century, Journal of the Siam Society XIV, 2 (1921), (7)-(39).
2) ขจร สุขพานิช, “เอกสารในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์,” ใน อยุธยาคดี, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2545), 172-211.
3) คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, “สัญญาไทย-ฝรั่งเศส ครั้งสมเด็จพระนารายณ์แลหนังสือออกพระวิสูตรสุนทร,” ใน ประชุมจดหมายเหตุ สมัยอยุธยา ภาค 1 (พระนคร : มปท., 2510), 12-16.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาบันทึกจาก : อยุธยาคดี (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2545)