พิพิธภัณฑ์จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง


“ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย” หรือ “อ๊ามจุ้ยตุ่ย” หรือ “จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง” เป็นศาลเจ้าจีนในจังหวัดภูเก็ต มีประวัติการก่อตั้งที่ผูกพันอยู่กับประเพณีหรือเทศกาลกินผักของชาวภูเก็ต สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 ตั้งอยู่ที่ ซอยภูธร ถนนระนอง ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดย “จุ้ย” แปลว่า น้ำ “ตุ่ย” แปลว่า ครกตำข้าว เนื่องจากในอดีตบริเวณหน้าศาลเจ้าเป็นคลองกว้าง มีน้ำมาก ชาวบ้านจึงสร้างกังหันขึ้นต่อกับครกตำข้าว เพื่อใช้กำลังจากน้ำมาตำข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้ว (ดูข้อมูลประวัติชุมชนและประวัติศาลเจ้าเพิ่มเติม ที่ https://communityarchive.sac.or.th/community/SanChaoChuituitaobokeng) “พิพิธภัณฑ์ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2563 เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของคณะกรรมการศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และชาวชุมชน โดยคณะกรรมการและชุมชนประสงค์จะพัฒนาพื้นที่บางส่วนของศาลเจ้า จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ บันทึกและบอกเล่าประวัติศาสตร์รวมทั้งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน โดยเฉพาะเทศกาลที่มีชื่อเสียงอันโด่งดังของชาวภูเก็ต คือ “ประเพณีกินผัก” โดยได้รวบรวมเรียบเรียงข้อมูลของชุมชน ของศาลเจ้า รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ของศาลเจ้าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แล้วนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ โดยการจัดแสดงแบ่งออกเป็น 4 ห้อง ได้แก่ ห้องที่ 1 “ร่องรอยจุ้ยตุ่ย” นำเสนอที่มาของประเพณีกินผักและศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย รวมทั้งจัดแสดงเรื่องเล่าและภาพถ่ายเกี่ยวกับความเป็นมาและพัฒนาการของศาลเจ้าทั้ง 3 ยุค คือ ยุคศาลเจ้าหลังคามุงจาก (ก่อนพ.ศ. 2454 - 2497) ยุคศาลเจ้าหลังคาสังกะสี (พ.ศ. 2503-2524) ยุคศาลเจ้าหินอ่อน (พ.ศ. 2525-ปัจจุบัน) ห้องที่ 2 “แก่นแท้ กินผัก กิ๊วอ๋อง” นำเสนอถึงแก่นแท้ของการกินผัก ความเชื่อมโยงของการถือศีล กินผัก และการบูชาเทพเจ้า คือ “กิ๊วอ๋องไต่เต่” และ “เต้าโบ้เทียนจุน” โดยใช้ตะเกียงน้ำมัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของดาวปักเป้า เป็นเครื่องสืบชะตาที่มีอิทธิพลต่อชะตาชีวิตและการต่ออายุขัยของคนจีน จึงมีการจัดแสดงตะเกียงน้ำมันที่ใช้ในการพิธีกรรมและความหมายที่แฝงอยู่ ห้องที่ 3 “ศาลเจ้า ศูนย์รวม ศรัทธาศักดิ์สิทธิ์” นำเสนอบทบาทของศาลเจ้าที่เป็นเสมือนศูนย์รวมของความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ ของทุกอาชีพและทุกชนชั้น ห้องที่ 4 “เจียะฉ่ายแค่จุ้ยตุ่ย” นำเสนอกิจกรรมหรือพิธีกรรมในช่วงกินผัก การจัดแสดงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นจุดเด่นด้านวัตถุที่จัดแสดงล้วนเป็นของเก่าแก่ ผ่านการใช้งานจริงในศาลเจ้าและประเพณีการกินผักที่สะท้อนคุณค่า ความเชื่อ และความศรัทธาที่ชุมชนมีต่อเทพเจ้าที่พวกเขานับถือ

ที่อยู่:
มูลนิธิจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง 283 ซ.ภูธร ถ.ระนอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000
โทรศัพท์:
076213243
วันและเวลาทำการ:
9.00-16.30 น. ทุกวัน (กรุณาติดต่อล่วงหน้า)
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2563
ของเด่น:
อาวุธที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมของม้าทรง เครื่องประกอบพิธีกินผัก และข้าวของเครื่องใช้ในศาลเจ้าจีน
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง

ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งได้ดำเนินโครงการวิจัยชุมชน ภายใต้หัวข้อ “ชุมชนกับพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ภายใต้การสนับสนุนโครงการพัฒนาคลังข้อมูลชุมชนและเครือข่ายข้อมูล ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) โดยการดำเนินโครงการประกอบด้วย การเก็บรวบรวมข้อมูลของชุมชนโดยรอบศาลเจ้าฯ การประกอบอาชีพของผู้คนในชุมชน รวมถึงข้อมูลทางวัฒนธรรมของชุมชน อาทิ ประวัติชุมชน ความเปลี่ยนแปลง ปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังได้จัดทำแผนที่เดินดิน เพื่อการรู้จักชุมชนทั้งด้านขนาด ที่ตั้ง การกระจายของคนและอาชีพในชุมชน

คุณค่าของการจัดทำแผนที่เดินดินนำไปสู่การทำความเข้าใจระบบความสัมพันธ์ที่ดำรงอยู่ในชุมชน ข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมาได้จัดเก็บไว้ในรูปแบบดิจิทัล มีการแยกประเภทข้อมูลทั้งข้อมูลภาพนิ่ง ข้อมูลภาพเคลื่อนไหว และข้อมูลไฟล์เสียง นอกจากการเก็บข้อมูลโดยรอบศาลเจ้าแล้วยังได้เก็บข้อมูลประวัติศาลเจ้า โดยการสืบค้นจากเอกสาร รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้อาวุโส และผู้คนที่อาศัยอยู่โดยรอบศาลเจ้า เพื่อให้ได้ข้อมูลประวัติของศาลเจ้าที่รอบด้านทั้งจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิ เพื่อความสะดวกในการนำเสนอ มีการจัดทำเส้นเวลา (Timeline) เพื่อนำเสนอลำดับเวลาในการย้ายศาลเจ้าจาก “หั่งอาหล่าย” มายังสถานที่ปัจจุบัน และข้อมูลของวัตถุทางวัฒนธรรมจำนวนหลายชิ้น ซึ่งเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาลเจ้าและชุมชนโดยรอบ

ต่อมาได้คัดเลือกข้อมูลบางส่วนเพื่อนำมาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น บอกเล่าประวัติศาสตร์ที่มาของศาลเจ้าและความสัมพันธ์กับชุมชน โดยจัดแสดงออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

1) ร่องรอยจุ้ยตุ่ย นำเสนอที่มาของงานประเพณีกินผักของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย เส้นทางการก่อตั้งศาลเจ้า ทั้ง 3 ยุค และประวัติศาสตร์สำคัญ

2) แก่นแท้ กินผัก กิ๊วอ๋อง เล่าถึงแก่นแท้ของการกินผัก ความเชื่อมโยงของการถือศีล กินผัก และการบูชาเทพเจ้าสำคัญ

3) ศาลเจ้า ศูนย์รวม ศรัทธา ศักดิ์สิทธิ์ เล่าถึงบทบาทของศาลเจ้าที่เป็นเสมือนศูนย์รวมของความ ศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ และห้องสุดท้าย

4) เจียะฉ่ายแค่จุ้ยตุ่ย นำเสนอถึงกิจกรรมหรือพิธีกรรมในช่วงกินผัก การวางแผนการเข้าร่วมงาน กินผัก และเมนูอาหารเจอร่อย ๆ ในสตรีทฟู้ดของศาลเจ้า

5) คุยกับม้าทรง นำเสนอวัตถุทางวัฒนธรรมที่ใช้ในพิธีกรรมของม้าทรง และประวัติของม้าทรง

โดยทั้งหมดจัดแสดงในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ ผ่านนิทรรศการ การจัดแสดงโบราณวัตถุ ภาพ แผนที่ เป็นต้น เพื่อหวังว่าผู้เข้าชมจะทราบถึงประวัติความเป็นมาของศาลเจ้า เข้าใจในการกินผักแบบ ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง บทบาทและหน้าที่ของศาลเจ้าที่เป็นเสมือนสะพานบุญ รวมถึงการวางแผน เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานกินผักประจำปีอีกด้วย

ชื่อผู้แต่ง:
ธำรงค์ บริเวธานันท์

พิพิธภัณฑ์จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง

เมื่อปี พ.ศ.2562 เป็นวาระที่ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยมีการฉลองครบรอบ 108 ปี ที่ศาลเจ้าได้มาตั้งอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ คณะกรรมการศาลเจ้า จึงมีนโยบายในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองขึ้น โดยหนึ่งในกิจกรรมเฉลิมฉลองครั้งนี้คือ การจัดทำหนังสือที่ระลึกเนื่องในโอกาสงานเฉลิมฉลองเป๊งหย่องซ้านจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งครบรอบ 108 ปี ในรูปแบบสามภาษา(ไทย จีน อังกฤษ)โดยได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ จากการสัมภาษณ์ผู้อาวุโสในศาลเจ้าและบุคคลที่เกี่ยวข้อง และคนในชุมชน เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของศาลเจ้า ประเพณีและความศรัทธาที่ผู้คนและชุมชนมีต่อศาลเจ้า ตำนานเรื่องเล่าพ้นบ้าน ประวัติบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับศาลเจ้า  

          ด้วยความนี่ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน ในอดีตชาวภูเก็ตที่เลื่อมใสศรัทธาได้เข้ามามีส่วนร่วมในศาลเจ้าโดยการบริจาคข้าวของเครื่องใช้เกี่ยวกับศาลเจ้า เช่น เครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องดีบุก เครื่องแก้ว ถ้วย ชาม งานไม้แกะสลัก ป้ายภาษาจีน งานผ้าปัก ฯลฯ เพื่อใช้ในงานพิธีกรรมต่างๆ รวมถึงข้าวของที่เป็นของศาลเจ้าเอง เมื่อเวลาผ่านไปของเหล่านี้ไม่ได้ใช้งานและเก็บไว้อย่างกระจัดกระจาย บ้างชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ภายหลังคณะกรรมการบริหารศาลเจ้า ปี พ.ศ. 2560 นำโดยโก๊ฮกซิ่ว (นายกิตติวงศ์ จันทร์สัทธรรม) เห็นควรมีการจัดการและอนุรักษ์ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์  ในเวลาต่อมาศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำในการจัดการข้อมูล ที่ได้จากการไปสัมภาษณ์ผู้อาวุโสในชุมชน รวมถึงแนวทางเบื้องต้นในการจัดทำพิพิธภัณฑ์   จากโครงการพัฒนาคลังข้อมูลชุมชนและเครือข่ายข้อมูล ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์กรมหาชน)

ความเป็นมาของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง

          ในอดีตเมืองทุ่งคาหรือภูเก็ต เป็นชุมชนเมืองใหญ่ที่มีความเจริญอันเนื่องมาจากการทำเหมืองแร่ดีบุก   มีชาวจีนอพยพเข้ามาเป็นแรงงานในเหมืองแร่จำนวนมาก ชุมชนตั่วโพ้(หมายถึงตลาดใหญ่ซึ่งตลาดใหญ่ในที่นี้หมายถึงย่านการค้าถนนถลาง) ในเมืองทุ่งคาถือเป็นย่านการค้าที่สำคัญ บริเวณใกล้เคียงเป็นท่าเรือสำคัญที่มีเรือสำเภาขนถ่ายสินค้าเข้ามาเทียบท่าเป็นจำนวนมาก  ชุมชนนี้จึงเป็นที่อาศัยของทั้งชาวบ้านทั่วไป พ่อค้าที่เปิดกิจการห้างร้าน บริษัท และกงสีของบรรดาคหบดี และเนื่องจากเป็นย่านการค้าที่เจริญรุ่งเรือง มีผู้คนเข้ามาจับจ่ายใช้สอย และมาติดต่อธุรกิจการงานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก  ทำให้มีแหล่งบันเทิงเริงใจตั้งอยู่ในย่านนี้ด้วย “หั่งอาหล่าย” หรือซอยรมณีย์ เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นแหล่งบันเทิงสำหรับชายหนุ่มในอดีต ภายในมีโรงงิ้ว โรงละคร โรงฝิ่น สุรา ยาเมา และซ่องโสเภณี

คณะงิ้ว “โกก๊ะหี่” เดินทางมาจากเมืองฮกเกี้ยน ประเทศจีน เพื่อมาเปิดการแสดงให้กับชาวจีนอพยพที่มาตั้งรกรากอยู่ต่างถิ่น ได้เลือกทำเลที่ตั้งโรงงิ้วที่เป็นแหล่งชุมชน เพราะจะได้มีผู้คนเข้ามาชมงิ้วจำนวนมากทำให้มีเงินมีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง คณะงิ้วโกก๊ะหี่ได้เลือก “หั่งอาหล่าย” เป็นสถานที่ตั้งโรงงิ้ว และเปิดการแสดงนับแต่นั้นมา  โดยธรรมเนียมของชาวคณะงิ้วนั้นเมื่อถึงช่วงเดือนเก้า สมาชิกในคณะงิ้วจะต้องประกอบพิธีกินผัก สวดมนต์เพื่อบูชาเทพเจ้าต่างๆ ที่นับถือ  รวมถึงการบูชากิ๊วอ๋องไต่เต่เพื่อสืบชะตา ขอพรให้อายุมั่นขวัญยืน อยู่เย็นเป็นสุขกันถ้วนหน้า

          ภายหลังชาวเมืองทุ่งคาเห็นว่า พิธีกินผักและพิธีสวดมนต์ขอพรนั้นเป็นสิ่งดีงาม จึงได้มีชาวท้องถิ่นเข้าร่วมพิธีการกินผักนี้ด้วย นานวันเข้าพิธีกินผักจึงกลายเป็นงานกินผักที่ขยายใหญ่ขึ้น จากจุดเริ่มต้นเพียงคณะงิ้วกลายเป็นงานประเพณีของชุมชน    ต่อมาคณะงิ้วจะย้ายไปเปิดการแสดงที่อื่นต่อ แต่ก่อนที่จะย้ายไปนั้นด้วยเห็นว่า ชาวทุ่งคามีความเลื่อมใสศรัทธาและได้เข้าร่วมการกินผักมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และคาดว่าจะสามารถถือปฏิบัติสืบต่อไปได้   จึงได้มอบ “เฮียวโห้ย” พร้อมทั้งอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการกินผักให้แก่ชาวเมืองทุ่งคา  ชาวเมืองทุ่งคาจึงร่วมกันสร้างศาลเจ้าขึ้นในบริเวณหั่งอาหล่ายนั้น เพื่อเป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกินผัก

          ต่อมาเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นที่ศาลเจ้าในหั่งอาหล่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ ชาวบ้านในหั่งอาหล่ายและแถบถนนกลางต่างช่วยกันดับไฟ   ผู้ใหญ่สุ่ยติ่น(นายเอี๋ยว สุ่ยติ่น) ผู้ใหญ่บ้านตำบลระเง็ง นายเจี่ย กี่เต็ก นายสุ่น(ไม่ทราบนามสกุล) และหลายๆ ท่านได้เข้าไปภายในศาลเจ้าเพื่อขนย้ายเฮียวโห้ย และสิ่งของเครื่องใช้สำคัญ มาไว้ยังเนินเขาเป๊งหย่องซ้าน และชุมชนจุ้ยตุ่ยได้นำข้าวของบางส่วนฝากไว้ในศาลเจ้าปุดจ้อ และบางส่วนตั้งไว้ที่สวนพลู ข้างศาลเจ้าปุดจ้อ  โดยยกเป็นเพิงเล็กๆ สำหรับเก็บของเท่านั้น เมื่อถึงช่วงเดือนเก้าก็จะสร้างเป็นอาคารไม้หลังมุงจากขนาดเล็กเป็นการชั่วคราวในบริเวณสวนพลูดังกล่าว   เพื่อประกอบพิธีกินผักอย่างที่เคยปฏิบัติเมื่อครั้งมีศาลเจ้าเก่า  และเมื่อเสร็จสิ้นพิธีกินผักแล้ว ก็จะทำการรื้อถอนตัวอาคารศาลเจ้าชั่วคราวนี้ลง  ชาวบ้านทำเช่นนี้เป็นเวลา 3 ปี ต่อมาจึงปรึกษากับแม่ของนายอู่และนายอู่ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว ประกอบนายอู่เห็นว่า งานกินผักนั้นมีชาวบ้านเข้าร่วมจำนวนมาก จึงตัดสินใจยกที่ดินให้แก่กิ๊วอ๋องไต่เต่ เพื่อสร้างเป็นศาลเจ้าอย่างถาวร  ส่วนนายอู่ได้มาสร้างบ้านอยู่ข้างศาลเจ้านั้นแทน โดยศาลเจ้าหลังแรกที่สร้างเป็นศาลเจ้าไม้มุงด้วยจากขนาดกว้าง 1 ห้อง ให้ชื่อว่า “ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง” ซึ่ง "จุ้ย" แปลว่า น้ำ "ตุ่ย" แปลว่า ครกตำข้าว เนื่องจากในสมัยก่อนบริเวณหน้าศาลเจ้า เป็นคลองกว้างมีน้ำมาก ชาวบ้านจึงสร้างกังหันขึ้นเพื่อใช้กำลังจากน้ำมาตำข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้ว จึงเป็นที่มาของชื่อจุ้ยตุ่ย

พิพิธภัณฑ์และการจัดแสดง

          อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นตึกแถวหนึ่งคูหา ที่อยู่ตรงข้ามศาลเจ้า เดิมเป็นบ้านพักอาศัยของม้าทรงเก่าแก่ของศาลเจ้า ชื่อ โก๊วิส(นายสวิต ดวงตะวัน) ม้าทรงพระเฮี่ยนเที้ยนส่องเต่ เมื่อครั้งยังมีชีวิตได้ใช้พื้นที่บ้านหลังนี้เป็นสถานที่ประทับทรงเพื่อรักษาชาวบ้านที่มาปรึกษา ภายหลังเมื่อโก๊วิสเสียชีวิต ศาลเจ้าจึงขอซื้อและใช้พื้นที่ก่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์

          ภายใต้พื้นที่ห้องแถวหนึ่งคูหาที่มีหน้ากว้างไม่มากนัก แต่มีพื้นที่ยาวและลึก ได้แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 4 ห้อง

ห้องที่ 1“ร่องรอยจุ้ยตุ่ย”  นำเสนอที่มาของานประเพณีกินผักและศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย  ความเป็นมาและวิวัฒนาการของศาลเจ้าทั้งสามยุค คือ ยุคศาลเจ้าหลังคามุงจาก(ก่อนพ.ศ. 2454 - 2497) ยุคศาลเจ้าหลังคาสังกะสี (พ.ศ. 2503-2524) ยุคศาลเจ้าหินอ่อน (พ.ศ. 2525-ปัจจุบัน) ภายในห้องนี้จัดแสดงภาพถ่ายศาลเจ้านับแต่อดีตที่ยังเป็นเพิงมุงหลังคาจาก ผ่านแต่ละยุคกว่าจะมาเป็นศาลเจ้าที่สวยงามสง่าเช่นปัจจุบัน และภาพแผนที่เก่าผังเมืองภูเก็ตและที่ตั้งศาลเจ้าจากกรมแผนที่ทหารเมื่อปี พ.ศ. 2453 

ห้องที่ 2 “แก่นแท้ กินผัก กิ๊วอ๋อง” นำเสนอถึงแก่นแท้ของการกินผัก ความเชื่อมโยงของการถือศีล กินผัก และการบูชาเทพเจ้าสำคัญ โดยเนื้อหากล่าวว่าสิ่งสำคัญในการเข้าร่วมประเพณีกินผักศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยมีอยู่ 3 ประการคือ กินผัก ถือศีล ชำระร่างกายให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อบูชาเทพเจ้า เป็นการสืบชะตา  โดยเทพเจ้าที่บูชาคือ “กิ๊วอ๋องไต่เต่” และ “เต้าโบ้เทียนจุน”  และใช้ตะเกียงน้ำมัน เป็นเครื่องสืบชะตา  โดยตะเกียงน้ำมันเป็นสื่อกลาง   ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของดาวปักเป้า ซึ่งมีอิทธิพลต่อชะตาชีวิตและการต่ออายุไขของคนจีน  จัดแสดงตะเกียงน้ำมันที่ใช้ในการพิธีกรรมและความหมายที่แฝงอยู่

ห้องที่ 3 “ศาลเจ้า ศูนย์รวม ศรัทธาศักดิ์สิทธิ์” นำเสนอบทบาทของศาลเจ้าที่เป็นเสมือนศูนย์รวมของความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ ของทุกอาชีพและทุกชนชั้น

ห้องที่ 4 “เจียะฉ่ายแค่จุ้ยตุ่ย” นำเสนอกิจกรรมหรือพิธีกรรมในช่วงกินผัก การวางแผนการเข้าร่วมงานกินผัก และเมนูอาหารเจที่อร่อย และร้านอาหารเจในสตรีทฟู้ดของย่านศาลเจ้า เช่น โอวต๊าวเจ ทอดมันข้าวโพด ปอเปี๊ยะ หมี่ผัดฮกเกี้ยนเจ ขนมสี่ขา ขนมลูกเต๋า โลบะเจ เย็นตาโฟ

          แม้พิพิธภัณฑ์จะมีขนาดเล็ก แต่สิ่งที่โดดเด่นคือ วัตถุที่จัดแสดงที่ล้วนเป็นของเก่าแก่ ผ่านการใช้งานจริงในศาลเจ้าและประเพณีการกินผัก สะท้อนคุณค่า ความเชื่อ ความศรัทธา ที่ชุมชนมีต่อเทพเจ้าที่พวกเชานับถือ อาทิ ประตูศาลเจ้ารูป “ทวารบาล” ออกสำเนียงจีนฮกเกี้ยนว่ามึง-สิน” ขวานเหล็ก” อาวุธใช้เพื่อการแสดงอิทธิฤทธิ์หรืออภินิหารของ องค์พระที่ประทับในร่างทรง ร่างทรงใช้ขวานฟาดไปที่หลังซ้ำไปซ้ำหรือ การถูคมขวานที่แผ่นหลัง ลูกบอลเหล็ก” สำเนียงภาษาจีน ออกเสียงว่า “ทิกิ๋ว” ทั้งนี้ “ทิกิ๋ว” ทั้ง 2 ลูก ผ่านการใช้เพื่อแสดงอภินิหารขององค์พระมาแล้วทั้งสิ้น  เชือกถักและด้ามไม้ เรียกว่า “ฮวดโสะ” ทั้งนี้ “ฮวดโสะ” หมายถึงผู้เก่งกล้าทางวิทยาอาคม” ร่างทรงขององค์พระ ใช้ “ฮวดโสะ” ฟาดหรือสะบัดให้เกิดเสียงในอากาศ  

          “กลอง” สำเนียงจีนฮกเกี้ยน ออกเสียงว่า “กิมก้อ” ตัวกลอง ทำด้วยไม้ ขึงด้วยหนังทั้งสองหน้า กิมก้อเป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีทั้งหมด 5 ชิ้น ประกอบด้วย ก้อ โหล ตัวปั๊วะ เส้ปั๊วะและท้าย เรียกว่าวงโหล่ก๊อตี่น” บกฮื้อ” เครื่องเคาะใช้ในพิธีกรรมการสวดมนต์  ธงใช้สำหรับอัญเชิญองค์เทพและใช้สำหรับขับไล่ภูตผีปีศาจผู้ประทับ ธงสามเหลี่ยม ที่ปรากฏในภาพ วาดรูปหัวมณฑลทั้ง 5 ประกอบด้วย ปักเอี๋ย ตังเอี๋ย ลำเอี๋ย ส้ายเอี๋ยและตงเอี๋ย ใช้สำหรับผู้ประทับทรงองค์พระ สะบัดปัดเป่าความชั่วร้ายให้แก่ผู้มาขอพร

          ภาชนะเครื่องถ้วย จาน ชาม สำหรับใส่อาหารถวายองค์พระในศาลเจ้า ช่วงเทศกาลกินผัก เครื่องใช้เหล่านี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเครื่องใช้อื่นๆ ในการประกอบพิธีกรรม เพราะการเลือกเครื่องถ้วยชามใส่อาหารนั้น เป็นอุบายเกี่ยวข้องกับความพิถีพิถัน งดงามที่สุด ดีที่สุด เพื่อถวายแด่องค์พระ ดังนั้น “อาหาร” และ “ภาชนะ” จึงแสดงถึงความศรัทธาที่เป็นเนื้อนาเดียวกัน

ข้อมูลจาก:

ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง จังหวัดภูเก็ต. ครบรอบ 108 ปี "เป๊งหยองซ้านจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง". ภูเก็ต: มูลนิธิจุ้ยตั่ยเต้าโบ้เก้ง, 2562.

เว็บไซต์คลังข้อมูลชุมชน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) https://communityarchive.sac.or.th/community/SanChaoChuituitaobokeng



ชื่อผู้แต่ง:
ปณิตา สระวาสี

ข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง