พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขุนสมุทรจีน


ที่อยู่:
67 หมู่ 9 บ้านขุนสมุทรจีน ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ 10290
โทรศัพท์:
085-0200024, 086-5675296
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2550
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

รายงานการวิจัยและพัฒนา การจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนของชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

ชื่อผู้แต่ง: พรรณี แพ่งกุล และคณะ | ปีที่พิมพ์: 2550

ที่มา: กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนสมุทรจีน

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 26-10-2551

ที่มา: ข่าวสด

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

หมู่บ้านขุนสมุทรจีนมีอายุกว่า 300 ปีมาแล้ว ตั้งอยู่บนแหลมขนาดเล็กที่ยื่นออกไปในทะเล อดีตเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าจากเรือสำเภาจีน บริเวณใกล้กับปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นเส้นทางผ่านของเรือสินค้าและเรือพาหนะของประเทศต่างๆ เข้าสู่บางกอกและกรุงศรีอยุธยา ประชากรส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษเป็นชาวจีนอพยพมากับเรือสำเภา ส่วนใหญ่มาค้าขายบริเวณวัดแหลมฟ้าผ่าเดิม 

ปัจจุบันหมู่บ้านขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่วิกฤติที่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง แต่เดิมเป็นพื้นที่ยื่นไปในทะเลมากกว่าปัจจุบันกว่า 4 กิโลเมตร สามารถปลูกผัก ผลไม้ได้ และทำประมง เดินเรือได้ดี คล้ายกับเมืองปากน้ำ สมุทรปราการ ภายหลังเกิดการพังทลายของดินและเกิดปัญหาน้ำท่วม เนื่องมาจากการใช้เรือขุดขุดโคลนสันดอนไปทิ้งกลางทะเล จึงทำให้ดินชายฝั่งไหลเลื่อนลงสู่ทะเลจมหายไป ร่วมกับกับการตัดไม้ป่าชายเลน และภาวะโลกร้อน ชาวบ้านที่อยู่ริมน้ำต้องย้ายบ้าน 10 ปีต่อครั้ง บางบ้านย้ายมาครั้งที่ 7 เข้ามาอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินเรื่อยๆ รวมทั้งเกิดภัยธรรมชาติมากมาย เช่นคลื่นยักษ์ น้ำเค็ม จำนวนสัตว์น้ำน้อยลง แผ่นดินทรุด 

การจัดทำพิพิธภัณฑ์เริ่มต้นจากการที่ชาวบ้านพบเศษซากวัตถุโบราณบริเวณป่าชายเลน ทางด้านทิศใต้ที่ติดกับวัดขุนสมุทรทราวาสและบริเวณชายฝั่งไปจนถึง หมู่ที่ 8 บ้านแหลมสิงห์ พบเศษซากวัตถุโบราณ ประเภทถ้วยชามกระเบื้อง ไห ซากเตาเผาโบราณ เครื่องใช้ เครื่องประดับและเงินตราที่ใช้แลกเปลี่ยนในสมัยโบราณ นอกจากนี้ยังพบทองรูปพรรณ เช่น แหวนทองคำ สร้อยข้อมือ เบี้ยและเหรียญกษาปณ์รัชกาลต่าง ๆ ซึ่งได้ทำการสำรวจแล้วคาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี ปัจจุบันยังพบเศษถ้วย ชาม ไหโบราณปะปนอยู่ในสุสานหอยและชายฝั่งทะเลอีกมากมาย โดยวัตถุโบราณที่พบส่วนใหญ่มีสภาพชำรุด แตกหักเสียหาย เพราะชาวบ้านไม่ทราบถึงกรรมวิธีในการเก็บรักษาที่ถูกต้อง มีเพียงส่วนน้อยที่พบแล้วนำมาเก็บรักษาอย่างถูกวิธีก็จะคงสภาพที่สมบูรณ์ ปัจจุบันโบราณวัตถุเหล่านี้เก็บรวบรวมไว้ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน และบ้านผู้ใหญ่สมร เข่งสมุทร

เครื่องถ้วยชามที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นเครื่องถ้วยชามจีน พบเครื่องถ้วยชามเวียดนามและของไทยบ้างแต่น้อย เครื่องถ้วยชามจีน ประกอบด้วย ถ้วย โถ จานชามและช้อน เป็นเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งเขียนสีครามใต้เคลือบ แบ่งเป็นลวดลายได้ 24 รูปแบบ อาทิ ถ้วยชามสีขาวภายนอกมีลายครามเขียนลวดลายด้วยเส้นอิสระลายก้านขดสลับกับตัวอักษรจีน "ซ่วงสี่" แปลว่า มงคลคู่ กำกับ ด้านในไม่มีลวดลาย จากแหล่งเตาเต๋อฮั่ว มณฑลฝูเจียน สมัยราชวงศ์ชิงตอนปลาย เป็นต้น 

เครื่องเคลือบและเครื่องปั้นดินเผาอื่นๆ อาทิ ไหดินเผาเคลือบน้ำยาเคลือบ สีดำ สีน้ำตาล จากแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย
จังหวัดสิงห์บุรี หม้อตาล หม้อดินเผาสีน้ำตาล กระปุกดินเผา เต้าปูน เครื่องประดับ อาทิ แหวน กำไลสำริด กำไรแก้ว  นอกจากนี้ภายในพิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงเครื่องมือและเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น เครื่องชั่งจีน เครื่องโม่แป้ง เรือพาย เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เป็นต้น และยังจัดแสดงแผนที่การเดินทางของบรรพบุรุษ บรรพบุรุษของประชาชน

หมู่บ้านขุนสมุทรจีนส่วนหนึ่งมาจากมณฑลกวางตุ้งและโบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่พบที่นี่มาจากมณฑลฝูเจียนหรือฝูโจว 
พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน บริหารจัดการโดยคนท้องถิ่น เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ศิลปะวัฒนธรรม วิถีชีวิต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์ ธรรมชาติวิทยาและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในชุมชน  โดยเริ่มต้นมาจากการประชุมเวทีประชาคมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2550 ได้มีชี้แจงทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ วิธีการดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ การสอบถามความคิดเห็น
ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์จากคนในชุมชน โดยได้รับความช่วยเหลือในการจัดทำพิพิธภัณฑ์จากองค์การบริหารส่วนตำบล มูลนิธิเล็ก-ประไพ  ด้านวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี มหาวิทยาลัยศิลปากร สำหรับการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ มีการจัดแบ่งคณะกรรมการและบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายมัคคุเทศก์ ฝ่ายสถานที่ ฝ่ายการเงินและจัดหาทุน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดมาจากความร่วมมือของคนในชุมชนเอง


ข้อมูลจาก: 
http://www.khunsamutchin.com/ [accessed 20081112]
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี. การจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนของชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ,กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี, 2551. หน้า 69-93
ชื่อผู้แต่ง:
-