รายชื่อพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง

“ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย” หรือ “อ๊ามจุ้ยตุ่ย” หรือ “จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง” เป็นศาลเจ้าจีนในจังหวัดภูเก็ต มีประวัติการก่อตั้งที่ผูกพันอยู่กับประเพณีหรือเทศกาลกินผักของชาวภูเก็ต สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 ตั้งอยู่ที่ ซอยภูธร ถนนระนอง ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดย “จุ้ย” แปลว่า น้ำ “ตุ่ย” แปลว่า ครกตำข้าว เนื่องจากในอดีตบริเวณหน้าศาลเจ้าเป็นคลองกว้าง มีน้ำมาก ชาวบ้านจึงสร้างกังหันขึ้นต่อกับครกตำข้าว เพื่อใช้กำลังจากน้ำมาตำข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้ว (ดูข้อมูลประวัติชุมชนและประวัติศาลเจ้าเพิ่มเติม ที่ https://communityarchive.sac.or.th/community/SanChaoChuituitaobokeng) “พิพิธภัณฑ์ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2563 เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของคณะกรรมการศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และชาวชุมชน โดยคณะกรรมการและชุมชนประสงค์จะพัฒนาพื้นที่บางส่วนของศาลเจ้า จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ บันทึกและบอกเล่าประวัติศาสตร์รวมทั้งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน โดยเฉพาะเทศกาลที่มีชื่อเสียงอันโด่งดังของชาวภูเก็ต คือ “ประเพณีกินผัก” โดยได้รวบรวมเรียบเรียงข้อมูลของชุมชน ของศาลเจ้า รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ของศาลเจ้าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แล้วนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ โดยการจัดแสดงแบ่งออกเป็น 4 ห้อง ได้แก่ ห้องที่ 1 “ร่องรอยจุ้ยตุ่ย” นำเสนอที่มาของประเพณีกินผักและศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย รวมทั้งจัดแสดงเรื่องเล่าและภาพถ่ายเกี่ยวกับความเป็นมาและพัฒนาการของศาลเจ้าทั้ง 3 ยุค คือ ยุคศาลเจ้าหลังคามุงจาก (ก่อนพ.ศ. 2454 - 2497) ยุคศาลเจ้าหลังคาสังกะสี (พ.ศ. 2503-2524) ยุคศาลเจ้าหินอ่อน (พ.ศ. 2525-ปัจจุบัน) ห้องที่ 2 “แก่นแท้ กินผัก กิ๊วอ๋อง” นำเสนอถึงแก่นแท้ของการกินผัก ความเชื่อมโยงของการถือศีล กินผัก และการบูชาเทพเจ้า คือ “กิ๊วอ๋องไต่เต่” และ “เต้าโบ้เทียนจุน” โดยใช้ตะเกียงน้ำมัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของดาวปักเป้า เป็นเครื่องสืบชะตาที่มีอิทธิพลต่อชะตาชีวิตและการต่ออายุขัยของคนจีน จึงมีการจัดแสดงตะเกียงน้ำมันที่ใช้ในการพิธีกรรมและความหมายที่แฝงอยู่ ห้องที่ 3 “ศาลเจ้า ศูนย์รวม ศรัทธาศักดิ์สิทธิ์” นำเสนอบทบาทของศาลเจ้าที่เป็นเสมือนศูนย์รวมของความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ ของทุกอาชีพและทุกชนชั้น ห้องที่ 4 “เจียะฉ่ายแค่จุ้ยตุ่ย” นำเสนอกิจกรรมหรือพิธีกรรมในช่วงกินผัก การจัดแสดงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นจุดเด่นด้านวัตถุที่จัดแสดงล้วนเป็นของเก่าแก่ ผ่านการใช้งานจริงในศาลเจ้าและประเพณีการกินผักที่สะท้อนคุณค่า ความเชื่อ และความศรัทธาที่ชุมชนมีต่อเทพเจ้าที่พวกเขานับถือ

จ. ภูเก็ต

เฮือนเอื้อยคำ

เฮื้อยเอื้อยคำ เป็นเรือนไม้แบบไทลื้อ เจ้าของคือคุณธนนิตย์ และสหัสชายา นุชเทียน แต่เดิมบ้านหลังนี้ได้เปิดบ้านด้านล่างเป็นร้านค้าของชำแห่งหนึ่งในชุมชน ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2554 มีการขยายถนนเป็นสี่ช่องจราจร เจ้าของได้รื้อเพิงร้านค้าด้านหน้าออก ประกอบกับค้าขายไม่สู้จะดีนัก เพราะมีตลาดนัดเข้ามาในชุมชน และมีห้างด้งยักษ์ใหญ่มาตั้งที่เชียงของ จึงหยุดขายของชำ เปลี่ยนไปค้าขายผ้าทอของชุมชนแทน และได้เปิดบ้านด้านล่างโล่งจนเห็นตัวบ้านชัดเจน โดยเฉพาะเสาไม้ทรงกลมจำนวนมาก ที่หาชมยาก เป็นที่สะดุดตาของผู้คนต่างถิ่นและนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปผ่านมา แวะมาชมกันเรื่อยๆ บางคนเรียกบ้านร้อยปี จึงเป็นที่มาของ "เฮือนไทลื้อ 100 ปี" นอกจากการแสดงของความเป็นสถาปัตยกรรมเฮือนไตแล้ว ภายในบ้านมีการจัดแสดงผ้า สิ่งทอ ผ้าเก่า ผ้าโบราณ อุปกรณ์เก่าที่ใช้ในการทอผ้า เครื่องเรือนใช้สอยในวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ และมีผ้าทอจำหน่ายเป็นสินค้า ของฝาก ของที่ระลึกจากชุมชน

จ. เชียงราย