พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดโพนทราย


ที่อยู่:
วัดโพนทราย บ้านโพนจาน หมู่ที่ 2 ตำบลโพนจาน อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม 48190
โทรศัพท์:
084-7851913 (พระครูวิมลจิตตานุรักษ์) 087-9453125 (คุณครูรุ่งเรือง)
วันและเวลาทำการ:
กรุณานัดหมายล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2555
ของเด่น:
บ้านไทโส้จำลอง สิ่งของเครื่องใช้ของชาวไทโส้ พระพุทธรูปไม้
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

ผังจัดแสดง

โดย:

วันที่: 05 ตุลาคม 2563

ผังจัดแสดง02

โดย:

วันที่: 05 ตุลาคม 2563

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์วัดโพนทราย

บ้านโพนจาน ตำบลโพนจาน อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม เป็นชุมชนชาวไทโส้กลุ่มใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดนครพนม ชาวไทโส้บ้านโพนจานได้อพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงพร้อมกับชาวไทโส้กลุ่มใหญ่ซึ่งมีเพี้ยเมืองสูง เพี้ยบุตโคด เป็นผู้ปกครอง และทำราชการขึ้นต่อเมืองมะหาไซ ผลกระทบจากสงครามระหว่างสยามกับเวียงจันทน์ส่งผลให้เมืองมะหาไซ ถูกกองทัพสยามเข้าตีแตก ทำให้กรมการเมืองมะหาไซและราษฎรรวมไปถึงเพี้ยเมืองสูงเพี้ยบุตโคด ชาวไทโส้หลบหนีการกวาดต้อนของสยามเข้าไปอาศัยในเขตแดนญวนและตามภูเขาสูงต่อมาเมื่อในปี พ.ศ.2378 อุปฮาด (คำสาย) ราชวงศ์ (คำ) ท้าวจุลนี (อิน) พาครอบครัว ราษฎร เมืองมะหาไซ เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองสกลทวาปี (สกลนคร) ราษฎรไทโส้นำโดยเพี้ยเมืองสูง เพี้ยบุตโคด ไปตั้งบ้านเรือนขึ้นที่ริมห้วยขมาน เรียกนาม “บ้านกุดขมาน”

          ในปี พ.ศ.2387 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ยกบ้านกุดขมานเป็น “เมืองกุสุมาลย์มณฑล” ให้เพี้ยเมืองสูงเป็น “หลวงอรัญอาสา” ภายหลังได้รับพระราชทานเป็น “พระอรัญอาสา” เจ้าเมืองกุสุมาลย์มณฑล ทำราชการขึ้นต่อเมืองสกลนคร ส่วนเพี้ยบุตโคดไม่ปรากฏว่าอยู่ในตำแหน่งใด ต่อมาปี 2405 เกิดความขัดแย้งระหว่างกรมการเมืองกุสุมาลย์มณฑลเรื่องตำแหน่งหน้าที่ราชการ ท้าวขัตติยะ ขอแยกออกจากเมืองกุสุมาลย์มณฑล ไปอยู่บ้านนาโพธิ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านนาโพธิ์ เขตเมืองกุสุมาลย์มณฑล ขึ้นเป็นเมืองโพธิไพศาลนิคม โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวขัตติยะเป็นพระพิศาลสิมมานุรักษ์ ตำแหน่งเจ้าเมือง

ในปี พ.ศ.2432 ภายหลังจากพระอรัญอาสาได้ถึงแก่กรรม ท้าวสุริยะ (กิ่ง) บุตรชายพระอรัญอาสา ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าเมืองกุสุมาลย์สืบต่อมาและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระอรัญอาสา” ครั้งถึงปี พ.ศ.2439 โปรดเกล้าฯ ให้เมืองกุสุมาลย์มณฑลและเมืองโพธิไพศาลนิคม ไปขึ้นกับเมืองนครพนม เนื่องจากทั้งสองเมืองนี้อยู่ในเขตแดนเมืองนครพนม จนถึงปี พ.ศ.2445 จัดให้เปลี่ยนนามเมืองเป็นอำเภอเมืองกุสุมาลย์มณฑล ให้พระอรัญอาสา (กิ่ง) จากตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง

          ภายหลังได้มีชาวไทโส้กลุ่มหนึ่งโดยการนำของนายสุพัฒน์ แสนมอม กับชาวไทโส้อีกราว 15 ครอบครัว ได้แยกออกไปตั้งรกรากบริเวณต้นน้ำห้วยกุดยาง ซึ่งบริเวณนั้นมีต้นยางใหญ่และมีรังผึ้งหลวงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่า “บ้านฮ้างต้นผึ้ง” ต่อมาได้อพยพไปทางเหนือและเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น “บ้านนาจาน” เมื่อราวได้เกิดโรคระบาดร้ายแรง จึงพากันย้ายถิ่นฐานมาตั้งบริเวณที่ตั้งบ้านโพนจานในปัจจุบัน ซึ่งมีลักษณะพื้นที่เป็นเนินหรือโพนและมีต้นจานเป็นจำนวนมาก จึงเรียกว่า “บ้านโพนจาน”

ต่อมาทางมณฑลได้ยุบอำเภอกุสุมาลย์และอำเภอโพธิไพศาลลงเป็นตำบล แบ่งท้องที่ขึ้นกับอำเภอเมืองสกลนครและอำเภอเมืองนครพนม ภายหลังได้รับการประกาศเป็นกิ่งอำเภอกุสุมาลย์ ขึ้นกับอำเภอเมืองสกลนคร เมื่อปี 2505 และประกาศยกฐานะขึ้นเป็น “อำเภอกุสุมาลย์” เมื่อปี 2510 ขึ้นกับจังหวัดสกลนคร ทำให้ชาวไทโส้บ้านโพนจานได้ขึ้นกับอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร

ประมาณปี พ.ศ. 2460 ได้รับการจัดตั้งเป็นตำบลโพนสวรรค์  ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านมีความอุดมสมบูรณ์ ต่อมาได้มีราษฎรอพยพมาจากที่ต่างๆเพิ่มมากขึ้น อาทิเช่น กลุ่มไทโส้จากอำเภอกุสุมาลย์  จังหวัดสกลนคร  มาตั้งถิ่นฐานบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง จึงได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอโพนสวรรค์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย  ลงวันที่  3 มกราคม 2529  และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2529 และได้รับการยกฐานะให้เป็นอำเภอโพนสวรรค์ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2535

 การตั้งอำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม ทำให้มีการแบ่งพื้นที่เขตรอยต่อของจังหวัดนครพนมกับจังหวัดสกลนคร เป็นเหตุให้ชุมชนชาวไทโส้บ้านโพนจานซึ่งเดิมขึ้นกับอำเภอกุสุมาลย์  จังหวัดสกลนคร  แต่ชุมชนตั้งอยู่ติดกับรอยต่อของจังหวัดนครพนมกับจังหวัดสกลนคร และอยู่ใกล้กับที่ว่าการอำเภอโพนสวรรค์มากกว่าที่ว่าการอำเภอกุสุมาลย์ ได้ถูกย้ายการปกครองไปขึ้นกับอำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม

          บ้านโพนจานถือเป็นชุมชนต้นแบบด้านการอนุรักษ์วิถีชีวิตพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ไทโส้ เนื่องจากชาวบ้านในหมู่บ้านมีการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมพิธีกรรมประเพณีวัฒนธรรม และภาษาพูดไว้อย่างเหนียวแน่น มีความโดดเด่นในการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมือนใคร จึงเหมาะอย่างยิ่งต่อการเดินทางเข้าไปศึกษาเรียนรู้ในชุมชนบ้านโพนจาน เพื่อซึมซับกับวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่มีคุณค่า ชาวไทโส้บ้านโพนจาน แสดงออกถึงการเคารพต่อบรรพบุรุษและพิธีกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณและเป็นการเคารพธรรมชาติ ด้วยการคารวะต่อผืนไร่ผืนนา เพื่อให้ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ รวมถึงการนับถือผีบรรพบุรุษที่ยังคงเป็นความเชื่อถือที่สานต่อกันมาอย่างดีงาม ถือเป็นเรื่องราวของวิถีชีวิตที่นำทางไปสู่ความสงบสุข เป็นภาพสะท้อนอันดีของการอยู่ร่วมกันของคนทั้งชุมชน

          อาหารการกินพื้นบ้านมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ทำจากวัตถุดิบพื้นบ้าน ปลอดสารเคมีและต้องใช้ความพยายามไปค้นหาจากป่าธรรมชาติ ซึ่งชาวไทโส้ถือว่าถ้ามาที่บ้านโพนจานแล้ว ห้ามพลาดการลองลิ้มชิมรสของอาหารทั้งสองอย่างนี้ ซึ่งเป็นอาหารตามฤดูกาล อย่างตำเมี่ยงตะไคร้ อุ๊ปู และเสน่ห์ที่ยังคงอยู่คือความงดงามในเรื่องงานหัตถกรรมการทอผ้าแบบดั้งเดิม (ซิ่นลายไทโส้) ที่ยังคงพบเจอได้ในชุมชนบ้านโพนจาน ผู้คนในหมู่บ้านยังมีการสืบสานวิถีถิ่นแบบชาวไทโส้เอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ทั้งการพูดจา ภาษาของตัวเอง การประกอบพิธีกรรม การบูชาตามบรรพบุรุษที่สืบต่อกันมา

          พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดโพนทราย ตำบลโพนจาน อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2555 โดยการริเริ่มของพระครูวิมลจิตตานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดโพนทราย เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน พร้อมกับได้มีการจัดทำห้องสมุดชุมชนด้วย โดยมีชื่อเรียกว่า “พิพิธภัณฑ์ชุมชนและห้องสมุดวัดโพนทราย” ทางวัดโพนทรายได้สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น เพื่อเก็บรวบรวมโบราณวัตถุและสิ่งของเครื่องใช้ที่แสดงให้เห็นความเป็นอัตลักษณ์ของชาวไทโส้บ้านโพนจาน ซึ่งมีชาวบ้านนำสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ มาบริจาคเป็นจำนวนมาก

          ต่อมาพระครูวิมลจิตตานุรักษ์ได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดป่าหนองกุง ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกชุมชนบ้านโพนจาน เนื่องจากท่านต้องการพักปฏิบัติธรรมและจัดตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมสำหรับญาติโยม ทำให้พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดโพนทรายไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างควรจะเป็น เป็นเหตุให้ชาวบ้านบ้างส่วนได้ขออนุญาต นำโบราณวัตถุและสิ่งของเครื่องใช้กลับไปเก็บรักษาไว้ที่บ้านตามเดิม ส่วนที่ยังเก็บรักษาไว้ที่วัดก็เก็บไว้ในตู้เพื่อความปลอดภัย และไม่ได้นำมาจัดแสดงแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันอาคารพิพิธภัณฑ์ก็ถูกใช้งานเป็นที่พักจำวัดของพระภิกษุภายในวัดแทน

          ในปี พ.ศ. 2561 ทางรัฐบาลมีโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนภายใต้ชื่อ “หมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี” ชุมชนบ้านโพนจานได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว และได้รับงบประมาณสนับสนุนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชาวไทโส้ในชุมชนบ้านโพนจาน ทำให้มีการสร้างบ้านไทโส้จำลองขึ้นมา 1 หลัง ภายในวัดโพนทราย โดยเป็นอาคารไม้ ยกพื้น 2 ชั้น เพื่อแสดงลักษณะวิถีชีวิตของชาวไทโส้บ้านโพนจานในอดีต ชั้นล่างมีการจัดแสดงครกกระเดื่องสำหรับตำข้าว ส่วนชั้นบนแบ่งออกเป็นส่วนในห้องกับส่วนระเบียง ในห้องจัดแสดงส่วนที่เป็นห้องนอนและห้องครัว ส่วนระเบียงจัดแสดงนิทรรศการข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและอัตลักษณ์วัฒนธรรมของชาวไทโส้บ้านโพนทราย นอกจากนี้ ภายในบริเวณวัดโพนทรายยังมีป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับภาษาไทโส้ที่แปลเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีกด้วย

          แต่อย่างไรก็ดี หลังจากสิ้นสุดโครงการหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี ประกอบกับขาดบุคลากรในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ทำให้อาคารบ้านไทโส้จำลองเริ่มชำรุดทรุดโทรมตามลำดับ


เอกสารอ้างอิง

สพสันติ์ เพชรคำ. ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสกลนคร. สกลนคร : สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, 2560.

สุรัตน์ วรางค์รัตน์. กะเลิงหรือโซ่. กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2531.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย. “สืบสานวิถีคนไทโส้ ที่บ้านโพนจาน จ.นครพนม”. รายการไทยพีบีเอส. สืบค้นจาก https://program.thaipbs.or.th/TuaThin/ episodes /56258, วันที่ 18 กรกฎาคม 2563.

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม. “ความเป็นมาของอำเภอโพนสวรรค์”. สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม. สืบค้นจาก https://district.cdd.go.th/ phonsawan /about-us/ประวัติความเป็นมา/, วันที่ 18 กรกฎาคม 2563.

 

สัมภาษณ์บุคคล

พระครูวิมลจิตตานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดโพนทราย บ้านโพนจาน ตำบลโพนจาน อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัด

นครพนม, สัมภาษณ์วันที่ 12 มิถุนายน 2563.

นายมั่น แสนมอม ปราชญ์ท้องถิ่นบ้านโพนจาน หมู่ที่ 2 ตำบลโพนจาน อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม,

สัมภาษณ์วันที่ 12 มิถุนายน 2563.

ชื่อผู้แต่ง:
ธีระวัฒน์ แสนคำ
คำสำคัญ:
ไม่มีข้อมูล
คำสำคัญ: