ศูนย์วัฒนธรรมไทแสก ตำบลอาจสามารถ


ที่อยู่:
ศูนย์วัฒนธรรมไทแสก องค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม รหัสไปรษณีย์ 48000
โทรศัพท์:
042-593123, 081-6619932, 087-9531319
โทรสาร:
042-593123
วันและเวลาทำการ:
เปิดทำการในวันราชการ 08.30-16.30 น. หากต้องการเยี่ยมชมในวันหยุดราชการต้องประสานงานขออนุญาตทางองค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถอย่างน้อย 1 สัปดาห์
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2555
ของเด่น:
บ้านไทแสกจำลอง ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวไทแสกในอดีต เช่น เครื่องมือจับปลา อุปกรณ์ทอผ้า เป็นต้น
ไม่มีข้อมูล

ผังจัดแสดง01

โดย:

วันที่: 29 กันยายน 2563

ผังจัดแสดง02

โดย:

วันที่: 29 กันยายน 2563

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมไทแสก

          ชาวไทยแสกเป็นชนชาติหนึ่งในตระกูลมอญ - เขมร เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ในท้องที่จังหวัดนครพนมและจังหวัดมุกดาหาร คำว่า “แสก” มีความหมายว่า แจ้ง , สว่าง ชาวไทยแสกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชาติพันธุ์เดิม จากคำบอกเล่าของคนในชุมชนบ้างก็เล่าว่ามีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในตอนกลางของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม อาศัยอยู่ในแถบเมืองรอง เมืองเว้ บ้างก็ว่าอพยพมาจากแถบสิบสองปันนา ต่อมาชาวเวียดนามพยายามเข้าครอบครองและรุกรานชาวไทแสกตลอดมา จนทำให้ชาวไทแสกตกอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนาม มีชาวไทแสกบางกลุ่มไม่พอใจอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนาม ได้อพยพลงมาทางตอนใต้โดยมีท้าวกายซุ และท้าวกายชา เป็นหัวหน้าในการอพยพ มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ใกล้เมืองท่าแขก (อยู่ตรงข้ามกับจังหวัดนครพนม) มาอยู่ที่บ้านหม้อเตลิง บ้านภู บ้านทอก บ้านท่าแค บ้านโพธิ์ค้ำ 

          ต่อมาชาวไทยแสกกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาตั้งอยู่ที่บ้านโคกยาว (ปัจจุบันคือบ้านไผ่ล้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม) สมัยก่อนมีอาณาเขตอยู่ใกล้เคียงกับบ้านนาลาดควาย (ปัจจุบันเขียนว่าบ้านนาราชควาย) จำนวนชาวไทยแสกที่ย้ายมาในขณะนั้น มีจำนวน 1,170 คน ภายหลังชาวไทยแสกกลุ่มนี้ได้ย้ายถิ่นฐานจากบ้านโคกยาวได้อยู่ที่บริเวณที่เรียกว่า “ป่าหายโศก” ใกล้กับแม่น้ำโขงในท้องที่ของบ้านนาลาดควายซึ่งปัจจุบันคือบ้านอาจสามารถ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม

          ว่ากันว่า พระสุนทรราชวงษา เจ้าเมืองยโสธร ซึ่งมาจัดราชการในเขตเมืองนครพนม ได้พิจารณาเห็นว่าชาวไทแสก มีความสามารถ มีความสามัคคี มีความเข้มแข็ง สามารถปกครองตนเองได้ จึงยกฐานะชาวไทแสกที่อยู่ที่ป่าหายโศกให้เป็นกองอาทมาต  คอยลาดตระเวนชายแดน ภายหลังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่ หัวรัชกาลที่ 3 จึงทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะชุมชนชาวไทแสกขึ้นเป็นเมือง มีชื่อว่า “เมืองอาทมาต” โดยขึ้นกับเมืองนครพนม และแต่งตั้งให้ฆานบุดดี ซึ่งเป็นผู้นำชาวไทแสกในขณะนั้นเป็น “หลวงเอกอาษา” เจ้าเมืองอาทมาต เมื่อราว พ.ศ.2387 

          ต่อมามีการยุบฐานะเมืองอาทมาตลงเป็นหมู่บ้านและมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “อาจสามารถ” ปัจจุบันชาวไทแสกส่วนมากจะอยู่ที่หมู่บ้านอาจสามารถ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม อยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนมราว 4 กิโลเมตรอำเภอเมือง และยังมีชาวไทแสกบางกลุ่มที่ได้พากันอพยพโยกย้ายที่อยู่ไปทำมาหากินถิ่นต่างๆ ในจังหวัดนครพนม เช่น บ้านไผ่ล้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม บ้านบะหว้าและบ้านดอนเสมอ อำเภอศรีสงคราม เป็นต้น

          ชาวไทแสกมีประเพณีและวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกว่า “พิธีกินเตดเดน” เป็นประเพณีพิธีกรรมอย่างหนึ่ง โดยการประกอบพิธีกรรมขึ้นมาเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อ “โองมู้” ซึ่งเป็นวีรบุรุษทางวัฒนธรรมในความทรงจำที่ชาวไทแสกเคารพนับถือ เป็นบรรพบุรุษของชาวไทแสก เป็นผู้มีพระคุณต่อลูกหลานรุ่นหลังๆ สืบต่อกันมา โดยเชื่อว่าโองมู้จะทำหน้าที่คุ้มครองอันตรายที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน และดลบันดาลให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นตามที่ผู้บะหรือผู้บนบาน โดยมีกวนจ้ำทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประกอบพิธีกรรม แต่ถ้าหากลูกหลานประพฤติมิชอบ ไม่เหมาะสม หรือทำพิธีบนบานแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่ถูกดีงาม หรือไม่มีพิธีกรรมแก้บะหรือแก้คําบนบาน ก็จะทำให้เกิดเหตุเภทภัยในครอบครัว

          พิธีบวงสรวงโองมู้หรือพิธีกินเตดเดน จะมีการจัดขึ้นในวันขึ้น 2 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี ซึ่งตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อเป็นการตักเตือนให้ลูกหลานประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม ตัวอย่างเช่น อาจจะเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดอาการร้อนรนกินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่เมื่อทำการบะหรือแก้บะแล้วเหตุร้ายก็จะกลายเป็นดี พิธีกรรมกินเตดเดนนี้ ชาวไทแสกเชื่อว่า พิธีกรรมนี้มีบทบาทในการสร้างความศรัทธา ความเชื่อมั่น และความรู้สึกดีๆ ร่วมกัน ความรู้สึกผูกพันที่มีในสายเลือดเผ่าพันธุ์เดียวกัน การสร้างจิตสำนึกให้ชาวไทแสกทุกคนเกิดความรักความหวงแหนในวัฒนธรรมประเพณีของตน มุ่งสอนให้ผู้มีอายุมากกว่าทำความเคารพนับถือ และแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ หรือต่อผู้มีอายุน้อยกว่าให้เกิดความสามัคคี เคารพนับถือ บรรพบุรุษ แสดงความปลื้มปิติแก่ชาวไทแสกที่มาร่วมพิธีกันทุกถ้วนหน้า

          ในพิธีบวงสรวงโองมู้จะมีการละเล่นที่เรียกว่า “แสกเต้นสาก” ในสมัยก่อนการเต้นสากของชาวแสกถือเป็นการละเล่นประจำเฉพาะพิธีบวงสรวงโองมู้ แต่ปัจจุบันก็จะถือเป็นการแสดงเพื่อสืบสานวัฒนธรรม และแสดงเพื่อความบันเทิงเช่นการท่องเที่ยวด้วย แสกเต้นสากเป็นการละเล่นโดยใช้ไม้สากตีกระทบการเป็นจังหวะ สากที่ใช้ในการเต้นสากก็คือไม้สากที่เป็นสากตำข้าวในสมัยโบราณ แต่ขนาดยาวกว่าตรงกลางเรียวเล็ก ไม้รองพื้นสากจะไม่จะใช้ไม้อะไรรองก่อนก็ได้มีจำนวน 1 คู่ ขอให้มีขนาดเท่ากัน อุปกรณ์ประกอบด้วย ไม้สาก มีลักษณะตรงยาวประมาณ 2 เมตร ใช้เคาะจังหวะประมาณ 5-6 คู่ การวางไม้จากสากจะจัดเป็นช่วงๆ ห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร ต่อ 1 คู่ และไม้รองพื้นสาก มีขนาดใหญ่และยาวกว่าไม้สาก มี 1 คู่ ขนาดกว้างยาวเท่ากันยาวประมาณ 5-7 เมตร สำหรับเป็นฐานรองไม้สาก ดนตรีที่ใช้ประกอบจังหวะ ส่วนมากเป็นดนตรีพื้นบ้าน มีกลองใหญ่ กลองเล็ก ฆ้องเล็ก พังฮาด (มีลักษณะคล้ายฆ้อง ตรงกลางจะนูนเป็นวงกลม) ฉิ่ง ฉาบ ผู้ให้จังหวะส่วนมากจะเป็นผู้ชาย

          การตีสากสมัยก่อนจะใช้ไม้สากตำข้าว ไม่มีการเตรียมจับไม้สากมาเคาะเป็นจังหวะได้เลย ปัจจุบันจังหวะการตีสากจะมีหลายจังหวะด้วยกัน หากคนตีสากไม่เป็นและเต้นสากไม่เป็นหรือเต้นไม่ถูกจังหวะ ไม้สากก็จะตีกระทบขาคนที่เต้น ให้เกิดอาการเจ็บปวดได้ จะไม่เหมือนกับรำลาวกระทบไม้ เพราะต้องฝึกและต้องใช้เวลานานพอสมควร ซึ่งยากนักจะมีคนตีและเต้นได้เหมือนชาวไทแสกเพราะจังหวะเร็วก็เร็วมาก ถ้าไม่ฝึกจนชำนาญจะไม่สามารถเต้นได้ มิใช่ว่าจะไปแสดงได้ตลอดไป ก่อนที่จะนำไปแสดงที่อื่นจะต้องทำพิธีขออนุญาตโองมู้ เมื่ออนุญาตแล้วจึงนำไปแสดง หากมีการเต้นสากโดยไม่ได้ขออนุญาตก็จะมีเหตุให้มีอันเป็นไป เช่น ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบายโดยหาสาเหตุไม่ได้ เป็นต้น

          ผู้แสดงแสกเต้นสากก็จะมีผู้ทำหน้าที่เคาะไม้สาก จะนั่งตรงข้ามจับคู่กันประมาณ 5-7 คู่ แล้วแต่ความยาวของไม้รองไม้สาก จะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ ผู้เต้นจะทำท่าเต้นคล้ายๆ รำลาวกระทบไม้ แต่จังหวะการเต้นจะเร็วกว่ามาก จะมีทั้งเต้นเดี่ยว เต้นเป็นคู่ มีจังหวะช้าจังหวะเร็ว ผู้เต้นจะมีทั้งชายและหญิง และผู้ร้องเนื้อเพลงภาษา แล้วประกอบดนตรีจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ ซึ่งพิธีกินเตดเดนและการแสดงแสกเต้นสากนี้ถือเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของชาวไทแสกบ้านอาจสามารถ ที่แสดงออกถึงความเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมักจะมีการนำมาแสดงในการต้อนรับแขกคนสำคัญของบ้านเมือง หรือต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเป็นหมู่คณะ อาจกล่าวได้ว่าชื่อเสียงของประเพณีแสกเต้นสากที่กลายเป็นที่รู้จัก เป็นจุดเริิ่มต้นของการได้รับการสนับสนุนในเวลาต่อมาจากหน่วยงานของรัฐทั้งในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการสร้างศูนย์วัฒนธรรมไทแสกขึ้น เพื่อเป็นที่ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของชาวไทแสก  

“อาจสามารถเมืองไทแสกน่าอยู่ ศาลเจ้าปู่โองมู้ที่ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ชีวิตกับเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เคียงแม่น้ำโขง สะพานเชื่อมโยงอินโดจีน ท้องถิ่นกระชังปลา สุขหรรษาแสกเต้นสาก” คำขวัญประจำหมู่บ้านที่เขียนติดไว้บนป้ายหมู่บ้านท่องเที่ยว

ทั้งนี้ลักษณะของหมู่บ้านอาจสามารถเรียกได้ว่าเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว มีป้ายหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว แสดงไว้อย่างเด่นชัด องค์ประกอบหนึ่งของหมู่บ้านท่องเที่ยวคือสถานที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวจะไปเยี่ยมชมได้  โดยในป้ายแสดงแผนที่สถานที่สำคัญของหมู่บ้านประกอบดด้วย ศาลเจ้าเดนหวั่วโองมู้  ร้านจำหน่ายสินค้าโอทอป ไทแสกโฮมสเตย์ ศูนย์วัฒนธรรมไทแสก วัดเก่า วัดมงคลบุรีศักดาราม และกลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงปลาในกระชัง 

          ศูนย์วัฒนธรรมไทแสกตำบลอาจสามารถตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของวัดร้างริมฝั่งแม่น้ำโขงในชุมชนบ้านอาจสามารถ หมู่ที่ 5ตำบลอาสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนมเมื่อปี พ.ศ. 2555 เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมของชนเผ่าไทแสก ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งในจังหวัดนครพนม ที่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ทั้งเรื่องภาษา วิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมและประเพณี โดยมีการจัดเก็บรวบรวม สืบค้นประวัติความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทแสก วัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่น และเชิญปราชญ์ผู้รู้ในท้องถิ่นมาสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำเป็นข้อมูลทางวัฒนธรรม และจัดทำเป็นศูนย์วัฒนธรรมไทแสกตำบลอาจสามารถขึ้นมา โบราณวัตถุและส่งของเครื่องใช้ที่จัดแสดงได้มาจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนโดยการรับบริจาค หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม ได้โอนให้องค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถเป็นผู้รับผิดชอบดูแลต่อไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 ได้รับเงินกองทุนประชารัฐ กระทรวงมหาดไทย มาก่อสร้างบ้านจำลองไทแสกเพิ่มเติม

          ภายหลังศูนย์วัฒนธรรมไทแสกตำบลอาจสามารถ มีการแยกส่วนจัดแสดงและแบ่งพื้นที่ใช้งานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

          1. อาคารศูนย์วัฒนธรรมไทแสก เป็นอาคารชั้นเดียว มีลักษณะเป็นห้องประชุม ภายในมีเวทีสำหรับจัดการแสดงหรือกิจกรรมสัมมนาต่างๆ ด้านข้างภายในจัดแสดงภาพถ่ายและข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนไทแสกบ้านอาจสามารถ เป็นลักษณะนิทรรศการป้ายให้ข้อมูล ไม่มีวัตถุจัดแดง ปัจจุบันอาคารหลังนี้ใช้เป็นสถานที่ประชุมรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับข้อมูลของชาติพันธุ์ไทแสก และเป็นอาคารต้อนรับ-รับประทานอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเป็นหมู่คณะ ซึ่งส่วนใหญ่จะให้ความสนใจการแสดงแสกเต้นสาก

 2. บ้านไทแสกจำลอง เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ซึ่งเป็นการจำลองรูปแบบของบ้านไทแสกโบราณ เป็นที่จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ในวิถีชีวิตของชาวไทแสกในอดีต ภายในบ้านไทแสกจำลองซึ่งถือเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชาวไทแสกที่สำคัญ ชั้นล่าง เป็นใต้ถุนโล่ง จัดแสดงครกมองหรือครกกระเดื่องซึ่งเป็นครกที่ใช้ในการตำข้าวเปลือกของชาวไทแสกในอดีต ชั้นบนแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนระเบียง จัดแสดงภาพถ่ายเก่าของชุมชนไทแสกบ้านอาจสามารถและข้าวของเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น แห คันไถ เป็นต้น และส่วนภายในห้อง จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ในวิถีชีวิตของชาวไทแสกในอดีต ได้มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ แบ่งเป็น 3 มุม คือ มุมห้องครัว ที่จำลองครัวไฟแบบโบราณ  มีเครื่องจักสานจำพวกที่ใช้ในครัวเช่น กระด้ง และเครื่องจักสานที่เป็นเครื่องดักจับสัตว์น้ำจำพวก ข้อง ไซ มุมอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ และมุมห้องนอน ซึ่งข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ได้รับบริจาคมาจากประชาชนและจากทางวัดในชุมชน

          3. วิหารวัดร้าง เดิมวัดดังกล่าวสร้างราวปี พ.ศ. 2331 แต่ตัววัดถูกน้ำโขงกัดเซาะตลิ่ง ซึ่งศาสนสถานของวัดส่วนใหญ่ถูกแม่น้ำโขงกัดเซาะพังลงไปในแม่น้ำ จึงย้ายวัดไปที่วัดมงคลบุรีศักดารามในปัจจุบัน  ปัจจุบันเหลือเพียงวิหารที่สร้างครอบทับฐานวิหารวัดร้าง     

          ศูนย์วัฒนธรรมไทแสกตำบลอาจสามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน ปกติจะเปิดทำการในวันราชการ 08.30-16.30 น. หากต้องการเยี่ยมชมในวันหยุดราชการต้องประสานงานขออนุญาตทางองค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถได้จัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยต้อนรับ นำชมและให้บริการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายในศูนย์วัฒนธรรมไทแสกตำบลอาจสามารถและสถานที่สำคัญในชุมชน

 

เอกสารอ้างอิง

เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกศาธิบดี (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2538.

ชนเผ่าไทแสก. สืบค้นจาก https://sites.google.com/site/ppalmpkn1707 /, วันที่ 18 กรกฎาคม 2563.

“ประวัติความเป็นมาของตำบล”. องค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถ. สืบค้นจากhttp://www. tambonatsamart.go.th/web/index .php/2014-12-17-03-13-00, วันที่ 19 กรกฎาคม 2563.

 

สัมภาษณ์บุคคล

นางผาจิต ผาสุก ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม, สัมภาษณ์วันที่ 12 มิถุนายน 2563.

นายไพรัช สุสิงห์ กำนันตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม, สัมภาษณ์วันที่ 12 มิถุนายน 2563.

นางอรุณทิพย์ ป. ณ นครพนม ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม, สัมภาษณ์วันที่ 12 มิถุนายน 2563.

ชื่อผู้แต่ง:
ธีระวัฒน์ แสนคำ