หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี


ที่อยู่:
กม.3 ถ.สายสระบุรี-ปากบาง บ้านโตนด ต.ดาวเรือง อ.เมือง จ.สระบุรี 18160
โทรศัพท์:
036-725224
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2530
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ผ้าทอเผ่าไทสิ่งโยงใยทางวัฒนธรรม

ชื่อผู้แต่ง: ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง. | ปีที่พิมพ์: ปีที่ 34, ฉบับที่ 1 (ก.ค. 2540) : หน้า 33-35

ที่มา: วัฒนธรรมไทย.

แหล่งค้นคว้า: มศก. วังท่าพระ

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

ผ้าซิ่น : สิ่งทอที่สะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนไท.

ชื่อผู้แต่ง: ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง. | ปีที่พิมพ์: ปีที่ 7, ฉบับที่ 4 (เม.ย.-พ.ค. 2537) : หน้า 13-18

ที่มา: พิพิธภัณฑ์สาร.

แหล่งค้นคว้า: มศก. วังท่าพระ

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

พิพิธภัณฑ์ไทยวนที่เสาไห้ สระบุรี

ชื่อผู้แต่ง: กฤช เหลือลมัย | ปีที่พิมพ์: ปีที่ 23 ฉบับที่ 11 ก.ย. 2545

ที่มา: วารสารเมืองโบราณ

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี

ริมถนนสายสระบุรี-ปากบาง เลียบเคียงกับลำแม่น้ำป่าสัก บริเวณกิโลเมตรที่ 3 บ้านโตนด เป็นที่ตั้งของหอวัฒนธรรมพื้นบ้าน ไทยวน สระบุรี ก่อตั้งขึ้นโดย อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล ผู้มีเชื้อสายไทยวนสระบุรี เดิมท่านเป็นอาจารย์โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม ที่รับผิดชอบดูแลศูนย์วัฒนธรรมประจำจังหวัดสระบุรี ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ(สวช.) ปัจจุบันเป็นประธานชมรมไทยวน สระบุรี
 
หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี เป็นหมู่เรือนไทยโบราณที่หาชมได้ยากยิ่งในปัจจุบัน เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติพันธุ์ไทยวน ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรม จัดประชุมสัมมนาจัดเลี้ยงแบบวัฒนธรรมทางล้านนา (ขันโตก และฝึกอบรมเยาวชนให้เรียนรู้ศิลปะการแสดง ภูมิปัญญาพื้นบ้านชาวไทยวน เช่น การฟ้อน การตัดกระดาษ การทำอาหาร งานใบตอง เดิมอาจารย์ใช้บ้านเรือนไทยของตัวเองซึ่งอยู่อีกฝากหนึ่งของถนน ตรงข้ามกับที่ตั้งในปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของหอวัฒนธรรม เปิดให้เข้าชมอย่างไม่เป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2530 ต่อมาจึงขยับขยายพื้นที่มายังฝั่งตรงข้าม ริมแม่น้ำป่าสัก 
 
อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล เริ่มสะสมสิ่งของพื้นบ้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือนไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 อาทิ เรือนของเจ้าเมืองสระบุรี  เรือนของเสือคง โจรเลื่องชื่อในอดีตในจังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากนี้ยังมีผ้าทอโบราณอีกหลายร้อยผืน ที่อาจารย์ภาคภูมิใจ โดยบอกว่า “ถ้าไม่ได้เก็บของพวกนี้ ปัจจุบันก็สูญหายหมด ไม่มีตัวอย่างให้เห็น” และบริเวณท่าน้ำหน้าบ้านยังเป็นที่เก็บและจัดแสดงเรือชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ลุ่มน้ำป่าสักและภาคกลางกว่า 20 ลำ โดยใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์เรือลุ่มน้ำป่าสัก” 
 
จากความเสียดายภาษาและวัตถุที่จะสูญหายไปนี้เอง อาจารย์ทรงชัยจึงตั้งชมรมไทยวน สระบุรี ในปี พ.ศ. 2536 โดยทำงานแบบ 3 ประสาน “บ ว ร” คือร่วมกับบ้าน-วัด-โรงเรียน ภายใต้แนวคิด “3 ส” คือ 
 
1. สืบหา ว่าพวกเรามาอยู่กันได้อย่างไร โดยสืบสาวจากความเป็นมาของภาษาที่คล้ายคลึงกับคนเหนือ จากคำเรียกตัวเองว่าเป็น คนยวน นอกจากนั้นพวกเราได้ลงไปเชียงแสนเพื่อสอบถามผู้รู้ เพราะในพงศาวดารได้กล่าวถึงคนยวนว่าเป็นคนเชียงแสนที่อพยพลงมา
 
2. สืบสาน ฟื้นฟู รักษา ส่งเสริม เผยแพร่ พัฒนา กลุ่มชาติพันธุ์
 
3. เสริมสร้าง ความสัมพันธ์อันดีระหว่างกลุ่มวัฒนธรรม
 
“หาเพื่อนเกลอเครือข่าย ประชาสัมพันธ์ขยายผล ให้เยาวชนสืบสาน ทำงานต่อเนื่อง มีเรื่องต่อยอด”
 
กิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ทางชมรมพยายามรื้อฟื้นและพยายามจัดประจำทุกปี คือการจัดงานบุญสลากภัต โดยนำเอางานบุญสลากภัตมาเป็นสื่อกิจกรรมตอนกลางวัน ส่วนในเวลากลางคืนจะมีงานขันโตก ภายใต้คำรณรงค์ว่า “มาฟู่(พูด)ยวนกั๋นเต๊อะ” โดยในปีแรกของการจัดกิจกรรม เป็นการรณรงค์ให้คนพูดภาษาถิ่น เพราะในปัจจุบันผู้คนมองไม่เห็นความสำคัญของสิ่งนี้แล้ว ส่วนในปีต่อมาเป็นเรื่องผ้าทอพื้นบ้าน ปีที่ 3 เป็นเรื่องการกินอาหารพื้นเมือง ปีที่ 4 เป็นเรื่องศิลปะ “รักศิลป์ไทยวน” และคาดว่าจะใช้แนวคิดเรื่อง “คู่ควรเศรษฐกิจพอเพียง” ในปีต่อไป จากการคลุกคลีงานด้านวัฒนธรรมมาตลอด 13 ปี ปีที่ผ่านมาอาจารย์เริ่มถอยตัวออกมา เนื่องจากมองว่าองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงควรจะเข้ามาทำงานในส่วนของการจัดงานประจำปี  ทางชมรมคงมีทำเพียงเป็นผู้ประสานงาน
สำหรับตัวหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนเอง หน่วยงานข้างนอกก็มีเข้ามาสนับสนุน อาทิ ในปี พ.ศ. 2539 โครงการ Think Earth จากบริษัทสยามกลการได้จุดกระแสความสนใจจากสื่อสารมวลชนและสาธารณชนหลายสาขาให้เข้ามาเยี่ยมเยียนหอวัฒนธรรมแห่งนี้ จากนั้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เข้ามาส่งเสริม จนเกิดการทำโฮมสเตย์ขึ้นที่นี่ ปัจจุบันผู้สนใจที่ต้องการสัมผัสวิถีชีวิตของเชื้อสายไทยวนในสระบุรี สามารถติดต่อล่วงหน้าได้ที่หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนแห่งนี้ 
 
“ไม่ห่วงกังวล ไม่งั้นคงไม่ทำอะไรไปเรื่อย ๆ คิดว่าลูกคงรักษาไม่ได้อย่างเรา เพราะพื้นฐานต่างกัน แต่ไม่แน่เขาอาจจะทำได้ดีก็ได้ในเรื่องการจัดการ แต่เราทำเป็นวิทยาทาน” คำส่งท้ายที่มองไปข้างหน้าของผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
 
ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนามวันที่ 17 ตุลาคม 2550
ชื่อผู้แต่ง:
-