แหล่งเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมเผ่าไทกวน บ้านนาถ่อน


ชื่อเรียกอื่น:
พิพิธภัณฑ์เผ่าไทยกวน สมัยเชียงรุ้ง วัดศรีสุมังคล์
ที่อยู่:
โรงเรียนนาถ่อนวิทยานุกูล หมู่ที่ 12 ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
โทรศัพท์:
092-2694759 (เดวิทย์ วะชุม), 093-4142165 (เฉลิม วีระวงศ์)
วันและเวลาทำการ:
กรุณานัดหมายล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2560
ของเด่น:
พระพุทธรูปโบราณ เงินโบราณ และภาชนะดินเผา
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

ผังจัดแสดง

โดย:

วันที่: 29 กันยายน 2563

ผังจัดแสดง02

โดย:

วันที่: 29 กันยายน 2563

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

แหล่งเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมเผ่าไทกวน บ้านนาถ่อน

           จังหวัดนครพนมได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่อย่างหลากหลายจนได้ชื่อว่า “ดินแดน 8 ชนเผ่า” ชนเผ่าไทกวนเป็นชนเผ่าหนึ่งที่ได้รับความสนใจโดยเฉพาะประเด็นความเป็นกลุ่มวิถีวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยวชุมชน เนื่องจากเป็นชนเผ่าใหม่ที่พึ่งได้รับการค้นพบ ซึ่งตั้งเป็นกลุ่มชุมชนใหญ่ในเขตตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

          จากการศึกษาความเป็นมาของชนเผ่าไทกวนโดยคนในชุมชนบอกเล่าผ่านความทรงจำ อธิบายว่าชนเผ่าไทกวนได้อพยพจากบริเวณเมืองเชียงรุ้งทางสิบสองจุไท ซึ่งการอพยพของกลุ่มคนไทจากสิบสองจุไทในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 มีการอพยพครั้งสำคัญ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มของขุนบรมมาตั้งเมืองที่มานาน้อยอ้อยหนูหรือเมืองแถง และกลุ่มของปู่แสนบางนางแสนเก้า ได้อพยพมาทางใต้และตั้งเมืองปุงลิง เมืองวังคำอยู่ที่บริเวณเซน้อยหรือเซบั้งไฟอันที่ราบหุบระหว่างหุบเขาที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า กวน

          คำว่า “ไทกวน” นี้ ปราชญ์ท้องถิ่นไทกวนบ้านนาถ่อนอธิบายว่า กวนเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์แวดล้อมไปด้วยภูเขา อยู่ในเขตเซบั้งไฟ ส่วนคำว่า “ไท” เป็นคำที่ใช้อธิบายการแบ่งกลุ่มคน ดังนั้น คำว่า “ไทกวน” จึงหมายถึง กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณกวน ซึ่งเป็นคำที่ทั้งคนภายในชุมชนและถูกคนภายนอกชุมชนเรียกขาน  นอกจากนี้ ยังมีผู้อธิบายว่า คำว่า “กวน” ในที่นี้หมายถึง ชาวไทพวนที่อพยพลงมาตั้งชุมชนเมื่อเวลาผ่านไปคำว่า ไทพวนจึงเพี้ยนมาเป็น ไทกวน” 

          ในกรณีประเด็นที่มาและการเรียกตัวเองว่าไทกวนของชาวบ้านนาถ่อนยังมีข้อสังเกตหลายประการ เช่น ชาวไทกวนบ้านนาถ่อนไม่มีสำเนียงภาษาที่เป็นลักษณะเฉพาะเหมือนกับชนเผ่าอื่นๆ แต่ชาวไทกวนบ้านนาถ่อนใช้ภาษาไทญ้อในการสนทนาสื่อสารระหว่างกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าชาวไทกวนเองน่าจะเป็นกลุ่มคนเดียวกันกับชาวไทญ้อ หากแต่มีถิ่นฐานบ้านเดิมตั้งอยู่ในบริเวณกวน เมื่อเกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่บ้านนาถ่อนจึงเรียกตัวเองว่า “ไทกวน” ก็เป็นได้

          ชาวไทกวนบ้านนาถ่อนอธิบายการเคลื่อนย้ายกลุ่มคนของตนเองว่า เดิมตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองปุงลิง เมืองวังคำ ต่อมาเกิดข้าวยากมากแพงเพราะเกิดสงครามระหว่างสยามกับเวียดนามภายใต้ฝรั่งเศส เกิดสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงเห็นว่าเพื่อป้องกันการให้กำลังพลแก่เวียดนามของฝรั่งเศส จึงได้ให้อพยพไพร่พลจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมายังฝั่งขวาแม่น้ำโขง ในครั้งนี้เองชาวไทกวนที่อาศัยอยู่เซบั้งไฟจึงได้อพยพมายังฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่บริเวณวัดมรุกขนคร ตำบลดอนนางหงส์ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ในปัจจุบันเป็นแห่งแรก หลังจากนั้นได้ขยายชุมชนขึ้นเหนือตาม ห้วยบังฮวกปัจจุบันอยู่ที่บริเวณทางเข้าองค์การบริหารส่วนตำบลนาท่อน

          การอธิบายเรื่องราวความเป็นมาดังกล่าวก็ค่อนข้างสับสนเกี่ยวกับเหตุการณ์และลำดับเวลา แต่สรุปได้ว่าชาวไทกวนบ้านนาถ่อนอพยพมาอยู่ที่บริเวณวัดมรุกขนครก่อน แล้วจึงค่อยย้ายมาอยู่บริเวณบ้านนาถ่อนปัจจุบัน ซึ่งเหตุการณ์อพยพนี้น่าจะเกิดขึ้นในราวช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24

          ในระยะแรกชาวไทกวนตั้งบ้านเรือนอยู่ริมห้วยบังฮวก ต่อมาได้ขยับขยายขึ้นไปบนที่เนินห่างจากห้วยบังฮวกไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อย ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านนาถ่อนในปัจจุบัน ตำแหน่งที่ตั้งของบ้านนาถ่อน อยู่ห่างจากแม่น้ำโขงประมาณ 3 กิโลเมตร เวลาเดินทางมาติดต่อกับภายนอกก็จะเดินทางข้ามลำห้วยบังฮวกตรงมายังริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งมีท่าเรือสำหรับสัญจรไปมา ภายหลังบริเวณท่าน้ำก็มีชาวไทกวนส่วนหนึ่งมาตั้งบ้านเรือน และมีชื่อว่า “บ้านนาถ่อนท่า” ด้วยอยู่ติดกับท่าน้ำริมฝั่งแม่น้ำโขง และมีการเรียกบ้านนาถ่อนว่า “บ้านนาถ่อนทุ่ง” เนื่องจากตั้งอยู่กลางทุ่งนาที่ราบ

          ชาวไทกวนนับถือทั้งพระพุทธศาสนาและผีบรรพบุรุษ เต็มไปด้วยรูปแบบพิธีกรรมอันน่าสนใจ มีพิธีการรำบวงสรวงศาลปู่ตาแสง ซึ่งเป็นศาลบรรพบุรุษของชาไทกวนบ้านนาถ่อน นอกจากนี้ ยังมีวัฒนธรรมการฟ้อนรำไทกวน โดยเลียนแบบท่าจากสัตว์ป่า ได้แก่ ช้างขึ้นภู งูเล่นหาง กวางโชว์เขา เสือออกเหล่า เต่าออกลาย ควายตั้งท่า ม้าออกศึก ระทึกกระทิงเปลี่ยว ขับเคี่ยวขบวนลิง สิงห์คำราม ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก

          พระครูสิริปัญญาวุฒิ อดีตเจ้าคณะอำเภอธาตุพนม อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีสุมังคล์ บ้านนาถ่อนท่า ซึ่งเป็นชาวไทกวนได้มีความชื่นชอบ สนใจและสะสมโบราณวัตถุที่พบในบริเวณชุมชน รวมทั้งรับซื้อและรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ต่อมาท่านจึงรวบรวมโบราณวัตถุที่สะสมทั้งหมดจัดแสดงภายในตู้ตั้งไว้บนศาลาการเปรียญ พร้อมทั้งตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ภายใต้ชื่อ “พิพิธภัณฑ์เผ่าไทยกวน สมัยเชียงรุ้ง วัดศรีสุมังคล์” เมื่อราว พ.ศ.2535 ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากชาวไทกวนบ้านนาถ่อนเชื่อว่า บรรพบุรุษของตนเดิมทีมีถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเชียงรุ้งก่อนอพยพลงมา แต่ทว่าโบราณวัตถุที่จัดแสดงนั้นเป็นข้าวของเครื่องใช้ของชาวบ้านนาถ่อน และของสะสมส่วนตัวของพระครูสิริปัญญาวุฒิเท่านั้น ภายหลังเมื่อพระครูสิริปัญญาวุฒิมรณภาพ โบราณวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เคยจัดแสดงก็ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ในห้องที่ทำด้วยลูกกรงเหล็ก เพื่อป้องกันการโจรกรรม แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจในเรื่องการดูแลทำความสะอาด

          แต่อย่างไรก็ดี การจัดทำพิพิธภัณฑ์เผ่าไทยกวน สมัยเชียงรุ้ง วัดศรีสุมังคล์ ของพระครูสิริปัญญาวุฒิ ก็เป็นสาเหตุให้ชาวบ้านนาถ่อนมีความตื่นตัวและสร้างสำนึกร่วมความเป็นชาวไทกวนขึ้นมา พยายามสร้างอัตลักษณ์ของตนเองผ่านวัฒนธรรมและการแต่งกาย โดยพยายามเน้นการแต่งกายสีดำ-เหลือง เพื่อสร้างความแตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในจังหวัดนครพนม และทำให้เกิดความพยายามในการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายในบ้านนาถ่อนขึ้น

          สำหรับแหล่งเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมเผ่าไทกวน บ้านนาถ่อน ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ซึ่งตั้งอยู่ต่างพื้นที่ แต่อยู่ภายในชุมชนบ้านนาถ่อนและบ้านนาถ่อนท่า ประกอบไปด้วย

          1.  พิพิธภัณฑ์เผ่าไทยกวน สมัยเชียงรุ้ง วัดศรีสุมังคล์ บ้านนาถ่อนท่า หมู่ที่ 3 ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ภายในมีการเก็บรักษาพระพุทธรูป เงินโบราณ กำไล ภาชนะดินเผา และโบราณวัตถุอื่นๆ เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นเพียงที่เก็บรักษาโบราณวัตถุ และไม่มีความพร้อมสำหรับการต้อนรับนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด นอกจากนี้ ภายในวัดศรีสุมังคล์ยังมีหอแจกหรือศาลการเปรียญไม้ยกพื้นที่มีความน่าสนใจทางด้านศิลปกรรมอีกด้วย

          2. ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมไทกวนบ้านนาถ่อน ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนนาถ่อนวิทยานุกูล บ้านนาถ่อน หมู่ที่ 12 ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมไทกวนบ้านนาถ่อนได้มีการปรับปรุงอาคารเรียนของโรงเรียนนาถ่อนวิทยานุกูล ซึ่งมีสภาพทรุดโทรมเป็นศูนย์การเรียนรู้เมื่อราว พ.ศ.2560 และใช้เป็นที่ทำกิจกรรม ฟังบรรยายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของสภาวัฒนธรรมตำบลนาถ่อน ขณะนี้อาคารศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมไทกวนบ้านนาถ่อนกำลังอยู่ในช่วงปรับปรุง มีการใช้งานเฉพาะลานวัฒนธรรมใต้ถุนอาคารเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงซุ้มสาธิตการตีเหล็ก ซึ่งเป็นวัฒนธรรมด้านการประกอบอาชีพที่สำคัญของชาวไทกวนบ้านนาถ่อนในปัจจุบันอีกด้วย

          3. ศาลปู่ตาแสง ซึ่งเป็นศาลปู่ตาที่เชื่อว่าอยู่คู่ชุมชนบ้านนาถ่อนมาตั้งแต่อพยพมาอยู่บริเวณนี้เมื่อราว พ.ศ.2360 ศาลปู่ตาแสงนี้ถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทกวนบ้านนาถ่อนก็ว่าได้ ศาลปู่ตาแสงตั้งอยู่ที่บ้านนาถ่อน หมู่ที่ 1 ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม แต่ก่อนชาวบ้านเรียกว่า “ดอนหอ” ซึ่งต้นกระบกขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ 2 ต้น เป็นต้นกระบกใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครพนม แต่ยืนต้นตายเมื่อราว 10 ปีมาแล้ว ชาวไทกวนบ้านนาถ่อนจะยึดเอาวันที่ 25 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันประกอบพิธีกรรมบวงสรวงปู่ตาแสง ซึ่งจะมีพิธีรำบวงสรวงศาลปู่ตาแสงด้วย

          นอกจากนี้ ชาวไทกวนบ้านนาถ่อนยังมีชื่อเสียงด้านการตีเหล็ก โดยตีเหล็กที่ทำมาจากแหนบรถยนต์ มีประวัติเล่าว่าขุนพินิจแสนเสร็จ อดีตกำนันตำบลนาถ่อน เห็นว่าหลังหน้าฤดูทำนาแล้ว ชาวบ้านไม่มีอะไรจะทำ จึงไปติดต่อบาทหลวงซาเวียร์ชาวฝรั่งเศส จากเมืองเชียงหวาง แขวงคำม่วน ประเทศลาว มาสอนชาวบ้านตีเหล็กจนชำนาญ ปัจจุบันกลายเป็นอาชีพอุตสาหกรรมในครัวเรือน และเป็นสัญลักษณ์ของตำบลนาถ่อนไปด้วย โดยคุณภาพของมีด หรือของมีคมต่างๆ ไม่ด้อยไปกว่ามีดอรัญญิก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


เอกสารอ้างอิง

คณะอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมอำเภอธาตุพนม. การจัดทำและขึ้นทะเบียนโบราณสถานและโบราณวัตถุวัดศรีสุมังค์ ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม. นครพนม: หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ นครพนม, 2553.

OTOP Village บ้านนาถ่อน หมู่ที่ 12 ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม”. สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม. สืบค้นจาก https://district.cdd.go.th/thatpranom/ services/otop-village%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8% 99%E0%B8%B2%E0%B8%96%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B8%AB% E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%8812-%E0%B8%95%E0% B8%B3%E0%B8%9A/, วันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

ห้องสมุดประชาชน เฉลิมราชกุมารีอำเภอเมืองนครพนม. “ชนเผ่าไทกวน”. ห้องสมุดประชาชน เฉลิมราชกุมารีอำเภอเมืองนครพนม. สืบค้นจาก http://ps.nkp.ac.th/show_association.php? nid=39, วันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

อภิรดี แข้โส้ และคณะ. “ชนเผ่าไทกวน นครพนม”. ชนเผ่าไทกวน. สืบค้นจาก http://thaikean.blogspot. com/2015/04/blog-post.html , วันที่ 12 กรกฎาคม 2563.

 

สัมภาษณ์บุคคล

นายเฉลิม วีระวงศ์ กรรมการสภาวัฒนธรรมตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม, สัมภาษณ์วันที่

13 มิถุนายน 2563.

ชื่อผู้แต่ง:
ธีระวัฒน์ แสนคำ
คำสำคัญ:
ไม่มีข้อมูล
คำสำคัญ: