ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม-มลายู บ้านปากลัด


ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม-มลายู บ้านปากลัด ตั้งอยู่ในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นชุมชนมุสลิมที่มีผู้คนอาศัยมากว่า 4,000 คน มีมัสยิดดารอสอาดะห์เป็นศูนย์กลาง และมีโรงเรียนสอนศาสนาในชุมชน เหตุที่มาของการก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมฯ เนื่องมาจากการค้นพบแผนผังบันทึกสายเครือญาติที่เป็นภาษามลายู ที่สืบย้อนไปได้ถึงบรรพบุรุษรุ่นแรกจากมลายูที่เป็นเชลย มาตั้งรกรากที่ปากลัด ผู้ที่บันทึกคือ อีหม่ามอับบาส แสงวิมาน (แชบะห์) ครูสอนศาสนาคนสำคัญในชุมชน แชบะห์เกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 มีชีวิตยืนยันถึงรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2406-2493) คนในชุมชนเกิดความสนใจสืบค้นหาบรรพบุรุษของตัวเอง และสืบประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตนเอง หลังการสืบค้นประวัติศาสตร์ชุมชนและการสะสมข้อมูลมากกว่าครึ่งศตวรรษ ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม-มลายู บ้านปากลัด เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างในปี พ.ศ. 2553 ได้รับงบประมาณสนับสนุนโดยอบจ.สมุทรปราการ โดยใช้พื้นที่ชั้นที่ 3 ของโรงเรียนสามัคคีธรรมอิสลามเป็นสถานที่จัดแสดง แล้วเสร็จและเปิดให้เข้าชมในเดือนมีนาคม ปี 2554 วัตถุประสงค์สำคัญของคณะทำงานคือ ต้องการให้ลูกหลานชุมชนมาเรียนรู้ และต้องการบรรจุการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ในหลักสูตรของโรงเรียนสอนศาสนา และอยากให้คนทั่วไปรู้จักว่ามีชุมชนมุสลิมในพระประแดง

ชื่อเรียกอื่น:
ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชชุมชนมุสลิมมลายูบ้านปากลัด
ที่อยู่:
โรงเรียนสามัคคีธรรมอิสลาม 26/43 หมู่ 18 ถ.นครเขื่อนขันธ์ ต.บางพึ่ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ 10130
โทรศัพท์:
คุณอนันต์ ทรงศิริ 089 – 106-9147 คุณสมเดช มัสแหละ 094-283-5283
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
anunsongsiri@gmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2553
ของเด่น:
บันทึกสายตระกูลในชุมชนบ้านปากลัด, บันทึกของครูสอนศาสนา
จัดการโดย:

ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม-มลายู บ้านปากลัด...

โดย: ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม-มลายู บ้านปากลัด

วันที่: 07 สิงหาคม 2564

ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม-มลายู บ้านปากลัด...

โดย: ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม-มลายู บ้านปากลัด

วันที่: 07 สิงหาคม 2564

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ที่มาของศูนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม-มลายูบ้านปากลัด

ก่อนอื่นต้องกล่าวถึงคณะทำงานศูนย์ข้อมูลเครือญาติสัมพันธ์ ซึ่งมีฮัจยีเลาะห์ เล้าเป็ด ครูสุอิ๊บ แสงวิมาน ฮัจยีฮำเดาะห์ วรรณจิยี ฮัจยีบดิน ระดิ่งหิน และบุคคลอื่น ๆ อีกหลายท่าน ที่ได้เก็บรวบรวมข้อมูลของอีหม่ามอับบาส แสงวิมาน (แชบะห์) ที่ได้บันทึกข้อมูลสายตระกูล เช่น สายอีหม่ามดอมูฮิ คอเตบดอมาลี บิหลั่นยะห์ยา และตระกูลแสงมาน เป็นภาษามลายู ส่วนกีกอเซ็มอิสลาม ได้บันทึกสายตระกูล โต๊ะวังมัรญัม โต๊ะวังญามีละห์ อีกสายหนึ่ง สายต่วนมูฮำหมัดซอและห์ ผู้บันทึกคือ แชมุด มัสแหละ

มาจนถึงประมาณปี พ.ศ. 2525 ได้มีบุคคลรุ่นต่อมา เช่น ครูสะอาด แสงวิมาน คุณสมเดช มัสยแหละ ฮัจยีวัฒนา เล็กบุญหล่อ ได้รวบรวมข้อมูลใหม่ โดยพิมพ์เข้าคอมพิวเตอร์ เพื่อง่ายต่อการเรียบเรียงข้อมูลสายตระกูล ซึ่งมีรายชื่อบุคคลอยู่จำนวนมาก แต่ด้วยกับภาวะทางเศรษฐกิจที่ทุกคนต้องมีภาระ จึงได้หยุดการทำงานลงเมื่อปี 2540

มาช่วงปี 2546 ได้มีการเปิดป้ายมัสยิดดารอสอาดะห์ หลังที่ 3 ได้มีการจัดทำนิทรรศการประวัติมัสยิดดารอสอาดะห์ จึงได้ค้นหาข้อมูลขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยคุณอนันต์ ทรงศิริ และคุณมุสตอฟา แสงมาน ได้ไปหาครูสะอาด แสงวิมาน ที่ได้เก็บรวบรวมข้อมูลไว้ และได้นำมาดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง

ในการทำงานช่วงนี้ก็มีปัญหาในเรื่องของประวัติชุมชนบ้านปากลัดอยู่เหมือนกัน เพราะบันทึกของสายตระกูลไม่ได้บอกปี พ.ศ. ไว้เลย ปัญหาคือ ชุมชนบ้านปากลัดมาอยู่ตั้งแต่เมื่อไร ปี พ.ศ. ไหน รัชกาลที่เท่าไร หลังจากนั้นคุณอนันต์ และทีมงานก็เริ่มสืบหาข้อมูลต่าง ๆ จากหลายแหล่งข้อมูล จากในหนังสือทางประวัติศาสตร์ไทย และสอบตามนักประวัติศาสตร์หลายท่าน ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนเท่าไรในเรื่องประวัติบ้านปากลัด จึงได้กลับไปดูที่รูปภาพที่ได้มา และสายตระกูล ในจำนวนรูปภาพที่ทางเราลงพื้นที่ในชุมชนบ้านปากลัด และชุมชนใกล้เคียง เช่น ทุ่งครุ โรงกระโจม บ้านแสงวิมาน (นครศรีธรรมราช) และอีกหลายที่

เราเก็บรวบรวมภาพเก่าได้ ประมาณ 1,000 กว่าภาพ ซึ่งมีอยู่ภาพหนึ่งเป็นภาพของโต๊ะวังตา ซึ่งเป็นคนรุ่นที่ 3 ของสานตระกูลคอเตบดามาลี เป็นภาพบอกถึงการแต่งกายในรัชกาลที่ 4 จึงสันนิษฐานว่าบรรพชนรุ่นแรกที่บ้านปากลัดน่าจะมาในสมัยรัชการที่ 1 ที่ปัตตานีแพ้สงครามสยาม และเป็นเชยศึกที่ถูกวาดต้อนมาอยู่ที่ปากลัด

ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เราได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง ใช้ชื่อเดิมว่า ศูนย์ข้อมูลรูสท์ (เครือญาติสัมพันธ์) เราทำงานและเก็บข้อมูลมา ถึงปี 2553 คณะทำงานเราหลายคนได้มีโอกาสเข้าไปบริหารมัสยิดดารอสอาดะห์ จึงได้มีมติของคณะกรรมการมัสยิดฯ ให้จัดทำโครงการวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-มลายู จากลุ่มน้ำปัตตานี สู่ ลุ่มน้ำปากลัด 224 ปี ณ บ้านปากลัด เมืองพระประแดง โดยมี ฯพณฯ สุรยุทธ จุลานนท์ องคมนตรี มาเป็นประธานเปิดโครงการฯ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2553 และในที่ 7 กุมภาพันธ์ นายอำนวย รัศมิทัศ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ได้มาเปิดป้ายศุนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม – มลายูบ้านปากลัด

หลังจากนั้นเราได้ทำโครงการเพื่อของบประมาณไปยังนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อจัดทำศูนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม – มลายูบ้านปากลัด ประมาณ 1 ปี เราได้งบประมาณมา 1,060,000 บาท และดำเนินการจัดทำศูนย์วัฒนธรรมฯ แล้วเสร็จ ในเดือนมีนาคม 2554

เราได้เปิดให้เข้าชมมาแล้วประมาณ 2 ปี และได้มีองค์ต่าง ๆ เยี่ยมชมศูนย์มาแล้วประมาณ 20 สถาบัน และบุคคลทั่วไปอีกจำนวนมาก

คณะกรรมการศูนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม-มลายูบ้านปากลัด

นายสุมิตร อาจหาญ                          ประธาน

นายนวาวี ตระกูลมาลี                        รองประธาน

นายสรรเสริญ สาโรวาท                      เลขานุการ

นายอนันต์ ทรงศิริ                            เหรัญญิก

นายอรุณ กะดามัน                           กรรมการ

นายอำนวย ปรีชาศิลป์                       กรรมการ

นายสามารถ เลาะเด                          กรรมการ

นายมานะ นาอุดม                            กรรมการ

นายสมเดช มัสแหละ                         กรรมการ

นายสาโรจน์ โก๊ะแอ                          กรรมการ

นายประเสริฐ ขำทองทับ                     กรรมการ

นายสมหวัง เผ่าโนรี                           กรรมการ

นายอาดำ โอฐสร้อยสำอาง                   กรรมการ

ชื่อผู้แต่ง:
อนันต์ ทรงศิริ

ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม-มลายู บ้านปากลัด

เมื่อกล่าวถึงพระประแดง คนส่วนใหญ่มักนึกถึงชุมชนมอญ มีเพียงคนส่วนน้อยที่จะคิดถึงหรือรู้จักว่ามีกลุ่มคนมุสลิมมลายูอาศัยอยู่ในพระประแดงมาช้านาน คนกลุ่มดังกล่าวนิยามตัวเองว่ามีบรรพบุรุษอพยพมาจากปัตตานีแต่ตั้งสมัยรัชกาลที่ 1 ครั้งที่สยามมีชัยชนะเหนือปัตตานี

ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม-มลายู บ้านปากลัดตั้งอยู่ในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นชุมชนมุสลิมที่มีผู้คนอาศัยมากว่า 4,000 คน  ประกอบด้วยผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม และคนไทยพุทธ รวมไปถึงแรงงานต่างด้าว แต่ส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นมุสลิม ในอดีตชุมชนมุสลิมปากลัดใช้ภาษามลายูสื่อสารในชีวิตประจำวัน มีมัสยิดดารอสอาดะห์เป็นศูนย์กลาง และมีโรงเรียนสอนศาสนาในชุมชน

เหตุที่มาของการก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมฯ เนื่องมาจากการค้นพบแผนผังบันทึกสายเครือญาติที่เป็นภาษามลายู ที่สืบย้อนไปได้ถึงบรรพบุรุษรุ่นแรกจากมลายูที่เป็นเชลย มาตั้งรกรากที่ปากลัด ผู้ที่บันทึกคือ อีหม่ามอับบาส แสงวิมาน (แชบะห์) บุคคลสำคัญในชุมชน แชบะห์เกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 มีชีวิตยืนยันถึงรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2406-2493) เขาเป็นครูสอนศานา เป็นผู้อาวุโสที่เป็นที่เคารพในชุมชน

ความสนใจสืบค้นหาบรรพบุรุษของตัวเอง หลังแชบะห์เสียชีวิต คนในชุมชนตั้งคณะทำงานเพื่อสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเอง มีการทำทำงานต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น จนถึงรุ่นที่สองที่สานต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 แต่ทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง หยุดการทำงานไปในช่วงเมืองไทยประสบปัญหาพิษเศรษฐกิจในปี 2540 คณะทำงานมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ ต่อมาในปี 2546 การทำงานได้ฟื้นอีกครั้ง คณะทำงานใช้ชื่อเดิมว่า ศูนย์ข้อมูลรูสท์(เครือญาติสัมพันธ์)  บริบทสำคัญคือ มีการเปิดมัสยิดหลังที่ 3 ดารอสอาดะห์  ชุมชนจัดนิทรรศการงานประวัติมัสยิด  มีการนำสายตระกูลมาดู  แล้วพบว่าคนในชุมชนไม่รู้ประวัติศาสตร์ตัวเอง อธิบายตัวเองไม่ได้ว่ามาจากไหน ทำให้เกิดคณะทำงานรุ่นที่ 3 เพื่อมาสืบค้นประวัติศาสตร์ใหม่ ทั้งสายเครือญาติ และประวัติศาสตร์ชุมชน ซึ่งพวกเขาพบว่าประวัติศาสตร์กระแสหลักไม่มีข้อมูลมุสลิมปากลัด

นอกจากนี้ด้วยมัสยิดหลังปัจจุบัน ที่สร้างเมื่อปี 2546 มีสถาปัตยกรรมสไตล์อาหรับ คนในชุมชนรู้สึกว่ามัสยิดดังกล่าวขาดสัญลักษณ์ที่บ่งบอกรากเหง้าความเป็นมลายู ซึ่งต่างกับมัสยิดหลัง 2 ที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมระหว่างไทยกับมลายู คือมีหน้าจั่วไทยแต่ยอดโดมเป็นแบบมลายู  ทำให้คนในชุมชนฉุกคิดได้ว่าสัญลักษณ์มลายูซึ่งเป็นรากเหง้าของตนเองกำลังหายไป กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้สืบประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตนเอง และยอดโดมมัสยิดหลังที่ 2 ยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของศูนย์วัฒนธรรมฯ

หลังการสืบค้นประวัติศาสตร์ชุมชนและการสะสมข้อมูลมากกว่าครึ่งศตวรรษ ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม-มลายู บ้านปากลัดเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างในปี พ.ศ. 2553  ได้รับงบประมาณสนับสนุนโดยอบจ.สมุทรปราการ โดยใช้พื้นที่ชั้นที่ 3 ของโรงเรียนสามัคคีธรรมอิสลามเป็นสถานที่จัดแสดง แล้วเสร็จและเปิดให้เข้าชมในเดือนมีนาคม ปี 2554  วัตถุประสงค์สำคัญของคณะทำงานคือ ต้องการให้ลูกหลานชุมชนมาเรียนรู้ และต้องการบรรจุการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ในหลักสูตรของโรงเรียนสอนศาสนา และอยากให้คนทั่วไปรู้จักว่ามีชุมชนมุสลิมในพระประแดง 

ศูนย์วัฒนธรรมฯ พยายามสืบค้นข้อมูลวัฒนธรรมของตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากคนในท้องถิ่นและเดินทางไปเก็บข้อมูลในชุมชนอื่นๆ   และยังพยายามจัดกิจกรรมเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง เช่น มีการจัดนิทรรศการชั่วคราวจัดแสดงหน้ามัสยิด หรือตามจุดต่างๆ ในชุมชน เวลามีงานประเพณีสำคัญ และยังมีการจัดงานระดมทุนเพื่อหารายได้เข้าศูนย์ฯ อย่างสม่ำเสมอ  นอกจากนี้ยังพัฒนาเว็บไซต์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลประวัติศาสตร์ของชุมชน นอกเหนือจากนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีพื้นที่จำกัด

ภายในศูนย์วัฒนธรรมฯ จัดแสดงเล่าเรื่องความเป็นมา ตั้งแต่ความรุ่งเรืองปัตตานี จนเมื่อสยามในสมัยรัชกาลที่ 1 ไปตีปัตตานีและกวาดต้อนเชลยศึกขึ้นมา ผูกโยงไปถึงการตั้งชุมชนมุสลิมปากลัด ความสัมพันธ์กับราชสำนักสยาม ผังเครือญาติ สายตระกูล ที่ได้มาจากบันทึกแชบะห์ ถอดมาได้ 4 สาย สืบได้ถึง 229 ปีที่แล้ว กระจายจากปากลัดไปทุ่งครุ ปทุมธานี อยุธยา นครศรีธรรมราช  บุคคลสำคัญตำแหน่งจุฬาราชมนตรีที่เป็นคนมุสลิมปากลัด คือ ครูต่วน พรมยงค์  รวมไปถึงวิถีชีวิตประจำวันของคนธรรมดา มีข้าวของจัดแสดงเช่น  ไม้ที่ปักกุโบร์หลุมศพ  หม้อแกงขนาดใหญ่ เครื่องกระเบื้อง เป็นต้น

เรียกได้ว่าศูนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม-มลายู บ้านปากลัดเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนที่เป็นคนเล็กคนน้อยได้มีโอกาสเล่าเรื่องประวัติศาสตร์รากเหง้าของตนเอง ที่ขาดหายไปในหน้าประวัติศาสตร์กระแสหลัก

ปณิตา สระวาสี เขียน

ข้อมูลจาก:
http://www.melayupaklad.org
วิภาวี พงษ์ปิ่น,2558. ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนมุสลิม-มลายู บ้านปากลัด: สำนึกรับรู้อดีตของคนมุสลิมมลายูในสังคมเมือง. การประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ พิ(ศ)พิธภัณฑ์ Museum Refocused3-4 กันยายน 2558,เข้าถึงจาก https://www.youtube.com/watch?v=8Sf7xVkkHuk.
 
 
ชื่อผู้แต่ง:
-