พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ


ที่อยู่:
เลขที่ 99 ถ.สุขุมวิท ตรงข้ามร.ร.นายเรือ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 10270
โทรศัพท์:
02-394-1997, 02-475-3808
วันและเวลาทำการ:
เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-15.00 น. หยุดวันนักขัตฤกษ์ หากมาเป็นหมู่คณะกรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2498
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล

ชมพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ ย้อนวีรกรรมพิทักษ์น่านนน้ำไทย

ชื่อผู้แต่ง: สมภพ สนเวศ | ปีที่พิมพ์: 08/07/2547

ที่มา: ข่าวสด

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ

1. บทนำและประวัติของพิพิธภัณฑ์ 

พิพิธภัณฑ์ทหารเรือเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของกองทัพเรือ ที่บังคับบัญชาเห็นว่าอาวุธ ยุทธโธปกรณ์ รวมไปถึงเครื่องใช้ในกองทัพนั้นมีอยู่มากมาย บางชิ้นก็เตรียมจะปลดประจำการ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือ จึงมีคำสั่งให้มีการรวบรวมวัตถุเหล่านั้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2485โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบคือกองประวัติศาสตร์ กองทัพเรือ กระทั่งใน พ.ศ.2496จึงได้ก่อตั้งแผนกพิพิภัณฑ์ ขึ้นภายใต้กองประวัติศาสตร์ เพื่อดูแลจัดการวัตถุที่รวบรวมไว้ ในช่วงแรกการจัดแสดงเปิดให้เข้าชมในปี พ.ศ.2498ที่อาคารราชนาวิกสภา ต่อมาย้ายไปจัดแสดงที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า (บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา) เมื่อ พ.ศ.2500และสุดท้ายในปี พ.ศ.2515จึงได้ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นอย่างเป็นทางการริมถนนสุขุมวิท (ที่ตั้งปัจจุบัน) และจัดแสดงมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
 
2. วัตถุจัดแสดง    

วัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่เป็นอาวุธ ยุทธโธปกรณ์ที่ปลดประจำการ หรือมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับทหารเรือ อาทิ อาวุธในยุทธนาวีต่างๆ อุปกรณ์การเดินเรือที่นักเรียนนายเรือทุกรุ่นจำเป็นต้องเรียนรู้การใช้งาน แม้ว่าปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นแล้ว ชิ้นส่วนเรือหลวงที่ที่จมในการรบ และเรือรบจำลอง เป็นต้น ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าวัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่มีนัยของความเป็น “ของแท้” หรือ “ของจริง”ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ทหารเรือ แต่ในปัจจุบันนโยบายของผู้บังคับบัญชาที่เห็นว่าแต่ละหน่วยงานก็มีวัตถุที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของตนเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จึงให้มีการจัดตั้งหรือรวบรวมจัดแสดงไว้ภายในหน่วยงานของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องส่งมาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือแห่งนี้อีกต่อไป อาทิ หน่วยนาวิกโยธิน (อ.สัตหีบ) ทำให้เนื้อหาและวัตถุจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์มีความคงที่ในส่วนของนิทรรศการถาวรมากขึ้น

ปัญหาที่มาควบคู่กับวัตถุจัดแสดงคือการดูแลรักษา อันเนื่องมาจากข้อจำกัดด้านงบประมาณที่แทบจะไม่มีงบเพื่อการดูแลรักษาให้มาเลยในแต่ละปี นอกจากต้องตั้งงบพิเศษเพื่อยื่นขอเป็นกรณีๆ ไป ในขณะเดียวกันก็ยังต้องจัดแสดง ทำให้จำเป็นต้องพยายามดูแลรักษา และซ่อมแซม กันเองเบื้องต้นภายในหน่วย ภายใต้งบประมาณที่จำกัด อันได้มาจากรายได้การขายของที่ระลึก หรือเงินบริจาคจากภาคเอกชน
 
3. ห้องจัดแสดง
ประกอบด้วยอาคารหลัก 2อาคาร ดังนี้

3.1อาคาร 1มี 2ชั้น ชั้นล่าง มี 3ห้อง ห้องแรก จัดแสดงเกี่ยวกับพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภารเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศํกดิ์ (เสด็จเตี่ย) ภายในจัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ อาทิ ถ้วยชา อาวุธประจำองค์ เครื่องทรงชุดทหารเรือ อุปกรณ์บนเรือหลวงพระร่วง ที่เคยทรงบัญชาการ อุปกรณ์การแพทย์แผนโบราณที่พระองค์สนใจ ตำรายา และภาพฝีพระหัตถ์ เป็นต้น ห้องที่สอง อยู่ติดกับห้องแรกจัดแสดงพระราชประวัติและภาพวาดเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และ ห้องที่สาม ห้องสรรพาวุธ จัดแสดงปืนแบบต่างๆ ที่เคยประจำการในกองทัพเรือ อาทิ ปืนกล ปืนพก ปืนยาว กระสุนแบบต่างๆ เป็นต้น

ชั้นที่ 2แบ่งออกเป็น 3ห้อง คือ ห้องแรก ห้องจอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ แสดงพระประวัติ เครื่องแบบพร้อมกระบี่ประจำองค์ และเหรียญตรา ห้องที่สอง แสดงเครื่องแบบทหารเรือทั้งชายแลหญิง รวมไปถึงประวัติอดีตผู้บัญชาการทหารเรือที่เคยสร้างเกียรติประวัติไว้ให้กองทัพเรือ ห้องที่สาม ห้องเครื่องลายคราม จัดแสดงเครื่องลายครามที่เคยใช้บนเรือพระที่นั่งมหาจักรี และเรือเวสาตรี สมัยรัชกาลที่ 5
 
3.2 อาคาร 2 มี 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นใต้ถุนอาคารเปิดโล่ง จัดแสดงวัตถุขนาดใหญ่ที่เคลื่อนย้ายลำบาก อาทิ ไฟประภาคารแห่งแรกของประเทศไทย ที่เคยประจำอยู่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า (ปากแม่น้ำเจ้าพระยา) ปืนเที่ยง ใช้ยิงบอกเวลาสมัยรัชกาลที่ 4ตอร์ปิโด ขนาดต่างๆ ที่ใช้ในเรือรบผิวน้ำ และเรือสุวรรณเหรา เป็นเรือพระที่นั่งศรีที่ใช้เป็นเรือพระประเทียบในกระบวนเรือพระราชพิธี ทำโดยช่างในสมัยรัชกาลที่ 4

ชั้นที่ 2 จัดแสดง 1)เรือจำลองที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาที่ 6เป็นเรือรบชนิดต่างๆ ที่ใช้ในกองทัพเรือ ในส่วนนี้ประกอบด้วยเรือจำลองจำนวน 17ลำ นอกจากนี้ยังจัดแสดงหัวเรือพระที่นั่ง และท้ายเรือ ที่สร้างเป็นรูปสัตว์ในจินตนาการและรามเกียรติ อาทิ ครุฑ สุครีพ พาลี สุพรรณหงศ์ เป็นต้น เหตุของการสร้างเรือชุดนี้เนื่องมาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 6 ที่ต้องการจัดแสดงงาน “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์”จึงได้สั่งให้ทำเรือรบจำลองเหล่านี้เพื่อแสดงให้กับชาวต่างชาติที่จะเข้าชมงานได้รับรู้ถึงฝีมือการต่อเรือของช่างไทย แต่น่าเสียดายที่รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตเสียก่อนจึงไม่ได้จัดงานดังกล่าวถึง      2)เรือจำลองในกระบวนเรือพระราชพิธีจำนวน 52ลำ 3)อุปกรณ์เดินเรือ เช่น หัวประดาน้ำ เข็มทิศ ตะเกียงเจ้าพายุ และอุปกรณ์ที่นักเรียนนายเรือต้องใช้ในการเรียน เป็นต้น

ชั้นที่ 3แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับยุทธนาวีต่างๆ ซึ่งเป็นวีรกรรมการรบของกองทัพเรือ อาทิ ยุทธนาวีเกาะช้าง การรบระหว่างไทย-ฝรั่งเศส กรณีพิพาทเรื่องแบ่งดินแดนทำให้ไทยต้องเสียเรือหลวงธนบุรีในการรบ ด้วยเหตุที่ถูกยิงจนจมลง ในนิทรรศการได้นำชิ้นส่วนตัวเรือและระเบิดที่ยิงทะลุลำเรือมาจัดแสดงไว้ ยุทธนาวีดอนน้อย เป็นการรบระหว่างไทยและกองทัพคอมมิวนิสต์ในลาว ในเขต จ.หนองคาย (แม่น้ำโขง) จากการพยายามสกัดการรุกล้ำเข้ามาของคอมมิวนิสต์ในดินแดนไทยผ่านทางเกาะดอนน้อยที่อยู่กลางลำน้ำโขง และยุทธการบ้านชำราก (จ.ตราด) การรบที่ทหารไทยพยายามผลักดันให้ทหารเวียดนามที่ล้ำแดนเข้ามาถอยร่นกลับไป เป็นต้น นอกจากนิทรรศการด้านยุทธนาวีแล้วยังแสดงวิวัฒนาการของการบินทหารเรือ มีการจัดแสดงเรือหลวงจักรีนฤเบศรจำลอง และเครื่องบินประเภทต่างๆ ที่ประจำการอยู่
 
4. พันธกิจต่อชุมชน

แม้ว่างบประมาณในการดำเนินงานจะจำกัด แต่กิจกรรมประจำปีที่พิพิธภัณฑ์จัดอย่างต่อเนื่องคือกิจกรรมในวันเด็ก งบประมาณส่วนใหญ่ได้มาจากการรับบริจาคจากห้างร้านโดยรอบพิพิธภัณฑ์ทั้งสิ่งของ (ของเล่น ของขวัญ) และเงินเพื่อซื้อของเล่นเป็นรางวัลให้เด็กๆ ที่เข้ามาร่วมกิจกรรม และกิจกรรมบริการสังคมซึ่งเป็นกิจกรรมหลักอีกอย่างคือการเปิดให้กับนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ที่มาทัศนศึกษา
 
การเดินทาง
       
เดินทางด้วยรถยนต์ไปตามถนนสุขุมวิท หากไปจากทางด่วนพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ จะผ่านพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ (ทางซ้ายมือ) แล้วจึงผ่านโรงเรียนนายเรือ (ทางขวามือ) แล้วถัดไปประมาณ 500เมตรจึงพบพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีเครื่องบินตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้า (ซ้ายมือ) ก่อนถึงซอยสุขุมวิท 27
 
อ้างอิง
แผ่นพับนำชมพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ

อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล /เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 17 กันยายน 2555 
 

ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ

พิพิธภัณฑ์กองทัพเรือได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ชมครั้งแรกในปี พ.ศ.2498 ณ อาคารราชนาวิกสภา และย้ายมา ณ ที่ทำการปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ.2515 ปัจจุบันการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยพื้นที่ส่วนแรกบริเวณสนามหญ้าด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ทหารเรือและโดยรอบอาคารจัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ อาทิ รถสะเทินน้ำสะเทินบก เรือดำน้ำ อาคาร 1 นิทรรศการเทิดพระเกียรติพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จัดแสดงอาวุธประจำพระองค์ ตำรายา ตำราดูลักษณะม้า ภาพวาดฝีพระหัตถ์ อุปกรณ์เครื่องใช้ประจำพระองค์

นอกจากนั้นยังจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จอมพลเรือพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมบรมราชชนก และจอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในห้องสรรพาวุธจัดแสดงอาวุธแบบต่างๆ มีอาวุธโบราณ และอาวุธในยุคต่อมา ห้องเครื่องลายครามและห้องเครื่องแบบทหารเรือ อาคาร 2 ชั้นล่าง จัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ประเภทต่างๆ อาทิปืนสามล้อ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตอร์ปิโดแบบ 53 ก. ของ ร.ล.พระร่วง ปืนเที่ยง ปืนล้อสนามที่ทหารเรือเคยใช้ยิงเพื่อบอกเวลาเที่ยงวัน สมัยรัชกาลที่ 5 ชั้นจัดแสดงกระบวนเรือพระราชพิธี (จำลอง) นำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือในปี พ.ศ.2515 นอกจากนั้นจัดแสดงเครื่องมือเดินเรือ เรือรบของกองทัพเรือ(จำลอง) ชั้น 3 นิทรรศการพิเศษจัดแสดงเหตุการณ์ เช่น ยุทธนาวีเกาะช้าง การรบที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา (ร.ศ.112)


ข้อมูลจาก : แปลน รีดเดอร์ส. 100 พิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ-ปริมณฑล: โลกกว้างอยู่ไม่ไกล. กรุงเทพฯ : แปลนพริ้นติ้งแอนด์พับลิงชิ่ง, 2546. หน้า 122.
ชื่อผู้แต่ง:
-