พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมอญ วัดคันลัด


ที่อยู่:
วัดคันลัด ถ.เพชรหึงษ์ ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
โทรศัพท์:
0892107676 (อ.กมล อยู่สวัสดิ์)
วันและเวลาทำการ:
กรุณานัดหมายล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2547
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมอญ วัดคันลัด

          วัดคันลัด เป็นวัดมอญหนึ่งในสิบวัดที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันของอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ  ตามเอกสารของกรมศาสนาระบุว่าสร้างขึ้นในต้นรัตนโกสินทร์ ราวปี พ.ศ. 2349  แต่ยังเป็นที่ถกเถียงว่าอาจจะก่อตั้งหลังจากนั้นคือราวปลายรัชกาลที่ 4    วัดคันลัดตั้งอยู่ริมคลองลัดโพธิ์  แต่เดิมเมืองพระประแดงเรียกว่า “ปากลัด” มาจากชื่อคลองลัดโพธิ์ คลองนี้ขุดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ปี พ.ศ. 2265 มีความยาว 600 เมตร กว้าง 8 เมตร ขุดบริเวณที่คอคอดคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านใต้เมืองพระประแดง ทะลุออกทางทิศเหนือด้านกรุงเทพฯ อันเป็นที่มาของคำว่า “ปากลัด”

ส่วนชื่อ “เมืองนครเขื่อนขันธ์” ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งท่านได้โปรดให้อพยพครอบครัวคนมอญพวกพญาเจ่ง(ต้นตระกูลคชเสนี) ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองปทุมธานี ต้งแต่ครั้งที่หนีภัยพม่าสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2317 โดยเลือกเอาครอบครัวที่ประกอบชายฉกรรจ์ 308 คน ลงมาอยู่ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์นี้ ทำหน้าที่กองทหารประจำเมือง รับสั่งให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างวัดให้แก่ชาวมอญ อาทิ วัดทรงธรรม และทรงแต่งตั้งคนมอญเป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองนครเขื่อนขันธ์   ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้เปลี่ยนชื่อเมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นจังหวัดพระประแดง เมื่อ พ.ศ. 2458

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมอญวัดคันลด ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2547 หลังจากมีการทำประชาคมระหว่างสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ โดยมีพระสังฆาธิการในเขตตำบลทรงคนอง 4 วัด คือ เจ้าอาวาสวัดโปรดเกศเชษฐาราม(ท่านเจ้าคุณแช่ม) เจ้าอาวาสวัดป่าเกด(ท่านอาจารย์เสมอ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดคันลัด(พระครูหลาย) พระสงฆ์วัดจากแดง และตัวแทนชุมชนตำบลทรงทนอง ทั้ง 13 หมู่ ซึ่งที่ประชุมเสนอให้ “นายประพันธ์พงษ์  เทวคุปต์ ตัวแทนหมู่ที่ 8 เป็นประธานศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมสายใยชุมชน ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ  โดยได้ปรึกษาหารือเห็นควรตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมอญ วัดคันลัด เพื่อจะได้รวบรวมสิ่งของจากผู้มีจิตศรัทธานำมามอบให้ จึงได้ขออนุญาตพระครูสมุทรพัฒนาโสภณ เจ้าอาวาสวัดคันลัดในขณะนั้น ขอใช้ศาลาการเปรียญหลังเก่า ซึ่งปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ใช้งาน โดยได้รื้อจากตำแหน่งเดิมที่อยู่ติดถนน มาประกอบใหม่และดีดให้สูงขึ้น เป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ ชั้นบนทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ส่วนชั้นล่างเป็นห้องสมุด

ทางวัดได้เรี่ยไรเงิน เพื่อซ่อมแซมบูรณะ ทำความสะอาด ขัดพื้น ทาน้ำมัน ติดตั้งไฟฟ้าภายศาลา ซื้อตู้ไม้กระจกสำหรับจัดแสดง  และยังได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทรงคนอง ในการทำประตูเหล็กม้วน และเทพื้นบ้านหน้าพิพิธภัณฑ์  ได้รับงบจากผู้ว่าซีอีโอ ทำเหล็กดัดหน้าต่างกันขโมย และกันสาดหน้าประตูศาลาด้านหน้าและด้านหลัง และเสาธง  

อาคารพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมอญ วัดคันลัด ชั้นล่างที่ทำเป็นห้องสมุด ให้บริการข้อมูลหนังสือ เอกสาร ที่โดยเฉพาะเอกสารที่คุณประพันธ์พงษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งพิพิธภัณฑ์(ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ได้เขียนเอาไว้หลายเล่ม ที่ล้วนเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของมอญพระประแดง ประเพณีและวัฒนธรรมสำคัญของคนมอญในพระประแดง  ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ที่สนใจเข้ามาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัฒนธรรมของคนมอญพระประแดง และยังใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ประชุม ทำประชาคม และประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ แจกเงินสวัสดิการผู้สูงอายุ  จัดทำสินค้าโอท็อป เป็นต้น

ในวันที่สำรวจได้รับความกรุณาจากท่านพระครูสุภัทรกิจจาทร(พระครูหลาย) เจ้าอาวาสวัดคันลัดองค์ปัจจุบัน นำชมพิพิธภัณฑ์และเล่าประวัติความเป็นมาของวัด ที่เป็นข้อสันนิษฐานส่วนบุคคลว่า

“ประวัติวัดคันลัดเจ้าอาวาสเดิมไม่ได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร  ส่วนฉันได้มาอยู่ที่วัดนี้ในปี พ.ศ. 2504 ประวัติวัดที่บันทึกไว้ของกรมศาสนา บอกว่าอยู่ในสมัยกลางรัชกาลที่ 1 ฉันคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้  เพราะไม่อย่างนั้นจะเก่ากว่าวัดอื่นๆ เขาในพระประแดง...แต่อาจจะเป็นสำนักสงฆ์ที่พักสงฆ์มาก่อนก็ได้  ฉันดูสิ่งก่อสร้างของวัด อุโบสถหลังเก่ามีหน้าบันเป็นศิลปะที่คล้ายกับยุค ร.3 ตอนขุดลูกนิมิตโบสถ์หลังเก่า เจอสตางค์เป็นเหรียญทองแดง ทั้งเหรียญรัชกาลที่ 4 และ 5  และสถูปที่บรรจุอัฐิเจ้าอาวาสและพระลูกวัดของวัด มีศิลปะโกธิคแบบฝรั่ง คล้ายสถูปเจ้าจอมองค์หนึ่งในรัชกาลที่ 5 ที่วัดราชบพิธ  ส่วนของเราอาจจะจำลองมา และดูสะพานข้ามคลองหลายสะพานที่เขียนผู้อุทิศปีที่สร้างไว้...ฉันสันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะสร้างปลายรัชกาลที่ 4...”

ชั้นบนจัดแสดงข้าวของที่ชาวบ้านบริจาค  ข้าวของที่โดดเด่น ชุดแรกคือ วัตถุที่เกี่ยวเนื่องทางพุทธศาสนา ได้แก่  ฐานพระเก่าที่เป็นของวัดคันลัด และได้มาจากวัดมอญอื่นๆ  เนื่องจากวัดถูกโจรขโมยพระพุทธรูปไปเหลือแต่ตัวฐานทิ้งไว้  ท่านพระครูสุภัทรกิจจาทร เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน จึงเห็นควรที่จะหล่อพระองค์ใหม่เพื่อนำมาประดิษฐานไว้ที่ฐานพระเดิม   โดยได้ให้ลูกศิษย์ที่เป็นช่างหล่อพระฝีมือดี และญาติโยมทำบุญสร้างพระพุทธรูป พร้อมเขียนชื่อผู้สร้างเอาไว้ด้านล่างทุกองค์  รวมถึงจัดแสดงตู้บรรจุพระไตรปิฎกมอญ อายุ 120 ปี  บาตรพระมอญ ของอดีตเจ้าอาวาส

กลุ่มข้าวของที่โดดเด่นอีกชุดหนึ่งคือ วัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย  ได้แก่ โลงมอญจำลองที่ท่านเจ้าอาวาสเป็นช่างทำเอง ปัจจุบันการทำโลงมอญยังเหลือคนได้อีกไม่มาก ต้องอาศัยทั้งงานเชิงช่างไม้และศิลปะการฉลุลาย   ท่านเจ้าอาวาสได้บันทึกความรู้เกี่ยวกับการทำโลงมอญ หรือ “ฮะลาบ๊อก” ตอนหนึ่งว่า

“ฮะลาบ๊อก คือโลงมอญใส่ศพของคนมอญนั้น จัดได้ว่าเป็นโลงศพที่มีศิลป์ที่วิจิตรสวยงามมาก มีทั้งความอ่อนช้อยของตัวโลง มีความอลังการของฝาโลง เป็นศิลปะของประเภทลายกระดาษ จัดอยู่ในช่างสิบหมู่ประเภท ลายตอกกระดาษ...การประกอบตัวโลง ในสมัยนั้นยังไม่มีไม้อัดแผ่นบางๆ เหมือนในสมัยนี้ เพราะฉะนั้นการประกอบโลงฮะลาบ๊อกในสมัยนั้นต้องใช้ไม้จริงคือ ไม้ยาง ที่ใช้ทำฝาบ้าน มีความหนา การจะทำโลงด้วยไม้แข็งที่ดัดยาก และต้องทำให้อ่อนช้อยนั้น ก็ให้นึกถึงการต่อเรือตังเกเอาก็แล้วกัน กว่าจะดัดไม้ให้เข้ารูปเข้าทรง...กระดาษต้องใช้กระดาษอังกฤษ กระดาษอังกฤษนั้นจะเป็นเล่ม.. . เอามาตกเป็นลาย กระดาษอังกฤษตกลายง่าย เดินเม็ดลายก็สวยกว่ากระดาษธรรมดา แต่เวลาลอกกออกจะยากหน่อย...มีคนถามอยู่เสมอว่า ถ่ายทอดฝีมือการทำโลงมอญให้ใครบ้างหรือยัง...ข้าพเจ้าคิดว่าคงไม่สูญหรอก แต่ผู้ที่จะทำโลงมอญนั้น ต้องเป็นผู้ไม่ยึดเป็นอาชีพถึงจะทำได้ เพราะนานๆ ที ถึงจะมีงานศพที่ใช้โลงมอญ ราคาค่าจ้างก็ไม่แพง แต่เวลาทำต้องใช้เวลามาก ...ฉะนั้นโดยมากช่างที่ทำโลงมอญ มักจะเป็นพระเสียส่วนมาก”

ติดกับโลงมอญจำลอง คือโลงไม้ลงรักปิดทองของอดีตเจ้าอาวาสองค์ที่สอง  และถัดมาคือ “โจ่งแน่ะห์” หรือ “เตียงชนะ” คือเตียงที่ต่อขึ้นเฉพาะสำหรับวางศพ เนื่องจากชาวมอญมีธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับพิธีกรรมความตายว่าห้ามนำโลงเข้าถึง เมื่อมีคนตายในบ้านจึงต้องมีการต่อเตียงขึ้นสำหรับวางศพ ซึ่งเตียงที่จัดแสดงนี้เป็นเตียงที่ใช้งานจริง ซึ่งพิพิธภัณฑ์ได้ขอมาจัดแสดง 

นอกจากนี้ยังจัดแสดง “สะกา” หรือภาษามอญเรียกว่า “ดวด” คล้ายกับการเล่นหมากรุก แต่กระดานเล่นทำจากผ้า  ใช้สำหรับเล่นเป็นเพื่อนศพ  เวลามีงานศพ

ส่วนข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ เครื่องแต่งกายหญิงชายชาวมอญ  ขันลงหิน เครื่องจักสาน ที่โดดเด่นคือ เครื่องจักสานที่ทำมาจากกก  และที่หนีบกก  ซึ่งในอดีตภูมิปัญญาการสานเสื่อกก ของคนมอญพระประแดงเป็นที่เลื่องลือ แต่ปัจจุบันไม่มีการทำกันแล้ว  เอกสารที่คุณประพันธ์พงษ์  เทวคุปต์ เขียนเล่าเรื่องนี้ว่าอย่างน่าสนใจ

“การสานเสื่อกกถือเป็นงานอดิเรกของคนมอญ ตามหมู่บ้านต่างๆ ในอำเภอพระประแดง ในระยะที่ว่างเว้นจากการทำนา...กกจะเริ่มแตกและใช้การได้ดีราวเดือนสิงหาคม เมื่อตัดกกมาแล้ว ก็นำมาตากแดดให้แห้ง เลือกขนาดลำต้นเล็กๆ และเท่าๆ กัน นำไปย้อมสีต่างๆ... หลังจากนั้นก็จะนำมารีดหรือครูดให้เรียบ(ไม่ใช่นำเอาเตารีดมารีด) แต่เป็นไม้ไผ่ขนาดพอประมาณไม่เล็กไม่ใหญ่...มาประกบกันคล้ายคีม ภาษามอญเรียกว่า “ฮะวิด” ต่อมาในภายหลังได้มีการพัฒนาทำคล้ายเครื่องรีดปลาหมึกย่าง...เสื่อมีความสำคัญสำหรับบ้านมอญ...เมื่อถึงวันพิธีต่างๆ เช่น วันสงกรานต์ งานบวช งานแต่งงาน... เจ้าของบ้านจะนำเสื่อกกที่มีอยู่มาปูรับแขก ดังนั้นการสานเสื่อกก จึงทำกันอย่างพิถีพิถัน...ผู้ที่สานเสื่อกกส่วนมากมักจะเป็นคนรุ่นสาว มีการประกวดประชัน ส่วนมากจะรู้กันในระหว่างหมู่บ้านว่า ลูกสาวบ้านใดสานเสื่อได้สวยงาม ก็ถือว่าเป็นที่เชิดหน้าชูตาของพ่อแม่”

นอกจากพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมอญ วัดคันลัดแล้ว ยังมีสถานที่อื่นในวัดที่น่าสนใจ ได้แก่ สถูปบรรจุอัฐิอดีตเจ้าอาวาสและพระลูกวัด ศิลปะโกธิกรูปทรงแปลกตา  และศาลช้าง  โดยเล่าต่อกันมาว่า ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา เมื่อช้างหลวงตายจะนำมาฝังอยู่ในบริเวณป่าจากริมคลองลัดโพธิ์ ชาวบ้านเรียกว่า “ป่าช้าช้าง”   ราวปี พ.ศ. 2506 มีผู้ขุดเจอกระดูกหัวช้างและเชื่อว่าเป็นช้างหลวงที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ได้เข้าฝันขอให้ทำศาลให้ จึงมีการสร้างศาลช้างในบริเวณบ้านตนเอง  ต่อมาพื้นที่บ้านดังกล่าวถูกเวนคืนที่เพื่อสร้างประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์   ศาลดังกล่าวถึงย้ายมาตั้งภายในวัดคันลัด เป็นที่กราบไหว้บูชาของชาวบ้านที่นับถือ

ข้อมูลจาก:

การสำรวจภาคสนามวันที่ 19 สิงหาคม 2563

ประพันธ์พงษ์ เทวคุปต์. ประวัติเมืองนครเขื่อนขันธ์ วิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายรามัญ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมอญ วัดคันลัด. เอกสารเย็บเล่ม ศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ตำบลทรงคนอง, มปพ.

อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระโสภณสมุทรคุณ(ทองหล่อ พูลเจริญ) อดีตเจ้าคณะอำเภอพระประแดง เจ้าอาวาสวัดคันลัด วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2555 ณ เมรุปราสาท 9 ยอด วัดคันลัด ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ.

เพจรามัญคดี-Mon studies. https://www.facebook.com/RamannMon/posts/935131829895003.


ชื่อผู้แต่ง:
ปณิตา สระวาสี
คำสำคัญ: