ศูนย์ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับผ้าและสิ่งถักทอไทยวน (บ้านเฮาเสาไห้)


ที่อยู่:
เลขที่ 27/2 หมู่ที่ 1 ตำบลพระยาทด อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี 18160
โทรศัพท์:
0871211232
วันและเวลาทำการ:
จันทร์-ศุกร์ 8.30-16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2545
ของเด่น:
ผ้าทอไท-ยวน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับผ้าและสิ่งถักทอไทยวน (บ้านเฮาเสาไห้)

การสนทนากับ “พี่เจี๊ยบ” หรือสุพัตรา ชูชม แล “พี่เอก” หรือวรวิทย์ ชูชม ตลอดระยะเวลาสองชั่วโมงกว่า เกี่ยวกับศูนย์ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับผ้าและสิ่งถักทอไทยวน ช่วยให้เข้าใจเครือข่ายของคนทำงานวัฒนธรรมไท-ยวน ในจังหวัดสระบุรี และความพยายามของคนรุ่นใหม่ในการฟื้นฟูหัตถศิลป์ที่เกือบจะสูญหายไปจากชุมชน

พื้นหลังชีวิตและความสนใจในงานวัฒนธรรมไท-ยวน

พี่เจี๊ยบบอกเล่าถึงความเป็นลูกหลานไท-ยวน  “ตนเองเป็นไท-ยวนรุ่นที่ 6 เมื่อเรียนจบ ป.6 เดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อเรียนต่อในระดับปริญญาตรีในด้านการออกแบบ และทำงานที่นั่น จนพบกับคุณเอก เมื่อย่างเข้าวัย 40 แม่ไม่สบายจึงต้องกลับมาดูแล ในที่สุดตัดสินใจเปิดร้านอาหารเล็ก ๆ และเริ่มคลุกคลีกับอาจารย์ทรงชัย วรรณกุล (เป็นปราชญ์ท้องถิ่นที่ขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมคนสำคัญของเสาไห้ สระบุรี ปัจจุบัน เสียชีวิตแล้ว)” ความสนใจเกิดขึ้นจากคำที่อาจารย์ทรงชัยเปรยว่า “หากไม่มีคนสืบทอดผ้าเก็บ หรือที่คนไทยภาคกลางเรียกว่า ผ้าจก แบบไท-ยวน ไว้แล้ว อาจจะสูญหายวันข้างหน้า” พี่เอกกล่าวถึงเส้นทางที่ทั้งสองให้ความสนใจกับผ้าทอผืนเมืองของชาวไท-ยวน

แม่ ๆ รวมตัวกันในช่วงปี 30 ประมาณสามคนที่คงสามารถทอผ้าเก็บได้ จึงขอให้ถ่ายทอดให้กับเจี๊ยบ รวมทั้งความประทับใจที่มีต่อหนังสือที่รวบรวมผ้าทอมือที่สวยงาม เป็นหนังสือของอาจารย์บุญชัย พรเจริญบัวงาม เกี่ยวกับความรู้ 8 เมืองเชียงแสน เป็นความรู้เกี่ยวกับผ้าซึ่งเป็นรากเหง้าของชาวเมืองเชียงแสน ที่หอบหิ้วมาถึงสระบุรี หากเทียบเคียงอายุผ้า น่าจะมีอายุราวสองร้อยกว่าปี


พี่เจี๊ยบเริ่มเรียนการทอผ้าสี่เขา ผ้าผืน ผ้ามุก จากนั้น ปี 45 เริ่มติดต่ออาจารย์จงจรูญ มโนธรรม ผู้เป็นบุคคลสำคัญในการฟื้นฟูผ้าไท-ยวน เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคการทอผ้าเก็บ “เจ็ดเดือนหลังจากนั้น ตีนซิ่นผืนแรกของเจี๊ยบก็เสร็จ ความยาวหนึ่งเมตรแปดสิบเซ็นติเมตร” คำบอกเล่าของพี่เจี๊ยบสะท้อนความกระตืนรือร้นและความอุตสาหะในการทำงาน จนกล่าวในช่วงตอนหนึ่งว่า “การจะทำอันนี้ ต้องออกบ้า ๆ หน่อย ถึงจะดันตัวเองไปถึงจุดนั้นได้ เพราะไม่สามารถยังชีพด้วยการทอผ้า ณ ตอนนั้น”

ในระยะต่อมา มีหน่วยงานภายนอกนั่นคือ กรมหมอนไหม สำนักงานสระบุรี เข้ามาสนับสนุนเกี่ยวกับความรู้เรื่องของไหม พี่เจี๊ยบกล่าวถึงช่วงเวลาของการรวมตัวเพื่อถ่ายทอดผ้าทอดั้งเดิมสู่คนในวงกว้าง “เรามาเรียนรู้ร่วมกัน ในระยะนั้น ป้า ๆ แต่ละคนจะมีความเชี่ยวชาญในเทคนิคการทอไปคนละอย่าง เจี๊ยบยึดเอาเรื่องผ้าเก็บเป็นหลัก จนรู้ว่าต้องปรับเทคนิคอย่างไร ปรับอุปกรณ์อย่างไร จนนำมาสู่ความพยายามในการรวมกลุ่มเพื่ออบรมให้กับผู้ที่สนใจการการทอผ้าทั้งสี่แบบ (ผ้าเก็บ ผ้าผืน ผ้ามุก ผ้าสี่เขา) คนในชุมชนที่เกษียณจากการทำงานประจำในโรงงาน เริ่มมาเรียนรู้”

“ต้องเกิดจากความอยาก เกิดจากใจก่อน หากไม่มีใจแล้ว ไปต่อไม่ได้จริง ๆ” พี่เอกสำทับให้เห็นถึงการทำงานของคนในชุมชน ที่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยง่าย และหากจะทำให้การทอผ้าดั้งเดิมได้รับการสืบต่ออย่างยั่งยืนนั้น นับเป็นเรื่องท้าท้ายอย่างยิ่ง “ปัจจุบัน สระบุรีกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม เด็กสาวโดยส่วนใหญ่เลือกทำงานประจำ ทำงานโรงงาน เราไม่สามารถรั้งไว้ได้ เพียงแต่เราถ่ายทอดให้กับเด็ก ๆ ที่สนใจ และหวังให้ความรู้เหล่านี้ติดตัว และสามารถใช้ทำมาหากินได้ในอนาคต อย่างศิษย์คนแรกที่เป็นวัยรุ่น มาเรียนตอนในช่วงมัธยมฯ 5-6 และเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ในระหว่างปิดภาคเรียน เมื่อกลับมาบ้าน ในระยะเวลาหนึ่งเดือน ทำเงินได้ถึงสองหมื่นบาท” แม้จะมีคนมาเรียนรู้การทอผ้าดั้งเดิม เพื่อสืบทอดไม่ให้ภูมิปัญญาเหล่านี้สูญหายไม่มากนัก แต่ทั้งพี่เจี๊ยบและพี่เอกกล่าวด้วยความภาคภูมิใจในการตัดสินใจมาเดินทางในเส้นทางงานวัฒนธรรมที่เริ่มขึ้นเมื่อกว่ายี่สิบปีแล้ว

พิพิธภัณฑ์เล็กและโฮงย้อม : งานที่ทำด้วยใจยิ่งใหญ่

ตั้งแต่เริ่มทอผ้า พี่เจี๊ยบเริ่มสนใจการสะสมผ้า บางครั้งแม่ ๆ ที่ทอผ้าในกลุ่ม นำผ้าที่ทอมาขาย จึงซื้อเก็บและสะสมไว้ บางครั้ง มีการซื้อชิ้นส่วนของกี่ทอผ้า เพื่อไม่ให้ชาวบ้านนำไปเผาเป็นฟืน “บางหลังมีอายุเป็นร้อยปี เห็นร่องรอยของฝีมือของคนที่สลักเสลาบางชิ้นส่วนในกี่ไว้อย่างสวย”

จนในที่สุด ในระยะที่กรมหม่อนไหมฯ เริ่มเข้ามาสนับสนุนงานต่าง ๆ ชักชวนในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในบริเวณบ้าน ที่ปัจจุบัน เปิดเป็นทั้งสถานที่ในการทำผ้าทอและร้านอาหาร เนื่องจากพี่เจี๊ยบเป็นสถาปนิก จึงสามารถดัดแปลงพื้นที่บางส่วนของร้านอาหาร ให้กลายเป็นแกลลอรี่ขนาดเล็ก ๆ เพื่อนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับคนไท-ยวนสระบุรี วัฒนธรรมผ้าทอ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

พิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ แห่งนี้ เป็นโครงสร้างเหล็กที่ต่อขึ้นอย่างเรียบง่าย แต่แข็งแรง บันไดขนาดเท่าหนึ่งคนเดินขึ้นไปยังชั้นลอย ที่มีพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เริ่มต้นเนื้อหาการนำเสนอเกี่ยวกับความเป็นมาของคนยวน กล่าวถึงการอพยพของคนยวนไปอยู่เวียงจันทน์ แล้วถูกกวาดต้อนมาในสมัยรัชกาลที่ 2 เรื่องราวได้รับการจารึกบนจิตรกรรมฝาผนังของวัดสมุห์ประดิษฐาราม

จากนั้นเป็นการจัดแสดงความหมายและความสำคัญของผ้าทอกับคนยวน ประกอบด้วยบอร์ดและชิ้นผ้าที่เป็นทั้งงานทอของพี่เจี๊ยบเองและผ้าจากการสะสม พี่เจี๊ยบให้คำอธิบายเกี่ยวกับการทอผ้าและลวดลายของผ้าที่เชื่อมโยงกับพุทธศาสนาไว้อย่างน่าสนใจ

ซิ่นเก็บผืนนี้ ทอขึ้นด้วยตนเอง จากการแกะลายจากผ้าเก่า นกฮูกกินน้ำ เป็นนกตัวสีน้ำเงิน หัว คา เท้า หาง ตัวที่หนึ่ง ตัวที่สอง แล้วก็มีน้ำต้น นกฮูกที่กินน้ำร่วมต้น หมายถึงความสมัครสมานสามัคคี ...ผู้หญิงยวนทอซิ่นผืนแรกคือเก้าขวบ ลวดลายที่ปรากฏถือเป็นการปฏิบัติบูชา เพราะผู้หญิงบวชไม่ได้ การปฏิบัติบูชาให้เข้าใกล้พุทธศาสนาที่สุด ซิ่นคนยวนนั้นสีแดง หมายถึง สวรรคภูมิ ลายตรงกลางคือเขาพระสุเมรุ สถานที่ประดิษฐ์พระเกตุแก้วจุฬามณีที่เคารพสูงสุด สิ่งที่ลายล้อมลายพวกนี้เป็นมหานทีสีทันดร ตอนล่างของภาพ คือ สะเปา หรือสำเภา เป็นพาหนะแสวงบุญ สำเภากำลังแหวกในน้ำเพื่อเข้าถึงสิ่งสูงสุดในชีวิต

นอกเหนือจากผ้าทอแล้ว ยังมีการทำหน้าหมอน ซึ่งหญิงชาวยวนจะต้องเตรียมไว้ อย่างในบ้านคหบดี จะมีใบหนึ่งสำหรับเจ้าของบ้าน อีกใบหนึ่งสำหรับผู้มาเยือน พี่เอกกล่าวเสริมว่า “การปักหมอนเพิ่งฟื้นงานฝีมือได้ราวสองปีนี้ ตัวอย่างดั้งเดิมเก็บอยู่ที่บ้านอาจารย์ทรงชัย ให้น้องที่ทำงานในวังมาสอนเรื่องหมอน ...ลวดลายปรากฏในพับสา และในภาพถ่าย ทั้งหมดพบลายหน้าหมอนดั้งเดิมจำนวน 9 แบบ”

สิ่งจัดแสดงอื่น ๆ บนพิพิธภัณฑ์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้า เช่น มะล้อ “ลวดลายที่ปรากฏบนส่วนประกอบของกี่นั้น สะท้อนให้เห็นความรักของชายที่มีต่อหญิงที่ตนรัก และหญิงเองทอผ้าให้กับชายที่ตนรักอย่างสุดฝีมือด้วยเช่นกัน ...ความรักนั้นวนอยู่รอบกี่” พี่เจี๊ยบถ่ายทอดความหมายที่ลึกซึ้งของอุปกรณ์ทอผ้า ที่ไม่เพียงเห็นส่วนประกอบต่าง ๆ ทั้งมะล้อ ไม้เก็บผ้า กระสวย ที่จัดแบ่งไว้เป็นกลุ่ม และจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบสวยงาม

นอกเหนือจากส่วนการจัดแสดงบนชั้นลอยแล้ว ยังมีโรงย้อมผ้าที่พัฒนาขึ้นเพื่อการเรียนรู้และทดลองการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ และกลายเป็นสถานที่ให้น้อง ๆ นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไท-ยวน เพิ่มเติมจากการทอผ้า

กิจกรรมที่สร้างความเคลื่อนไหว

ในหลายปีนี้ การฟื้นฟูผ้าทอไท-ยวนที่ร่วมมือกับคนในพื้นที่และหน่วยงานที่สนับสนุนจากภายนอก เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำงาน พี่เจี๊ยบให้คำอธิบายถึงความสำคัญในการสร้างเครือข่ายกับคนกลุ่มอื่น ๆเพื่อทำให้งานผ้าทอมือได้รับความสนใจ และกลายเป็นเม็ดเงินกลับมา ให้กับสมาชิกที่ร่วมกันทำงาน อย่างเช่นเมื่อ พ.ศ.2556-2557 ได้มีโอกาสร่วมเดินทางกับกระทรวงวัฒนธรรม ในการแสดงผ้าทอในต่างประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ ในระดับท้องถิ่นเอง พี่เจี๊ยบเข้าไปสอนการทอผ้าให้กับนักเรียนในโรงเรียนประจำอำเภออยู่เป็นครั้งคราว

ส่วนในเชิงการตลาด ปัจจุบันสื่อออนไลน์มีส่วนช่วยสนับสนุนให้งานฝีมือได้รับความสนใจ และเพิ่มรายได้ให้กับป้า ๆ ที่สร้างผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น การปรับเปลี่ยนในการใช้สีย้อมจากวัสดุธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนนอกที่ให้ความสนใจกับงานฝีมือ และจัดงานแสดงสินค้าในลักษณะตลาดแลกเปลี่ยนกับกลุ่มลูกค้าเฉพาะ เช่น ลิตเติ้ลทรีที่ดำเนินการโดยเอกชนในจังหวัดนครปฐม ที่มีการคัดสรรงานฝีมือ เพื่อเปิดกลุ่มตลาดที่มีกำลังซื้อ และจัดสภาพตลาดให้เป็นทั้งร้านกาแฟและลานขายงานฝีมือ ผู้จะเข้าไปขายได้จะต้องส่งโปรไฟล์ของต้นเองให้พิจารณา”

การเปิดตลาดใหม่ ๆ ช่วยให้งานฝีมือที่ใช้ทั้งแรงกายและแรงใจกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าและมีคุณค่าทางจิตใจ และยังเป็นโอกาสให้ทั้งสองพบกับเพื่อนร่วมทาง ได้แลกเปลี่ยนความคิดใหม่ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ นับเป็นมิติสำคัญในการทำงานวัฒนธรรมที่ต้องสร้างผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจ ศูนย์ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับผ้าและสิ่งถักทอไท-ยวน สระบุรี จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เสริมให้ทั้งงานวัฒนธรรม งานพิพิธภัณฑ์ เดินเคียงข้างไปกับเศรษฐกิจของผู้สืบสานวัฒนธรรม.

ชื่อผู้แต่ง:
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ