พิพิธภัณฑ์ผ้าไท-ลาวโบราณ (ลาวครั่ง)


ที่อยู่:
บ้านเลขที่ 10/1 หมู่ 3 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
โทรศัพท์:
0898391446
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ของเด่น:
ผ้าทอลาวครั่ง
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ผ้าไท-ลาวโบราณ (ลาวครั่ง)...

โดย:

วันที่: 06 ตุลาคม 2563

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ผ้าไท-ลาวโบราณ (ลาวครั่ง)

อายุปีนี้ 72 ปีแล้ว ป้าทอผ้า ตั้งแต่อายุสิบกว่า แต่ทอเป็นผ้าธรรมดา เพราะว่าป้าเป็นเด็กยากจน ต้องทำให้ป้าใช้ น้องใช้ แต่ก่อน วัน ๆ ต้องปั่นฝ้ายเอง อิ่วเอง ดีดเอง แม่ก็ต้องทำไร่สมัยโบราณ ป้าต้องอยู่กับน้อง ...เขาบอกว่าป้าเป็นลาวครั่ง ป้าคิดว่าป้า แล้วแต่ฉายาให้ มองตัวเองเป็นลาวครั่ง ว่าจะใช่หรือ โดยดูจากลายผ้า ดูจากตระกูลย่ายาย ป้าจำปีเป็นรุ่นที่สาม รุ่นที่หนึ่งยายเกี้ยง รุ่นที่สองย่าป็อกผู้ฝึกสอนป้าจำปี แล้วรุ่นที่สาม ป้าจำปี แล้วรุ่นที่สี่ป้ากำลังถ่ายทอดตรงนี้

จำปี ธรรมศิริ ในวัย 70 ปี บอกเล่าถึงประวัติส่วนตัว คุณยายถ่ายทอดประสบการณ์เมื่อเยาว์วัย ในการเริ่มต้นเรียนรู้การทอผ้าแบบดั้งเดิมของชาวลาวครั่ง ในช่วงราว พ.ศ. 2509-2514 เป็นช่วงเวลาที่ป้าจำปีต้องอาศัยอยู่กับ “ย่าป็อก” ผู้ถ่ายทอดวิชาการทอผ้าให้ โดยทำงานบ้านและทำอาหารให้กับครอบครัวของย่าป็อกเป็นการตอบแทน

เรื่องราวของการเริ่มต้นเรียนรู้การทำผ้ามีความสัมพันธ์กับที่มาของสิ่งจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าไท-ลาวโบราณ ป้าจำปีกล่าวถึง “มรดก” ที่ได้รับมาจากย่าป็อก แซงผ้า หรือเศษผ้าที่มีการปักลายต้นแบบ “มีคนมาขอซื้อลายแซงเหมือนกัน แต่ขายไม่ได้ เพราะเป็นสมบัติของย่ายาย ...ป้าก็ชอบด้วย เป็นการเรียนกุญแจลาย นั่นหมายถึงการทำลวดลายโดยไม่ต้องใช้ตะกรอลอย แต่เป็นลายที่ผนึกเข้าสมอง ทำเป็นร้อย ๆ ลาย แต่สลับเปลี่ยนสี” ป้าจำปีกล่าวถึงชิ้นผ้าที่เป็นเสมือนบันทึกลวดลายต่าง ๆ ให้กับป้าใช้ในการทอผ้าได้หลากหลาย สำหรับไว้ทำมาหากินตลอดหลายสิบปี

แรกก่อตั้งพิพิธภัณฑ์

บุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการผลักดันให้เกิดพิพิธภัณฑ์ผ้าไท-ลาวโบราณแห่งนี้ เป็นนักวิชาการจากภายนอกที่เข้ามาศึกษาวัฒนธรรมในชุมชน และมีโอกาสเห็นมรดกแซงผ้าและผลงานผ้าทอของป้าจำปี จนสามารถก่อตั้งเป็น เรือนผ้าย่ายาย เมื่อ พ.ศ. 2536 อาจารย์สิทธิชัย สมานชัย เป็นบุคคลที่ป้าจำปีกล่าวถึง “อาจารย์เข้ามาดูผ้าเหล่านี้ที่เคยเก็บไว้เฉย ๆ เมื่อนำมาคลี่ดู เห็นมีขี้มอดขึ้นอยู่ตามชิ้นผ้า อาจารย์จึงให้ความเห็นว่าควรจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้คนดูเห็นถึงงานฝีมือสำคัญในพื้นที่”

ในระยะนั้น ใช้เรือนใต้ถุนสูงที่เป็นบ้านพักของตนเองเป็นส่วนจัดแสดง และใช้ต้อนรับนักศึกษาและผู้ที่สนใจวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่เมื่อ พ.ศ. 2548 สามีของป้าจำปีเสียชีวิต ป้าจำปีจึงตัดสินใจปิดเรือนผ้าย่ายายไประยะหนึ่ง และย้ายไปพักกับลูกที่จังหวัดกระบี่เป็นการชั่วคราว การกลับมาเปิดพิพิธภัณฑ์เนื่องจากได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับรางวัลอาเซียน พ.ศ. 2558 ในเวลานั้นอาจารย์ธีรพันธุ์ เหลืองทองคำ ทำวิจัยผ้าทอลายมือทั่วประเทศ และบันทึกภาพผ้าทอ ในการจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนฯ นับเป็นโอกาสในการย้ายผ้าจากเรือนใต้ถุน มายังอาคารหลังใหม่ที่เป็นอาคารชั้นเดียว โดยเป็นทั้งโรงทอผ้าและสถานที่ในการจัดแสดงแซงผ้าและผลงานผ้าทอ หรือ พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณไท-ลาว

ภายในโรงทอผ้าและพิพิธภัณฑ์

อาคารพิพิธภัณฑ์หลังปัจจุบันมีการแบ่งพื้นที่ใช้งานที่หลากหลาย ส่วนหน้าสุดเป็นตำแหน่งกี่ทอผ้าที่ป้าจำปีและลูกสะใภ้ใช้ทอผ้า ภายในบริเวณนี้ ปรากฏการตกแต่งผนังด้วยแซงผ้าและอุปกรณ์ในการทอผ้า ส่วนที่สองเป็นบริเวณกี่ทอผ้าสำหรับเด็กและเยาวชนจากสถานศึกษาในพื้นที่มาเรียนรู้การทอผ้า ในส่วนสุดท้ายเป็นบริเวณจัดแสดงผลงานผ้าทอของผ้าจำปี แซงผ้า รวมถึงเกียรติบัตรและชุดปริญญากิตติมศักดิ์  ป้าจำปีกล่าวถึงกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กรุ่นใหม่

ให้เด็กมาทออย่างเดียว มาจากโรงเรียนหน้าฝายฯ โรงเรียนส่งเด็กมาเรียนกับเรา ...อย่างลายอ้อแอ้ นั่นหมายถึงเส้นทางสมัยโบราณ ลายคดเคี้ยว เราก็สอนให้เด็กจำเหมือนกุญแจลาย อันนี้เราไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย เราสอนให้กับคนนอกที่สนใจเรียนเช่นกัน คนยินดีจะจ่ายเงิน เราสอนให้รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีทั้ง “ข่ม ฆ่า แพ้” ข่มไว้เฉพาะจุด ไม่ให้เสียหายไปทางอื่น  แล้วก็มีสมาธิอย่างมีสติ แยกหู แยกตา แยกใจ เหมือนงานฝังลูกนิมิต ยิ่งทำผิดเราจะแก้ปัญหาอย่างไร

ฝีมือผ้าทอของป้าจำปีจึงได้รับการกล่าวขาน และเหมาะสมการยกย่องให้เป็นครูศิลป์ของแผ่นดินประเภทเครื่องทอ (ผ้าทอลาวครั่ง) พ.ศ. 2560 ประกาศโดยศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชน) ผ้าทอสำเร็จที่อวดลวดลายอยู่กลางห้องสุดท้าย ยิ่งทำให้เห็นถึงความอุตสาหะและความแม่นยำในการทักถอด้ายแต่ละเส้นให้เป็นลวดลายและเป็นผืน หนึ่งในจำนวนนั้น ป้าจำปีถักทอบทกลอนของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ที่เคยเขียนบอกเล่าชีวิตและวิญญาณของศิลปินผืนบ้านผู้นี้ไว้เป็นอย่างดี

ผ้าทออีกส่วนหนึ่งเป็นบทบันทึกประสบการณ์ส่วนตัว ป้าจำปีชี้ให้เห็นผ้าทอที่จัดแสดงบนผนัง ชี้ชวนให้เห็นภาพวิวทะเลที่ตนเองเคยมีโอกาสไปใช้ชีวิตสั้น ๆ กับลูกหลานในจังหวัดกระบี่ ในระยะที่สามีเสียชีวิต “นี่เป็นเขาขนาบน้ำ จังหวัดกระบี่ ทะเลเป็นคลื่นเล็ก ส่วนนี่เป็นเกาะบอดะ ทะเลเป็นคลื่นใหญ่ คลื่นเล็กเราใช้ลายอ้อแอ้เล็ก เราต้องทำให้สมองของเราทำงานก่อนแล้วจึงถักทอมาเป็นเรื่องราว อย่างป่าโกงกางตรงนี้ใช้ลายง้างมูก ตอนนั้นเราอยู่ที่เขาขนาบน้ำเห็นภูเขาใหญ่ขนาบทะเล เราก็ถ่ายทอดออกมา” ป้าจำปีอธิบายการสร้างสรรค์ลายบนผืนผ้าทออย่างคล่องแคล้ว โดยชี้ให้เห็นว่าการทอผ้าเป็นเสมือนการบันทึกเรื่องราวชีวิตของตนเองลงบนผืนผ้า แทนการวาดภาพหรือถ่ายภาพ

ปัจจุบันนี้ ป้าจำปีได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาพนอกหลายหน่วยงาน ในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ผ้าของป้าจำเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะการกำหนดให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ อยู่ในเส้นทางการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนหัตถกรรมทอผ้าลาวครั่งบ้านนาตาโพ ผู้มาเยือนจึงมาเรียนรู้ชีวิตของช่างทอผ้า และชมความงดงามของฝีมือที่ใช้ทั้งแรงใจและแรงใจบรรจงสร้างเป็นลวดลายอย่างงดงาม.

ชื่อผู้แต่ง:
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ