ภูมิ-มูนมัง ชุมชนท่าอุเทน ศูนย์ข้อมูลย่านชุมชนเก่าท่าอุเทน


ที่อยู่:
วัดพระธาตุท่าอุเทน ต.ท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2556
ของเด่น:
ข้อมูลย่านชุมชนเก่าท่าอุเทน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ภูมิ-มูนมัง ชุมชนท่าอุเทน

ท่าอุเทน เป็นชุมชนเก่าริมแม่น้ำโขงในจังหวัดนครพนม มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ตามจดหมายเหตุหลวงชำนาญอุเทนดิษฐ์(บาฮด กิติศรีวรพันธุ์) เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของคนไทญ้อในย่านชุมชนเก่าท่าอุเทนว่า เดิมนั้นมีถิ่นฐานอยูที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี เมื่อราว พ.ศ. 2351 (หรือในสมัยรัชกาลที่ 1 ) หัวหน้าชาวไทญ้อ ชื่อท้าวหม้อ และภรรยาชื่อนางสุนันทา ได้อพยพครอบครัวและบ่าวไพร่ราว 100 คน เนื่องจากถูกเนรเทศทางการเมือง ได้ล่องแพมาตามลำน้ำโขงถึงเวียจันทน์ ท้าวหม้อได้ขอสวามิภักดิ์ต่อเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ โดยได้รับอนุญาตให้ตั้งเมืองที่ปากน้ำสงคราม สร้างเมืองใหม่ชื่อเมือง “ไชยสุทธิ์อุตตบุรี” (ปัจจุบันคือ ตำบลไชยบุรี อยู่ทางทิศเหนือ ห่างจากอำเภอท่าอุเทนราว 16 กิโลเมตร) เจ้าอนุวงศ์ได้ตั้งให้ท้าวหม้อเป็น “พระยาหงสาวดี และท้าวเล็กน้องชาวท้าวหม้อเป็นอุปฮาดวังหน้า

ในสมัยรัชกาลที่ 3 เกิดเหตุการณ์ไม่สงบเจ้าอนุวงศ์เป็นกบฎต่อกรุงเทพฯ พระยาหงสาวดีเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยจึงพาไพร่พลไปฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตั้งเมืองใหม่ชื่อปุเลงหรือปุงเลิง ทิ้งเมืองไขยสุทธิ์อุตตมบุรีเป็นเมืองร้าง แต่ต่อมาเกิดปัญหาภายในมีไพร่พลที่ไม่พอใจอพยพจากเมืองปุเลงมาพักอยู่ดอนหาดทรายกลางแม่น้ำโข ตรงกับบ้านท่าอุเทนร้างในแขวงเมืองนครพนม

พ.ศ. 2376 พระยามหาอำมาตย์(ป้อม อมาตยกุล) เป็นแม่ทัพตั้งอยู่ ณ เมืองนครพนมได้ไปกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เช่น ผู้ไท ข่า โซ่ กะเลิง แสก ญ้อ และโย้ย และเกลี้ยกล่อมชาวเมืองปุเลง ซึ่งเป็นไทญ้อและไทญ้อในแขวงคำเกิดคำม่วนให้มาตั้งถิ่นฐานทางฝั่งท่าอุเทน รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าแต่งตั้งให้พระปทุม เจ้าเมืองปุเลงเป็นพระศรีวรราช เจ้าเมืองท่าอุเทนคนแรก

ราวต้นรัชกาลที่ 6 ยุบเมืองท่าอุเทนเป็นอำเภอท่าอุเทน ขึ้นกับนครพนมและแต่งตั้งให้ขุนศุภกิจ-จำนง(จันทิมา พลเดชา) ข้าหลวงประจำเมือง เป็นนายอำเภอท่าอุเทนคนแรก

ท่าอุเทนอยู่ห่างจากจังหวัดนครพนมราว 27 กม. ชุมชนตั้งถิ่นฐานตามแนวริมแม่น้ำโขง เมื่อการคมนาคมขยายตัว ทำให้ทิศทางการตั้งถิ่นฐานของคนในชุมชนเปลี่ยนไปที่ถนนสายหลัก(นครพนม-หนองคาย) มากกว่าริมน้ำโขง

ย่านชุมชนเก่าท่าอุเทนได้รับความสนใจจากคนนอกมากขึ้น เหตุหนึ่งเนื่องจากชุมชนได้รับการบรรจุอยู่ในย่านชุมชนเก่าที่เป็นแหล่งศิลปกรรมที่ควรอนุรักษ์ ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ราวปี พ.ศ. 2556 เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นทั้งด้านภายภาพ สถาปัตยกรรมของอาคารบ้านเรือน ความหลากหลายของชาติพันธุ์ ระบบนิเวศ และความร่วมมือร่วมใจของคนในพื้นที่ นำไปสู่การจัดทำแผนการจัดการเพื่อการอนุรักษ์บริหารจัดการอย่างเหมาะสม โดยมีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง และนฤมิตรศิปล์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นที่ปรึกษาโครงการ ด้วยความร่วมมือจากเทศบาลตำบลท่าอุเทน ประชาคมท่าอุเทน และคนในชุมชน

ภูมิ-มูนมัง ชุมชนท่าอุเทน หรือศูนย์ข้อมูลย่านชุมชนเก่าท่าอุเทน ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุท่าอุเทน เป็นโครงการหนึ่งอันเนื่องมาจากการจัดแผนการจัดการอนุรักษ์ดังกล่าว เพื่อนำเสนอประวัติศาสตร์ที่มาและอัตลักษณ์ของความเป็นย่านชุมชนเก่าท่าอุเทน

เป็นอาคารปูนชั้นเดียวขนาดย่อม ภายในมีนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวของชุมชนเก่าท่าอุเทน เริ่มจาก “ภูมิ-นิเวศ” ที่เป็นเรื่องกายภาพ มีโมเดลแผนที่ภูมิประเทศของชุมชน และบนผนังด้านหนึ่งแสดงแผนผังขนาดใหญ่แสดงลักษณะภูมิประเทศ ตำแหน่งข้อมูลอาคารย่านชุมชนเก่าท่าอุเทน  ขอบเขตชุมชนเก่าท่าอุเทน

ส่วนต่อมานำเสนอข้อมูล “ภูมิ-ประวัติศาสตร์” ได้แก่ บอร์ดประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองท่าอุเทน รายนามเจ้าเมือง สถานที่สำคัญพร้อมประวัติได้แก่ พระธาตุท่าอุเทน ที่สร้างในปี พ.ศ. 2454 เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยม จำลองมาจากพระธาตุพนม มีขนาดเล็กกว่าแต่สูงกว่าพระธาตุพนม ภายในบรรจุพระพุทธสารีกธาตุ ที่อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง พม่า  และหอพระบางไตรภูมิ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์  พระบางวัดไตรภูมิมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง วัดบ้านคก แขวงคำเกิด

ส่วนจัดแสดง “ภูมิปัญา-วัฒนธรรม” นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับอาหารท้องถิ่น ที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยในท่าอุเทน อาทิ หมกจ้อ ปลาแดกทรงเครื่อง นึ่งปลาเอียบ หมกใส้ปลา ขนมจีนน้ำงัว  รวมถึงภาษาญ้อ ซึ่งเป็นภาษาพูดของกลุ่มชาติพันธุ์ไทญ้อ  ที่มีผู้ใช้ในหลายที่เช่น อำเภอท่าบ่อ หนองคาย  อำเภอท่าอุเทน นาหว้า ธาตุพนม จังหวัดนครพนม บางอำเภอในสกลนคร เป็นต้นนอกจากนี้ยังมีบอร์ดแสดงลายเส้นอาคารบ้านเรือนที่เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในท่าอุเทน มีโมเดลขนาดเล็กของอาคารบ้านเรือนต่างๆ ให้ได้ชม

นอกจากนี้ในส่วนสุดท้ายจัดแสดงอุปกรณ์ดักจับสัตว์น้ำที่ชาวบ้านใช้ในการทำมาหากินในชีวิตประจำวัน และมีบอร์ดภาพเก่าเล่าเรื่อง เป็นภาพถ่ายเก่าของสถานที่สำคัญในชุมชน อาทิ พระธาตุท่าอุเทน วัดสำคัญต่างๆ ภาพเก่าของคนในชุมชน ภาพกิจกรรมประเพณีสำคัญในชุมชน

ปณิตา สระวาสี เขียน

ข้อมูลจาก:
สำรวจภาคสนามวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,2558. รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการนำมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมประเภทย่านชุมชนเก่า ไปสู่การปฏิบัติ: แผนจัดการการอนุรักษ์และปรับปรุงสภาพแวดล้อมย่านชุมชนเก่าท่าอุเทน จังหวัดนครพนม. กรุงเทพฯ: บริษัท พรอพพอร์ตี้พริ้น จำกัด.
 
ชื่อผู้แต่ง:
-