พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดหนองขุนชาติ


ที่อยู่:
วัดหนองขุนชาติ เลขที่ 114 บ้านหนองขุนชาติ หมู่ที่ 2 ต. หนองสรวง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี 61110
โทรศัพท์:
056-531255
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 9.00-16.00น. ยกเว้นวันจันทร์ -อังคาร
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2549
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดหนองขุนชาติ

พิพิธภัณฑ์มีจุดกำเนิดจากความตั้งใจดีของคณะอาจารย์อาวุโสหลายท่าน ในอ.หนองฉางและท่านเจ้าอาวาสวัดหนองขุนชาติ พระอุทัยธรรมานุวัฒน์ ได้เกิดความคิดร่วมกันว่าในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 60 ปีทางวัดและชุมชนน่าจะทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและรวบรวมประวัติศาสตร์ของอำเภอหนองฉาง ที่มีมายาวนานให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อได้ความคิดนี้แล้วหลายฝ่ายจึงช่วยกัน จนเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในที่สุด  เริ่มแรกนั้นทางวัดและคณะอาจารย์ได้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ ทั้งทางวิทยุชุมชน หอกระจายเสียง และบอกแก่ผู้ที่มาทำบุญที่วัดหนองขุนชาติ ให้นำสิ่งของมาบริจาคเพื่อทำพิพิธภัณฑ์ ไม่นานก็มีผู้สนใจเข้าร่วมบริจาคของ จากชิ้นที่ 1 เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันมีถึง 3,000 ชิ้น ทางคณะอาจารย์ได้ทำทะเบียนและจดชื่อผู้บริจาค วันเดือนปี เป็นหลักฐานทั้งหมด และวัดหนองขุนชาติได้มอบสถานที่ชั้นสองของศาลาการเปรียญซึ่งไม่ได้ใช้งานให้ ทั้งสิ่งของจัดแสดงและสถานที่จึงพร้อมสรรพสำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
 
เนื่องจากคณะผู้ก่อตั้งเป็นคณะอาจารย์ ซึ่งบางท่านก็เป็นระดับผู้อำนวยการโรงเรียน เคยเห็นพิพิธภัณฑ์มาแล้วหลายแห่ง โดยเฉพาะ อ.พิสิฐ สุริยกาญจน์ หนึ่งในคณะผู้ก่อตั้ง เคยช่วยจัดพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อ.เมือง จ.อุทัยธานี มาก่อน ท่านจึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการช่วยคิดจัดหมวดหมู่สิ่งของจัดแสดงได้อย่างลงตัว กับพื้นที่โล่งอันกว้างใหญ่ของศาลาการเปรียญแห่งนี้ แม้มองครั้งแรกจะออกเรียบๆ และมีข้าวของมากมาย แต่เมื่อ อ.พิสิฐ ได้กรุณานำชมแล้วก็พบว่าส่วนจัดแสดงต่างๆ มีความน่าสนใจ และมีเสน่ห์ บอกเล่าเรื่องราวได้เป็นอย่างดี
 
ส่วนแรกคือส่วนที่เกี่ยวกับศาสนา เล่าเรื่องราวของวัดหนองขุนชาติ พระอาจารย์ท่านแรกที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองขุนชาติ และประวัติศาสตร์ของ อ.หนองฉาง ซึ่งเดิมเคยเป็นตัวอำเภอเมืองของ จ.อุทัยธานี มาก่อน ต่อมาการคมนาคมไม่สะดวกและพื้นที่เริ่มคับแคบ เจ้าเมืองจึงได้ย้ายไปตั้งเมืองใหม่อยู่ริมแม่น้ำสะแกกรังเป็นตัว อ.เมือง จ.อุทัยธานี ในปัจจุบัน หลักฐานก็คือป้ายไม้เก่า ที่แกะสลักไว้ว่า บ้านอุไทยเก่า อ.อุไทย–เก่า ถัดมาจัดแสดงเกี่ยวกับพระพุทธรูปแกะสลักที่สวยงาม และเครื่องอัฐบริขารต่างๆ  เครื่องทองเหลือง พวกถาด  พานต่างๆ ที่ใช้ในวัด ส่วนถัดมาเป็นเครื่องพิมพ์ดีดเก่า ซึ่งครั้งหนึ่งเคยใช้พิมพ์เอกสารราชการ ก่อนที่จะมีคอมพิวเตอร์ใช้ ส่วนต่อไปเป็นพวกหีบและกำปั่นรูปทรงต่างๆ ใหญ่ เล็กหลายขนาด 
 
จากนั้นจึงเริ่มเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตผู้คนยุคเก่า คือเป็นชุดหาบของ และตะกร้า ที่คนใช้ใส่ของมาถวายที่วัด เป็นเครื่องจักสานฝีมือปราณีต ภายในก็มีเครื่องถ้วยชามใส่อาหารยกมาเป็นสำรับ หรือหม้อดินใส่ต้มแกงทำอาหาร ถังทำไอศครีมหลอด กระป๋องบีบเส้นขนมจีนและเส้นลอดช่องขนาดต่างๆ ซึ่งผู้บริจาคเคยเปิดร้านมาก่อนแต่เลิกกิจการไปแล้วจึงนำมาให้พิพิธภัณฑ์ ต่อมาก็เป็นเครื่องดนตรีไทยชุดใหญ่ ซึ่งเป็นของคณะประจำอำเภอปัจจุบันก็ยังคงเล่นอยู่ และติดภาพเจ้าของคณะไว้ด้วย 
 
ต่อมาคือเครื่องมือการเกษตรหลายชนิด คล้ายกับที่อื่นๆ เช่นสีฝัด สีข้าว ครกตำข้าว และอุปกรณ์เทียมวัวควายไถนา คอง ซึ่งเป็นไม้งอคล้ายรูปตัวดับเบิ้ลยู (W) สำหรับใส่คอควายประกอบกับแอกไถนา เป็นภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนที่จะไปดัดไม้ไผ่ในป่าไว้ตั้งแต่ยังอ่อน ค่อยๆ ดัดไปเรื่อยๆ จนได้รูปเมื่อแก่จึงตัดออกมาใช้งาน 
 
อีกด้านหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ เป็นเหมือนแหล่งรวมเทคโนโลยีตกยุค เช่น มุมเกี่ยวกับตะเกียงและการให้แสงสว่าง จัดเรียงลำดับตั้งแต่คนยังไม่มีไม้ขีดจุดไฟ ต้องใช้หินเหล็กไฟตีกันให้เกิดประกายไฟ ไปติดที่ปุยนุ่น แล้วนำไปจุดไฟอีกที่เรียกว่าชุดไฟ จากนั้นก็มีขี้ไต้และคบไฟ ตะเกียงน้ำมัน ตะเกียง เจ้าพายุ ตะเกียงแก๊ส  เตารีดเตาถ่านแบบต่างๆ เรียกว่าเรียงลำดับยุคให้เด็กๆ ได้รู้จักกับหน้าตาสิ่งของ และนึกภาพออกว่าคนยุคเก่ามีชีวิตกันอย่างไร ถัดมาก็เป็นโทรทัศน์ วิทยุเก่า พัดลมเก่า จักรเย็บผ้าเก่า และโต๊ะของช่างทำทอง ซึ่งจำลองข้าวของมาได้อย่างครบถ้วน
 
ตรงกลางของห้องพิพิธภัณฑ์ ยกพื้นด้วยตั่งไม้ มีตู้กระจกจัดแสดงเรื่องอาวุธโบราณ ธนู ดาบ ตู้จัดแสดงเงินตรายุคต่างๆ อีกส่วนคือถ้วยชามสวยๆ ที่คนรุ่นเก่าจะใช้ใส่อาหารมาถวายวัด เช่นจานกระเบื้องเคลือบมีขาโลหะสามขา เรียกว่ากี๋ เป็นของผู้มีฐานะที่จะนำมาทำบุญที่วัด หรือชามตราไก่ และข้าวของจัดแสดงอีกมากมาย 
 
อ.พิสิฐ เล่าว่าหลักๆ แล้วผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นนักเรียนจากโรงเรียนใกล้เคียง หรือผู้ที่มาปฏิบัติธรรมที่วัด บางครั้งผู้มาทำบุญได้ขึ้นมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แล้วนำของมาบริจาคก็มี และในอนาคต จะมีส่วนที่จัดแสดงเกี่ยวกับสมุนไพรเพิ่มขึ้น เป็นอาคารอีกหลังที่เพิ่งสร้างเสร็จอยู่ด้านข้าง โดยความตั้งใจคือทางวัดจะเปิดเป็นศูนย์ให้ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร ถ้าใครเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง หรือเดินชมพิพิธภัณฑ์นานจนปวดขา ด้านข้างของพิพิธภัณฑ์ก็มีอาคารนวดสองหลังซึ่งจะมีหมอนวดแผนไทยมาประจำทุกเสาร์อาทิตย์
 
พิพิธภัณฑ์วัดหนองขุนชาติ ถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เดินชมได้อย่างไม่น่าเบื่อ มีเรื่องราวในตัวเองแล้วแต่ว่าใครจะสนใจเรื่องใด อีกทั้งยังมีครูผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านเป็นผู้นำชม จึงรับรองได้ว่าหลังจากชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้วจะได้รับความรู้กลับไปอย่างเต็มที่แน่นอน

สำรวจวันที่ 2 สิงหาคม 2552
ชื่อผู้แต่ง:
-