ศูนย์แสดงและสาธิตการทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาตาโพ (ลาวครั่ง)


ที่อยู่:
กลุ่มทอผ้าบ้านนาตาโพ เลขที่ 29 หมู่ที่ 3 บ้านนาตาโพ ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
โทรศัพท์:
081 971 0521 (คุณอำไพ อำขำ)
วันและเวลาทำการ:
กรุณานัดหมายล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2546
ของเด่น:
ผ้าทอลาวครั่ง, ม่านในพิธีบุญ, เครื่องมือในการทอผ้าพื้นบ้าน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์แสดงและสาธิตการทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาตาโพ (ลาวครั่ง)


แผ่นพับของกรมพัฒนาชุมชน บ้านนาตาโพ จังหวัดอุทัยธานี กล่าวถึงพื้นเพของชุมชนลาวครั่งบ้านนาตาโพ จังหวัดอุทัยธานี ที่ประวัติย้อนหลังกว่า 300 ปี โดยกล่าวถึงเอกลักษณ์ผ้าซิ่นของชนชาติลาวครั่งไว้เป็นสำคัญ นอกเหนือจากวัดถ้ำเขาวงและวนอุทยาเขาวง น้ำตกผาร่มเย็น ถ้ำเกร็ดดาว ถ้ำพุหวาย วัดผาทั่ง น้ำตกผาร่วมเย็น น้ำตกอีซ่า อันเป็นสถานที่ทางศาสนาและธรรมชาติที่เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาเยือนแล้ว ศูนย์แสดงและสาธิตการทอผ้าพื้นเมืองของกลุ่มทอผ้าบ้านนาตาโพ นับเป็นสถานที่ที่สะท้อนให้เรื่องราวของชุมชนอย่างน่าสนใจ 

อำไพ อำขำ ประธานกลุ่มทอผ้า เป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญในการสำรวจศูนย์แสดงและสาธิตทอผ้าดังกล่าว พี่อำไพกล่าวถึงการทอผ้าพื้นเมืองที่สืบทอดกันในบ้าน แต่เมื่อราว พ.ศ. 2539 เกิดการรวมตัวของกลุ่มชาวบ้านทอผ้า และเริ่มสาธิตในงานมหกรรม เช่น การจัดงานของ ททท. เมืองทองธานี พี่อำไพกล่าวถึงความทรงจำบางประการเกี่ยวกับการจัดงาน “เราไปเปิดตัวในงานนั้น ก่อนที่จะมีแนวคิดเรื่อง OTOP โดยนำเสนอในโซนภาคกลาง และกล่าวถึงวิถีชีวิตกับสิ่งทอ แต่นำเสนอเราเหมือนกับกะเหรี่ยงคอยาว แต่ก็เป็นช่องทางในการขายผ้าทอได้มากขึ้น ...ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เราคงขายสินค้าของเราได้ การทอในช่วงนั้นยังไม่ใช่เพื่อการค้าโดยตรง เพราะเป็นการทอผ้าเพื่อใช้ในงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะแต่งงานลูกสาว หรืองานบวชลูกชาย เหลือจากการใช้งานแล้วจึงนำไปขาย” 

แนวคิดในการพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยวและศูนย์สาธิตและแสดงผ้าทอ 

ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2546 เกิดแนวคิดในการพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยว พี่อำไพให้ข้อมูลถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก  

การท่องเที่ยวและสำนักงานอุตสาหกรรมประเมินถึงศักยภาพของหมู่บ้านเราในการพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยว โดยใช้งบประมาณเงินกู้ของ JBIC เราเป็นหนึ่งใน 20 หมู่บ้านระดับประเทศ เพราะสถานที่ตั้งไม่ห่างไกลจากกรุงเทพ เราตัดสินใจใช้ที่ดินส่วนบุคคลของตนเองมอบให้เป็นสถานที่ตั้ง ตอนนั้นมีการคุยกับทางการไว้ว่า มีการใช้ประโยชน์ที่ดินราว 20 ปี แล้วจะคืนให้เจ้าของ จึงมีการใช้งบประมาณส่วนหนึ่งในการก่อสร้างอาคารให้เป็นศูนย์สาธิตและแสดงผ้าทอ ...เมื่อไม่นานมานี้ ทางการจะขึ้นที่ดินให้เป็นราชพัสดุ เราก็ไม่ยอม เพราะที่ดินเรามีราคาสูงขึ้น ส่วนอาคารเราดูแลมาโดยตลอด แม้ในระยะหลังจะไม่มีการสนับสนุนใด ๆ เพราะทางญี่ปุ่นหรือ JBIC หันไปลงทุนในอินโดจีน เวียดนาม 

คำบอกเล่าของพี่อำไพสะท้อนให้เห็นการเกิดขึ้นของศูนย์สาธิตและแสดงผ้าทอในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ และมีหน่วยงานจากนานาชาติให้ความช่วยเหลือและความสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนาวิสาหกิจในระดับชุมชน อย่างไรก็ดี ความไม่ต่อเนื่องของโครงการเป็นเหตุให้กลุ่มวิสาหกิจต้องหาทางออกด้วยตนเอง “แต่ก่อนผ้าที่จะแสดงมีจำนวนมากกว่านี้ และเราเน้นผลิตเพื่อการค้าในช่วงเวลานั้น แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงหลายประการ เรากลับมาคิดถึงการทำเพื่ออยู่สบายมากกว่า และเปิดให้ผู้คนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีท้องถิ่นและผ้าทอลาวครั่งที่เป็นเอกลักษณ์ ตอนนี้ มีลูกค้าประจำ เราก็อยู่ได้ ไม่จำเป็นจะต้องแปรรูปสินค้า หน่วยงานส่งนักออกแบบมาส่งเสริมให้ชาวบ้านแปรรูป แต่นั่นหมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้น หากเราทอผ้าเป็นผืน แม้ขายไม่ได้เรายังเก็บไว้ได้” 

จากการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน ในช่วง พ.ศ. 2548-2549 เกิดแนวคิดการพัฒนาหมู่บ้าน OTOP Champion Village “เราจึงลงความเห็นในการสร้างบ้านไม้หมากสี่หลังในที่ดินด้านหลังอาคารสาธิตและแสดงผ้าทอ เงินงบประมาณที่ได้รับราวแปดแสนบาท แต่ต้องมีการลงทุนเสริมไปอีกสี่ห้าแสนบาท ในการจัดกิจกรรมต้อนรับคณะจากภายนอก ต้องมาเป็นงบประมาณลงทุนของกลุ่มเอง ชาวบ้านไม่ได้รับการส่งเสริม” พี่อำไพกล่าวถึงการสนับสนุนในรูปแบบโครงการด้าน “พัฒนาชุมชน” แต่สิ่งเหล่านี้กลับมีข้อจำกัดอยู่ในตัวเอง  

การนำเสนอผ้าทอโบราณในศูนย์แสดงและสาธิตผ้าทอ 

ศูนย์แสดงและสาธิตการทอผ้าฟื้นเมืองแบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนในอาคารและบ้านไม้หมากภายนอกอาคาร เรือนไม้หมากที่ตั้งอยู่ภายนอกที่มีสภาพสมบูรณ์อยู่เพียงหนึ่งถึงสองหลัง ปัจจุบัน ไม่ได้อนุญาตให้คนเข้าชมแล้ว เพราะป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากความไม่มั่งคงของเรือน  

ส่วนในอาคารประกอบด้วยโถงจัดแสดงสินค้าที่มีการจัดเรียงสินค้าไว้บนชั้น บนแท่นไม้ และสวมใส่ในหุ่นแสดง กับพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่มีลักษณะเป็นพิพิธภัณฑ์ กั้นแบ่งบริเวณจากห้องโถงอย่างเป็นสัดส่วนมีประตูเข้าและออกทางเดียวเท่านั้น ภายในจัดแสดงผ้าทอที่สะท้อนความเป็นลาวครั่ง พี่อำไพถ่ายทอดเนื้อหาบางส่วนของการจัดแสดง ยกตัวอย่างความหมายของผ้าในส่วนจัดแสดงเพื่อสะท้อนให้เห็นบทบาทของผ้าทอในวิถีชาวลาวครั่ง 

ชื่อผู้แต่ง:
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ
คำสำคัญ: