พิพิธภัณฑสถานชุมชนบ้านโป่งตะขบ


พิพิธภัณฑสถานชุมชนบ้านโป่งตะขบ ตั้งอยู่ในโรงเรียนบ้านโป่งตะขบ อ.วังม่วง จ.สระบุรี อาคารพิพิธภัณฑ์เดิมเป็นอาคารอเนกประสงค์ของทางโรงเรียน เมื่อมีการค้นพบโบราณวัตถุในพื้นที่จึงได้นำมาเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ภายในอาคารแห่งนี้ เวลาต่อมาเมื่อมีการขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี และได้องค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมสมัยโบราณที่บ้านโป่งตะขบเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการปรับปรุงการจัดเก็บโบราณวัตถุและจัดแสดงนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน โดยมีภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้สนับสนุนหลัก โบราณวัตถุสำคัญ อาทิ โครงกระดูกและหลุมฝังศพ ภาชนะดินเผาที่เป็นของอุทิศให้กับผู้ตาย

ที่อยู่:
โรงเรียนบ้านโป่งตะขบ ต.วังม่วง อ.วังม่วง จ.สระบุรี
โทรศัพท์:
087-1218095 ติดต่อนายจำนง เกษมดาย
วันและเวลาทำการ:
เข้าชมเป็นหมู่คณะติดต่อนัดหมายล่วงหน้าเพื่อขอวิทยากรนำชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2552
ของเด่น:
โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์,ลูกปัดทำจากเปลือกหอยทะเล,หลุงฝังศพที่แสดงถึงประเพณีการปลงศพของคนสมัยโบราณ
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑสถานชุมชนบ้านโป่งตะขบ

“พิพิธภัณฑสถานชุมชนบ้านโป่งตะขบ” ตั้งอยู่ในโรงเรียนบ้านโป่งตะขบ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 2 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะที่กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมธนารักษ์

อาคารพิพิธภัณฑ์เดิมเป็นอาคารอเนกประสงค์ของทางโรงเรียน เมื่อมีการค้นพบโบราณวัตถุในพื้นที่จึงได้นำมาเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ภายในอาคารแห่งนี้ โดยได้รับการอนุญาตจากผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโป่งตะขบในขณะนั้น
เวลาต่อมาเมื่อมีการขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีและได้องค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมสมัยโบราณที่บ้านโป่งตะขบเพิ่มมากขึ้นก็ได้มีการปรับปรุงการจัดเก็บโบราณวัตถุและจัดแสดงนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยมีภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้สนับสนุนหลัก

พิพิธภัณฑสถานชุมชนบ้านโป่งตะขบเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2556 โดยมีนายชรัส บุณณสะ ปลัดจังหวัดสระบุรี และ รศ.สุรพล นาถะพินธุ อาจารย์ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้บุกเบิกขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบมาตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นประธานในพิธี ร่วมกับสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 2 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี อำเภอวังม่วง องค์การบริหารส่วนตำบลวังม่วง ชุมชนบ้านโป่งตะขบ และภาคเอกชน (สุกฤษฏิ์ อรรณพานุรักษ์ 2555 : 24)

อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารปูนชั้นเดียว ตั้งอยู่ริมถนนทางทิศเหนือของอาคารเรียน ทางทิศตะวันออกของสนามฟุตบอล ภายในอาคารเป็นห้องโถงโล่ง ขนาดห้องยาวประมาณ 12 เมตร กว้างประมาณ 10 เมตร หลังคามุงกระเบื้องลอน หันหน้าไปทางทิศตะวันตกหรือหันไปทางสนามฟุตบอล มีหน้าต่างที่ด้านหลังตลอดแนว ส่วนบนของผนังอาคารด้านหน้าและหลังโปร่งโล่ง ติดตะแกรงเหล็กกันนก พื้นที่ใช้สอยภายในแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 อยู่บริเวณกลางห้อง เป็นส่วนแสดงนิทรรศการแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ จัดแสดงสื่อสำหรับให้ผู้เยี่ยมชมได้อ่านและศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง มีทั้งป้ายโปสเตอร์แสดงภาพและคำบรรยายบอกเล่าเรื่องราวและให้ข้อมูลเบื้องต้นของแหล่งโบราณคดีและการศึกษาทางโบราณคดีที่บ้านโป่งตะขบ ควบคู่ไปกับการจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจและขุดค้น โดยเริ่มตั้งแต่ประวัติการค้นพบ ประวัติการดำเนินงานและศึกษาทางโบราณคดี หลักฐานทางโบราณคดี เช่น ชั้นดินทางโบราณคดี ประเพณีการฝังศพ โครงกระดูกและของอุทิศที่พบในหลุมฝังศพหมายเลข 1, 2 และ 3 ค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ของหลุมฝังศพหมายเลข 3 และภาพรวมทางวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโป่งตะขบ

มีการติดตั้งหลอดไฟฟ้าส่องสว่างเฉพาะจุดที่ป้ายโปสเตอร์และโบราณวัตถุสำคัญ อาทิ โครงกระดูกและหลุมฝังศพ ภาชนะดินเผาที่เป็นของอุทิศให้กับผู้ตาย เป็นต้น เพื่อให้มีแสงสว่างเพียงพอต่อการอ่านและดูรายละเอียดโบราณวัตถุ ทั้งยังช่วยให้สื่อต่างๆ มีความสวยงามและน่าสนใจมากขึ้น

นอกจากโบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบแล้ว การจัดแสดงในส่วนนี้ยังมีโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง ได้แก่ (1) แวดินเผา ขวานหินขัด กระดูกสัตว์ กำไลเปลือกหอยทะเล ตะกรัน และเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีบ้านซับชาม ตำบลซับสนุ่น อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี (2) เครื่องมือเหล็ก ก้อนวัตถุดิบทองแดงที่ได้จากแถบเขาวงพระจันทร์ กำไลเปลือกหอยทะเล เศษภาชนะดินเผา แวดินเผา ขวานหินขัด กระดูกสัตว์ จากแหล่งโบราณคดีบ้านซับเหว ตำบลซับสนุ่น อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี (3) เศษภาชนะดินเผา เครื่องมือเหล็กมีบ้อง ขวานหินขัด เครื่องประดับจากกระดองเต่า จากแหล่งโบราณคดีบ้านหนองไทร ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี

ส่วนที่ 2 อยู่ในพื้นที่ปีกซ้ายของห้องพิพิธภัณฑ์เมื่อหันหน้าออกภายนอก (หรือด้านทิศใต้ของส่วนที่ 1)  เป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ เสนอข้อมูลและหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ได้จากโครงการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ประกอบด้วยหลุมฝังศพ โครงกระดูกมนุษย์ การฝังศพทารกในภาชนะดินเผา ภาชนะดินเผา เครื่องมือหิน ลูกปัด และกระดูกสัตว์ เป็นต้น

ส่วนที่ 3 อยู่ในพื้นที่ปีกขวาของห้องพิพิธภัณฑ์ เป็นส่วนคลังจัดเก็บโบราณวัตถุต่างๆ ทั้งเศษภาชนะดินเผา กระดูกสัตว์ ลูกปัด และอื่นๆ ที่ได้จากการสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบและแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง รวมทั้งโบราณวัตถุจากโครงการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี โบราณวัตถุทุกชิ้นได้รับการจัดทำทะเบียนและจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบ

ปัจจุบัน (กันยายน 2558) พิพิธภัณฑสถานชุมชนบ้านโป่งตะขบอยู่ในความดูแลของชมรมอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ ขณะที่โรงเรียนบ้านโป่งตะขบที่เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์นั้นไม่มีการเรียนการสอนแล้ว เนื่องจากมีจำนวนนักเรียนลดน้อยลง จึงได้ย้ายไปเรียนรวมกันที่โรงเรียนบ้านโป่งเก้งที่อยู่ใกล้เคียง

เนื่องด้วยเหตุผลของการขาดแคลนบุคลากร ทำให้พิพิธภัณฑสถานชุมชนบ้านโป่งตะขบเปิดให้เข้าชมเฉพาะที่นัดหมาย ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมสามารถติดต่อนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ นายจำนง เกษมดาย แพทย์ประจำตำบลวังม่วง หมายเลขโทรศัพท์ 08-7121-8095 ไม่มีค่าธรรมเนียมเข้าชม ส่วนหลุมขุดค้นหมายเลข 1, 2 และ 4 ที่ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนบ้านโป่งตะขบเช่นเดียวกันนั้น สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
 
การเดินทางสู่แหล่งโบราณคดี จากตัวอำเภอวังม่วงหรือบริเวณแยกวังม่วง ใช้ทางหลวงหมายเลข 2089 มุ่งหน้าทางทิศตะวันออกหรือมุ่งหน้าไปทางตำบลซับสนุ่น อำเภอมวกเหล็ก ประมาณ 7 กิโลเมตร พบสี่แยก ให้เลี้ยวขวามุ่งหน้าบ้านโป่งตะขบ ไปตามถนนลาดยางประมาณ 1.8 กิโลเมตร จะพบวัดโป่งตะขบและโรงเรียนบ้านโป่งตะขบที่เป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานชุมชนบ้านโป่งตะขบ นอกจากนี้ พื้นที่ใกล้เคียงยังมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายทั้งทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แหล่งโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์บ้านโป่งมะนาว ทุ่งทานตะวัน อุโมงค์ต้นไม้ เป็นต้น
 
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล / เขียน

ข้อมูลจาก
ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย "แหล่งโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานชุมชน บ้านโป่งตะขบ"
การสำรวจภาคสนาม เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2558
สุกฤษฏิ์ อรรณพานุรักษ์. “การออกแบบและสร้างฐานข้อมูลเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีบ้านโป่ง ตะขบ ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555.
ชื่อผู้แต่ง:
-