พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี


ที่อยู่:
ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอุทัยธานี ถ.ศรีอุทัย อ.เมือง จ.อุทัยธานี 61000
โทรศัพท์:
0-5651-1511, 0-5651-1153
วันและเวลาทำการ:
เปิดจันทร์-ศุกร์ 09.00-16.30 น. วันหยุดกรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2525
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

แหล่งเรียนรู้ เพื่อการรู้จักตนเอง

ชื่อผู้แต่ง: เพ็ญศิริ น้อยเกริกกิจ | ปีที่พิมพ์: 12/4/2547

ที่มา: เดลินิวส์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จ.อุทัยธานี ตั้งอยู่ริมถนนศรีอุทัย ภายในรั้วเดียวกับการศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดอุทัยธานี และห้องสมุดประชาชน จึงนับว่าเป็นศูนย์รวมแหล่งเรียนรู้ที่อยู่ในบริเวณเดียวกันถึง 3แห่ง ส่วนที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์นั้นเป็นอาคาร 3 หลังด้วยกัน แต่มีผู้ดูแลรับผิดชอบคนเดียวคือ อ.ชาตรี เทศนา ผู้รับหน้าที่ตั้งแต่การดูแล เปิด-ปิด อาคาร วิทยากร ตกแต่งฝ่ายศิลป์ เผยแพร่ความรู้  อาจารย์ดูแลพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ.2525 จนถึงปัจจุบัน
 
อาคารหลังแรกเป็นอาคารไม้สองชั้นที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 80 - 100 ปี เดิมเป็นอาคารเรียนของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ โรงเรียนสตรีแห่งแรกของ จ.อุทัยธานี ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5  แต่ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้ได้ย้ายไปแล้ว ห้องจัดแสดงห้องแรกในอาคารไม้จึงเป็นห้องเกี่ยวกับประวัติของโรงเรียนเบญจมราชูทิศและเป็นหลักฐานว่าครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าหลวงพระปิยมหาราชเคยเสด็จมาที่ จ.อุทัยธานี และโปรดให้สร้างโรงเรียนขึ้น อีกฟากของห้องจัดแสดงเป็นเรื่องราวของหลวงวิจิตรวาทการบุคคลสำคัญและนักประพันธ์เอกของไทย ซึ่งท่านเกิดและเติบโตที่ริมแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานีนี่เอง นอกจากนี้ยังมีตู้หนังสือที่รวบรวมบทประพันธ์ของท่านไว้ทั้งหมดด้วย 
 
ห้องที่สองเป็นห้องผืนป่าห้วยขาแข้ง จัดแสดงเรื่องราวของผืนป่าและความเสียสละชีพของคุณสืบ นาคะเสถียร ที่เสียสละชีวิตตัวเองด้วยการปลิดชีพเพื่อให้คนหันมารักษาผืนป่าห้วยขาแข้ง จนในที่สุดก็ทำให้ผืนป่าห้วยขาแข้งกลายเป็นมรดกโลก และคนทั่วประเทศไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าของผืนป่ามากขึ้น อ.ชาตรี เทศนา เล่าว่าสมัยก่อนห้องนี้มีสิ่งของจัดแสดงและลูกเล่นมากกว่านี้ ทั้งเสียงนกร้องและต้นไม้จำลองเหมือนป่า แต่เมื่อเริ่มทรุดโทรมจึงได้เลือกเหลือแต่เรื่องหลักๆ เพื่อให้ความรู้เท่านั้น เช่นชนิดและพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในห้วยขาแข้ง หรือเรื่องการศึกษาเนื้อไม้ก็จะมีท่อนไม้กลมๆ ยาวๆ วางเรียงกันเป็นไม้หลายชนิดที่ต้องการให้เด็กๆ หรือผู้หาความรู้ได้รู้จักกับเนื้อไม้ชนิดต่างๆ 
 
ถัดมาในชั้นดียวกัน เป็นห้องที่จำลองอาชีพและวิถีชีวิตของชาวอุทัยธานี เป็นแบบจำลองในตู้กระจก ส่วนหนึ่งก็คือชีวิตเรือนแพ เลี้ยงปลาแรดในประชัง ตู้จำลองอีกตู้คือไร่นาสวนผสมตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังมีเครื่องจักสาน และเครื่องมือการเกษตร ผ้าทอ เป็นตัวแทนอาชีพพื้นบ้านต่างๆ ของชาวอุทัยธานี
 
เมื่อขึ้นไปที่ชั้นสอง ห้องแรกคือห้องวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี ผู้เข้าชมจะได้เปรียบเทียบว่าสมัยก่อน คนใช้พิมพ์ดีด สมัยนี้ มีคอมพิวเตอร์ซึ่งสะดวกสบายกว่าวิวัฒนาการของเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ จะเป็นอย่างไร ไฮไลท์ของห้องนี้จะอยู่ที่เครื่องพิมพ์ดีดรุ่นแรกของไทย ยี่ห้อสมิธ พรีเมียร์ ซึ่งผลิตในต่างประเทศและส่งเข้ามา มีแป้นพิมพ์เยอะกว่าในปัจจุบันเพราะมีแป้นของสระแยกต่างหาก อีกเครื่องที่อาจารย์แนะนำก็คือ โทรพิมพ์หรือเครื่องส่งแฟกซ์ไปยังต่างประเทศรุ่นแรก ซึ่งสมัยก่อนถือว่าทันสมัยมากแต่ทุกวันนี้ทุกคนไม่รู้จักหน้าตาและวิธีใช้กันแล้ว นอกจากนี้ก็มีอุปกรณ์เครื่องใช้โบราณหลายอย่างที่ อ.ชาตรีจัดหาจากบ้านญาติพี่น้องตนเองมาจัดแสดงไว้
 
สิ่งที่น่าสนใจคือการจัดการดูแลอาคารของ อ.ชาตรี เพราะนอกจากจะต้องดูแลเรื่องไฟฟ้า แล้ว เรื่องนกพิราบที่เข้ามาอาศัยในอาคารก็สำคัญเพราะจะสร้างความสกปรกและเสียหายให้อาคาร ตอนแรกอาจารย์คิดเครื่องสำหรับขูดมูลนกพิราบออกจากระเบียงและราวระเบียงที่นกชอบมาเกาะ แต่ต่อมาก็พบว่าไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดี จึงใช้ภูมิปัญญาส่วนตัวคิดระบบการใช้เอ็นมาขึงที่ราวระเบียงแทนไม่ให้นกมาเกาะ ซึ่งได้ผลสำเร็จดีมาก
 
ห้องที่เป็นไฮไลท์ของชั้น 2 ก็คือห้องก่อนประวัติศาสตร์ เพราะ จ.อุทัยธานีเป็นเมืองที่พบหลักฐานการอาศัยอยู่ของมนุษย์มาตั้งแต่ 3,000 ปีที่แล้วหลายแห่ง จึงมีแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เช่น เขาปลาร้า ที่มีภาพเขียนสีรูปคนจูงวัวสีแดงที่เพิงผาถ้ำ และแหล่ง โบราณคดีบ้านหลุมเข้า ที่ขุดพบเมื่อปีพ.ศ.2526 หลังก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เพียงปีเดียว  เนื่องจากเป็นแหล่งขุดค้นที่ใหญ่มาก ทางพิพิธภัณฑ์จึงขอโครงกระดูกและเครื่องปั้นดินเผาของจริงมาจัดแสดงให้ชมด้วย ห้องถัดมาก็เป็นยุคต่อเนื่องคือยุคทวารวดี ราว 1,800 ปีมาแล้วเริ่มมีศาสนาและตัวอักษรเข้ามาในประเทศไทย ห้องนี้มีแท่นจารึกอักษรปัลวะ ของจริงจัดแสดงอยู่ ใครอยากรู้ว่าอักษรปัลวะเป็นอย่างไรต้องไปชมด้วยตนเอง เช่น บางแท่นมีคำแปลว่า “บุญย่อมส่งเสริมนักพรต” และมีจารึกอักษรมอญโบราณ ใบเสมาหินสลัก จากห้องก่อนประวัติศาสตร์มาที่ห้องทวาราวดี และส่วนจัดแสดงพระพุทธรูปสมัยอยุธยาประกอบกับโบราณวัตถุที่มีความสืบเนื่อง ทำให้เราทราบความเป็นมาของเมืองอุทัยธานีเป็นอย่างดี
 
ห้องต่อมาเป็นห้องเกี่ยวกับพระชื่อดังของจังหวัดอุทัยธานี เดินย้อนกลับมาที่ห้องทวาราวดี อีกฟากได้กั้นเป็นสองฝั่ง จัดห้องจำลองวิถีชีวิตสมัยพระพุทธเจ้าหลวงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดมุมไว้น่าเข้าไปนั่งถ่ายรูปย้อนยุค และมีรูปถ่ายเก่าของเสนาบดีเมืองอุทัยธานีในยุคเดียวกัน ถัดไปมีชุดครุยทนายความของนายพร มากวงศ์ ซึ่งท่านเป็นทนายความคนแรกของ จ.อุทัยธานีและชุดเจ้าเมืองอุทัยธานีสมัยรัชกาลที่ 5 ของจริงของพระยาพิไชยสุนทร (ม.ล.อั้น เสนีย์วงศ์)จัดแสดงอยู่ด้วย 
 
ภายในบริเวณเดียวกันมีกี่ทอผ้าด้ายยืนสีแดง ซึ่งเป็นการจำลองวิถีชีวิตการทอผ้าของชาวลาวครั่งชนชาติที่อาศัยอยู่มากใน จ.อุทัยธานี มีทั้งลวดลายผ้า และเครื่องมือการทอผ้าอย่างครบครัน ส่วนสุดท้ายของอาคารแรกคือห้องแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ให้ข้อมูลว่าเมื่อมาเมืองอุทัยธานีแล้วไม่ควรพลาดไปทีไหนบ้างยกตัวอย่างเช่น วัดท่าซุง เขาปลาร้า ฯลฯ
 
อาคารที่สองคือบ้านขุนกอบกัยกิจ บ้านหลังนี้เดิมเป็นของขุนกอบกัยกิจ คหบดีสมัยรัชกาลที่ 5 -6 สร้างอยู่ในตลาด แต่ว่าที่เดิมคับแคบกรมศิลปากรจึงรื้อและเอามาฝากไว้ที่ กศน. อาจารย์จึงหางบประมาณมาประกอบสร้างใหม่ เดิมเป็นไม้ทั้งหลังแต่เก่าแก่ผุพังจึงสร้างเลียนแบบแต่ทำเป็นบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ประยุกต์ตามของที่เหลืออยู่ เช่นประตูบ้านก็ยังคงเป็นประตูกลอนสลักอยู่ ด้านบนมีตราสัญลักษณ์ปูนเขียนลายจีนสวยงามสองอันติดหน้าอาคารสร้างความเป็นสิริมงคล แต่น่าเสียดายทางกรมศิลปากรนำผ้ามาหุ้มไว้ตอนเคลื่อนย้ายครั้งแรกและไม่ได้เอาออก เมื่อนำมาปรับปรุงบ้านใหม่ใส่เข้าไปแล้ว ไม่สามารถแกะผ้าออกได้เพราะทำให้ลายเขียนจีนที่ติดอยู่หลุดลอกออกมาด้วย 
ภายในอาคารหลังที่สอง อ. ชาตรี พยายามหารูปเก่าของเมืองอุทัยธานีมาประดับ และชั้นล่างตกแต่งเหมือนร้านกาแฟเพราะมีแผนว่าอาจจะเปิดเป็นมุมกาแฟในอนาคต ที่น่าสนใจอีกอย่างของอาคารนี้คือหนังสือเก่าของร้านเช่าหนังสือร้านแรกใน จ. อุทัยธานีเก็บไว้เป็นชุดๆ ด้วย
 
อาคารหลังที่สามอยู่ติดกับอาคารหลังที่สอง เป็นปูนทั้งหลัง สร้างเป็นหอเชิดชูเกียรติบุคคลสำคัญและจดหมายเหตุ จ.อุทัยธานี อาคารหลังนี้จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวของบุคคลสำคัญ ท่านแรกคือพระปฐมบรมชนกนาถ (ทองดี) แห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ หรือพูดง่ายๆ ก็คือพระบิดาของรัชกาลที่ 1 ซึ่งท่านมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.อุทัยธานี เมืองนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “เมืองพระชนกจักรี” และเป็นตราสัญลักณ์ของเมืองอุทัยธานีด้วย นอกจากนี้ยังมีภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ท่านเสด็จมาเมืองอุทัยธานี 4 ครั้ง และครั้งหนึ่งเคยมีหนังสือลงพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์พร้อมกันถึง 4 พระองค์ และมีรูปวาดของน้องชายอาจารย์ชื่อคุณสาธิต เทศนาที่วาดถึงพระกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจัดแสดงอยู่ด้วย
 
ชั้นสองห้องแรกเป็นห้องจดหมายเหตุ อาจารย์รวบรวมเอกสารเก่าที่เกี่ยวข้องกับเมืองอุทัยธานี และเป็นแหล่งค้นคว้าความรู้ของเด็กๆ ที่จะมีโอกาสได้เห็นเอกสารเก่า ที่ อ.ชาตรีทำสำเนาไว้ให้ทุกคนได้อ่านด้วย รอบๆ ห้องนี้มีภาพถ่ายครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นที่เมืองอุทัยธานี และถ่ายภาพด้วยฝีพระหัตถ์ไว้ด้วย
 
ห้องสุดท้ายเป็นห้องบุคคลสำคัญที่เกิดใน จ.อุทัยธานี  ที่รู้จักเช่น หลวงวิจิตรวาทการ คุณสืบ นาคะเสถียรแม้ไม่ได้เกิดที่ จ.อุทัยธานีแต่ก็ทำประโยชน์ให้จังหวัดอัทัยธานี นายพร มาก-วงศ์ ทนายความคนแรกของ จ. อุทัยธานี และเป็นผู้มอบที่ดินที่สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังที่ 2- 3 ให้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของข้าหลวง เสนาบดีอีกหลายท่าน 
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีรายละเอียดต่างๆ ที่เล่าไม่หมด ใครสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษต้องเข้าไปดูด้วยตัวเอง หรือก่อนเที่ยวเมืองอุทัยธานีสามารถมาหาความรู้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จ.อุทัยธานี ได้ตามวันและเวลาราชการ รับรองว่าจะรู้เรื่องเมืองอุทัยธานีอย่างรอบด้านจริงๆ 
 
สำรวจวันที่ 1 สิงหาคม 2552
ชื่อผู้แต่ง:
-