พิพิธภัณฑ์วัดทรงธรรมวรวิหาร


ที่อยู่:
วัดทรงธรรมวรวิหาร ถ.เพชรหึงส์ ต.ตลาด อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
โทรศัพท์:
024635433
วันและเวลาทำการ:
กรุณานัดหมายล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2528
ของเด่น:
ธรรมมาสน์บุษบก เครื่องสังเค็ด เครื่องกระเบื้องลายคราม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์วัดทรงธรรม

วัดทรงธรรมวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร  สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ระหว่างปี พ.ศ. 2357-2358 โดยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล(กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์) เพื่อให้ชาวรามัญที่อพยพมาจากประเทศพม่า ได้มีที่บำเพ็ญกุศลกิจทางพระพุทธศาสนาและพระราชทานนามว่า “วัดทรงธรรม” สำหรับชื่อวัดสันนิษฐานว่า มาจากความเชื่อของชาวมอญที่มักยกย่องผู้มีคุณธรรมโดยกล่าวเป็นภาษารามัญว่า “เมินโห่” ซึ่งแปลว่า ผู้ทรงธรรม อันหมายถึงชาวมอญยกย่องพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่าเป็นผู้ทรงธรรม  ส่วนอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ เพราะวัดมีศาลาทรงธรรม ซึ่งเชื่อว่าเป็นศาลาทรงธรรมของรัชกาลที่ 2  

ตำแหน่งวัดเดิมตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากรัชกาลที่ 2 โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิพลเสพย์ เป็นแม่กองสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์เพิ่มเติม และสร้างป้อมเพชรหึงส์ จึงโปรดให้ย้ายวัดจากตำแหน่งเดิมมาอยู่ในเขตกำแพงป้อมตามตำแหน่งปัจจุบัน โดยสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้น 3 คณะ บริเวณด้านข้างพระอุโบสถข้างพระวิหาร และศาลาการเปรียญ  ต่อมามีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   วัดทรงธรรมจัดเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองนครเขื่อนขันธ์และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมอญเมืองนครเขื่อนขันธ์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

          ความเป็นมาของชาวมอญที่พระประแดงปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชัดเจนว่า เข้ามาตั้งรกรากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ด้วยเหตุหนีภัยสงครามเมื่อครั้งพระเจ้าปดุงได้ทรงปราบปรามชาวมอญ ผู้ที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้นำที่เป็นทหารและชาวบ้าน ไม่ใช่ข้าราชสำนัก ชื่อชุมชนมอญในอำเภอพระประแดงมีการจำลองแบบอย่างมาจากกรุงหงสาวดี เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ชาวมอญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร มีทั้งสิ้น 17 หมู่บ้าน และได้สร้างวัดมอญประจำหมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและยังเป็นสถานศึกษาเล่าเรียนของบุตรหลาน หลักฐานในปี พ.ศ. 2469 วัดมอญในพระประแดงมีอยู่ทั้งสิ้นจำนวน 10 วัด ได้แก่ วัดทรงธรรม วัดกลาง วัดพระยาปราบ วัดโมกข์ วัดคันลัด วัดอาสา วัดจวน วัดแค วัดแหลม และวัดกลางสวน

          ด้วยความเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองพระประแดง มีมรดกสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่สำคัญคือ พระรามัญเจดีย์ พระอุโบสถ พระพุทธมหานุมินทชินสีห์ พระวิหาร ศาลาราย ศาลาการเปรียญหลังเก่า  ด้วยที่มีโบราณวัตถุที่จำนวนมาก พระราชวิสารท(เจริญ ธมฺมจารี)  เจ้าอาวาสองค์ก่อน   จึงดำริที่จะก่อสร้างอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น เพื่อจัดทำเป็นห้องสมุด หอประชุม และพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงโบราณวัตถุของวัด  โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2528  อย่างไรก็ดีเนื่องจากเป็นอาคารขนาดใหญ่ จำเป็นต้องการการทำนุบำรุงและดูแลบริหารจัดการ ทางวัดขนาดบุคลากรในการดูแลรักษาความปลอดภัย จึงปิดส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ที่จัดเก็บข้าวของมีค่าเอาไว้  

          ราวปี พ.ศ. 2550 พระสิทธิพัฒนาทร(ไพโรจน์ ชุติคุโณ) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ได้เล็งเห็นว่าหลังจากสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่แล้ว  ศาลาการเปรียญหลังเก่าไม่ได้ใช้งานจึงผุผังและทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จึงดำริให้ซ่อมแซมบูรณะ ดีดยกตัวอาคารให้สูงขึ้นเพื่อสามารถใช้พื้นที่ใต้ถุนในการทำกิจกรรมทางศาสนาได้ ส่วนชั้นบนไว้สำหรับเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับจัดแสดงข้าวของสำคัญของวัด ศิลปะพื้นบ้าน โดยย้ายโบราณวัตถุบางส่วนจากอาคารพิพิธภัณฑ์หลังแรกมาจัดแสดงไว้

ศาลาการเปรียญหลังเก่าที่จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่ทิศเหนือของวิหาร สันนิษฐานว่าเดิมมีอยู่แล้ว ซึ่งเคยใช้เป็นศาลาทรงธรรมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ต่อมาพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ครั้งปี พ.ศ. 2466 พระอุดมวิจารณ์(อดีตเจ้าอาวาส) ได้รื้อและปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ และในปี พ.ศ. 2550 พระสิทธิพัฒนาทร(ไพโรจน์ ชุติคุโณ) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ได้ปฏิสังขรณ์โดยยกขึ้นสูงพร้อมทั้งทาสีตัวอาคารใหม่

ลักษณะของศาลาการเปรียญเป็นอาคารไม้มีใต้ถุนโล่ง ฝาเรือนเป็นฝาปะกน พื้นปูไม้กระดาน หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีหลังคาชั้นเดียว แต่มีส่วนของตับที่แผ่คลุมอาคารทั้งหลัง เครื่องประดับหลังคาเป็นเครื่องลำยอง มีไขรารวยระกาเป็นแบบนาคลำยอง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์  หน้าบันเป็นงานไม้ประดับลวดลาย เป็นลายแบบเดียวกับหน้าบันพระอุโบสถ

การจัดแสดงภายในจัดวางตามพื้นที่ของศาลาคือ โถงส่วนกลาง และปีกด้านซ้ายและขวา ของจัดแสดงมีทั้งวัตถุทางศาสนา วัตถุชิ้นเด่นอาทิ ธรรมมาสน์บุษบก  ซุ้มด้านหลังพระพุทธรูปศิลปกรรมแบบพม่าที่มีคนมาบริจาค ธรรมมาสน์ลายเขียนทองเป็นเครื่องสังเค็ด ที่รัชกาล 6 สร้างอุทิศในงานพระบรมศพรัชกาลที่ 5 เข้าใจว่าออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์   กล่องไม้ใส่คัมภีร์ พระพุทธรูป  ตาลปัตร ระฆังเก่าของวัด ใบระกา หางหงส์ของศาลาการเปรียญเดิมตอนบูรณะ

 นอกจากนี้ยังมีเครื่องใช้ที่เป็นของวัดแต่เดิมจำพวกเครื่องแก้ว เครื่องกระเบื้อง เครื่องทองเหลือง  อุปกรณ์ในงานพิธีถวายดอกไม้จันทน์รัชกาลที่ 9 เป็นถุงใส่ดอกไม้จันทน์  และของใช้พื้นบ้านจำพวกเครื่องพิมพ์ดีดเก่า  หัวเรือมาด  รถลาก  ด้านในสุด มีนิทรรศการเกี่ยวกับประเพณีมอญที่ได้มาจากโรงเรียนวัดทรงธรรม  มีหุ่นชายหญิงที่แสดงเครื่องแต่งกายชาวมอญ

บริเวณขื่อด้านบน แขวนภาพถ่ายเก่าอดีตเจ้าอาวาสองค์ และรองเจ้าอาวาสรูปสำคัญ ได้แก่ พระอุดมญาณ(แหล่ว อคฺคสามิ)  พระอุดมวิจารณ์ (กลั่น สีละเตชะ) พระราชธรรมวิสารทะ(สุก พุทฺธรังสี)  พระราชวิสารท(เจริญ ธมฺมจารี)  ครูสมุทรวราธร

เนื่องจากติดปัญหาเรื่องคนเฝ้าและความปลอดภัย หากสนใจเข้าชมต้องติดต่อนัดหมายล่วงหน้า พระครูพัชรวีราภรณ์ (เชาวลิต จนฺทธมฺโม)  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดทรงธรรม

ข้อมูลจาก:

ศักดิ์ชาย สายสิงห์ (บก.), 2558. สองศตวรรษ วัดทรงธรรม ศูนย์กลางพุทธศาสนารามัญนิกายแห่งเมืองนครเชื่อนขันธ์ ที่ระลึกในวาระครบรอบ 200 ปี แห่งการสถาปนาพระอาราม. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).

สัมภาษณ์พระครูพัชรวีราภรณ์ (เชาวลิต จนฺทธมฺโม)  วันที่ 19 สิงหาคม 2563.

ชื่อผู้แต่ง:
ปณิตา สระวาสี